peripheral edema and dm

เท้าบวมเบาหวาน การบวมส่วนปลายเบาหวาน คืออะไร?

การบวมส่วนปลาย (Peripheral edema) คือการบวมที่เกิดจากการสะสมสารน้ำในเท้า ข้อเท้าหรือขา โดยอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และหากคุณเป็นโรคเบาหวาน ควรต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเมื่อเกิดการบวม

เนื่องจากการบวมเป็นผลจากการทำลายเส้นเลือดฝอย หรือการมีความดันเพิ่มขึ้นจนทำให้มีสารน้ำรั่วจากเส้นเลือดออกมาสู่เนื้อเยื่อโดยรอบ ทำให้เกิดการบวม ผู้ป่วยโรคเบาหวานมักมีปัญหาเรื่องการไหลเวียนเลือดซึ่งอาจทำให้แผลที่เกิดขึ้นหายช้าลงหรือไม่หายเลย ดังนั้น การควบคุมการบวมจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

สาเหตุของการบวมส่วนปลาย

สาเหตุของการบวมส่วนปลายที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน 

  • การไม่ได้ขยับร่างกาย
  • การยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน
  • การผ่าตัด
  • การถูกไฟไหม้
  • อากาศร้อน
  • การตั้งครรภ์
  • การมีประจำเดือน
  • การหมดประจำเดือน
  • การรับประทานยาคุมกำเนิด
  • การรับประทานยาบางชนิด
  • การรับประทานเกลือมากเกินไป
  • ภาวะทุพโภชนาการ หมายถึงโภชนาการไม่ดี เป็นได้ทั้งได้รับสารอาหารน้อย หรือมากเกินไป

สาเหตุการบวมส่วนปลายเพียงข้างเดียว

  • เกิดจากลิ่มเลือดอุดตันของเส้นเลือดดำ (Deep venous thrombosis: DVT)
  • การอักเสบของเนื้อเยื่อ (Cellulitis)
  • การอักเสบของกระดูกและกล้ามเนื้อ (Osteomyelitis)
  • อุบัติเหตุ
  • ถุงน้ำ Baker (ถุงน้ำบริเวณใต้ข้อพับเข่า) แตก
  • การอุดตันระบบหมุนเวียนน้ำเหลือง

สาเหตุการบวมส่วนปลายจากภาวะอันตรายอื่นๆ 

  • โรคหัวใจ
  • ปัญหาของการไหลเวียนเส้นเลือดดำ
  • โรคตับและโรคไต
  • ยาลดความดับโลหิตบางชนิด เช่น ยากลุ่ม Calcium channel blocker
  • ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานบางตัวทำให้เกิดอาการบวมได้ โดยเฉพาะในกลุ่ม Thiazolidinedione

ในปี 2007 องค์การอาหารและยา ได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับการใช้ยา Avandia ทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน หรือโรคหัวใจอื่นๆ ได้มากขึ้น และแนะนำให้แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยซึ่งรับประทานยานี้ติดตามอาการแสดงของโรคหัวใจวาย เช่น การบวมส่วนปลาย

ผู้ป่วยโรคเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ หรือหัวใจวายมากกว่าปกติถึง 2 เท่า หากผู้ป่วยมีอาการชา อาจไม่มีอาการแสดงของโรคหัวใจหรือหัวใจวายได้ ดังนั้น เมื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานเกิดอาการบวม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที

ลักษณะอาการของการบวมส่วนปลาย

  • ผิวหนังตึงหรือเป็นมันวาว
  • ข้อเท้า เท้า ข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง บวมขึ้น และนิ่ม
    การบวมที่กดบุ๋ม หรือไม่บุ๋ม จะบอกสาเหตุของการเกิดอาการนี้แตกต่างกัน
  • ความรุนแรงของอาการ ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการบวม

ผู้ป่วยโรคเบาหวานต้องทำอย่างไร เมื่อมีอาการบวมส่วนปลาย

  • ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที เพื่อหาสาเหตุของการบวมที่เป็นอันตรายรุนแรง
  • วิธีลดอาการบวมเบื้องต้นด้วยตนเอง
    • ยกขาที่บวมสูงตลอดวัน
    • ใส่ถุงน่องแบบกระชับ (ควรตรวจสอบกับแพทย์ก่อนว่าคุณไม่มีโรคของหลอดเลือดดงส่วนปลาย)
    • ออกกำลังกาย
    • รับประทานอาหารที่มีเกลือน้อย
  • หากมีแผล มีการติดเชื้อของเนื้อเยื่อที่ผิวหนัง ผิวหนังแตกหรือคัน ควรแจ้งแพทย์ทันที
  • โทรหาแพทย์อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
    • หากอาการบวมไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง
    • หากคุณเป็นโรคตับ และมีอาการบวมที่ขา ท้อง
    • หากขาที่บวมมีสีแดงและอุ่น
    • มีไข้
    • ปัสสาวะลดลง
    • ตั้งครรภ์
    • มีอาการบวมระดับปานกลางถึงรุนแรงอย่างฉับพลัน

หมายเหตุ ไม่ว่าคุณจะป่วยเป็นโรคเบาหวาน หรือไม่ได้เป็น หากมีอาการบวมเกิดขึ้นใหม่ ไม่ว่าจะเป็นข้างเดียว หรือสองข้าง จะต้องได้รับการตรวจทันที

การมีอาการบวมข้างเดียวอาจแสดงว่า ต้องตรวจหาภาวะลิ่มเลือดอุดตันของเส้นเลือดดำ (DVT) อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติเดินทางนานกว่า 3 ชั่วโมงโดยเครื่องบินหรือรถโดยสารโดยที่ไม่ได้ขยับขา มีประวัติสูบบุหรี่ หรือมีประวัติใช้ยาคุมกำเนิด


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top