โพธิ์ Sacred fig tree

โพธิ์ (Sacred fig tree)

แต่เดิมคำว่า โพธิ์ ไม่ได้เป็นชื่อชนิดของต้นไม้ แต่เป็นการเรียกต้นไม้ที่พระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ประทับ และได้ตรัสรู้ ซึ่งต้นโพธิ์เป็นต้นไมที่ชาวพุทธ พราหมณ์ ฮินดูเคารพนับถือเป็นอย่างมาก ในประเทศไทยนิยมปลูกในวัด หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

ต้นโพมีธิ์ถิ่นกำเนิดในแถบประเทศอินเดีย และพบได้ทั่วไปในทวีปเอเชีย เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูงได้ 20-30 เมตร ลำต้นตรง โคนต้นมีขนาดใหญ่ เปลือกต้นมีสีน้ำตาลปนเทา ลักษณะเรียบ เมื่อกรีดหรือตัดจะมีน้ำยางสีขาว ลำต้นมีการแผ่กิ่งก้านสาขาออกเป็นพุ่ม ปลายกิ่งลู่ลง ตามกิ่งมีรากอากาศห้อยลงมา

ใบโพธิ์เป็นใบเดี่ยว รูปหัวใจ ปลายใบยาวออกมาคล้ายหาง มีสีเชียวนวลอมเทา ผิวใบมัน ก้านใบเล็ก ส่วนของยอดอ่อนมีสีขาวครีม หรือสีงาช้าง

ดอกมีสีเหลืองนวล ออกเป็นช่อที่ซอกใบ ส่วนผลเป็นผลรวม ลักษณะกลมเล็ก สีเขียว เมื่อสุกจะมีสีม่วงดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Ficus religiosa L.
ชื่อสามัญ Peepal, Sacred fig
ชื่ออื่นๆ โพ ศรีมหาโพ สลี (ภาคเหนือ) ย่อง (แม่ฮ่องสอน)
ชื่อวงศ์ MORACEAE

ชนิดของโพธิ์

โพธิ์ในสกุล Ficus มี 2 ชนิด คือ โพธิ์ใบ (Ficus religiosa L.) ส่วนอีกชนิดเรียกว่า โพธิ์ขี้นก (F. rumphii BI.)

ความแตกต่างของโพธิ์ทั้งสองชนิดอยู่ที่ใบและผล ใบของโพธิ์ขี้นกมีขนาดเล็ก ผลสุกสีดำ ส่วนโพธิ์ใบจะมีใบขนาดใหญ่ และผลมีม่วงหรือแดงคล้ำ

สรรพคุณของโพธิ์

แต่ละส่วนของโพธิ์มีสรรพคุณดังนี้

  • ใบ รับประทานเป็นยาแก้ไข้ ช่วยการขับถ่าย และมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านแบคทีเรียและเชื้อราได้
  • ผล รับประทานแก้กระหายน้ำ ช่วยรักษาอาหารหืด ช่วยขับพิษ เป็นยาระบายอ่อนๆ และช่วยในการย่อยอาหาร
  • เมล็ด รับประทานเป็นยาลดไข้ และมีฤทธิ์เป็นยาระบายอ่อนๆ
  • เปลือกต้น นำมาต้มดื่ม แก้เจ็บคอ รักษาอาการปวดฟัน ลดอาการระบม ปวดกล้ามเนื้อ เป็นยารักษาโรคผิวหนัง
  • ยาง ใช้ภายนอก สามารถนำมารักษาโรคหูด ริดสีดวงทวาร

ประโยชน์ของต้นโพธิ์

ต้นโพธิ์มีประโยชน์หลายอย่าง ได้แก่

  • ใบอ่อนและผลอ่อน สามารถนำมารับประทานเป็นอาหาร
  • ใบอ่อน ใช้เป็นอาหารสำหรับการเลี้ยงหนอนไหม นอกจากนี้ยังมีการน้ำใบโพธิ์อ่อนมาผสมในอาหารสำหรับการทำปศุสัตว์ เนื่องจากมีโปรตีนและแคลเซียมสูง
  • เป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ให้ร่มเงามาก และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ เช่น นก กระแต กระรอก

เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top