Default fallback image

ผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง กับ ผศ.พญ. พัทยา ด้วยบริการจาก HDcare

ไขวิธีรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด แค่ไอหรือจามก็ปัสสาวะเล็ดออกมา หรือบางครั้งปวดปัสสาวะ แต่วิ่งไปห้องน้ำก็ไม่ทันเสียแล้ว มีปัญหาแบบนี้ แก้ไขได้อย่างไร 

ให้ข้อมูลโดย “หมอไต๊” ผศ.พญ. พัทยา เฮงรัศมี สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรีและศัลยกรรมซ่อมเสริม รวมถึงเป็นแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช หนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอไต๊ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอไต๊” สูตินรีแพทย์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรี การศัลยกรรมซ่อมเสริม และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช]

ภาวะปัสสาวะเล็ดคืออะไร? 

ภาวะปัสสาวะเล็ด คือ ภาวะเมื่อคนไข้สูญเสียการควบคุมปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถปล่อยปัสสาวะเฉพาะเวลาขับถ่ายได้ สามารถแบ่งออกได้หลัก ๆ 2 รูปแบบ ได้แก่

  • ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น หัวเราะ วิ่ง ออกกำลังกาย ยกของหนัก
  • ภาวะกลั้นปัสสาวะได้น้อยหรือกลั้นไม่ได้เลย ทำให้มีปัญหาปัสสาวะราดก่อนไปถึงห้องน้ำ

ภาวะปัสสาวะเล็ดเกิดจากอะไร?

  1. ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง มีสาเหตุหลักมาจากความผิดปกติทางภายวิภาคของคนไข้ ซึ่งหมายถึงอวัยวะช่วยพยุงท่อปัสสาวะเกิดปัญหา เช่น ช่องคลอดหย่อน กล้ามเนื้อหูรูดเสื่อมตัวลง
  2. ภาวะกลั้นปัสสาวะได้น้อยหรือกลั้นไม่ได้เลย สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น 
    • การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ทำให้คนไข้ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้เหมือนเดิม
    • เป็นภาวะที่เกิดได้อย่างไม่ทราบสาเหตุ
    • การกินอาหารที่มีคาเฟอีนหรือแก๊ส ซึ่งจะกระตุ้นให้อยากปัสสาวะบ่อยขึ้น และทำให้คนไข้ไปปัสสาวะที่ห้องน้ำไม่ทัน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม อาหารรสจัด
    • การเข้าสู่วัยทอง จนทำให้คนไข้ขาดฮอร์โมนเพศหญิงหรือฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่กระตุ้นการทำงานของช่องคลอดและท่อปัสสาวะ ทำให้คนไข้ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่ายกว่าคนทั่วไป ร่วมกับมีปัญหาช่องคลอดแห้งและฝ่อลีบ จนกลั้นปัสสาวะได้ยากขึ้น

แนวทางการรักษาภาวะปัสสาวะเล็ด

ภาวะปัสสาวะเล็ดทั้ง 2 รูปแบบจะมีแนวทางการรักษาที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้

  1. ภาวะปัสสาวะเล็ดขณะไอ จาม หรือเมื่อทำกิจกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง เนื่องจากเป็นภาวะปัสสาวะเล็ดที่เกิดจากกายวิภาค ดังนั้นคนไข้จึงต้องแก้ไขในส่วนของความผิดปกติของกายวิภาคที่ทำให้เกิดภาวะนี้ เช่น
  • การฝึกขมิบช่องคลอด
  • การยิงเลเซอร์ยกกระชับจุดซ่อนเร้น
  • การนั่งเก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้าเพื่อให้กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานแข็งแรงขึ้น
  • การฉีดสารที่ช่วยให้รูเปิดท่อปัสสาวะแคบลง แต่ในปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมในประเทศไทย
  • การผ่าตัด ซึ่งสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การผ่าตัดทางหน้าท้อง สามารถทำได้ทั้งเทคนิคการผ่าตัดแบบเปิดหรือแบบส่องกล้อง เพื่อให้แพทย์ช่วยเย็บพยุงท่อปัสสาวะ หรือการผ่าตัดทางช่องคลอดเพื่อใส่เทปพยุงบริเวณใต้ท่อปัสสาวะ หรือที่เรียกว่า “การใส่สลิง”
  1. ภาวะกลั้นปัสสาวะได้น้อยหรือกลั้นไม่ได้เลย เป็นภาวะที่มักมีส่วนมาจากปัจจัยภายนอกหรือเงื่อนไขสุขภาพที่ทำให้กลั้นปัสสาวะไม่ได้ แพทย์จึงจะแนะนำให้รักษาไปตามสาเหตุที่ทำให้คนไข้กลั้นปัสสาวะไม่ได้ เช่น
  • รักษาการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ 
  • งดหรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนให้น้อยลง 
  • งดกินอาหารรสจัด
  • ใช้ยาฮอร์โมนในช่องคลอดสำหรับคนไข้ที่เข้าสู่วัยทอง

การผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง คืออะไร?

การผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง (Midurethral sling) คือ การแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ด้วยการผ่าตัดทางช่องคลอด เพื่อนำ “สลิง” หรือเทปซึ่งแพทย์จะนำไปใส่ไว้ยังใต้ท่อปัสสาวะ เพื่อเป็นเครื่องช่วยพยุงท่อปัสสาวะไม่ให้แกว่งตัวเมื่อร่างกายเกิดแรงดันในช่องท้อง เช่น เวลาไอ จาม ยกของหนัก หรือออกกำลังกาย 

สลิงสำหรับรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดมีลักษณะเป็นอย่างไร?

สลิงสำหรับผ่าตัดแก้ไขภาวะปัสสาวะเล็ด มีลักษณะเป็นตาข่ายขนาดเล็กที่มีความกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร สามารถผ่าตัดนำใส่ผ่านทางช่องคลอดได้ โดยแพทย์จะนำสลิงไปวางไว้ที่ใต้ท่อปัสสาวะ

การใส่สลิงสามารถใส่ได้ 2 แนวทาง โดยแพทย์จะเป็นผู้เลือกแนวทางการใส่ให้ ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของภาวะปัสสาวะเล็ด ได้แก่ 

  • ใส่ผ่านช่องคลอด และสลิงจะโผล่เหนือหัวหน่าว 
  • ใส่ผ่านช่องคลอด และสลิงจะโผล่ออกมาที่ขาหนีบ

จุดเด่นของการผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง

การผ่าตัดใส่สลิงเป็นการผ่าตัดที่มีขนาดแผลเล็กมาก ทำให้คนไข้มีอาการเจ็บหลังผ่าตัดได้น้อย ฟื้นตัวเร็ว หากผ่าตัดในต่างประเทศก็จะสามารถเดินทางกลับบ้านได้ในวันเดียวกัน

ส่วนการผ่าตัดที่ประเทศไทย คนไข้จะนอนโรงพยาบาลเพียง 1 วันเท่านั้น หลังจากนั้นแพทย์จะทดสอบการปัสสาวะของคนไข้ หากสามารถปัสสาวะได้ตามปกติ ไม่ปัสสาวะเล็ดอีก คนไข้ก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย

การผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำหรือไม่?

การใส่สลิงเพื่อรักษาภาวะปัสสาวะเล็ดเป็นการผ่าตัดที่อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะหรือบริเวณโดยรอบได้ เช่น การเกิดแผลหรือรูที่ท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งก็อาจทำให้คนไข้ยังมีปัญหาภาวะปัสสาวะเล็ดอยู่ 

อย่างไรก็ตาม หากเกิดปัญหาดังกล่าวระหว่างการผ่าตัดไม่จำเป็นต้องหยุดการผ่าตัดแต่อย่างใด แพทย์สามารถผ่าตัดได้จนเสร็จสิ้นขั้นตอนตามแผนเดิม เพียงแต่คนไข้อาจต้องใส่สายสวนปัสสาวะหลังผ่าตัดประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อแผลจากการผ่าตัดหายดีแล้ว แพทย์จึงจะนำสายสวนออกให้

การผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรบ้าง?

ภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยหลังผ่าตัดใส่สลิงมีอยู่ 2 กรณี ได้แก่

  • แพทย์วางสลิงแน่นเกินไป ทำให้คนไข้ปัสสาวะลำบากขึ้น หรือปัสสาวะไม่ออก ต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อดึงสลิงให้หลวมขึ้น หรือต้องจัดสลิงในตำแหน่งใหม่เพื่อลดความแน่นของสลิงให้อยู่ในระดับที่พอดี
  • สลิงเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิม และอาจทำให้อาการปัสสาวะเล็ดหรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่กลับมา ต้องผ่าตัดซ้ำเพื่อดึงสลิงกลับมาอยู่ในตำแหน่งเดิม

การดูแลตนเองไม่ให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ด 

  • ฝึกขมิบช่องคลอดอยู่เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • รักษาสุขภาพ อย่าให้เกิดอาการไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง
  • หากตั้งครรภ์ ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการคลอดบุตร เนื่องจาการคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติสามารถส่งผลกระทบต่อท่อปัสสาวะ และทำให้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้
  • งดดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน 
  • งดกินอาหารรสจัด
  • หากเป็นโรคเบาหวาน ให้คุมระดับอาการของโรคให้ดี เนื่องจากระดับน้ำตาลที่สูงในปัสสาวะมักทำให้คนไข้อยากปัสสาวะบ่อยได้ 
  • อย่ากลั้นปัสสาวะ เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบหรือการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ ซึ่งจะทำให้คนไข้เกิดภาวะปัสสาวะเล็ดตามมาได้
  • หากเข้าสู่วัยทอง เริ่มมีปัญหาช่องคลอดแห้งหรือระคายเคืองที่ช่องคลอด ให้ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ฮอร์โมนเสริมช่วยรักษา เพื่อให้ช่องคลอดยังคงความชุ่มชื้น ลดโอกาสเกิดภาวะปัสสาวะเล็ดได้

ผ่าตัดรักษาปัสสาวะเล็ดด้วยการใส่สลิง กับ ผศ.พญ. พัทยา ด้วยบริการจาก HDcare 

ไม่ได้อยากเข้าห้องน้ำ แต่ไอ จาม หรือทำกิจกรรมออกแรงนิดหน่อยก็ปัสสาวะเล็ด กลั้นปัสสาวะเองไม่ได้ รู้สึกไม่มั่นใจ อยากรักษาให้หายขาด ทีมงาน HDcare พร้อมเป็นผู้ช่วยประสานงานนัดหมายให้คุณได้ปรึกษาแพทย์ทั้งที่โรงพยาบาลหรือผ่านช่องทางออนไลน์

และหากตัดสินใจรับการผ่าตัด สามารถซื้อแพ็กเกจผ่าตัดกับทาง HDcare เพื่อให้เราเป็นตัวกลางประสานงานกับโรงพยาบาลให้กับคุณ พร้อมมีพยาบาลผู้ช่วยส่วนตัวคอยอยู่เป็นเพื่อนตลอดทุกขั้นตอน ไปผ่าตัดคนเดียวก็สะดวกสบาย ไม่ต้องมีญาติไปด้วย

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัยกับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top