ยาคลายเครียด

ยาคลายเครียด

ทุกวันนี้หลายคนต้องเผชิญกับความเครียด ไม่ว่าจะมาจากเรื่องหน้าที่การงาน เงิน ความสัมพันธ์ หรือครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย และจิตใจ โดยความเครียดจะทำให้เกิดอาการวิตกกังวล นอนไม่ค่อยหลับ หรือหลับไม่สนิท ซึ่งการนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้คุณตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ทำให้มีสมาธิทำงานได้ไม่เต็มที่ รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้ อีกทั้งทำให้คุณกลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว มีภาวะซึมเศร้า บางรายอาจมีอาการถึงขั้นคิดอยากฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหา

หากคุณพบว่า ถ้านอนไม่หลับติดต่อกันมากกว่า 3 สัปดาห์ขึ้นไปถือว่า เป็นโรคนอนไม่หลับเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างทันท่วงที เนื่องจากกระทบต่อคุณภาพชีวิต และร่างกายในระยะยาว

แนวทางการลดความเครียด

การคลายเครียดในเบื้องต้นควรเริ่มจากการหาสาเหตุ และจัดการกับความเครียดโดยยังไม่ใช้ยาก่อน โดยอาจหาคนที่สนิทเพื่อระบาย และปรับทุกข์ด้วย

นอกจากนี้การออกไปพบปะเพื่อนฝูง การออกกำลังกาย ทำกิจกรรมที่ชอบ ก็ช่วยบรรเทาความเครียดได้อีกทางหนึ่ง หากคุณยังไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้ ควรปรึกษาแพทย์ซึ่งอาจจะพิจารณาให้ใช้ยานอนหลับ และยาคลายเครียดร่วมด้วยตามความเหมาะสมในการรักษา

กลุ่มยาคลายเครียด

ยาคลายเครียดแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. ยากลุ่มไตรไซคลิกแอนตี้ดีแพรสเซ็นต์ (Tricyclic Antidepressants: TCAs) 

ได้แก่ ยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) เป็นยาที่ใช้คลายเครียด และรักษาอาการโรคซึมเศร้าที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง

ยากลุ่มไตรไซคลิกแอนตี้ดีแพรสเซ็นต์จะออกฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมกลับของสารสื่อประสาทเอพิเนฟรีน (Epinephrine) และเซโรโทนิน (Serotonin) ทำให้มีปริมาณสารสื่อประสาททั้ง 2 ชนิดนี้ในสมองเพิ่มมากขึ้น การวิตกกังวลลดลง ส่งผลให้มีอารมณ์ดีขึ้น และนอนหลับได้ดีขึ้น

นอกจากนี้ ยากลุ่มไตรไซคลิกแอนตี้ดีแพรสเซ็นต์ยังมีข้อบ่งใช้สำหรับรักษาโรคอื่นๆ เช่น ป้องกันอาการปวดศีรษะไมเกรน รักษาอาการปวดปลายประสาทหลังจากเป็นโรคงูสวัด และโรคสมาธิสั้น

ยาในกลุ่มนี้มีอาการข้างเคียงทำให้ปากแห้งคอแห้ง อยากอาหารมากขึ้น และท้องผูกได้

ตัวอย่างยาอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยานอร์ทริปไทลีน (Nortriptyline) ยาโพรทริปไทลีน (Protriptyline) ยาไทรมิพรามีน (Trimipramine)

2. ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีน (Benzodiazepine)

ได้แก่ ยาลอราซีแพม (Lorazepam) เป็นยาที่นิยมใช้คลายเครียดมากที่สุด ออกฤทธิ์กดระบบประสาทส่วนกลาง จึงช่วยลดการทำงานของประสาท ทำให้คลายความวิตกกังวล ออกฤทธิ์ทำให้ง่วงนอน ต้านอาการชัก และช่วยคลายกล้ามเนื้อ

ยานี้นิยมใช้ในการรักษาผู้ที่มีความเครียดแล้วนอนไม่หลับ มีความกระวนกระวาย โรควิตกกังวล โรคชัก และอาการคลื่นไส้อาเจียนจากการรักษาโรคมะเร็ง

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ยาคลอราซีแพม (Clonazepam)
  • ยาไดอะซีแพม (Diazepam)
  • ยาแอลพราโซแลม (Alprazolam)
  • ยาไมด้าโซแลม (Midazolam)
  • ยาคลอราซีเพต (Clorazepat)

ยากลุ่มเบนโซไดอะซิพีนเป็นยานอนหลับชนิดออกฤทธิ์เร็ว ทำให้หลับหลังจากรับประทานยาประมาณ 15-30 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาในการเริ่มหลับยาก แต่จัดเป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิต และประสาท จึงต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น ไม่สามารถหาซื้อได้เองตามร้านขายยาทั่วไป

เนื่องจากยากลุ่มนี้มีข้อควรระมัดระวังในการใช้ เพราะมีการนำไปใช้ในทางที่ผิดเพื่อมอมเมา และก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศด้วย หรือที่เรียกว่า “ยาเสียสาว” อีกทั้งอาจทำให้เสพติดได้

และเบนโซไดอะซิพีนยังสามารถส่งผลข้างเคียงเป็นอาการบางอย่าง เช่น สูญเสียการทรงตัว สับสน และความทรงจำระยะสั้นได้ อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้เป็นยาที่แพทย์นิยมใช้เพื่อลดความกังวล และช่วยนอนหลับมากที่สุด

3. ยากลุ่มยับยั้งการเก็บกลับของซีโรโทนินในสมอง (Selective serotonin reuptake inhibitors)

ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) เป็นยาในกลุ่มที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายเพื่อคลายเครียดมากที่สุดอีกตัวหนึ่ง

ยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ยับยั้งการเก็บกลับของซีโรโทนินในสมอง ทำให้มีปริมาณสารซีโรโทนินค้างอยู่ในสมองเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีอารมณ์ดีขึ้น ช่วยคลายวิตกกังวล และรักษาอาการซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มนี้สามารถส่งผลทำให้มีอาการข้างเคียงต่อร่างกายบางอย่างได้ คือ ทำให้ปวดหัว ปากแห้ง คอแห้ง และนอนไม่หลับได้

ตัวอย่างยาอื่นๆ ในกลุ่มนี้ ได้แก่

  • ยาพาโรซีทีน (Paroxetine)
  • ยาฟลูอ็อกซีทิน (Fluoxetine)
  • ยาเอสซิทาโลแพรม (Escitalopram)
  • ยาฟลูว็อกซามีน (Fluvoxamine)
  • ยาซิทาโลแพรม (Citalopram)

ข้อควรระวังในการใช้กลุ่มยาคลายเครียด

  • การใช้ยาคลายเครียดควรใช้ช่วงระยะเวลาสั้นๆ การใช้ยาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานจะทำให้การตอบสนองกับยาลดลง จึงต้องเพิ่มขนาดยามากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้นอนหลับได้ และหายเครียด จึงอาจทำให้เกิดการติดยาได้
  • การใช้ยาคลายเครียดควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากการใช้ยาเกินขนาดสามารถกดการทำงานของสมองส่วนที่ควบคุมการหายใจ จนอาจทำให้เกิดการหายใจล้มเหลว และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
  • ควรแจ้งแพทย์ทุกครั้งถึงประวัติโรคเดิมที่เป็นอยู่ รวมถึงประวัติการใช้ยาในปัจจุบัน เพื่อให้แพทย์พิจารณาการรักษาร่วมกับโรคเดิมของคุณได้อย่างเหมาะสม
  • ไม่ควรหยุดยาทันทีอย่างรวดเร็ว เนื่องจากอาจมีอาการถอนยา เช่น นอนไม่หลับมากขึ้น กระสับกระส่าย มือสั่น ใจสั่น และวิตกกังวลได้
  • ต้องระมัดระวังการใช้ยาคลายเครียดเป็นพิเศษในผู้ป่วยโรคตับ ไต และผู้สูงอายุ โดยต้องให้แพทย์เป็นผู้ปรับขนาดยา เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีการตอบสนองต่อยา และการกำจัดยาแตกต่างจากคนปกติทั่วไป
  • หลีกเลี่ยงใช้ยาคลายเครียดในเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และผู้ที่ใช้ยาที่มีฤทธิ์กดระบบประสาทอื่นๆ การใช้ยาในเด็ก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
  • ควรงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดในช่วงที่ใช้ยาคลายเครียด เนื่องจากแอลกอฮอล์จะไปเสริมฤทธิ์ยาคลายเครียด อาจกดการหายใจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • ห้ามขับขี่รถ หรือควบคุมเครื่องจักรหลังรับประทานยาคลายเครียด เนื่องจากทำให้ง่วงจึงอาจเกิดอุบัติเหตุ และอันตรายถึงชีวิตได้ ควรรับประทานยาคลายเครียดตามแพทย์สั่งเท่านั้น

ระหว่างการใช้ยาคลายเครียดควรปฏิบัติตัวตามสุขอนามัยที่ดีร่วมด้วย เช่น พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่บริโภคแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่เพื่อระบายความเครียด แต่ให้หากิจกรรมทำเพื่อคลายเครียดแทน ปรึกษาจิตแพทย์ว่า จะมีวิธีจัดการกับอาการเครียด หรือวิตกกังวลมากเกินไปได้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้การออกกำลังกายสม่ำเสมอก็จะช่วยให้หลั่งสารความสุขได้มากขึ้นอีกด้วย รวมทั้งควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดสูบบุหรี่ เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมเภสัชกร HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top