8 อาการอันตรายอะไรที่ต้องรีบพาทารกน้อยไปพบแพทย์

8 อาการอันตรายอะไรที่ต้องรีบพาทารกน้อยไปพบแพทย์

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่มักจะมีความกังวลต่ออาการและพฤติกรรมของทารกน้อย อาการบางอย่างที่ลูกน้อยแสดงเป็นภาวะปกติที่เจอได้ในทารกแรกเกิด แต่มีบางอาการที่คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่นิ่งนอนใจ ถ้าสังเกตเห็นต้องรีบพาทารกน้อยไปพบแพทย์ทันที

8 อาการอันตราย ที่หากทารกเป็น ต้องรีบพาไปพบแพทย์

1. ทารกท้องอืด

เด็กทารกมักจะมีอาการท้องโตยื่นได้ หลังจากกินนมปริมาณมากเข้าไป อย่างไรก็ตาม ในช่วงระหว่างมื้อนม ท้องไม่ควรโตหรือมีลักษณะตึง ควรจับแล้วนิ่ม หากคุณพ่อคุณแม่จับท้องทารกน้อยแล้วมีอาการท้องอืด โต แข็ง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเยอะกว่าปกติ

หากทารกมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ ถึงแม้ว่าบางอาการจะเกิดจากภาวะที่มีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นสัญญาณเริ่มต้นของภาวะอันตรายของลำไส้ได้

2. ทารกกล้ามเนื้ออ่อนแรง

เป็นภาวะที่เจอได้ หากทารกน้อยได้รับบาดเจ็บจากการคลอด มักเกิดในกรณีที่ทารกตัวใหญ่หรือคลอดยาก หรือเกิดจากความผิดปกติภายในสมอง เช่น เส้นเลือดอุดตัน

หากทารกน้อยมีการขยับแขนขาไม่เท่ากันสองข้าง หรือมีการขยับแขนหรือขาข้างใดน้อยกว่าปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

3. ทารกตัวเขียว

ทารกแรกเกิดยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ดี บางครั้งจะพบอาการปลายมือปลายเท้าเขียวม่วงได้ โดยเฉพาะเวลาอากาศเย็น

หากให้ความอบอุ่นแก่ทารก อาการต่างๆ ควรหายไปทันที บางครั้งหากทารกน้อยร้องไห้ ใบหน้า ลิ้น และริมฝีปากอาจมีลักษณะเขียวคล้ำได้เล็กน้อย แต่เมื่อทำให้เด็กหยุดร้อง อาการต่างๆ ควรหายไปทันทีเช่นกัน

หากอาการตัวเขียว หรือมีใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้นเขียวม่วงอยู่นาน โดยเฉพาะหากมีอาการหายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม หัวใจเต้นเร็ว หรือมีอาการกินนมสำลัก ซึมลง อาการเหล่านี้จะเป็นสัญญาญบ่งบอกถึงภาวะผิดปกติของร่างกายแสดงถึงว่าได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ควรรีบพาทารกไปพบแพทย์ทันที

4. ทารกไอ

หากทารกน้อยกินนมด้วยความรวดเร็ว หรือคุณแม่มีนมมาเยอะขณะที่ลูกดูดนม ทารกอาจจะมีอาการไอหรือบ้วนนมออกมาเล็กน้อย

การจัดท่าทางการกินนมหรือปรับปริมาณนมทำให้อาการไอดีขึ้น แต่ถ้าทารกน้อยยังมีอาการไอต่อเนื่อง ร่วมกับอาการขย้อน หรือมีไข้ น้ำมูก ร่วมด้วย ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติม เพราะอาจมีอาการทางระบบหายใจหรือระบบทางเดินอาหารได้

5. ทารกร้องไห้มากเกินไป

ทารกมักจะร้องไห้บ่อยๆ การร้องไห้ของทารกเป็นทางเดียวที่ใช้สื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่

เมื่อทารกร้องไห้ คุณพ่อคุณแม่ควรตรวจสอบหรือสังเกตว่าทารกหิว ท้องอืด ร้อน หรือแพมเพิสที่สวมใส่อยู่เปียกชื้นเกินไปหรือไม่

หากไม่ใช่สาเหตุที่กล่าวไปข้างต้น การอุ้มกอดเพื่อให้ทารกหยุดร้องเป็นอีกวิธีที่ทำให้ทารกหยุดร้องได้

อย่างไรก็ตาม หากทารกร้องไห้มากเกินไป หรือลักษณะเสียงร้องไม่เหมือนปกติ บ่งบอกว่ากำลังเจ็บปวด หรือร้องเป็นระยะเวลานาน ควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น โดนแมลงสัตว์กัดต่อย อืดแน่นท้อง

6. ทารกตัวเหลือง

ภาวะตัวเหลือง เป็นภาวะปกติที่พบได้ในทารกแรกเกิด เนื่องมาจากมีการสร้างสารบิลิรูบิน (Bilirubin) อยู่ในกระแสเลือด ภาวะตัวเหลืองมักจะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

อย่างไรก็ตาม หากทารกน้อยมีอาการตัวเหลือง แนะนำอย่าละเลยการไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจร่างกายและเจาะเลือดวัดระดับสารบิลิรูบินในกระแสเลือด

หากระดับสารบิลิรูบินไม่สูง แพทย์สามารถนัดติดตามดูอาการหรือให้การรักษาโดยการส่องไฟ แต่ถ้าสารบิลิรูบินอยู่ในระดับสูงมากแล้วรักษาไม่ทัน สารนี้อาจไปสะสมที่สมอง ทำให้เกิดภาวะชักและส่งผลต่อสติปัญญาได้

7. ทารกนอนเยอะ ซึมลง

ปกติทารกเมื่อคลอดออกมามักจะนอนนาน โดยเฉลี่ยประมาณ 16 ชั่วโมงขึ้นไป

ทารกบางคนนอนช่วงกลางวันมากกว่ากลางคืน เนื่องจากวงจรการหลับตื่นยังเจริญไม่เต็มที่เหมือนผู้ใหญ่ ทารกที่นอนนาน คุณพ่อคุณแม่ควรปลุกให้มากินนม เปลี่ยนผ้าอ้อม ดูแลความสะอาด

หากทารกน้อยนอนนานเกินไป ปลุกตื่นยาก ดูซึม ไม่ค่อยดูดนมเหมือนเดิม ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะอาการเหล่านี้บ่งบอกถึงภาวะฉุกเฉินที่ต้องรีบหาสาเหตุ เช่น มีการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ

8. ทารกหายใจเร็ว หน้าอกบุ๋ม

ปกติทารกแรกเกิดจะหายใจประมาณ 40-60 ครั้งต่อนาที และใช้จมูกในการหายใจ หากมีน้ำมูกอุดตันในรูจมูก อาจทำให้ทารกหายใจไม่สะดวกได้ การเอาน้ำเกลือหยอดจมูกเล็กน้อยตามด้วยใช้ที่ดูดน้ำมูกดูดน้ำมูกให้ทารกจะทำให้การหายใจดีขึ้น

หากทารกหายใจเกิน 60 ครั้งต่อนาที มีอาการหายใจเร็ว ใช้แรงกล้ามเนื้อหน้าอกในการหายใจ หายใจอกบุ๋ม จมูกบาน มีเสียงดังเวลาหายใจ หรืออาการตัวเขียวร่วมด้วย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจสัญญาณภาวะอันตรายเช่น โรคปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง มีการติดเชื้อในกระแสเลือด


เขียนบทความโดย พญ. สุดารัตน์ ศุภนิตยานนท์


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top