ประจำเดือนมาน้อยเป็นภาวะประจำเดือนมาไม่ปกติที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย โดยเฉพาะวัยที่ใกล้หมดประจำเดือน หรือวัยทอง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบร่างกายภายใน และสร้างความกังวลว่าอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายอื่นตามมาได้
ดังนั้น การหมั่นสังเกตตัวเองเพื่อหาความไม่ปกติของประจำเดือน จึงจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง ในบทความนี้ HDmall.co.th จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับภาวะประจำเดือนมาน้อยมาก เพื่อช่วยให้รู้เท่าทันและหาวิธีป้องกัน ก่อนที่จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง สร้างความยุ่งยากในการรักษาในอนาคต
สารบัญ
ประจำเดือนมาน้อยคืออะไร?
ประจำเดือนมาน้อย (Hypomenorrhea) คือ ภาวะที่มีเลือดประจำเดือนไหลออกมาในปริมาณน้อยกว่าปกติ หรือมาไม่เกิน 2 วัน โดยอาจจะเป็นเลือดหยด หรือเปื้อนผ้าอนามัยเพียงเล็กน้อย ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และเกิดได้กับผู้หญิงทุกวัย แต่ส่วนใหญ่มักเกิดผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือน หรือวัยทอง
โดยทั่วไปผู้มีรอบเดือนปกติ จะเกิดขึ้นทุก 21-35 วัน และมีติดต่อกันได้ตั้งแต่ 2-7 วัน แต่การมาในแต่ละเดือน อาจจะไม่ใช่วันเดียวกันเสมอไป แต่สามารถมาเร็วหรือช้ากว่าเดือนที่ผ่านมาได้มากหรือน้อยกว่าเดิม 7 วันได้ เช่น ปกติมาทุกวันที่ 1 ของเดือน แต่บางครั้งอาจเป็นวันที่ 7 หรือ 27 เป็นต้น โดยเลือดที่ไหลออกมามีปริมาณมากน้อยแตกต่างกันไป ซึ่งโดยเฉลี่ยเลือดประจำเดือนจะมีน้อยกว่า 16 ช้อนชา (80 มิลลิลิตร) ต่อเดือน โดยส่วนใหญ่จะมีประมาณ 6-8 ช้อนชา
อย่างไรก็ตาม รอบเดือนและประจำเดือนของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนจะมีเลือดประจำเดือนไหลในช่วงสั้น ซึ่งอาจเพราะกำลังอยู่ในช่วงวัยที่ร่างกายยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ จึงมีผลต่อฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ควบคุมรอบเดือน หรืออาจเกิดจากสาเหตุปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้อง แต่หากสังเกตพบว่าประจำเดือนมาน้อย ไม่มา หรือขาดบ่อยครั้ง ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจรักษาให้ประจำเดือนมาตามปกติ
ประจำเดือนมาน้อยอาการเป็นอย่างไร?
ประจำเดือนมาน้อยมาก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติภายใน เช่น สัญญาณความเสี่ยงของโรคมะเร็ง เนื้องอก หรือโรคภายในระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น โดยสามารถสังเกตอาการภาวะประจำเดือนมาน้อยได้ ดังนี้
- ประจำเดือนไหลมา 2 วัน หรือน้อยกว่า 2 วัน และมีปริมาณน้อย หรือประจำเดือนหมดในระยะเวลาที่สั้นกว่าที่เคยมี
- เลือดประจำเดือนไหลออกเป็นหยดเลือดเพียงเล็กน้อย ไหลกะปริบกะปรอย หรือมีเลือดปริมาณน้อยมากตั้งแต่วันแรก
- มีการใช้ผ้าอนามัยน้อยกว่าที่เคยใช้ทุกเดือน
- มีภาวะประจำเดือนขาด
ประจำเดือนมาน้อยเกิดจากอะไร?
สำหรับผู้มีประจำเดือนไหลปกติ หรือประจำเดือนสม่ำเสมอมาก่อน หากเกิดอาการประจำเดือนมาน้อยอาจมาจากสาเหตุ ดังนี้
- การเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ส่วนมากหญิงที่มีอายุระหว่าง 45-55 ปี ระดับฮอร์โมนจะลดลงจึงมีการตกไข่น้อยลง และรังไข่เริ่มมีการเสื่อมสภาพ ส่งผลให้มีประจำเดือนน้อย
- การดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติและการทำงานของรังไข่ผิดปกติ ส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ หรือมาแบบกะปริดกะปรอย
- น้ำหนักตัวที่น้อยหรือมากเกินไป หรือน้ำหนักตัวลดเร็วเกินไป อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนมาน้อยหรือไม่ค่อยมา เนื่องจากสมองไม่ส่งสารเคมีมากระตุ้นการสร้างฮอร์โมนในรังไข่ ทำให้ฮอร์โมนไม่เพียงพอที่จะขับเยื่อบุโพรงมดลูกให้กลายเป็นประจำเดือน
- การรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia) ส่งผลให้น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ฮอร์โมนที่ควบคุมรอบเดือนเปลี่ยนแปลงไป
- การออกกำลังกายมากหรือหนักเกินไป เช่น การเล่นกีฬาที่ใช้แรงมาก หรือออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันนานหลายชั่วโมง อาจทำให้เกิดประจำเดือนมาน้อย หรือประจำเดือนขาด
- การคุมกำเนิด ที่มีผลยับยั้งการตกไข่ ทำให้ผนังมดลูกบางลง ส่งให้ประจำเดือนมาน้อย หรือเกิดภาวะประจำเดือนขาด เช่น การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด วงแหวนคุมกำเนิด เป็นต้น
- การตั้งครรภ์ เป็นภาวะที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง และอาจทำให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดกะปริบกะปรอย เนื่องจากหลังเกิดการปฏิสนธิ ตัวอ่อนเคลื่อนไปยึดเกาะฝังตัวที่ผนังมดลูก ทำให้มีเลือดไหลออกเล็กน้อยทางช่องคลอดประมาณ 1-2 วัน ซึ่งเป็น เลือดล้างหน้าเด็ก และทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นเลือดประจำเดือน
- อยู่ในช่วงเวลาให้นมบุตร เป็นเวลาที่ฮอร์โมนสร้างการผลิตน้ำนม จึงหยุดหลั่งฮอร์โมนเพศ ทำให้ไข่ตกช้า เกิดภาวะประจำเดือนขาด และจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าประจำเดือนจะกลับมาตามปกติ
- ช่วงเวลาตกไข่ บางครั้งทำให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดในช่วงกลางรอบประจำเดือน หรือในช่วงตกไข่ ซึ่งสามารถทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นประจำเดือนมาน้อย
- การเป็นโรคกลุ่มอาการถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovarian Syndrome : PCOS) ที่เป็นความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ พบในผู้หญิงอายุระหว่าง 18-45 เป็นความผิดปกติของฮอร์โมน และมีผลกระทบต่อการตกไข่ ทำให้มีฮอร์โมนเพศชายมากกว่าปกติ จึงส่งผลต่อประจำเดือนมาไม่ปกติ หรือประจำเดือนขาด
- โรคไทรอยด์ หากเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน อาจส่งผลให้รังไข่ทำงานผิดปกติและกระตุ้นให้เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเร็วขึ้น ส่วนระดับฮอร์โมนไทรอยด์มากหรือน้อยเกินไป ก็มีผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ หรืออาจเกิดภาวะประจำเดือนขาดติดต่อกันนานหลายเดือน
- การมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ประจำเดือนที่มาไม่ปกติอาจเกิดจากภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกแทรกตัวเข้าไปในกล้ามเนื้อผนังมดลูก ซึ่งอาจทำให้มีประจำเดือนมามากหรือน้อยกว่าปกติได้
- การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน เกิดภาวะเลือดออกจากสาเหตุ เช่น การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน หรือการสะสมของเชื้อโรคจนเกิดการติดเชื้อลามไปยังอวัยวะอื่น เช่น ช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก ท่อนำไข่ ไปจนถึงรังไข่ เป็นต้น ทำให้เข้าใจว่า เป็นเลือดประจำเดือน
- ภาวะอักเสบภายใน เช่น อักเสบบริเวณช่องคลอด ปากมดลูก รวมไปถึงโพรงมดลูกเป็นพังผืด ทำให้เลือดประจำเดือนออกน้อย เป็นต้น
- โรคอื่นที่อาจทำให้มีเลือดไหลออกจากช่องคลอด เช่น เนื้องอกในมดลูก ภาวะท้องนอกมดลูก ภาวะแท้ง โรคเบาหวาน และโรคมะเร็งที่เกิดกับอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น
ประจำเดือนมาน้อยแค่ไหนถึงไปพบแพทย์?
โดยธรรมชาติประจำเดือนของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน การสังเกตตัวเองจะช่วยให้เข้าใจความปกติหรือผิดปกติของตัวเองได้ดีขึ้น โดยในกรณีพบภาวะประจำเดือนมาน้อยมาก การมีเลือดไหลกะปริบกะปรอย หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ที่ควรต้องพบแพทย์ ได้แก่
- ประจำเดือนไม่มาเกิน 3 เดือน
- รอบเดือนนานเกิน 35 วัน ติดต่อกันหลายครั้ง
- มีประจำเดือนน้อยกว่า 9 ครั้งใน 1 ปี
การตรวจสอบดูแลด้วยตัวเองเบื้องต้น
ผู้ที่สงสัยว่ามีภาวะประจำเดือนมาน้อย ในเบื้องต้นสามารถดำเนินการ ดังนี้
- หากสงสัยว่าเกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมน สามารถใช้ชุดตรวจฮอร์โมนภาวะเจริญพันธุ์ที่บ้าน เพื่อเป็นการตรวจครอบคลุมฮอร์โมนภาวะเจริญพันธุ์ พร้อมกับวิเคราะห์ระดับฮอร์โมนในเวลาเดียวกัน
- หากสงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรใช้ชุดตรวจครรภ์เบื้องต้น และหากตั้งครรภ์ ควรพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ต่อไป
- หากสงสัยว่าเกิดจากความเครียด การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการขาดสารอาหารบางชนิด ควรปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตเพื่อไม่กระทบต่อฮอร์โมนและส่งผลถึงการมีประจำเดือน
หลังจากการดูแลตัวเองเบื้องต้นแล้ว หากประจำเดือนยังมาไม่ปกติ เช่น ประจำเดือนมาวันเดียว ประจำเดือนมาน้อย ประจำเดือนกะปริบกะปรอย ต่อเนื่องกันหลายเดือน หรือมีอาการแย่ลงจนประจำเดือนไม่มา ควรพบแพทย์โดยเร็ว
การวินิจฉัยประจำเดือนมาน้อย
การตรวจวินิจฉัยประจำเดือนมาน้อย สามารถทำได้ดังนี้
- การตรวจเลือด เนื่องจากสาเหตุส่วนใหญ่ของการไหลเวียนของเลือดที่ลดลงในช่วงประจำเดือน จะสามารถตรวจพบได้โดยการตรวจเลือด
- การทดสอบระดับของฮอร์โมน เช่น รูขุมขนกระตุ้นฮอร์โมน ฮอร์โมนโปรแลคติน หรืออินซูลิน ซึ่งมีความสำคัญในกลุ่มอาการรังไข่ซึ่งจะพบระดับอินซูลินและแอนโดรเจนในระดับสูง
- การอัลตร้าโซโนแกรม เพื่อวินิจฉัยความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ขนาดของรังไข่ การเจริญเติบโตของรูขุมขน การตกไข่และความผิดปกติอื่น ๆ
- การทดสอบอื่น เช่น การขยายและการขูดมดลูก การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เพื่อหาสาเหตุของการไหลเวียนของเลือด การตรวจภายในและตรวจเซลล์ของปากมดลูก (Pap Smear) เพื่อตรวจคัดกรองภาวะมะเร็งปากมดลูก บางกรณีแพทย์อาจตรวจเยื่อบุโพรงมดลูก โดยการขูดมดลูกหรือนำเซลล์มดลูกมาตรวจ หากสงสัยว่ามีความเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอก รวมไปถึงตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Ultra Sound) เป็นต้น
การรักษาประจำเดือนมาน้อย
อย่างไรก็ตาม สาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมาน้อยมาก บางสาเหตุก็ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายเสมอไป แต่บางสาเหตุที่อันตรายต่อสุขภาพ เช่น สังเกตพบความผิดปกติของประจำเดือน หรือสงสัยว่าเลือดที่ไหลออกมาอาจไม่ใช่เลือดประจำเดือน ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษาอย่างเหมาะสม โดยแนวทางการรักษาประจำเดือนมาน้อย สามารถทำได้ ดังนี้
- ดูแลตัวเอง ปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิตประจำวัน ผ่อนคลายจากความเครียด เมื่อรู้สึกตัวว่ามีอาการเครียด เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อฮอร์โมนและกระทบต่อการมีประจำเดือน
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ไม่อดอาหารเช้าและไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำ ซึ่งควรดื่มน้ำอย่างน้อย 2.7 ลิตร/วัน หรือประมาณ 9 แก้ว/วัน เป็นต้น
- เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยหมดประจำเดือน ควรพักผ่อนอย่างน้อย 7-9 ชั่วโมง/วัน เพราะการพักผ่อนอย่างเพียงพอจะทำให้ร่างกายสามารถผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ระหว่างที่นอนหลับ ช่วยรซ่อมแซมร่างกาย ปรับสมดุลของระบบเผาผลาญพลังงานและช่วยให้ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ทำหน้าที่เสริมสร้างคุณภาพการนอนให้สามารถทำงานได้ตามปกติ
- เปลี่ยนวิธีการออกกำลังกายหรือหยุดพักสักระยะเพื่อให้ร่างกายปรับตัว หากมีการออกกำลังกายหนักเกินไป
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้น้ำหนักเพิ่มหรือลดอย่างรวดเร็วจนกระทบต่อระบบภายในร่างกาย
- เปลี่ยนวิธีคุมกำเนิด หากพบว่า การมีประจำเดือนมีสาเหตุหรือแปรปรวนจากการใช้วิธีคุมกำเนิดชนิดใดชนิดหนึ่งนานเกิน 3 เดือน เช่น การใช้ห่วงอนามัย การกินยาเม็ดคุมกำเนิด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำการเปลี่ยนวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสม
- ควรรีบปรึกษาแพทย์ หากสังเกตพบเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงและทำการรักษาได้ถูกวิธี
การป้องกันประจำเดือนมาน้อย
นอกจากการรักษาประจำเดือนมาน้อยมากเมื่อเกิดอาการขึ้นแล้ว ผู้ที่สงสัยว่าตัวเองจะมีภาวะดังกล่าว สามารถป้องกันประจำเดือนมาน้อย ดังนี้
- ลดความเครียด ผ่อนคลาย
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และมีคุณค่าทางโภชนาการ
- ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างพอดี ไม่มากหรือหนักเกินไป
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นการกระตุ้นให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เช่น บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลม เป็นต้น
- ควรรับการตรวจภายในเป็นประจำทุกปี สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี โดยควรพบแพทย์ในวันที่ไม่มีประจำเดือน
การมีภาวะประจำเดือนมาน้อย หรือประจำเดือนไม่เป็นปกติ เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกวัย การหมั่นสังเกตตัวเองทุกเดือนจะช่วยให้การรักษาหรือการป้องกันทำได้ทันท่วงที เป็นการช่วยยับยั้งโรคอื่นที่อาจตามมาได้ทันการณ์