ยากันทาก เครื่องป้องกันสำคัญเมื่อเดินป่า

ยากันทาก เครื่องป้องกันสำคัญเมื่อเดินป่า

ช่วงปลายฝนต้นหนาว เป็นช่วงเหมาะสำหรับการเที่ยวป่า เดินเขา ขึ้นดอย เพราะยังมีความชุ่มชื้น มีพืชพรรณน่าดู ขณะเดียวกันก็ไม่แฉะจนเกินไป และได้อากาศต้นฤดูหนาว แต่อุปสรรคสำคัญของการเที่ยวฤดูนี้ก็คือ “ตัวทาก” ที่มักคอยดูดเลือดอยู่ในป่าในเขาเช่นกัน ในบทความนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับ ยากันทาก และวิธีใช้อย่างปลอดภัย คุณจะได้เข้าป่าอย่างสบายใจได้

ยากันทากออกฤทธิ์อย่างไร?

ยากันทากส่วนใหญ่นิยมผสมสารสำคัญ DEET หรือชื่อเต็มคือ N, N-Diethyl-meta-toluamide เป็นน้ำมันสีเหลืองอ่อน ใช้ทาบริเวณผิวหนังหรือเสื้อผ้าเพื่อไล่แมลงต่างๆ เช่น ยุง ทาก หมัด เห็บ ที่อาจมากัดคุณได้

DEET ออกฤทธิ์โดยการปิดกั้นตัวรับกลิ่นของแมลง ต่อสารที่มีชื่อว่า 1-octen-3-ol ซึ่งสารชนิดนี้เป็นสารระเหยที่มีอยู่ในเหงื่อและลมหายใจของมนุษย์ เมื่อแมลงไม่ได้รับกลิ่นนี้จากตัวมนุษย์ ก็จะไม่เข้ามาเกาะหรือกัดให้รำคาญใจ

ความเข้มข้นและปริมาณการใช้ยากันทากที่เหมาะสม

ความเข้มข้นของ DEET ในผลิตภัณฑ์ พบได้ตั้งแต่น้อยกว่า 10% ถึงเกือบ 100% จากงานวิจัยพบว่า DEET จะมีประสิทธิภาพดีที่ความเข้มข้นตั้งแต่ 30% ขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม องค์การด้านสุขภาพของประเทศแคนาดาได้แนะนำไว้ว่า การใช้ยากันทากในเด็กที่มีอายุระหว่าง 2-12 ปี ควรใช้ที่ความเข้มข้นไม่เกิน 10% ไม่เกิน 3 ครั้งต่อวัน เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรใช้มากกว่า 1 หนึ่งครั้งต่อวัน และไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ผสมสาร DEET ที่มีความเข้มข้นในกับเด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 6 เดือน

ยากันทากที่มีจำหน่ายในประเทศไทย

ยากันทากส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบสเปรย์ เพื่อให้สะดวกต่อการพกพาและใช้งาน วิธีใช้คือฉีดสเปรย์ลงบนผิวหนัง บริเวณขา เท้า รองเท้า ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะถูกกัดได้ก่อนเข้าป่า โดยไม่ต้องลูบน้ำยาซ้ำ ต้องฉีดพ่นซ้ำทุก 7 ชั่วโมงหากไม่โดนน้ำ หากมีเหงื่อออกมากหรือโดนน้ำระหว่างนั้น ควรฉีดพ่นซ้ำให้บ่อยขึ้น

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยากันทากอย่างปลอดภัย

ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสาร DEET ที่ผิวหนังอ่อนหรือบนผิวหนังที่มีแผล หากเกิดอาการผิดปกติระหว่างใช้ เช่น ผื่นแดง คัน ให้หยุดใช้ทันทีและล้างน้ำออกหลายๆ ครั้ง พบว่า DEET อาจทำให้เกิดการระคายเคืองได้ในผู้ใช้บางราย ในบางกรณีอาจเกิดปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรง นอกจากนี้ อาการอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น หายใจลำบาก แสบตา ปวดศีรษะ

คำแนะนำอื่นๆ ได้แก่

  • ไม่ควรสูดดมหรือรับประทานยากันทากเด็ดขาด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด
  • ไม่ควรใช้ยากันทากร่วมกับครีมกันแดด เนื่องจากจะทำให้ DEET ซึมเข้าสู่ผิวหนังมากขึ้นจนอาจเกิดอันตรายได้
  • ควรเก็บยากันทากให้พ้นมือเด็ก
  • หากใช้ยากันทากแล้วมีอาการหายใจไม่สะดวก ลำคอตีบตัน ผื่นขึ้นตามตัว เนื้อเยื่ออ่อนต่างๆ บวม เช่น บริเวณตาและปาก ควรหยุดยาและพบแพทย์ทันที เนื่องจากผู้ใช้อาจเกิดอาการแพ้ส่วนผสมในยากันทาก

ถ้าไม่มียากันทาก ใช้อะไรป้องกันทากได้บ้าง?

มีทางเลือกอื่นๆ ที่สามารถป้องกันทากดูดเลือดได้ เช่น ใช้ถุงกันทาก สวมเสื้อผ้ารัดกุม โดยสวมใส่กางเกงขายาว สวมรองเท้าหุ้มส้น

นอกจากนี้การใช้ใบยาเส้นขยี้ที่รองเท้าและผิวหนัง หรือการใช้แชมพูทาบริเวณดังกล่าว ก็จะช่วยได้ลดความเสี่ยงในการถูกทากกัดได้เช่นกัน

หากถูกทากกัดควรทำอย่างไร?

เมื่อถูกทากหรือปลิงดูดเลือด ควรปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไปนี้

  1. เมื่อถูกทากหรือปลิงกัด ห้ามดึงออก เพราะจะทำให้เนื้อฉีกขาดเป็นแผลใหญ่และเลือดหยุดไหลยากขึ้น
  2. ใช้สารต่างๆ เช่น น้ำเกลือ น้ำส้มสายชูความเข้มข้นสูง แอลกอฮอล์ หรือ Wildlives insect block DEET spray หยอดรอบๆ บริเวณปากของทาก อาจใช้ไม้ขีดหรือบุหรี่จุดไฟจี้ที่ตัวทาก จะทำให้ทากปล่อยการดูดเลือดและหลุดออกจากตัวคุณได้
  3. ระหว่างดูดเลือดทากจะปล่อยสารทำให้เลือดเหลวยิ่งขึ้นเพื่อให้ตัวมันสามารถดูดเลือดได้สะดวก หลังจากที่ทากหลุดแล้ว ในกรณีที่เลือดยังไม่หยุดไหล ให้ห้ามเลือดโดยใช้ผ้าสะอาดกดบริเวณแผลจนกว่าเลือดจะหยุด จากนั้นจึงใช้น้ำยาฆ่าเชื้อทำความสะอาดแผล เช่น น้ำเกลือ หรือแอลกอฮอล์ ในกรณีที่มีผื่นคันด้วยให้ใช้ คาลามายด์ หรือสเตียรอยด์ชนิดครีมหรือน้ำทาบนบริเวณที่มีผื่นคัน แต่ควรระมัดระวังไม่ทาบริเวณแผลสด เพราะอาจเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อเพิ่มขึ้นได้
  4. ติดตามอาการของแผลอย่างใกล้ชิด หากแผลบวมแดงไม่ยุบลงหรือเกิดการอักเสบมากขึ้นควรพบแพทย์ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

เขียนบทความโดย ทีมเภสัชกร HD


ที่มาของข้อมูล

  • ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, ภาวะเป็นพิษจากสัตว์ (https://med.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/P-ami_suker), 27 September 2019.
  • Michigan State University, Oregon State University, and University of California at Davis, DEET (http://pmep.cce.cornell.edu/profiles/extoxnet/carbaryl-dicrotophos/deet-ext.html), October 1997.
  • Health Canada, Insect Repellents (https://web.archive.org/web/20100411092758/http://www.hc-sc.gc.ca/hl-vs/iyh-vsv/life-vie/insect-eng.php), Updated 2009.
Scroll to Top