ตรวจโรคมะเร็งในผู้ชาย ควรตรวจอะไรบ้าง

ตรวจโรคมะเร็งในผู้ชาย ควรตรวจอะไรบ้าง

โรคมะเร็งเป็นโรคร้ายที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากโรคเข้าสู่ระยะรุนแรงและเชื้อมะเร็งได้ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะใกล้เคียง หรืออวัยวะสำคัญ

โรคมะเร็งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชายทุกวัย โดยทั้งสองเพศต่างก็มีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งที่ต่างชนิดกันไป

สถิติ พ.ศ. 2562 ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขพบว่า โรคมะเร็งที่คร่าชีวิตผู้หญิงเป็นอันดับหนึ่งคือ โรคมะเร็งเต้านม อันดับสองคือ โรคมะเร็งปากมดลูก และอันดับสามคือ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

จากตัวเลขผู้ป่วยรายใหม่ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ประเทศไทย พ.ศ. 2562 พบว่า โรคมะเร็งที่มักเกิดขึ้นในผู้ชาย 3 อันดับแรก ได้แก่

  1. โรคมะเร็งตับ (จำนวนผู้ป่วยใหม่ 226 ราย)
  2. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (จำนวนผู้ป่วยใหม่ 204 ราย)
  3. โรคมะเร็งปอด (จำนวนผู้ป่วยใหม่ 134 ราย)

ในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น ทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อาจมีสารก่อมะเร็ง สารเคมี มลพิษ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮออล์เป็นเวลานานๆ ใช้สารเสพติดเป้นประจำ

หรือมีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพ เช่น มีเนื้องอก มีคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งมาก่อน จึงควรมีการตรวจสุขภาพเพื่อหาความเสี่ยงของโรคมะเร็งเหล่านี้ตามช่วงอายุที่แนะนำ หรือตรวจตามคำแนะนำของแพทย์ 

โรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายมีอะไรบ้าง? 

1. โรคมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับ (Liver cancer) ถือเป็นโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นในผู้ชายเป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมเสพติดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลานานๆ

การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงในปริมาณมากๆ ติดต่อกันเป็นเวลานานจนไขมันไปพอกที่ตับ รวมทั้งการได้รับสารพิษจากอาหารและสิ่งแวดล้อม

ผู้ป่วยโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งตับมากกว่าที่อื่น รวมถึงผู้ป่วยโรคตับแข็ง (Cirrhosis) ซึ่งเกิดจากเนื้อเยื่อตับถูกทำลาย และได้รับความเสียหายจากการรับสารพิษเป็นระยะเวลานาน โดยเฉพาะสารพิษจากสุรา ทำให้เกิดพังผืดไปเกาะตับ

ระยะของโรคมะเร็งตับจะแบ่งออกได้ 4 ระยะ โดยอาการของแต่ละระยะจะมีดังต่อไปนี้

  • ระยะที่ 1 และ 2 ก้อนมะเร็งจะมีขนาดประมาณ 2 เซนติเมตร มักจะไม่มีอาการแสดงออกมา ผู้ป่วยหลายรายจึงอาจไม่รู้ว่า ตนเองเป็นโรคมะเร็งตับ แต่บางรายอาจมีอาการผิดปกติบ้าง เช่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง ท้องอืด
  • ระยะที่ 3 และ 4 เป็นระยะที่เชื้อมะเร็งลุกลามไปสู่อวัยวะใกล้เคียง และต่อมน้ำเหลืองแล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการอื่นๆ ที่สังเกตได้ชัดขึ้น เช่น ตัวเหลือง ตาเหลือง คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้องด้านขวาบนอย่างรุนแรง

2. โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colorectal cancer) เป็นอีกโรคที่พบได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย โดยไม่ได้เกิดในผู้ชายเท่านั้น แต่ยังเกิดในผู้หญิงเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน แต่กลุ่มผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งชนิดนี้มากที่สุดจะเป็นผู้สูงอายุเพศชาย อายุประมาณ 50-70 ปี

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ จะได้แก่ พฤติกรรมการรับประทานเนื้อสัตว์เป็นประจำ แต่รับประทานผัก ผลไม้ อาหารที่มีกากใยอาหารน้อย ไม่ออกกำลังกาย เสพติดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำยังมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ด้วย และผู้ที่เคยมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ ก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่มากกว่าคนทั่วไป

ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แบ่งออกได้ 4 ระยะ โดยอาการของแต่ละระยะจะมีดังต่อไปนี้

  • ระยะที่ 1 เชื้อมะเร็งจะเติบโตอยู่แค่ในเนื้อเยื่อชั้นในสุดของผนังลำไส้ใหญ่เท่านั้น หรืออาจลุกลามไปถึงเนื้อเยื่อในชั้นกลางด้วย
  • ระยะที่ 2 แบ่งเป็น 2A และ 2B โดยระยะ 2A เซลล์มะเร็งจะมีการลุกลามไปยังเนื้อเยื่อชั้นกลางของลำไส้ใหญ่ รวมถึงเนื้อเยื่อบริเวณโดยรอบ ส่วนระยะ 2B เซลล์มะเร็งจะลุกลามจากเนื้อเยื่อไปสู่อวัยวะอื่นๆ ใกล้กับลำไส้ใหญ่ รวมถึงเนื้อเยื่อบุช่องท้อง
  • ระยะที่ 3 แบ่งเป็น 3A 3B และ 3C โดย 3A จะเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองข้างเคียงประมาณ 3 ต่อม 3B จะเป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง รวมถึงเนื้อเยื่อลำไส้ส่วนปลาย เนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลำไส้ใหญ่ และอวัยวะใกล้เคียง ส่วนระยะ 3C เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง 4 ต่อมขึ้นไป ร่วมกับลุกลามไปยังเนื้อเยื่อชั้นกลางของผนังลำไส้ใหญ่ เนื้อเยื่อรอบๆ ลำไส้ใหญ่ และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย รวมถึงอวัยวะใกล้เคียงกับเยื่อบุช่องท้อง
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่เซลล์มะเร็งลุกลามจากลำไส้ใหญ่ออกไปยังต่อมน้ำเหลืองของอวัยวะส่วนอื่น และแพร่กระจายออกไปทั่วถึงอวัยวะซึ่งไกลออกไปอีกอย่างตับ และปอด

3. โรคมะเร็งปอด

โรคมะเร็งปอด (Lung Cancer) มีปัจจัยเสี่ยงมาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การเสพยาเสพติดประเภทสูดเข้าจมูกอย่างกัญชาและโคเคน รวมถึงการรับสารพิษเข้าสู่ปอดมากเกินไป เช่น สารหนู นิเกิล สารกัมมันตภาพรังสี ถ่านหิน

โรคมะเร็งปอดแบ่งออกได้ 2 ชนิด ได้แก่

  • โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small cell lung cancer) เป็นโรคมะเร็งปอดชนิดรุนแรง สามารถลุกลามออกนอกเนื้อปอดได้ มักเกิดขึ้นบริเวณใกล้ขั้วปอด
  • โรคมะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-small cell lung cancer) เป็นโรคมะเร็งปอดที่มีการดำเนินของโรคค่อนข้างช้า สามารถแบ่งออกได้ 4 ระยะ โดยเชื้อมะเร็งจะเริ่มลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอดในระยะที่ 2 และในระยะ 3 กับ 4 เชื้อมะเร็งจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะใกล้เคียง

4. โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate Cancer) เกิดจากการแบ่งตัวของเซลล์ต่อมลูกหมากที่เจริญเติบโตมากผิดปกติ พบมากในผู้ชายอายุ 50 ปีขึ้นไปในผู้ชายทั่วโลก

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมักไม่ได้มาจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หรือบริโภคแอลกอฮอล์ แต่อาจเกิดจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกิน

นอกจากนี้ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวที่เป็นผู้ชายเคยเป็นโรคมะเร็งมาก่อน ก็มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากได้สูงเช่นกัน

ระยะของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่

  • ระยะที่ 1 เป็นระยะที่เชื้อมะเร็งยังอยู่ในต่อมลูกหมาก ซึ่งจะอยู่รอบๆ ท่อปัสสาวะส่วนต้น
  • ระยะที่ 2 เชื้อมะเร็งยังคงอยู่ในต่อมลูกหมากและยังไม่ได้ลุกลามออกไปด้านนอก
  • ระยะที่ 3 เชื้อมะเร็งเริ่มลุกลามออกไปอุดทางเดินปัสสาวะ รวมถึงอวัยวะรอบๆ ต่อมลูกหมาก
  • ระยะที่ 4 เชื้อมะเร็งลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงอวัยวะใกล้เคียง

5. โรคมะเร็งในช่องปาก

โรคมะเร็งในช่องปาก (Oral Cancer) สามารถเกิดได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย แต่มักเกิดในผู้ชายมากกว่า มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ การสูบบุหรี่ หรือยาสูบ

โรคมะเร็งในช่องปากจะเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อในช่องปากเกิดการเจริญเติบโตผิดปกติ จนลุกลามทำลายเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ และทำให้เกิดก้อนเนื้อใหญ่ขึ้นในช่องปาก รวมถึงบริเวณริมฝีปาก

นอกจากนี้โรคมะเร็งในช่องปากยังเกิดขึ้นได้จากการได้รับบาดเจ็บในช่องปากอย่างต่อเนื่อง เช่น ฟันแตก ขอบฟันคม เหงือกมีแผล จนทำให้เนื้อเยื่อช้ำไม่หายดี และลุกลามกลายเป็นโรคมะเร็งในช่องปากในที่สุด

หากได้รับบาดเจ็บในช่องปาก อย่านิ่งนอนใจคิดว่า “ไม่เป็นไร” ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตามความเหมาะสม เช่น อุดฟัน ทำฟันปลอม

จากข้อมูลโรคมะเร็งทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวไปข้างต้น จะเห็นได้ว่า โรคมะเร็งมีความรุนแรง และส่งผลให้อวัยวะส่วนอื่นๆ เสียหายลงด้วย ผู้ชายที่มีความเสี่ยง และมีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพจึงจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพเพื่อคัดกรองความเสี่ยงของโรคมะเร็ง หรือตรวจตามคำแนะนำของแพทย์

นอกจากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งสำหรับคนทุกเพศทุกวัยแล้ว หลายโรงพยาบาลยังมีการแบ่งแพ็กเกจตรวจโรคมะเร็งสำหรับผู้ชายโดยเฉพาะด้วย ซึ่งรายการที่จะตรวจจะเน้นไปที่อวัยวะซึ่งมักเกิดความผิดปกติในผู้ชาย รวมถึงคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งที่เกิดในผู้ชายมากกว่า

รายการตรวจโรคมะเร็งสำหรับผู้ชาย

  • ตรวจดัชนีมวลกาย
  • ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
  • ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด
  • ตรวจระดับไขมันในเลือด
  • ตรวจเอกซเรย์ปอด
  • ตรวจเอกซเรย์หัวใจ
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
  • ตรวจการทำงานของตับ
  • ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งตับ
  • ตรวจหาภูมิไวรัสตับอักเสบ
  • ตรวจการทำงานของไต
  • ตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้อง
  • ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก
  • ตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งลำไส้ใหญ่
  • ตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจหาเลือดในอุจจาระ

นอกจากรายการตรวจสุขภาพที่กล่าวไปข้างต้น คุณอาจได้รับการตรวจสุขภาพพื้นฐานร่วมด้วย เช่น ตรวจชีพจร ตรวจหมู่เลือด ตรวจคัดกรองการได้ยิน ตรวจสุขภาพตา ตรวจสมรรถภาพขอหัวใจ

การรักษาโรคมะเร็งมีโอกาสที่จะหายขาดได้ หากตรวจพบตั้งระยะแรกๆ ของโรค และรีบดำเนินการรักษาอย่างถูกวิธีและเหมาะสม

ดังนั้นทั้งคุณผู้ชายและคุณผู้หญิงจึงอย่ามองข้ามการตรวจสุขภาพและการตรวจคัดกรองมะเร็งว่า เป็นเรื่องไม่จำเป็น


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. วรพันธ์ พุทธศักดา


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top