วิธีบำบัดยาเสพติด

วิธีบำบัดยาเสพติด แนวทางในการรักษา และสถานที่บำบัดยาเสพติดที่ควรรู้ !

การจะเลิกยาเสพติดไม่ใช่เรื่องง่าย หากใช้สารเสพติดมานานก็จะยิ่งมีอาการอยากยาและอาจท้อแท้ ล้มเลิกความตั้งใจได้ ฉะนั้นการรู้จักวิธีบำบัดยาเสพติดที่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งสำคัญ

ขั้นตอนการเข้าบำบัดรักษา

หากคุณ หรือคนในครอบครัวต้องการบำบัดรักษายาเสพติดกับสถาบันต่างๆ สามารถลองทำตามวิธีดังต่อไปนี้

1. ตกลงกับครอบครัว

การจะบำบัดให้หายจากยาเสพติดต้องอาศัยกำลังใจและการสนับสนุนจากครอบครัวอย่างสูง เนื่องจากบางรายที่มีอาการติดยาในปริมาณมากจนมีอาการแทรกซ้อน อาจต้องรับการบำบัดที่โรงพยาบาลเป็นเวลานาน ตั้งแต่ 4 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับแพทย์พิจารณา

2. เตรียมเอกสาร

ก่อนเข้ารับการบำบัดตามสถาบันต่างๆ ควรเตรียมเอกสารต่างๆ ให้พร้อม ได้แก่

  • บัตรประชาชน
  • สำเนาทะเบียนบ้าน
  • รูปถ่าย
  • เอกสารยืนยันตัวตนทางราชการต่างๆ

3. ติดต่อสถาบันที่ต้องการบำบัด

ให้นำเอกสารยื่นต่อสถาบันที่ต้องการบำบัด หรืออาจใช้สิทธิ์ประกันสังคม สิทธิ์บัตรทอง ยื่นกับสถานพยาบาลที่เขียนไว้ในบัตรได้เลย

พร้อมแจ้งเจตจำนงในการเข้ารับบริการ ทางสถานพยาบาลจะทำการซักประวัติเบื้องต้น หรืออาจส่งตัวไปยังสถาบันบำบัดอื่น หากสถานพยาบาลในสิทธิประกันสังคมไม่มีบริการบำบัด

วิธีบำบัดยาเสพติดทางการแพทย์

การบำบัดยาเสพติดโดยหน่วยงานหรือองค์กรทางการแพทย์ จะมีด้วยกัน 4 ขั้นตอน ดังนี้

1. ขั้นตอนเตรียมการ (Pre-admission)

หลังจากยื่นเอกสารขอเข้ารับการบำบัด ทางสถาบันที่ให้บริการจะทำการซักประวัติและตรวจคัดกรองเบื้องต้น ดังนี้

  • สอบถามความสัมพันธ์ในครอบครัวและสังคมว่า มีความขัดแย้งหรือไม่ สถานะของพ่อแม่เป็นอย่างไร กลุ่มเพื่อนในสังคมเป็นแบบไหน
  • ประเมินปัญหาทางจิตเวชและบุคลิกภาพว่า มีอาการทางจิตประสาทหรือโรคแทรกซ้อนไหม มีบุคลิกภาพผิดปกติหรือไม่
  • สอบถามแรงจูงใจในการเสพติดยา และแรงจูงใจในการบำบัดรักษา เช่น ถูกบังคับให้ใช้สารเสพติดหรือไม่ มีแนวความคิดอย่างไรในการเข้าบำบัดรักษา
  • ตรวจสารเสพติดว่า เป็นสารประเภทไหน ความถี่และปริมาณในการเสพ
  • ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
  • เอกซเรย์ และชั่งน้ำหนัก

หลังจากคัดกรองเบื้องต้นเสร็จแล้ว สถานพยาบาลจะประเมินผู้ป่วย และนัดหมายวันเริ่มทำการบำบัดอีกครั้งตามความเหมาะสม

2. ขั้นถอนพิษยา (Detoxification)

ในขั้นตอนนี้จะเน้นไปที่กายบำบัดรักษาอาการทางกาย เพราะยาเสพติดบางชนิดส่งผลต่อร่างกายด้วย เช่น สมอง ระบบประสาท โดยระยะเวลาในการถอนพิษยาจะอยู่ที่ 7-14 วันขึ้นอยู่กับผู้ป่วย เนื่องจากผู้ป่วยจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้ การบำบัดแบบผู้ป่วยนอก และการบำบัดแบบผู้ป่วยใน

การบำบัดแบบผู้ป่วยนอก

ผู้บำบัดไม่จำเป็นต้องค้างคืนที่โรงพยาบาล แต่จะต้องมาพบแพทย์หรือนักจิตบำบัดตามนัดอย่างสม่ำเสมอ กรณีนี้มักจะใช้กับผู้ป่วยที่เสพยาได้ไม่นาน และยังไม่มีอาการแทรกซ้อนทางร่างกายหรือจิตประสาทมากนัก โดยแพทย์จะให้ยาทดแทนชนิดอื่นที่ปลอดภัย เช่น เมธาโดน หรืออาจใช้ยาสมุนไพรช่วย

การบำบัดแบบผู้ป่วยใน

กรณีนี้จะใช้กับผู้ป่วยที่เสพยามานาน หรือผ่านการใช้ยาในปริมาณมากๆ จนมีอาการแทรกซ้อนทั้งทางกายและทางจิตประสาท จะต้องค้างคืนในสถานพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและรักษาอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ไปด้วย

3. ขั้นตอนการฟื้นฟูสมรรถภาพ (Rehabilitation)

ขั้นตอนนี้จะเป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจ และอาจดำเนินไปพร้อมกับขั้นตอนการถอนยาซึ่งขึ้นอยู่กับแผนการรักษา

โดยปกติแล้วการฟื้นฟูสมรรถภาพจะใช้เวลาตั้งแต่ 1-10 สัปดาห์ ขึ้นอยู่ประเภทของผู้ป่วย โดยกิจกรรมที่ใช้ในการฟื้นฟูได้แก่ การทำกิจกรรมสันทนาการ การสอนอาชีพ การอบรมธรรมมะ การบำบัดร่วมกันแบบชุมชน

4. ขั้นตอนการดูแล (After-care)

คือ การติดตามอาการของผู้ป่วยที่ผ่านทั้ง 3 ขั้นตอนมาแล้ว และนัดเช็กอาการทุก 1-2 เดือนเป็นระยะเวลา 1 ปี

แต่ในกรณีผู้ป่วยในที่ต้องบำบัด ณ สถานพยาบาล อาจมีการให้อิสระมากขึ้น เช่น การเปิดให้มาเยี่ยมบ่อยขึ้น การโทรศัพท์หาทางบ้าน ส่วนการวัดผลในขั้นตอนการดูแลมีเกณฑ์ดังนี้

  • มีอัตราการกลับไปเสพซ้ำหรือไม่
  • อัตราการติดตามนัดบำบัดตรงตามกำหนดหรือไม่

ใครควรมารับการบำบัดรักษา

การเสพติดยาส่วนมากมักเริ่มจากการอยากรู้อยากลองในปริมาณเล็กน้อย จากนั้นจึงเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งติดยาในที่สุด

แต่ผู้ที่ติดยามักไม่ยอมรับว่า ตนเองติด ฉะนั้นหากไม่แน่ใจว่าตนเอง หรือคนใกล้ตัวติดยาหรือไม่ สามารถวัดได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • มักต้องการเสพในปริมาณที่มากขึ้น
  • ไม่สามารถยับยั้งชั่งใจได้ว่าจะเสพเวลาไหน รู้สึกอยากเสพตลอดเวลา และหมกหมุ่นกับการหายามาเสพ
  • การเสพยาเริ่มส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น สังคมรอบตัว การงาน ครอบครัว คนรัก
  • สุขภาพร่างกายและจิตใจเริ่มมีความผิดปกติ เช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว ก้าวร้าว น้ำหนักลดลง
  • พยายามเลิกแล้ว แต่ไม่สำเร็จ ในบางกรณีติดสารเสพติดขั้นรุนแรงแล้วพยายามเลิกด้วยตนเอง อาจมีอาการขาดยารุนแรงจนเสียชีวิตได้
  • เริ่มมีอาการขาดยา หรือถอนยาเมื่อไม่ได้เสพ

อาการถอนยา

อาการถอนยา (Drug withdrawal) หรือบางคนอาจเรียกว่า “อาการขาดยา” จะเกิดขึ้นหลังจากผู้ที่ติดยาเสพติดได้รับสารเสพติดน้อยลง หรืองดใช้สารเสพติด มักพบในผู้ที่หายามาเสพไม่ได้ พยายามจะเลิกยาเสพติด และอยู่ระหว่างเลิกยา

เนื่องจากสารเสพติดมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทและสมอง ทำให้สารเคมีในสมองผิดปกติ เมื่อขาดสารเสพติดโดยฉับพลัน ก็จะทำให้สารเคมีในสมองปรับตัวไม่ทัน

อาการถอนยาของยาแต่ละชนิดจะไม่เหมือนกันโดยขึ้นอยู่กับฤทธิ์ยาของยาต่อระบบประสาท หากใช้สารเสพติดในปริมาณมากก่อนจะเลิกยาเสพติดแบบหักดิบ ก็อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้

ในผู้ป่วยรายอื่นๆ ที่เกิดอาการถอนยาหรือขาดยา อาจมีอาการดังนี้

  • เพ้อ คลุ้มคลั่ง จนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
  • กลัว คิดว่าใครจะมาทำร้าย
  • มีอารมณ์โกรธ หงุดหงิดง่าย
  • กระวนกระวาย กระสับกระส่าย หายใจเร็ว
  • มีไข้ อาจมีอาการสั่นหรือชักได้
  • คลื่นไส้ ปวดท้อง กินอาหารไม่ลง
  • อุจจาระเป็นเลือด
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย เป็นตะคริว
  • นอนไม่หลับ ม่านตาขยาย
  • มีน้ำมูกไหล ไอ จาม

ทั้งนี้อาการขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ยาและชนิดของสารเสพติด ผู้ป่วยอาจมีอาการหลายอย่างร่วมกัน ฉะนั้นควรปรึกษาสถานบำบัดที่ได้มาตรฐาน เพื่อการรักษาอาการติดยาอย่างถูกวิธี

อ่านเพิ่มเติม: โทษของยาเสพติด 10 ชนิด

จัดการอาการถอนยาด้วยตัวเอง

มีผู่ป่วยหลายคนที่เลือกจะบำบัดยาเสพติดด้วยตัวเอง เนื่องจากปริมาณสารที่ใช้ยังไม่มากและเสพได้ไม่นาน อาจเลือกใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • สวมหนังยางเข้ากับมือและดีดเมื่อมีอาการอยากยา เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ต้องกลับไปเสพยา เช่น กลุ่มเพื่อนฝูงที่ใช้สารเสพติด การดื่มสุรา
  • หางานอดิเรกทำภายในบ้านของตัวเองแทนการคิดถึงสารเสพติด
  • เมื่อรู้สึกกระวนกระวาย ให้หายใจเข้าลึกๆ นั่งสมาธิเพื่อคุมสติตัวเองให้อยู่
  • หากพยายามเลิกยาด้วยตัวเองแล้วไม่สำเร็จ ให้เข้ารับการบำบัดกับสถานบำบัด หรือโรงพยาบาล เนื่องจากเมื่อกลับไปใช้สารเสพติดซ้ำ จะทำให้การบำบัดรักษาเป็นไปได้ยากขึ้น

สถานที่บำบัดยาเสพติด

สถานที่บำบัดรักษายาเสพติดมีมากมาย อาจติดต่อสถานที่ใกล้เคียงที่สะดวกที่สุด ดังนี้

สถานบำบัดที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  • สถาบันธัญญารักษ์ สายด่วน 1165
  • บ้านพิชิตใจ เขตประเวศ เบอร์โทรศัพท์ 02-329-1353
  • โครงการ To Be Number One สายด่วน 1323
  • ภูฟ้าเรสท์โฮม บ้านพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยยาเสพติด เบอร์โทรศัพท์ 063-908-2999
  • สำนักสงฆ์วัดถ้ำกระบอก เบอร์โทรศัพท์ 036-266-292
  • เดอะ เคบิน เบอร์โทรศัพท์ 02-107-2545
  • ศูนย์บำบัดยาเสพติดและฟื้นฟูสุขภาพจิต เดอะดอว์น เชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ 02-171-2511

หากต้องการบำบัดรักษาในโรงพยาบาล สามารถเลือกพื้นที่ใกล้เคียง และติดต่อได้ ดังนี้

  • โรงพยาบาลราชวิถี เบอร์โทรศัพท์ 02-246-0052 ต่อ 4302
  • โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า เบอร์โทรศัพท์ 02-246-1400 ถึง 1428 ต่อ 3187
  • โรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ เบอร์โทรศัพท์ 02-411-2419-1
  • โรงพยาบาลนิติจิตเวช เบอร์โทรศัพท์ 02-441-9026-9
  • โรงพยาบาลตากสิน เบอร์โทรศัพท์ 02-2863-1371 ถึง 02-437-0123 ต่อ 1153, 1248

คลินิกยาเสพติดในศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กทม. ได้แก่

  • คลินิกยาเสพติด ลุมพินี เบอร์โทรศัพท์ 02-250-0286
  • คลินิกยาเสพติด สี่พระยา เบอร์โทรศัพท์ 02-236-4174
  • คลินิกยาเสพติด บางอ้อ เบอร์โทรศัพท์ 02-424-6933
  • คลินิกยาเสพติด บางซื่อ เบอร์โทรศัพท์ 02-587-0873
  • คลินิกยาเสพติด ดินแดน เบอร์โทรศัพท์ 02-245-0640
  • คลินิกยาเสพติด วัดธาตุทอง เบอร์โทรศัพท์ 02-391-8539
  • คลินิกยาเสพติด สาธุประดิษฐ์ เบอร์โทรศัพท์ 02-284-3244
  • คลินิกยาเสพติด ซอยอ่อนนุช เบอร์โทรศัพท์ 02-321-2566
  • คลินิกยาเสพติด บางขุนเทียน เบอร์โทรศัพท์ 02-468-2570
  • คลินิกยาเสพติด สโมสรวัฒนธรรม เบอร์โทรศัพท์ 02-281-9730
  • คลินิกยาเสพติด ลาดพร้าว เบอร์โทรศัพท์ 02-513-2509
  • คลินิกยาเสพติด วงศ์สว่าง เบอร์โทรศัพท์ 02-585-1672
  • คลินิกยาเสพติด ภาษีเจริญ เบอร์โทรศัพท์ 02-413-2535
  • คลินิกยาเสพติด คลองเตย เบอร์โทรศัพท์ 02-249-1852
  • คลินิกยาเสพติด วัดไผ่ตัน เบอร์โทรศัพท์ 02-270-1985

สถานบำบัดยาเสพติดส่วนภูมิภาค ได้แก่

  • ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำภาคเหนือ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ (053) 297-976 ถึง 7
  • ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เบอร์โทรศัพท์ (043) 245-366
  • ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ประจำภาคใต้ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เบอร์โทรศัพท์ (094) 467-453, (074) 467-468
  • ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จังหวัดแม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เบอร์โทรศัพท์ (053) 612-607
  • ศูนย์บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จังหวัดปัตตานี อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เบอร์โทรศัพท์ (073) 333-291
  • ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คอมมูนิต้า อินคอน อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เบอร์โทรศัพท์ 02-2563-1006-7, 01-2132505
  • ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คอมมูนิต้า อินคอน อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เบอร์โทรศัพท์ 10-937-1345
  • ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด คอมมูนิต้า อินคอน อำเภอท่าแร่ จังหวัดสกลนคร เบอร์โทรศัพท์ 01-212-0804
  • ศูนย์เกิดใหม่ อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เบอร์โทรศัพท์ (032) 261-038-40
  • ศูนย์เกิดใหม่ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เบอร์โทรศัพท์ (038) 541-693
  • บ้านสันติสุข อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เบอร์โทรศัพท์ 01-218-1343
  • บ้านตะวันใหม่ อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ เบอร์โทรศัพท์ 01-21-1573
  • บ้านนิมิตใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เบอร์โทรศัพท์ (053) 277-049, (053) 282-495

หากคุณไม่กล้าไปพบหมอด้วยตัวเอง สามารถปรึกษาอาการ หรือถามข้อสงสัยเกี่ยวกับการเลิกยาเสพติด หรือวิธีรักษาโรคอื่นๆ กับทีมแพทย์ HD โดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวได้ ที่นี่

ยาเสพติดเป็นยาอันตรายที่มีโทษตามกฎหมาย และโทษต่อสุขภาพ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต จึงไม่ควรยุ่งเกี่ยว ใช้ยา หรือทดลองใช้อย่างเด็ดขาด ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top