อัลบูเทอรอล (Albuterol) ใช้รักษาและป้องกันการเกิดภาวะหลอดลมตีบในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นชั่วคราว เช่น โรคหอบหืด (ผู้ป่วยจะมีอาการหายใจหอบเหนื่อย หายใจเสียงแหลมวี้ด) และป้องกันการหอบหืดจากการออกกำลังกาย อัลบูเทอรอลใช้ได้ในผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปี ขึ้นไป ยกเว้นยาอัลบูเทอรอลแบบพ่นสูด ซึ่งสามารถใช้ได้ตั้งแต่อายุ 4 ปี ขึ้นไป และใช้รักษาภาวะ/โรคอื่น ๆ
สารบัญ
สรรพคุณของยา Albuterol
Albuterol คือ ยาขยายหลอดลมชนิดหนึ่ง ออกฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อรอบหลอดลม ทำให้หลอดลมขยายตัว เพิ่มปริมาณอากาศเข้าปอด
- รักษาและป้องกันการหดเกร็งของหลอดลม: ใช้เพื่อบรรเทาอาการหายใจติดขัด หายใจหอบ หายใจลำบาก ในผู้ป่วยโรคหอบหืด และใช้ในผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) เช่น โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรังและโรคปอดพอง
- ใช้เพื่อป้องกันการหดเกร็งของหลอดลมที่เกิดจากการออกกำลังกาย: ใช้ก่อนการออกกำลังกายเพื่อป้องกันอาการหดเกร็งของหลอดลมที่อาจเกิดขึ้น
กลไกการออกฤทธิ์
Albuterol เป็นยากลุ่ม beta-2 adrenergic agonists ซึ่งทำงานโดยการกระตุ้นตัวรับเบต้า-2 ในกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมผ่อนคลายและขยายตัว ส่งผลให้หายใจสะดวกขึ้น
รูปแบบยา Albuterol
ปริมาณที่แนะนำสำหรับผู้ใหญ่
- แบบสูดพ่น (Inhaler): รับประทานโดยการสูดพ่นยาผ่านทางปาก ใช้ 1-2 พัฟทุก 4-6 ชั่วโมงตามต้องการ เพื่อบรรเทาอาการหอบหืด
- แบบน้ำยา (Solution): ใช้กับเครื่องพ่นละอองยา ปริมาณที่แนะนำโดยทั่วไปคือ 2.5 มิลลิกรัม
- แบบเม็ดหรือแบบน้ำ (Oral): รับประทานโดยการกลืน ปกติจะใช้ 2-4 มิลลิกรัม รับประทานทุก 6-8 ชั่วโมง
ข้อควรระวังในการใช้ยา
- อัลบูเทอรอล อาจทำให้เกิดการแพ้ยารุนแรงได้ หากมีอาการที่บ่งบอกถึงการแพ้ยา ได้แก่ ผื่น หายใจหอบหรือหายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม ให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ทันที หรือ โทรขอความช่วยเหลือจากสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669
- ไม่ควรใช้อัลบูเทอรอล หากมีภาวะแพ้โปรตีน/ โปรตีนจากนมวัว
- ไม่ควรใช้หากเคยมีประวัติการแพ้ยาอัลบูเทอรอลมาก่อน
- หากมีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ/หัวใจล้มเหลว, ความดันโลหิตสูง, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคลมชัก, เบาหวาน, ต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ และระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ต้องแจ้งแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง
- ไม่มีข้อมูลความปลอดภัยการใช้ในหญิงมีครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- ยาอัลบูเทอรอล สามารถออกฤทธิ์ได้นานมากกว่า 8 ชั่วโมง ห้ามใช้ยาถี่เกินจำนวนครั้งที่แพทย์กำหนด
- หากใช้ยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือต้องใช้ยาบ่อยครั้งมากกว่าปกติใน 1 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
- การรักษาโรคปอด หรือหอบหืด อาจต้องใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ควรใช้ยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ห้ามเปลี่ยนขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
- การใช้ยาอัลบูเทอรอลควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เสมอ
- หากยาเข้าตาให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด
ผลข้างเคียงของยาอัลบูเทอรอล
หากมีผลข้างเคียงรุนแรงดังต่อไปนี้ ให้หยุดยาและมาพบแพทย์
- อาการหอบหืดแย่ลงหลังใช้ยา
- ใจสั่น ใจเต้นเร็วและแรง
- เจ็บหน้าอก
- มือสั่น
- กระวนกระวาย
- ชัก
- ง่วงซึม สับสน กระหายน้ำมากผิดปกติ หิวบ่อยผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย ปากแห้ง ลมหายใจมีกลิ่นผลไม้ (เป็นอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะน้ำตาลในเลือดสูง)
- ท้องผูก กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ขาเป็นตะคริว ขาเป็นเหน็บชา (เป็นอาการที่อาจบ่งบอกถึงภาวะเกลือโพแทสเซียมในเลือดต่ำ)
- ความดันโลหิตสูง ร่วมกับอาการปวดศีรษะ ตามัว หูอื้อ วิตกกังวล สับสน เจ็บหน้าอก หายใจเหนื่อยหอบ หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- มีไข้ เจ็บคอ หน้าและลิ้นบวม แสบร้อนดวงตา แสบผิว มีผื่นสีแดงม่วงตามร่างกายซึ่งกลายเป็นตุ่มน้ำและลอก (มักเป็นบริเวณใบหน้าและลำตัวส่วนบน)
ผลข้างเคียงไม่รุนแรง เช่น
- ปวดหลัง
- ปวดเมื่อยตามตัว
- ตะคริว
- ปากแห้งคอแห้ง
- ขมปาก
- ปวดศีรษะ
- เวียนศีรษะ
- คลื่นไส้
- ท้องเสีย
- ลำไส้ปั่นป่วน
- เจ็บคอ
- คัดจมูก
- ปวดไซนัส
- นอนไม่หลับ
หากมีอาการผิดปกติอื่นที่สงสัยว่าอาจเป็นผลข้างเคียงจากยา ให้ปรึกษาแพทย์ผู้สั่งจ่ายยา
ปฏิกิริยาระหว่างยา
การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา เกิดขึ้นเมื่อได้รับยามากกว่าหนึ่งชนิดเข้าไปในร่างกายพร้อม ๆ กัน ยาเหล่านั้นอาจทำปฏิกิริยาต่อกัน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยา อาจมีฤทธิ์เพิ่ม/ลดประสิทธิภาพ หรืออาจทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้น การแจ้งรายการยา/วิตามิน/สมุนไพรที่ใช้ทุกชนิด ให้แพทย์ทราบ จึงเป็นสิ่งสำคัญ
ตัวอย่างยาที่ทำปฏิกิริยาระหว่างยากับอัลบูเทอรอล
- ยาในกลุ่ม MAOI (Monoamine oxidase inhibitor) หากมีการใช้ภายใน14วันก่อนเริ่มใช้ยาอัลบูเทอรอล ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- Monoamine oxidase inhibitor เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวช และโรคพาร์กินสัน ตัวอย่างยา เช่น
- furazolidone
- isocarboxazid
- phenelzine
- rasagiline
- selegiline
- tranylcypromine
- ยาพ่นสูดชนิดอื่น
- ยาขยายหลอดลมชนิดอื่น เช่น levalbuterol, bitolterol, pirbuterol , terbutaline, salmeterol, isoetherine, metaproterenol หรือ isoproterenol
- ยาขับปัสสาวะ
- ยารักษาโรคหัวใจ digoxin (digitalis, lanoxin)
- ยารักษาโรคซึมเศร้า เช่น amitriptyline, doxepin, imipramine, nortriptyline
- ยาในกลุ่ม Beta blocker (เบต้าบล็อกเกอร์) เช่น atenolol, carvedilol, labetalol, metoprolol, nadolol, propranolol, sotalol
- ยาลดความอ้วน และยาบรรเทาอาการคัดจมูก ที่มีส่วนผสมของ pseudoephridine (ซูโดเอฟริดีน) หรือ phenylephrine (ฟีนิลเอฟริน)
- ยารักษาโรคสมาธิสั้น (ADHD: Attention deficit hyperactivity disorder)
ขนาดและวิธีการใช้ยา
- ให้ใช้ยาตามขนาดที่แพทย์กำหนด ควรอ่านและทำความเข้าใจฉลากยาโดยละเอียด หากมีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร สำหรับยาอัลบูเทอรอลแบบพ่นสูด จะต้องเขย่าหลอดยาก่อนการใช้ยา และอาจต้องพ่นยาใส่กระบอกพ่นยาก่อน 1 ครั้ง เพื่อเคลือบผิวด้านในของกระบอก ห้ามให้เด็กใช้ยาแบบพ่นสูดเพียงลำพัง ขนาดการใช้ยาโดยทั่วไป คือ 2 สูด/ครั้ง ทุก ๆ 4-6 ชั่วโมง ส่วนขนาดยาที่ใช้เพื่อป้องกันอาการหอบหืดจากการออกกำลังกาย คือ 2 สูด ทุก 15-30 นาทีก่อนออกกำลังกาย
- ยาอัลบูเทอรอลสามารถออกฤทธิ์ได้นานถึง 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรใช้ยาถี่เกินจำนวนครั้งที่แพทย์กำหนด หากหลังใช้ยาพ่นสูดแล้วอาการหอบหืดไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ เนื่องจากอาจเป็นอาการเริ่มต้นของภาวะหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน ห้ามนำหลอดยาไปลอยในน้ำเพื่อทดสอบว่ายาหมดหรือไม่ ให้ใช้วิธีนับจำนวนครั้งที่ใช้พ่นสูด และหากยาพ่นใกล้หมด ควรเตรียมยาหลอดใหม่ให้พร้อมใช้งานเสมอ ควรทำความสะอาดกระบอกพ่นยาตามคำแนะนำ และห้ามแยกชิ้นส่วนของหลอดยาออกจากกัน ควรเก็บหลอดยาพ่นสูดในอุณหูมิห้อง หลีกแหลี่ยงความชื้น และอุณภูมิที่ร้อนหรือเย็นจนเกินไป หลอดยาอาจระเบิดได้หากอยู่ใกล้เปลวไฟ หรืออยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง เช่น ในรถยนต์ที่จอดอยู่กลางแดด ห้ามเจาะหรือเผาหลอดยาเปล่า
- ทั้งนี้ การรักษาโรคหอบหืด ต้องอาศัยยาหลายชนิดร่วมกัน ควรใช้ยาให้ครบตามแพทย์สั่ง ห้ามเปลี่ยนวิธีหรือขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง ห้ามบด เคี้ยว หรือ แบ่งกินยาอับลูเทอรอลแบบเม็ด เพราะอาจทำให้ยาเข้าสู่ร่างกายมากและเร็วเกินไป ให้รับประทานทั้งเม็ด
- สำหรับยาอัลบูเทอรอลในรูปยาน้ำ ห้ามให้ยาน้ำแข็งตัว และให้ใช้ช้อนหรือถ้วยตวงยา ห้ามใช้ช้อนรับประทานอาหารทั่วไป หากไม่มีอุปกรณ์ตวงยา สามารถขอได้จากเภสัชกร เก็บยาอัลบูเทอรอลแบบเม็ด ที่อุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน และแสงสว่าง ปิดขวดยาให้แน่นเมื่อใช้เสร็จ หากพบการใช้ยาเกินขนาด สามารถโทรปรึกษา/สอบถามข้อมูลได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 1367 สายด่วนศูนย์พิษรามาธิบดี เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง
- หากผู้รับประทานยาเกินขนาดมีอาการหมดสติ หยุดหายใจ หรือภาวะฉุกเฉินอื่น ๆ โทรเรียกสายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 1669 อาการของการรับประทานยาเกินขนาด เช่น ปากแห้ง มือสั่น เจ็บหน้าอก ใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ รู้สึกอ่อนเพลีย ชัก หน้ามืดเป็นลม
ถ้าลืมรับประทานยาต้องทำอย่างไร?
ถ้าลืมใช้ยา ให้ใช้ยาทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าเป็นเวลาที่ใกล้กับกำหนดคตรั้งต่อไป ให้ข้ามไปใช้ยาครั้งต่อไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็นสองเท่า
คำถามที่พบบ่อย
คำถาม : ใช้ยาสูดพ่น Ventolin (เวนโทลิน) แล้วมีอาการใจสั่น เป็นผลข้างเคียงปกติของยาหรือไม่ มียาสูดพ่นตัวอื่นให้เลือกใช้หรือไม่
คำตอบ : เป็นยาสูดพ่นที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดลม ใช้รักษาอาการหอบหืดกำเริบ อาการใจสั่น เป็นผลข้างเคียงที่พบได้ของยาสูดพ่น Ventolin ควรปรึกษาแพทย์ถึงอาการที่เกิดขึ้น และทางเลือกในการใช้ยาตัวอื่น ๆ เพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคหอบหืด ทั้งนี้ การเปลี่ยนยาต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง เช่น อายุ ปัจจัยกระตุ้นอาการหอบหืด ความรุนแรงของอาการหอบหืด ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ผลข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ระคายคอ ติดเชื้อไวรัสที่ทางเดินหายใจ ทางเดินหายใจส่วนบนอักเสบ ไอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ หลอดลมตีบ เสียงแหบ ใจสั่น และการแพ้ยา (เช่น มีผื่นขึ้น ปากบวมหน้าบวม)
คำถาม : มียาที่สามารถรักษาโรคถุงลมโป่งพอง ได้ดีกว่ายาอัลบูเทอรอลหรือไม่
คำตอบ : ยาที่ใช้ในการรักษาโรคถุงลมโป่งพองของผู้ป่วยแต่ละคน จะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อัลบูเทอรอลเป็นเพียงหนึ่งในตัวยาที่แพทย์เลือกใช้รักษา ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยา
คำถาม : การใช้อัลบูเทอรอลเป็นเวลานาน มีผลทำให้อารมณ์แปรปรวนหรือไม่
คำตอบ : ยังไม่พบรายงานผลข้างเคียงดังกล่าวจากการใช้ยาสูดพ่นอัลบูเทอรอลบางยี่ห้อ
คำถาม : ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ และ ยาพ่นบรรเทาอาการคัดจมูก ทำให้พฤติกรรมเด็กแปรปรวนได้หรือไม่
คำตอบ : ยาอัลบูเทอรอล อาจมีผลข้างเคียงทำให้เด็กมีอาการกระวนกระวาย อยู่ไม่สุข ซนและตื่นตัวมากกว่าปกติ อาจมีผลข้างเคียงทำให้เด็กกระวนกระวาย ก้าวร้าว และวิตกกังวลมากขึ้น หากเด็กมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหลังการใช้ยาควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ
คำถาม : การใช้ยาอัลบูเทอรอลเพื่อรักษาโรคหอบหืด มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดหรือไม่
คำตอบ : อัลบูเทอรอลอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้ หากมีข้อสงสัยอื่นควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
คำถาม : ยาอัลบูเทอรอลเคยถูกเรียกเก็บคืนหรือไม่
คำตอบ : ยาอัลบูเทอรอลตัวดั้งเดิมเคยถูกถอนออกจากตลาดยาตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 เนื่องจากตัวสเปรย์พ่นสูดมีส่วนผสมของสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน(chlorofluorocarbons) หรือ CFCs ซึ่งเป็นมลพิษทำลายชั้นบรรยากาศ ต่อมาจึงมีการพัฒนายาพ่นสูดซึ่งไม่มีส่วนผสมอันตราย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
คำถาม : ขณะนี้ใช้ยาพ่นสูด ventolin 4 ครั้งต่อวัน มีทางเลือกในการรักษาอื่น ที่ไม่ต้องใช้ยาถี่ขนาดนี้หรือไม่
คำตอบ : ยาพ่นสูด ventolin เป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์สั้น มักใช้เพื่อรักษาอาการหอบเฉียบพลันเป็นครั้ง ๆ ไป สำหรับผู้ที่ต้องใช้ venlolin บ่อยครั้งในหนึ่งวัน การใช้ยาพ่นสูดชนิดออกฤทธิ์นานร่วมด้วย จะช่วยลดจำนวนครั้งการใช้ Ventolin ลง ยาพ่นสูดชนิดออกฤทธิ์นาน มีหลายชนิด แตกต่างกันตามประเภทของตัวยา เช่น
- สำหรับผู้ป่วยโรคหอบหืด การใช้ยาพ่นสูดสเตียรอยด์ร่วมด้วย จะช่วยลดการอักเสบของปอด ซึ่งจะลดโอกาสเกิดหอบหืดกำเริบเฉียบพลัน
- สำหรับผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง การใช้ยาพ่นสูด anticholinergic เช่น ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์นานร่วมด้วย จะช่วยทำให้ทางเดินหายใจเปิดได้ดีขึ้น
โดยทั่วไปจะใช้ยาพ่นสูดชนิดออกฤทธิ์นานเพียงวันละ 1-2 ครั้ง ซึ่งต้องใช้อย่างสม่ำเสมอ ยาจึงจะมีประสิทธิภาพสูงสุด ในกรณีนี้ ควรปรึกษาแพทย์ว่า ควรใช้ยาพ่นสูดชนิดออกฤทธิ์นานเพิ่มเติมหรือไม่
คำถาม : ยาสูดพ่นอัลบูเทอรอลปลอดภัยมากเพียงใดสำหรับการใช้กับผู้ป่วยโรคหอบหืด
คำตอบ : การใช้ยาอัลบูเทอรอลอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันตรายต่อผู้ป่วยโรค หอบหืดที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคลมชัก โรคเบาหวาน และต่อมไทรอยด์ทำงานมากผิดปกติ ผลข้างเคียงร้ายแรงที่อาจพบได้จากการใช้ยา เช่น แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ กระสับกระส่าย มือสั่น และความดันโลหิตสูง ผลข้างเคียงอื่น ๆ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ไอ ปากแห้ง เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อัลบูเทอรอลยังมีผลข้างเคียงต่าง ๆ อีกมากมาย ควรปรึกษาแพทย์หากพบปัญหาจากการใช้ยา และควรแจ้งรายการยาที่ใช้ในปัจจุบันให้แพทย์ทราบทุกครั้ง เนื่องจากอัลบูเทอรอลสามารถทำปฏิกิริยาระหว่างยากับยาบางชนิด
คำถาม : ขณะนี้ใช้ยาสูดพ่นขยายหลอดลมบางยี่ห้อ มีอายุการใช้งานเพียง 10 วันเท่านั้น ไม่ทราบว่ามียาสูดพ่นชนิดอื่นที่ใช้งานได้นานกว่านี้หรือไม่
คำตอบ : หนึ่งในยี่ห้อของยาอัลบูเทอรอลแบบสูดพ่น ซึ่งออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้รวดเร็วมาก ใช้เพื่อรักษาอาการหอบเฉียบพลัน ในผู้ป่วยโรคหอบหืดและโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งแต่ละยี่ห้ออาจได้ผลดีต่อผู้ป่วยแต่ละคนไม่เหมือนกัน หากได้ลองเปลี่ยนมาใช้ทุกยี่ห้อแล้วแต่ยังต้องใช้ยาพ่นบ่อยครั้ง อาจต้องใช้ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ร่วมด้วยเพื่อช่วยควบคุมอาการ ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ เป็นยาที่ต้องใช้ประจำทุกวัน มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบของหลอดลม ต่างจากยาอัลบูเทอรอลที่ใช้สูดพ่นแค่ตอนมีอาการเท่านั้น การควบคุมอาการโรคหอบหืดและหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังให้อยู่ในระยะสงบมีความสำคัญมาก
ผู้ป่วยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง จะมีความผิดปกติที่ปอดสองอย่าง คือ ถุงลมโป่งพอง และหลอดลมอักเสบ ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสูบบุหรี่ ควันบุหรี่ทำให้ปอดยืดหยุ่นลดลง ขยายตัวได้ไม่ดี อากาศเข้าไปแลกเปลี่ยนแก๊สในปอลดลง ทำให้หลอดลมอักเสบ เนื้อเยื่อหลอดลมบวม มีการผลิตสารคัดหลั่งมากผิดปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาการจะแย่ลงเรื่อย ๆ เป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การเลิกบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการใช้ยารักษาอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยชะลอการทรุดของโรคได้ ส่วนการรักษาโรคหอบหืด ก็ต้องอาศัยการออกกำลังกาย และการใช้ยารักษาอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน
คำถาม : คนที่เป็นโรคหัวใจโตผิดปกติ โตมากขนาดประมาณ 3 เท่าของคนทั่วไป การใช้ยาอัลบูเทอรอลจะมีผลข้างเคียงใดหรือไม่
คำตอบ : ยาอัลบูเทอรลทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบหมุนเวียนโลหิตในผู้ป่วยบางคน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงชีพจร ความดันโลหิต และคลื่นไฟฟ้าหัวใจ การใช้ยาอัลบูเทอรอลในผู้ป่วยหมุนเวียนโลหิตผิดปกตื จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก โดยเฉาะในผู้ป่วยหัวใจเต้นผิดจังหวะ และความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยมีหัวใจโต หรือมีโรคหัวใจใด ๆ จะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ