การปวดประจำเดือนหรือปวดท้องเมนส์ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้หญิงหลายคน ซึ่งอาการนี้อาจสร้างความไม่สะดวกและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน การเลือกใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการเป็นหนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยม แต่ก็มีหลายปัจจัยที่ต้องพิจารณา เช่น ประเภทของยา ความเหมาะสมของการใช้ และข้อควรระวัง เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยารักษาอาการปวดนี้ ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ปวดท้องเมนส์ หลายท่านอาจคุ้นเคยกับ ยาแก้ปวดประจำเดือนเม็ดรีๆ สีเหลือง แต่หากไม่มี ยังมียาอื่นที่สามารถทานทดแทนได้ตามคำแนะนำของเภสัชกรในร้านขายยา
สารบัญ
ยาแก้ปวดท้องเมนส์ มีอะไรบ้าง
ยาแก้ปวดลดการอักเสบ เป็นยากลุ่ม NSAIDs (เอ็นเสด) กลุ่มยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ โดยยาออกฤทธิ์ยับยั้งการสร้างโพรสตาแกลนดิน จึงมีผลลดอาการปวดประจำเดือนได้ การเลือกยาจะขึ้นกับหลายปัจจัย โดยไม่มียาตัวไหนดีสุด ควรให้เภสัขกรเป็นผู้พิจารณาจากประวัติของคนทานยา และไม่ควรใช้ยาร่วมกับผู้อื่น เพราะบางคนอาจแพ้ยาบางตัว
ชื่อยากลุ่ม NSAIDs (ไม่ใช่ชื่อทางการค้า) ที่นิยมใช้ดังนี้
ยาแก้ปวดประจำเดือนที่นิยมใช้ มี ibuprofen หรือ ยาแก้ปวดประจำเดือนเม็ดรีๆ สีเหลือง (ยากลุ่ม Mefenamic acid) สามารถช่วยบรรเทาอาการปวดที่มดลูกได้ ควรรับประทานยาทันทีที่เริ่มมีอาการปวด โดยปกตินิยมทาน 1-2 วันก่อนมีประจำเดือน
หากหลังทานยาไปหลายวันยังคงมีอาการปวด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีอื่นในการรักษา
วิธีลดปวดประจำเดือนโดยไม่ใช้ยา
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ใช้กระเป๋าน้ำร้อนวางที่หน้าท้อง หรือเอวด้านหลัง บรรเทาอาการปวด
- รับประทานน้ำขิง
- เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน, งดดื่มแอลกอฮอล์ และหยุดสูบบุหรี่
คำถามเกี่ยวกับ ยาแก้ปวดท้องเมนส์
หลังกินยาแก้ปวดท้องประจำเดือน ใจสั่นแน่นหน้าอก
เมื่อวานได้ทานยาแก้ปวดท้องประจําเดือนเมนนอกซ์ ประมาณ 4 ทุ่ม มีอาการใจสั่นแน่นหน้าอกคะ จนตอนนี้ใจยังสั่นเป็นบางเวลา อยากถามว่า เป็นอันตรายอะไรไหมคะถ้าเป็นแนะนำควรเป็นตัวไหนคะ ?
โดยปกติแล้วการรับประทานยาแก้ปวดประจำเดือนจะไม่ทำให้เกิดอาการใจสั่นแน่นหน้าอกครับ
การมีอาการใจสั่นแน่นหน้าอกนั้นอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหอบหืด ไทรอยด์เป็นพิษ น้ำตาลในเลือดต่ำ มีภาวะโลหิตจางจากการขาดประจำเดือน การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ และความเครียด
ในกรณีที่มีอาการใจสั่นมากหมอก็แนะนำว่าควรไปพบแพทย์อายุรกรรมเพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อนเพื่อที่จะได้ให้การรักษาได้อย่างเหมาะสมครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
ปวดท้องประจําเดือน กินยาอะไร
คุณหมอคะ ดิฉันปวดประจำเดือนทุกๆ เดือน กินยาไม่หาย (ทั้งพอนสแตน ยาแก้ปวดเม็ดสีชมพู ยาแก้ปวดเม็ดสีฟ้าใสๆ ก็ไม่หาย) พอจะมียาอื่นแนะนำมั้ยคะที่หาซื้อตามร้านขายยาได้ แล้วถ้าไปหาหมอจำเป็นต้องตรวจภายในด้วยมั้ยคะ ?
อาการปวดประจำเดือนมักเกิดจากเลือดประจำเดือนไหลออกมาไม่ทัน หรือออกมาไม่สะดวกจึงทำให้เกิดเลือดคั่งในโพรงมดลูก
กล้ามเนื้อมดลูกจึงพยายามบีบรัดตัวเพื่อเป็นการขับเลือดออกมา ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด วิธีการรักษาเบื้องต้นคือ นอนพัก รับประทานยาเเก้ปวด วางกระเป๋าน้ำร้อนที่หน้าท้องช่วยคลายกล้ามเนื้อมดลูก หรือออกไปเดินเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด จะพอช่วยได้ครับ
แต่หากอาการปวดเป็นมากจนทำงานไม่ไหว ร่วมกับมีอาการอื่น เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ เจ็บขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจคิดถึงภาวะปวดประจำเดือนที่มีสาเหตุจำเพาะ (Secondary dysmenorrhea) เช่น เนื้องอกมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ เป็นต้นครับ ซึ่งควรไปพบสูตินรีเเพทย์ เพื่อตรวจภายใน หรือ อัลตร้าซาวด์ เพิ่มเติมครับ
การตรวจภายในไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดครับ คุณหมอจะเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเเต่ละคน เเละตรวจตามความจำเป็นครับ
ตอบโดย นพ. วชิรวิทย์ สุทธิศักดิ์
แพ้ยาปวดท้องเมนส์ กินยาอะไร
แพ้ยาแก้ปวดท้องปจด.แต่ว่าปวดท้องมากๆ เลยไปร้านขายยาแจ้งอาการและยาที่แพ้เเล้ว หมอเลยให้ยาตัวนี้มาทาน (คาพีร็อกซ์-10) ทานไปแล้วจะมีผลข้างเคียงที่อันตรายมั้ยคะ กินไปประมาณ 3 ครั้งเเล้วเพราะอ่านรายละเอียดเลยเริ่มไม่แน่ใจ เคยแพ้ยาเม็ดรีๆ สีเหลืองกับไอบูโพรเฟนค่ะ ?
ยาคาพีร็อกซ์มีส่วนประกอบสำคัญเป็นตัวยา Piroxicam ยานี้เป็นยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือ NSAIDs ซึ่งเป็นยาในกลุ่มเดียวกับยาแก้ปวดประจำเดือนเม็ดรีสีเหลือง ผลข้างเคียงของยา 2 ชนิดนี้จึงมีความใกล้เคียงกัน เช่น ยาอาจกัดกระเพาะทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยเฉพาะถ้ารับประทานในช่วงท้องว่าง ยาอาจมีผลทำให้เกิดอาการไตวายเฉียบพลันได้ หากรับประทานยาติดต่อกันเป็นเวลานานหลายวัน
หากเคยแพ้ทั้งยา Ibuprofen และยาเม็ดรีสีเหลืองในกลุ่ม Mefenamic acid มาก่อน ก็ต้องเฝ้าระวังการแพ้ยาคาพีร็อกซ์อย่างใกล้ชิด เพราะยานี้เป็นยาในกลุ่มเดียวกับยาทั้ง 2 ชนิดข้างต้น จึงอาจแพ้ร่วมกันได้ และอาการแพ้ในลักษณะที่มีตาบวม หายใจไม่สะดวก ก็อาจเป็นลักษณะของอาการแพ้แบบรุนแรง ทำให้ต้องเฝ้าระวังอาการแพ้เป็นพิเศษ
อย่างไรก็ตาม หากรับประทานยาไป 3 ครั้งแล้วยังไม่มีอาการแพ้เกิดขึ้น ก็มีโอกาสที่จะรับประทานยาต่อได้โดยไม่แพ้ แต่ในช่วง 7 วันหลังรับประทานยาครั้งแรก หมอก็แนะนำว่าควรเฝ้าระวังอาการแพ้อย่างใกล้ชิด หากมีผื่นขึ้น ปากบวม ตาบวม หรือหอบเหนื่อย ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการทันทีครับ
ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์
บทความที่เกี่ยวข้อง
คำถามสุขภาพที่พบบ่อย