แพ้สารเคมีเป็นอย่างไร อะไรเสี่ยงทำให้แพ้บ้าง

แพ้สารเคมีเป็นอย่างไร อะไรเสี่ยงทำให้แพ้บ้าง

สารเคมีเป็นอีกปัจจัยที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ได้และหลายครั้งก็ยากที่จะหลีกเลี่ยง เพราะปัจจุบันสารเคมีจัดเป็นส่วนผสมสำคัญในอาหาร รวมถึงสิ่งของรอบตัวที่ทุกคนต้องใช้ในชีวิตประจำวัน

อาการแพ้สารเคมีเป็นอาการที่สร้างความระคายเคือง และก่อให้เกิดความเจ็บแสบตามร่างกายได้

ดังนั้นคุณจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสารเคมีที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่เสี่ยงก่อให้เกิดอาการแพ้จากสารเคมีที่เป็นส่วนผสมไว้ เพื่อจะได้ระมัดระวังในการใช้งาน ไม่ก่อให้เกิดอาการแพ้ในภายหลัง

ความหมายของอาการแพ้สารเคมี

อาการแพ้สารเคมี (Chemical allergy) เป็นอาการแพ้ที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ประเภทสารเคมี จนทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารนั้นๆ และแสดงออกมาเป็นอาการแพ้ เช่น

  • ตาบวม
  • ใบหน้าบวม
  • เยื่อบุตาอักเสบ
  • เกิดผื่นแดงตามผิวหนัง
  • มีผื่นลมพิษ
  • ผิวหนังลอก หรือตกสะเก็ด
  • เกิดตุ่มพุพอง และมีน้ำหนองไหล
  • แสบร้อนผิวเหมือนแผลถูกไฟไหม้ หรือถูกน้ำร้อนลวก
  • ผิวไวต่อแสงแดด
  • คลื่นไส้อาเจียน

อาการแพ้สารเคมีอาจไม่เกิดขึ้นทันที แต่จะเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสสารเคมีไปแล้ว 24-48 ชั่วโมง และยังสามารถลุกลามรุนแรงไปถึงขั้นเกิดอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis) เช่น คลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง ปวดศีรษะ หลอดลมตีบ อุจจาระร่วง หรือหมดสติได้

นอกจากนี้การแพ้สารเคมียังสามารถลุกลามไปที่ตำแหน่งอื่นๆ ของร่างกายได้ผ่านการสัมผัสโดยไม่ได้ตั้งใจ เช่น หากมือคุณสัมผัสสารเคมีแล้วไปจับใบหน้า หรือลำคอไปด้วย เมื่อเกิดอาการแพ้ บริเวณอื่นของร่างกายที่คุณสัมผัสก็จะเกิดอาการแพ้ตามไปด้วย

สารเคมีในสิ่งของเครื่องใช้ที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้

ผลิตภัณฑ์ สิ่งของ หรือสารเคมีที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและทำความสะอาดร่างกาย เช่น สบู่ แชมพู โฟมล้างหน้า โลชั่น สเปรย์ดับกลิ่นตัว ครีมกันแดด
  • เครื่องสำอาง ลิปสติก ผลิตภัณฑ์สำหรับล้างเครื่องสำอาง
  • ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เช่น น้ำยาย้อมผม น้ำยาดัดผม สเปรย์ หรือเจลจัดแต่งทรงผม
  • น้ำยาทาเล็บ
  • ผงซักฟอก
  • น้ำยาปรับผ้านุ่ม
  • น้ำยาล้างจาน
  • ยาฆ่าแมลง

สารเคมีสำหรับแช่หมักที่มักก่อให้เกิดอาการแพ้

นอกจากนี้สารเคมีสำหรับแช่ หมัก หรือทำให้อาหารยังคงความสดไว้ได้ก็เป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน เช่น

  • สารบอแรกซ์ (Borax) เป็นสารที่ทำให้สีสันของอาหารดูสดน่ารับประทานมากขึ้น และยังมีอายุเก็บไว้ได้นานขึ้นด้วย มักพบมากในอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ลูกชิ้น และผลไม้ดอง
  • สารฟอร์มาลีน (Formalin) เป็นสารที่ทำให้อาหารเก็บไว้ได้นานขึ้น ไม่เน่าเสียง่าย มักพบมากในอาหารทะเล และยังใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท เช่น พลาสติก สิ่งทอ เครื่องสำอาง
  • สารกันเชื้อรา หรือกรดซิลิไซลิค (Salicylic acid) เป็นสารหมักดองในผักผลไม้ รวมเครื่องปรุงบางประเภท เช่น พริกแกง นอกจากนี้จะทำให้เกิดอาการแพ้แล้วยังสามารถทำให้เกิดอาการไตวาย หูอื้อ มีไข้ รู้สึกกระวนกระวายได้
  • สารฟอกขาว หรือโซเดียมไฮโดรซัลไฟต์ (Sodium hydrosulflite) เป็นสารยับยั้งการเกิดเจริญเติบโตของยีสต์ หรือรา รวมถึงฟอกสีของอาหารให้ดูมีสีน่ารับประทาน และดูมีคุณภาพ พบมากในกลุ่มผลไม้อบแห้ง ผลไม้ดอง ผลไม้กวน
  • ยาฆ่าแมลง (insecticide) มักพบในผักผลไม้ที่ก่อนนำมาจำหน่าย มีการฉีดสารฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืชซึ่งทำให้เกิดอาการแพ้ หรืออาการระคายเคืองได้

การวินิจฉัยอาการแพ้สารเคมี

แพทย์จะซักประวัติสุขภาพ และสอบถามว่า อาการแพ้เป็นอย่างไร ได้ไปสัมผัสสารเคมี อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ใดๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้หรือไม่

หลังจากนั้นแพทย์อาจทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Patch test) เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เพราะอาการแพ้สารเคมีส่วนมากมักมีอาการแสดงออกมาทางผิวหนัง

หากไม่แน่ใจว่า อาการที่เกิดขึ้นเกิดจากการแพ้สารเคมีหรือไม่ หรือยังไม่มีเวลาไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ปัจจุบันมีบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์เกี่ยวกับปัญหาผื่นแพ้ต่างๆ ให้บริการแล้ว สามารถเลือกได้ว่า จะโทรศัพท์คุยอย่างเดียว หรือจะเป็นวิดีโอคอลก็ได้

วิธีรักษาอาการแพ้สารเคมี

เมื่อเผลอสัมผัสสารเคมีที่ทำให้เกิดอาการแพ้ ให้รีบทำความสะอาดบริเวณที่สัมผัสด้วยน้ำสะอาด หรือสบู่ให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้สารซึมเข้าผิวหนังจนเกิดความระคายเคืองมากกว่าเดิม

หากสารเคมีปนเปื้อนกับเสื้อผ้า หรือสิ่งของที่ใช้ ให้เปลี่ยนเสื้อผ้า หรือทำความสะอาดสิ่งของเหล่านั้นใหม่

นอกจากนี้แพทย์อาจจ่ายยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ให้รับประทาน หรืออาจให้ทาโลชั่นคาลาไมน์ (Calamine lotion) เพื่อบรรเทาอาการระคายเคืองทางผิวหนัง

ในผู้ป่วยบางรายแพทย์อาจพิจารณาให้สเตียรอยด์ชนิดทาและ/หรือรับประทานในการรักษาร่วมด้วย

แต่ในผู้ที่เกิดอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงจากการสัมผัสสารเคมี ให้รีบพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะอาการนี้สามารถส่งผลทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว

หรือหากผู้ป่วยพกยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) ซึ่งเป็นยารักษาอาการแพ้รุนแรงติดตัวมาด้วย ให้รีบฉีดยานี้กับผู้ป่วยทันที แต่หากผู้อยู่ใกล้ชิด หรืออยู่ในสถานการณ์นั้นๆ ฉีดยาไม่เป็น ก็ให้รีบพาตัวส่งโรงพยาบาลทันที

วิธีป้องกันอาการแพ้สารเคมี

  • ควรอยู่ให้ห่างจากสารเคมี รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารเคมีซึ่งก่อให้เกิดอาการแพ้ได้
  • หากต้องทำงานอยู่กับสารเคมี หรือต้องใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีซึ่งเสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้ ให้ใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการใช้ ควรสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด สวมถุงมือ รองเท้าบู๊ท แว่นตาขนาดใหญ่ ผ้าคลุมผม หรืออุปกรณ์ป้องกันสารเคมีทุกครั้ง
  • หลังใช้สารเคมีเสร็จควรอาบน้ำ ทำความสะอาดร่างกาย แล้วเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ อาบน้ำให้สะอาด
  • ก่อนเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ อาหาร หรือสิ่งของอะไรก็ตาม ให้อ่านฉลากผลิตภัณฑ์เพื่อตรวจสอบก่อนว่า มีสารเคมีซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ผสมอยู่ด้วยหรือไม่
  • หากพบว่า ตนเองมีอาการแพ้สารเคมี ให้หยุดใช้ผลิตภัณฑ์ หรือหยุดรับประทานอาหารที่น่าจะเป็นตัวต้นเหตุทำให้เกิดอาการแพ้ทันที แล้วไปพบแพทย์เพื่อขอรับการวินิจฉัย โดยให้นำผลิตภัณฑ์ หรืออาหารดังกล่าวไปโรงพยาบาลด้วย
  • หากไม่รู้ว่า ตนเองแพ้สารก่อภูมิแพ้ชนิดใด คุณสามารถเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้ที่โรงพยาบาลได้ เพื่อตรวจหาว่า ร่างกายมีปฏิกิริยาแพ้ต่อสารใดบ้าง
  • หากจำเป็นต้องใช้สารเคมีใดที่มักทำให้เกิดอาการแพ้ในผู้ใช้หลายคน ก็ให้ระมัดระวังในการใช้ หรือสังเกตอาการของร่างกายว่า มีอาการคล้ายกับอาการแพ้เกิดขึ้นหรือไม่ ระหว่างสัมผัสสารเคมีเหล่านั้น

อาการแพ้สารเคมีเป็นอาการแพ้ที่รุนแรงไม่ต่างจากอาการแพ้ชนิดอื่น และยังสร้างความเสียหายต่อระบบร่างกายส่วนอื่นๆ ได้อีก เพราะสารเคมีถือเป็นสิ่งอันตรายที่ต้องรู้จักวิธีใช้งานอย่างถูกต้องจึงจะปลอดภัย แต่หากเกิดอาการผิดปกติใดๆ กับร่างกายก็ตามให้รีบไปพบแพทย์ทันที


ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top