รู้จักที่ตรวจครรภ์ประเภทต่างๆ

รู้จักที่ตรวจครรภ์ประเภทต่างๆ พร้อมวิธีใช้งาน

การตั้งครรภ์บางครั้งก็อยู่เหนือการคาดเดา ยิ่งผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์มาก่อน ยิ่งคาดเดาได้ยาก แต่เทคโนโลยีสมัยนี้ก็ช่วยให้ผู้หญิงสามารถทดสอบการตั้งครรภ์ได้ด้วยตนเองก่อนจะไปพบแพทย์ เรากำลังพูดถึง “ที่ตรวจครรภ์” หรือ “ชุดทดสอบการตั้งครรภ์” ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไป แถมยังให้ผลแม่นยำได้ถึง 90%

เมื่อไรที่ควรใช้ที่ตรวจครรภ์

สำหรับคุณผู้หญิงที่สงสัยว่า อาจจะตั้งครรภ์ สามารถสังเกตอาการของตัวเองได้เบื้องต้นโดยที่ยังไม่ต้องไปพบแพทย์ ดังนี้

  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาด
  • อ่อนเพลียผิดปกติ
  • เต้านมขยายและมีอาการเจ็บ

หากพบว่า ตนเองมีอาการเข้าข่ายต่อไปนี้ โดยเฉพาะประจำเดือนไม่มาตามปกติ สิ่งต่อไปที่ควรทำคือ  ซื้อ “ที่ตรวจครรภ์” มาตรวจด้วยตนเองก่อน

ที่ตรวจครรภ์วัดการตั้งครรภ์ได้อย่างไร

ที่ตรวจครรภ์เป็นอุปกรณ์เล็กๆ ที่สามารถวัดค่า หรือแสดงผลได้ทันที ไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นๆ นอกเหนือจากที่ให้มาในชุดช่วยตรวจสอบ หากจะพูดให้เข้าใจกันง่ายๆ ก็คือ การตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาฮอร์โมนตั้งครรภ์ เช่นเดียวกับการตรวจในทางการแพทย์ที่เรียกว่า “การทดสอบหาฮอร์โมน HCG (Human Chorionic Gonadotropin)” ในน้ำปัสสาวะของผู้หญิง

ฮอร์โมน HCG นี้จะสร้างจากเซลล์ตัวอ่อนของมนุษย์หลังปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน และจะมีปริมาณสูงขึ้นเมื่อปฏิสนธิได้ 8 -12 สัปดาห์ขึ้นไป ดังนั้นหากตรวจพบฮอร์โมนนี้นั่นหมายความว่า “กำลังตั้งครรภ์”

การตรวจนี้มีความแม่นยำมากถึง 90% และสามารถตรวจได้อย่างแม่นยำในรายที่มีการขาดประจำเดือนตั้งแต่วันที่ 10-14 ขึ้นไป

รูปแบบของที่ตรวจครรภ์ด้วยตัวเอง และวิธีใช้

แบบปัสสาวะผ่าน (Pregnancy Midstream Tests)

จะมีแค่แท่งทดสอบการตั้งครรภ์ เป็นแบบที่ใช้ง่ายไม่ต้องเก็บปัสสาวะใส่ถ้วยจึงสะดวกและได้ผลค่อนข้างแม่นยำ

  • ถอดฝาครอบออกพร้อมกับถือแท่งทดสอบโดยให้หัวลูกศรชี้ลง
  • ปัสสาวะให้น้ำปัสสาวะผ่านบริเวณที่ดูดซับน้ำปัสสาวะให้ชุ่มประมาณ 5 วินาที
  • ถือ หรือวางแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ไว้ในแนวราบประมาณ 30 วินาทีเป็นต้นไป (หรืออ่านผลเมื่อทิ้งไว้ 3-5 นาทีเพื่อความมั่นใจ)

แบบตลับหรือแบบหยด (Pregnancy Test Cassette)

ในชุดจะมีถ้วยตวงปัสสาวะและหลอดหยดสำหรับดูดน้ำปัสสาวะ

ข้อดีของที่ตรวจครรภ์แบบหยดคือ สามารถควบคุมปริมาณปัสสาวะได้ คือ ใช้เพียง 3-4 หยด และช่วยลดโอกาสแผ่นทดสอบเสียจากการดูดซับน้ำปัสสาวะของชุดทดสอบได้

  • ให้เก็บน้ำปัสสาวะลงในถ้วยตวง
  • นำหลอดหยดดูดน้ำปัสสาวะในปริมาณพอเหมาะ
  • หยดน้ำปัสสาวะลงบนตลับทดสอบประมาณ 3-4 หยด
  • วางชุดทดสอบทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที แล้วจึงอ่านผลการทดสอบ

แบบแถบจุ่ม (Test Strip)

ประกอบด้วยแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ บางยี่ห้อมีถ้วยตวงปัสสาวะ แต่บางยี่ห้อไม่มี ข้อดีคือราคาถูกที่สุดใน 3 แบบ แต่ต้องระวังอย่าให้น้ำปัสสาวะสูงเกินกว่าขีดที่กำหนดเพราะอาจทำให้แผ่นทดสอบเสื่อมสภาพได้

  • เก็บน้ำปัสสาวะลงในถ้วยตวง ถ้าหากบางยี่ห้อไม่มี ให้หาภาชนะเล็กๆที่สะอาดสำหรับรองปัสสาวะ และให้ใช้แล้วทิ้ง
  • นำแผ่นทดสอบการตั้งครรภ์ด้านที่มีลูกศรชี้ลง จุ่มลงไปในน้ำปัสสาวะ 3 วินาทีระวังอย่าให้น้ำปัสสาวะเลยขีดที่กำหนด
  • นำแผ่นทดสอบออกจากน้ำปัสสาวะ และถือ หรือวางไว้ในแนวนอน บนพื้นที่แห้งสนิทเท่านั้น
  • อ่านผลการตั้งครรภ์ได้ภายใน 1-5 นาที

แบบดิจิตอล (Digital Pregnancy Tests)

เป็นที่ตรวจครรภ์ประเภทที่มีราคาสูงที่สุด เป็นแบบที่ใช้ง่าย ไม่ต้องเก็บปัสสาวะใส่ถ้วยจึงสะดวก และรู้ผลค่อนข้างแม่นยำ

  • ถอดฝาครอบออกพร้อมกับถือแท่งทดสอบโดยให้หัวลูกศรชี้ลง
  • ปัสสาวะให้น้ำปัสสาวะผ่านบริเวณที่ดูดซับน้ำปัสสาวะให้ชุ่ม
  • ถือ หรือวางแท่งทดสอบการตั้งครรภ์ไว้ในแนวราบประมาณ 3 วินาทีเท่านั้น

วิธีการอ่านผลของที่ตรวจครรภ์

การใช้ที่ตรวจครรภ์เป็นการวัดขีดซึ่งจะเกิดขึ้นหลังจากการหยดฉี่ หรือน้ำปัสสาวะ ในที่ตรวจครรภ์ แนะนำให้อ่านค่าหลังจากที่ทิ้งไว้ 5 นาทีจะเป็นค่าที่แม่นยำที่สุด (ห้ามทิ้งไว้นานกว่านั้นเพราะอาจทำให้ค่าเปลี่ยนแปลง เช่น มีขีดเพิ่มขึ้นมาได้)

ขีดในแถบวัดจะมีขีด 2 ขีด ขีดแรกคือ C (Control Line) และอีกขีดคือ (Test Line) สำหรับผลที่เกิดขึ้นจะมี 3 ประเภท

  • มีขีดขึ้น 1 ขีดที่ C นั่นหมายถึง น่าจะไม่ตั้งครรภ์
  • มีขีดขึ้น 2 ขีดทั้ง C และ T แถบคู่กัน หมายถึง กำลังท้อง
  • ไม่มีขีดขึ้น แต่ก็เป็นไปได้ที่จะขึ้นขีดเดียวที่ T นั่นหมายถึง อ่านค่าไม่ได้ เก็บปัสสาวะไม่ถูกวิธี ปัสสาวะเก่า หรือชุดทดสอบเสีย ควรซื้อชุดใหม่มาทดสอบ

ในกรณีที่พบขีดที่ 2 นั้น บางครั้งอาจจะไม่ชัดเนื่องจากเพิ่งพบฮอร์โมน HCG ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการปฏิสนธิไปแล้ว 6 วัน ฉะนั้นหากต้องการความแม่นยำที่สุดควรตรวจในช่วงที่ขาดประจำเดือนไปแล้ว 10-14 วัน ซึ่งผลที่ได้จะชัดเจนกว่า 90% เลยทีเดียว

ทั้งนี้ผลที่ได้จากที่ตรวจครรภ์นั้นสามารถบ่งบอกได้แค่ว่า มีแนวโน้มตั้งครรภ์ หรือไม่เท่านั้น แต่ไม่สามารถบอกได้ว่า มีการตั้งครรภ์ในมดลูก หรือนอกมดลูก ไม่ว่าจะใช้ที่ตรวจครรภ์กี่ชุด หรือกี่ยี่ห้อก็ตาม ดังนั้นเพื่อความมั่นใจควรไปตรวจการตั้งครรภ์กับแพทย์อีกครั้ง

คำแนะนำในการทดสอบการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง 

  • อ่านคำแนะนำ และทำความเข้าใจในการใช้ชุดทดสอบการตั้งครรภ์อย่างละเอียด และปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นๆ อย่างเคร่งครัด
  • การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเป็นการตรวจหาการตั้งครรภ์เบื้องต้นเท่านั้น คุณควรตรวจยืนยันผลการตั้งครรภ์โดยแพทย์ ด้วยการวินิจฉัยทางคลินิกและห้องปฏิบัติการทางการแพทย์
  • การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียวยังไม่เพียงพอต่อการยืนยันผลเบื้องต้นได้ เนื่องจากระดับฮอร์โมน HCG ในหญิงตั้งครรภ์จะมีระดับที่แตกต่างกันในช่วงกว้าง ซึ่งการตรวจครั้งที่ 2 ในอีก 2-3 วันถัดมาจะให้ผลที่น่าเชื่อถือและแน่นอนกว่า เพราะบางครั้งในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าระดับความไวของชุดทดสอบการตั้งครรภ์ (ต่ำกว่า 20 mIU/ml.) จึงทำให้การตรวจในครั้งแรกยังไม่พบว่ามีการตั้งครรภ์ เป็นต้น
  • การตรวจปัสสาวะ ควรใช้ปัสสาวะหลังจากตื่นนอนตอนเช้าซึ่งจะให้ผลดีที่สุด แต่เวลาอื่นก็ได้ผลเหมือนกัน แต่สำคัญว่าต้องใช้ปัสสาวะสดๆ หรือเป็นปัสสาวะใหม่เท่านั้น
  • ชุดทดสอบเมื่อซื้อมาแล้วสามารถเก็บไว้ในอุณหภูมิห้องตามปกติได้ (ไม่เกิน 30 องศา) หลีกเลี่ยงแสงแดด และความชื้น
  • เมื่อฉีกซองออกแล้ว ต้องตรวจทันทีจึงจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ แต่ถ้าฉีกแล้วยังไม่ตรวจก็สามารถเก็บไว้ได้ไม่เกิน 1 ชั่วโมง เพราะหากโดนความชื้น จะทำให้ประสิทธิภาพลดลงและอาจทำให้ผลตรวจเกิดความผิดพลาดได้
  • ในการทดสอบซ้ำ ให้เว้นระยะห่างจากการทดสอบครั้งแรกอย่างน้อย 2-3 วัน

ในระหว่างนี้ถึงแม้จะยังไม่แน่ใจว่า ตนเองตั้งครรภ์หรือไม่ แต่คุณผู้หญิงก็ควรต้องระวังเรื่องการรับประทานยาทุกชนิดโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะบางชนิดที่มีผลร้ายแรงต่อทารกในครรภ์มาก และควรดูแลตนเองมากเป็นพิเศษจนกว่าจะได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากแพทย์


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. คัคนานต์ เทียนไชย


ที่มาของข้อมูล

  • หนังสือคู่มือตั้งครรภ์และเตรียมคลอด. “การตรวจว่าตั้งครรภ์หรือไม่”. (ศ. (คลินิก) นพ.สุวชัย อินทรประเสริฐ). หน้า 29-33.
  • หนังสือ 40 สัปดาห์ พัฒนาครรภ์คุณภาพ. “ทดสอบให้แน่ใจว่าตั้งครรภ์จริง”. (รศ. พญ. สายฝน-นพ. วิชัย ชวาลไพบูลย์). หน้า 19.
Scroll to Top