โรคไข้สมองอักเสบ

โรคไข้สมองอักเสบ

โรคไข้สมองอักเสบเป็นโรคติดเชื้ออันตราย ถ้าได้รับการรักษาช้าเกินไปอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ บางรายแม้รักษาหายจริงแต่ก็อาจมีความพิการทางสมองตามมา เช่น ระดับสติปัญญาลดลง ระดับ IQ ต่ำลง

รู้จักโรคไข้สมองอักเสบ

ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) เป็นโรคติดเชื้อที่พบมากในเด็กเล็กและพบได้ในผู้ใหญ่ ปัจจุบันโรคนี้แพร่กระจายไปทั่วทวีปเอเชีย อาการสำคัญเมื่อติดเชื้อได้แก่ กล้ามเนื้อลีบฝ่อ อ่อนแรง มีความรู้สึกตัวลดลง เกิดการอักเสบในเนื้อสมองทั่วไป หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

สาเหตุการเกิดโรคไข้สมองอักเสบ

สาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่สมองมีทั้งเชื้อแบคทีเรียและไวรัส รวมทั้งเกิดจากการอักเสบได้ สำหรับทวีปเอเชียรวมทั้งประเทศไทยส่วนมากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัส

แม้เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการติดเชื้อที่สมองจะมีหลายชนิด แต่ชนิดที่มีความรุนแรงที่สุด อาจนำไปสู่ความพิการและเสียชีวิตได้คือ เชื้อไวรัสเจอี (Japanese encephalitis: JEV)

โรคไข้สมองอักเสบเจอี

โรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอี เชื้อนี้มักพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น หมู วัว ควาย หากยุงไปกัดหมูตัวที่มีเชื้อไวรัสเข้าแล้วไปกัดคนต่อ คนๆ นั้นก็มีโอกาสติดเชื้อไวรัสเจอีได้ ส่วนความรุนแรงของโรคก็ขึ้นอยู่กับระดับภูมิคุ้มกันที่มีในแต่ละบุคคล

อย่างไรก็ตาม โรคไข้สมองอักเสบเจอีจะไม่ติดต่อจากคนสู่คน แต่จะติดต่อด้วยพาหะคือ “ยุงรำคาญ (Culex tritaeniorrhynchus)” ดังนั้นจึงมักพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในในช่วงฤดูฝน (เดือนพฤษภาคม-ตุลาคม)

โรคไข้สมองอักเสบเจอีในประเทศไทยพบประปรายทั่วทุกภาค แต่พบมากสูงสุดในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ลำพูน เชียงราย อุตรดิตถ์ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ อุบลราชธานี

ส่วนภาคกลางพบในหลายจังหวัด เช่น นครปฐม ราชบุรี ลพบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี รวมทั้งชานเมืองกรุงเทพมหานคร พบมากแถวพระโขนง บางกะปิ บางเขน หนองจอก ส่วนทางภาคใต้สามารถพบได้ประปรายเช่นกัน

ผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบจากเชื้อไวรัสเจอีพบมากในช่วงอายุตั้งแต่ 1-25 ปี โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง 5-9 ปี อายุ 1-4 ปี อายุ 10-14 ปี และอายุ 15-24 ปี ตามลำดับ ส่วนอายุเกิน 45 ปี หรือน้อยกว่า 1 ปี นั้นพบได้น้อย

อาการของโรคไข้สมองอักเสบเจอี

บางรายที่ภูมิต้านทานดี แม้จะถูกยุงที่เป็นพาหะนำโรคกัดแต่ก็อาจไม่ป่วยเลยก็ได้ หรือมีอาการป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว แต่ในบางรายที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็กเล็ก อาจมีอาการรุนแรง และส่วนใหญ่จะมีอาการทางสมองเกิดขึ้น

อาการของโรคแบ่งเป็นระยะ 4 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 ระยะอาการนำ ระยะนี้กินเวลา 2-3 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีอาการคล้ายหวัด ไอ เบื้ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ชาตามมือ เท้า

ระยะที่ 2 ระยะสมองอักเสบเฉียบพลัน
จะมีอาการไข้สูง อาการชักทั้งตัว พบบ่อยในเด็ก และผู้ใหญ่ ระยะนี้ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัวตั้งแต่ระดับน้อยจนมากคือ แค่ซึม หลับ หรืออาจจะกระตุ้นไม่ฟื้น จนถึงระดับโคม่า ช่วงนี้จะกินเวลา 3-4 วัน

ถ้ามาโรงพยาบาลอาจตรวจพบอาการสมองส่วนบน ได้แก่ เขี่ยหัวแม่เท้าจะกระดกขึ้น รีเฟล็กซ์ที่เคาะบริเวณเข่าและข้อพับ แขนจะเร็วกว่าปกติ บางรายอาจมีอาการอ่อนแรงของแขนขา 2 ข้าง หรือข้างใดข้างหนึ่ง เนื่องจากสมองบวมและอักเสบ

มักพบอาการคอแข็ง จากการที่มีกาอักเสบของเยื่อหุ้มสมองร่วมด้วย หรืออาจมีการยิ้มปากเบี้ยว หรือกลอกตาไม่ได้เต็มที่ จากการอัมพาตของประสาทสมองคู่ต่างๆ บริเวณก้านสมอง

ถ้ามีการกดของสมองมากจะทำให้แขนขาอ่อนปวกเปียก การตรวจรีเฟล็กซ์ไม่ขึ้นตามปกติ และหยุดหายใจได้ ถือเป็นระยะรุนแรง

การเจาะน้ำไขสันหลัง ช่วงนี้จะพบมีความดันในน้ำไขสันหลังสูงและมีเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แต่จะมีระดับน้ำตาลปกติ และโปรตีนในน้ำไขสันหลังสูงขึ้นเล็กน้อย การตรวจเลือดอาจพบมีเม็ดเลือดขาวสูงขึ้น เช่น เดียวกันระยะนี้ถ้าอาการรุนแรงอาจมีระดับความรู้สึกตัวเลวลงเรื่อยๆ และอาจเสียชีวิตได้ภายใน 10 วัน

ระยะที่ 3 ระยะต่อจากระยะเฉียบพลันเป็นช่วง 7-10 วันต่อมา ความรุนแรงของโรคน้อยลง แต่จะพบภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ ปอดบวม ติดเชื้อทางระบบทางเดินปัสสาวะ มีแผลกดทับ ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

ระยะที่ 4 ระยะพักฟื้น ช่วงนี้อยู่ในระยะเวลาเฉลี่ย 4-7 สัปดาห์ จะเป็นช่วงที่เหมือนเด็กหัดใหม่ เช่น การฝึกเดิน ฝึกพูด ความเข้าใจ ความสามารถในการกลืนจะค่อยๆ ดีขึ้นตามความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยอาจฟื้นจากการอัมพาตของแขนขา และสามารถเดินได้ พูดได้ แต่ความคิดอาจจะช้าลง

การตอบสนองต่างๆ ไม่เหมือนปกติ หรือมีอาการรุนแรง อาจต้องให้อาหารทางสายยางเป็นเวลานานๆ หรือเดินไม่ได้ พูดไม่ได้ มีอาการเกร็งตลอดเวลา มีความพิการทางสมองอย่างมากถึงขั้นระดับสติปัญญาลดลง ระดับ IQ ลดลง

การวินิจฉัยของโรคนี้กระทำได้โดยอาศัย

  • ประวัติและอาการดังกล่าวมาแล้ว มักต้องทราบถึงสิ่งแวดล้อมข้างเคียง เช่น บ้านอยู่ใกล้ทุ่งนา หรือเลี้ยงหมูในบริเวณบ้านหรือใกล้บ้าน รวมทั้งสัตว์อื่น ๆ เช่น วัว ควาย ม้า
  • การตรวจน้ำไขสันหลังมักพบเซลล์เม็ดเลือดขาวสูง ระดับน้ำตาลปกติ ระดับโปรตีนสูงกว่าปกติเล็กน้อย จนถึงสูงมาก
  • การตรวจเลือดมักพบเม็ดเลือดขาวสูง
  • การหาระดับแอนติบอดีในน้ำไขสันหลังในช่วงเฉียบพลันโดยวิธีพิเศษ และการทำแอนติบดีในเลือด 2 ครั้ง ห่างกัน 10-14 วัน วันแรกตอนระยะเฉียบพลัน
  • คนไข้ที่มีอาการทางสมอง จะมีการเจาะเอาน้ำช่วงเยื่อหุ้มสมองมาตรวจ

การวินิจฉัยแยกโรคควรแยกโรคจากสาเหตุอื่นๆ เช่น อาจเกิดตามหลังเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นแดงตามตัว เช่น หัด อีสุก อีใส หรือตามหลังคางทูมและเชื้อไวรัสอื่น ๆ

การรักษาโรคไข้สมองอักเสบ

ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานโรคดีจะสามารถหายขาดจากโรคนี้เองได้ เพราะเชื้อไวรัสนี้สามารถกำจัดได้ด้วยภูมิต้านทานโรคของตนเอง หากมีอาการรุนแรงต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาเฉพาะ นอกจากการรักษาแบบประคับประคองและรักษาตามอาการ เช่น ลดสมองบวม ให้น้ำเกลือ ในช่วงทีรับประทานไม่ได้เอง และป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เช่น หายใจเองไม่ได้ การสำลักอาหารและเสมหะเข้าปอด แผลกดทับ แต่หากมีอาการรุนแรงมากอาจต้องเข้ารับการรักษาในห้อง ICU

เมื่อสมองฟื้นกลับมา หายใจเองได้แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการทำกายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพทางกล้ามเนื้อ และการฝึกทักษะต่างๆ ให้กลับคืนมา

การพยากรณ์โรค

อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคไข้สมองอักเสบเจอีสูงถึง 17-38% ผู้ป่วยที่รอดชีวิตนั้นพบความพิการทางสมอง 57-68.5% ซึ่งเป็นความพิการทางสมองรุนแรงถึง 18%

  • ความพิการทางสมองรุนแรง ได้แก่ การช่วยเหลือตนเองไม่ได้ อัมพาตของแขนขา พูดไม่ได้ บางรายมีอัมพาตของประสาทสมอง ตาบอด บางรายมีอาการลมบ้าหมู
  • ความพิการทางสมองน้อย หรือปานกลาง อาจมีการอัมพาตของแขนขาอยู่ระยะหนึ่งแล้วดีขึ้น แต่อาจพูดไม่ได้ หรือความจำเสื่อม การเรียนเลวลง หรือเรียนช้า การเขียนหนังสืออาจจะทำไม่ได้ หรือไม่ดีเท่าที่ควรเป็น เพราะความสามารถในการใช้มือที่ละเอียดนั้นทำไม่ได้

ปัญหาทางอารมณ์และพฤติกรรมคือ มีอารมณ์รุนแรง โกรธง่าย ทุบตี ทำร้ายผู้อื่น พูดจาหยาบคาย หรือมีอารมณ์อ่อนไหวง่ายกว่าปกติ

การป้องกันโรคไข้สมองอักเสบ

แม้ว่าโรคนี้จะมีอัตราการเกิดโรคต่ำกว่าโรคติดต่อชนิดอื่นที่มียุงเป็นพาหะ เช่น ไข้เลือดออก ไข้มาเลเรีย แต่กลับมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงและอัตราความพิการสูงมากกว่า จึงจำเป็นต้องมีการป้องกันโรคนี้อย่างจริงจัง ซึ่งอาจทำได้โดย

  • การให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับวงจรการเกิดโรค อาการของโรค และวิธีป้องกันการเกิดโรค
  • กำจัดยุงและแหล่งเพาะพันธุ์ยุงโดยการฉีดยากันยุง หรือกำจัดแหล่งน้ำขังใกล้ที่พักอาศัย
  • การป้องกันมิให้ยุงกัด โดยเฉพาะการใช้ยากันยุง นอนในมุ้งมิดชิด หลีกเลี่ยงไม่ให้บุตรหลานออกไปเล่นนอกบ้านตอนพลบค่ำ
  • การเลี้ยงหมู วัว ควาย ควรห่างจากบ้านพอควร หรือทำคอกเลี้ยงที่มีมุ้งกั้นป้องกันยุง
  • การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบซึ่งเป็นวัคซีนพื้นฐานที่แนะนำให้ฉีดตั้งแต่เด็ก

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี

ปัจจุบันวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนที่ทำจากเชื้อที่ตายแล้ว และวัคซีนที่ทำจากเชื้อมีชีวิตที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ (วัคซีนเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์)

วัคซีนทั้งสองชนิดมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เด็กทุกคนควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบเจอี มีรายละเอียดดังนี้

  • วัคซีนชนิดเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ฉีด 2 เข็ม ในเด็กอายุ 1 ปี และอายุ 2 ปีครึ่ง โดยฉีดเข้าใต้ผิวหนัง (สามารถรับบริการได้โดย “ไม่มีค่าใช้จ่าย” จากศูนย์บริการทางสาธารณสุขของรัฐทุกแห่ง และการฉีดวัคซีนไข้สมองอักเสบเจอีนั้นอยู่ในแผนการให้ภูมิคุ้มกันสำหรับเด็กของสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย)
  • วัคซีนชนิดเชื้อตายให้ฉีดรวม 3 ครั้ง มีระยะห่างระหว่างเข็มคือ 4 สัปดาห์ และ 1 ปี ตามลำดับ

สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่ป้องกันโรคได้ภายใน 28 วัน ภายหลังการฉีด 1 เข็ม หากต้องการผลการป้องกันในระยะยาวแนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น 1- 2 ปี หลังจากได้รับวัคซีนเข็มแรก

  • ผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อเป็นรุ่นใหม่ เพียง 1 เข็ม สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้สมองอักเสบชนิดเชื้อตายจำนวน 3 เข็ม โดยทั่วไปร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันจนถึงระดับที่สามารถป้องกันโรคได้หลังจากได้รับวัคซีนไปแล้ว 14 วัน
  • ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเชื้อตายมาก่อน แต่ยังไม่ครบสามารถฉีดต่อด้วยวัคซีนชนิดเชื้อเป็นได้

โรคไข้สมองอักเสบเจอี แม้จะเป็นโรคติดเชื้อที่มีความรุนแรงถึงขั้นพิการและเสียชีวิตได้ แต่ก็เป็นโรคที่สามารถเฝ้าระวังและป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามกำหนด

นอกจากการติดเชื้อไวรัสเจอีแล้ว โรคไข้สมองอักเสบอาจเกิดจากสาเหตุอื่นได้ เช่น ไวรัสไข้เลือดออก เชื้อเริม เชื้อพิษสุนัขบ้า หรือ เชื้อไวรัสอื่นๆได้ ดังนั้นหากพบว่า คนใกล้ตัวของคุณมีความผิดปกติ เช่น มีไข้สูง ซึมลง อ่อนแรง อาเจียนพุ่ง ให้พาไปพบแพทย์ทันที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top