chlorophyll scaled

คลอโรฟิลล์

คลอโรฟิลล์ สารประกอบในพืชและสาหร่าย มีประโยชน์ในการใช้ระงับกลิ่นปากและรักษาอาการท้องผูก ขับสารพิษ และรักษาบาดแผลผ่าตัดได้ด้วย บุคลากรทางการแพทย์ยังใช้วิธีฉีดคลอโรฟิลล์เข้าเส้นเลือดเพื่อรักษาปัญหาตับอ่อนที่เรียกว่าภาวะ Chronic relapsing pancreatitis

ประเภทของคลอโรฟิลล์

คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) คือ สารประกอบอย่างหนึ่งที่พบมากในพืช หรือในสาหร่าย เพื่อใช้ในการสังเคราะห์แสง สารนี้มีสีเขียวตามธรรมชาติ

แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. ชนิดที่ละลายน้ำ
  2. ชนิดที่ละลายในไขมัน

คลอโรฟิลล์ตามธรรมชาติ มักพบในรูปแบบที่ละลายในไขมันและมีขนาดโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ จึงทำให้ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ หากนำมารับประทานจึงไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร

คลอโรฟิลล์ที่นำมาทำเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า “โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน (Sodium copper chlorophyllin)” ซึ่งเป็นการดัดแปลงโครงสร้างตามธรรมชาติ ทำให้ได้สารที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่ยังมีความคงตัว และสามารถละลายน้ำได้ดี ทำให้นำมาผสมในอาหาร และเครื่องดื่มได้

คลอโรฟิลล์ส่วนใหญ่ผลิตได้จากพืชหลายอย่าง เช่น สกัดจากหญ้าอัลฟาฟ่า หรือ มูลของหนอนไหม

คลอโรฟิลล์ทำงานอย่างไร?

หลังจากคลอโรฟิลล์ผ่านทางเดินอาหารเข้าสู่สภาวะกรดของกระเพาะอาหาร จะแตกตัวเปลี่ยนไปเป็นพลีโอไฟติน (Pheophytins (PHE)) แล้วจึงถูกดูดซึมที่เซลล์ลำไส้เล็ก เพื่อเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตต่อไป

ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์

คลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้

  • บรรรเทาภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) โดยการฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บปวดและอาการอื่นๆ ของผู้ป่วยตับอ่อนอักเสบเรื้อรังกลับช้ำ (Chronic relapsing pancreatitis)
  • ชะลอวัย (Anti-aging remedy) ผลการศึกษาพบว่า การใช้เจลทาผิวที่ประกอบด้วยสารคลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin) จะลดการทำลายผิวหนังที่เกิดจากการได้รับแสงแดดที่นานเกินไป แม้การศึกษานี้จะทำในคนกลุ่มน้อย แต่ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant effect)
  • สร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง (Blood-building properties) โครงสร้างของสารนี้มีความคล้ายคลึงกับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) จึงกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนในร่างกาย ช่วยรักษาภาวะโลหิตจาง (Anemia) และธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
  • สมานแผล (Wound-healing properties) ทั้งช่วยสมานแผลผ่าตัดและป้องกันการติดเชื้อ

มีบางงานวิจัยที่เชื่อว่าใช้บำบัดรักษาบางโรคได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับที่มากพอ เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด โรคงูสงัด แผลจากไวรัสเริม เป็นต้น

ปริมาณคลอโรฟิลล์ที่ควรใช้

  • ผู้ใหญ่อาจเริ่มต้นใช้คลอโรฟิลล์ขนาด 100-300 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป สามารถรับประทานได้ในขนาด 90 มิลลิกรัมต่อวัน

ปริมาณที่เหมาะสมในการใช้ในแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพของผู้ใช้ ผู้ใช้ควรอ่านคำแนะนำบนฉลากของผลิตภัณฑ์และปรึกษาเภสัชกร แพทย์ หรือบุคลากรทางการแพทย์ก่อนใช้

ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คลอโรฟิลล์

  • คลอโรฟิลล์จัดว่าน่าจะปลอดภัยสำหรับผู้รับประทานส่วนใหญ่ ส่วนการฉีดเข้าเส้นเลือดหรือทาบนผิวหนังยังนับว่าอาจจะปลอดภัยหากกำกับดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้ว
  • บางรายที่แพ้หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นในคลอโรฟิลล์ อาจทำให้ปัสสาวะ และอุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ อาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย
  • อาจทำให้ผิวหนังอ่อนไหวต่อแสงมากขึ้น หากคุณเป็นคนผิวสีอ่อนแล้วใช้คลอโรฟิลล์ ควรทาครีมกันแดดก่อนออกนอกอาคาร

คำเตือนและข้อควรระวัง

  • หญิงตั้งครรภ์ และมารดาที่ให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับประทานคลอโรฟีลล์ และคลอโรฟีลลินเสริม
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มีคลอโรฟิลล์ และคลอโรฟิลลินเป็นส่วนประกอบ

การใช้คลอโรฟิลล์ร่วมกับยาชนิดอื่น

ควรระมัดระวังการใช้คลอโรฟิลล์ร่วมกับยาที่กระตุ้นความไวต่อแสง (Photosensitizing drugs)

ยาบางตัวทำให้ร่างกายมีความไวต่อแสงอาทิตย์มากขึ้น และคลอโรฟิลล์เองก็เพิ่มความไวต่อแสงได้เช่นกัน ดังนั้นการรับประทานคลอโรฟิลล์ร่วมกับยาเหล่านั้นอาจเพิ่มโอกาสที่จะโดนแดดเผาได้ง่าย เกิดตุ่มหนอง หรือผื่นขึ้นบริเวณผิวที่โดนแดด แนะนำว่าควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายและทาครีมกันแดดเมื่อต้องออกกลางแจ้ง โดยยาที่เพิ่มความไวต่อแสงอาทิตย์มีดังนี้ Amitriptyline (Elavil), Ciprofloxacin (Cipro), Norfloxacin (Noroxin), Lomefloxacin (Maxaquin), Ofloxacin (Floxin), Levofloxacin (Levaquin), Sparfloxacin (Zagam), Gatifloxacin (Tequin), Moxifloxacin (Avelox), Trimethoprim/Sulfamethoxazole (Septra), Tetracycline, Methoxsalen (8-methoxypsoralen, 8-MOP, Oxsoralen), และ Trioxsalen (Trisoralen)

คำถามเกี่ยวกับสรรพคุณ คลอโรฟิลล์

การดื่มน้ำคลอโรฟิลล์สามารถนำมาทดแทนการรับประทานผักผลไม้สดได้ ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้หรือไม่ ?

ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ในชั้นของใบพืชที่มีประโยชน์ในเรื่องของการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ แต่จะดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาพไม่ละลายในน้ำเท่านั้น ดังนั้นการนำคลอโรฟิลด์มาชงละลายน้ำดื่มจึงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าที่ควร การรับประทานผัก หรือผลไม้สด จะได้รับสารอาหารอื่นๆ รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายได้ดีกว่ามาก

คลอโรฟิลล์ช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกายได้หรือไม่ ?

ไม่สามารถรับประทานคลอโรฟิลล์เพื่อมาเป็นสารตั้งต้นของเม็ดเลือดแดงได้ และไม่ได้มีสรรพคุณเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกายแต่อย่างใด

ระดับโมเลกุลของคลอโรฟิลล์และฮีมที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ค่อนข้างมีความคล้ายคลึงกันมาก จนหลายคนเรียกคลอโรฟิลล์ว่าเป็น “เลือดของพืช” แต่ความเป็นจริงแล้วองค์ประกอบของทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกันทั้งเรื่องโครงสร้างและหน้าที่ โดยคลอโรฟิลล์ไม่ใช่ฮีโมโกลบิน เนื่องจากคลอโรฟิลล์ช่วยให้พืชสังเคราะห์แสง แต่ฮีโมโกลบินช่วยลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย

คลอโรฟิลล์ช่วยลดกลิ่นปากได้หรือไม่ ?

มีการศึกษาวิจัยในมนุษย์เมื่อเทียบกันระหว่างผู้ที่รับประทานยาเม็ดคลอโรฟิลล์กับยาหลอก พบว่า ผู้ที่รับคลอโรฟิลล์สามารถลดกลิ่นอุจจาระได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอก แต่ไม่มีรายงานการทดลองในการใช้ลดกลิ่นปาก ความเป็นจริงสินค้าประเภทอาหารเสริมที่วางขายอยู่โดยทั่วไปยังมีปริมาณความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ไม่มากพอที่จะช่วยดับกลิ่นได้ ทั้งนี้ผู้ผลิตหลายรายเลือกใช้วิธีการแต่งสีเพื่อเพิ่มความน่ารับประทานให้แก่สินค้าเท่านั้น แต่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายแต่อย่างใด

คลอโรฟิลล์ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้หรือไม่ ?

สำหรับประโยชน์ในเรื่องการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย คลอโรฟิลด์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อได้จริง แต่น้อยมากๆ หากเปรียบเทียบกับยาฆ่าเชื้อชนิดอื่นๆ นอกจากนี้แม้ว่าคลอโรฟิลล์จะสามารถยับยั้งเชื้อได้บางชนิดแต่ก็อาจทำให้เชื้อชนิดอื่นๆ เติบโตขึ้นมาแทนที่ได้ ดังนั้นหากต้องการดื่มน้ำคลอโรฟิลล์เพื่อหวังให้ไปออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อจึงไม่แนะนำเพราะอาจไม่เห็นผลมากนัก

คลอโรฟิลล์ช่วยขับสารพิษทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งได้หรือไม่ ?

เนื่องจากคลอโรฟิลล์ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นใยตามธรรมชาติ จึงไม่สามารถเพิ่มปริมาณอุจจาระ และไม่ช่วยดูดซับเอาสารพิษออกจากร่างกายในรูปของของเสียได้ อีกทั้งในเรื่องของการทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งก็ยังไม่มีผลวิจัยใดชี้ว่า คลอโรฟิลล์จะช่วยล้างพิษในร่างกายและทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งแต่อย่างใด อย่างไรก็ดี การดื่มน้ำคลอโรฟิลล์อาจจะทำให้ผู้ดื่มรู้สึกชื่นชอบกว่าน้ำเปล่า จึงทำให้ดื่มน้ำได้มากขึ้นกว่าเดิม ข้อนี้อาจช่วยให้การขับถ่ายดีขึ้น เมื่อระบบขับถ่ายดี มีสารพิษตกค้างน้อยก็อาจส่งผลให้ผิวพรรณสดใสขึ้นได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top