Diclofenac (ไดโคลฟีแนค) เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ช่วยลดอาการบวม หรือการอักเสบจากการบาดเจ็บและโรคเกี่ยวกับข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด
Diclofenac จัดอยู่ในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบ
สารบัญ
- ยา Diclofenac ใช้รักษาโรคอะไร
- กลไกการออกฤทธิ์ของยา Diclofenac
- รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Diclofenac
- ปฏิกิริยาของยา Diclofenac กับยาชนิดอื่น ๆ
- ปฏิกิริยาของยา Diclofenac กับแอลกอฮอล์
- ข้อควรระวังในการใช้ยา Diclofenac
- การใช้ยา Diclofenac ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
- ถ้าลืมกินยา Diclofenac ต้องทำอย่างไร
- ผลข้างเคียงจากยา Diclofenac
ยา Diclofenac ใช้รักษาโรคอะไร
บรรเทาอาการปวด ช่วยลดอาการบวม และอาการอักเสบจากการบาดเจ็บและโรคเกี่ยวกับข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด
รวมถึงการปวดทั่ว ๆ ไป ตั้งแต่ปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น ปวดท้องประจำเดือน
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Diclofenac
ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารโปรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandins) ที่เป็นสาเหตุให้เกิดการอักเสบ
รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Diclofenac
ยา Diclofenac รูปแบบเม็ด
ขนาดยาเริ่มต้น 25 มิลลิกรัม แต่ส่วนใหญ่นิยมใช้ขนาด 50 มิลลิกรัม
ผู้ใหญ่ ขนาดยา 50 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง หรือทุก ๆ 8–12 ชั่วโมง หรือ ขนาดยา 25 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ไม่ควรรับประทานเกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน
คำแนะนำและข้อควรระวัง
- ควรรับประทานยาพร้อมกับอาหารหรือนม เพราะยาอาจส่งผลรุ่นแรงต่อกระเพาะอาหารได้
- ถ้าต้องการรับประทานยาลดกรดร่วมด้วย เพื่อลดผลข้างเคียง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพราะยาลดกรดบางตัวอาจทำปฏิกิริยากับ Diclofenac ได้
อย่างไรก็ตาม มีอีกทางเลือก คือ ขอให้แพทย์สั่งยา Arthrotec ให้ เพราะยานี้มีส่วนผสมของ Diclofenac กับ Misoprostol ที่มีฤทธิ์ป้องกันกระเพาะ แต่ราคาจะค่อนข้างสูง
จึงอาจขอให้แพทย์จ่ายทั้งยา Diclofenac และยา Misoprostol มา หรือจ่ายยาเคลือบกระเพาะชนิดอื่น ๆ ควบคู่มาก็ได้
ยา Diclofenac รูปแบบฉีด
แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
ยาฉีดเข้ากล้ามเนื้อ
มักใช้กับอาการปวดรุนแรง ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ปวดข้อรูมาตอยด์ และปวดศีรษะไมเกรน โดยฉีดยา 75 มิลลิกรัมเข้ากล้ามเนื้อสะโพก
หากปวดรุนแรงอาจให้ยามากขึ้นได้ แต่ต้องไม่เกิน 150 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งครั้งละ 75 มิลลิกรัม ห่างกันอย่างน้อย 2–3 ชั่วโมง และฉีดเข้าสะโพกคนละข้าง จะช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ไวขึ้น ภายใน 10–22 นาที
อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ระมัดระวังการใช้ยา Diclofenac ชนิดฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เนื่องจากพบอาการไม่พึงประสงค์จากยา
เช่น การบาดเจ็บของเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงหน้าแข้งและเท้า ขาอ่อนแรงจนพิการ และอาการแพ้ยาเฉียบพลัน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ยาฉีดเข้าเส้นเลือด
มักไม่ค่อยใช้ เนื่องจากมีขั้นตอนในการเตรียมยาและวิธีฉีดยาที่ยุ่งยาก ถ้าความเป็นกรด–ด่างของสารละลายไม่เหมาะสม ยาจะตกตะกอน และทำให้ตะกอนไปอุดตันในหลอดเลือดจนเป็นอันตรายได้
ดังนั้น ก่อนฉีดยา Diclofenac ทางเส้นเลือด จะต้องทำให้ยาเจือจางก่อน (ห้าม IV push) ด้วย D5W หรือ NSS เพื่อป้องกันการเกิดผลึกหรือตะกอน
ปฏิกิริยาของยา Diclofenac กับยาชนิดอื่น ๆ
Diclofenac สามารถทำปฏิกิริยากับยาได้หลายชนิด จึงควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงยาที่กำลังรับประทานอยู่ก่อนเสมอ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อมารับประทานเอง วิตามิน อาหารเสริม สมุนไพร หรือยาเสพติดทุกชนิด
ไม่ควรรับประทานยา Diclofenac ร่วมกับยาต่อไปนี้
- อะพิซาแบน (Apixaban)
- ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี เช่น เออวิทิกราเวียร์ (Elvitegravir) โคบิซิสแตท (Cobicistat) เอ็มทริซิแทไบน์ (Emtricitabine) และทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir)
- คีโตโรแลค (Ketorolac)
- เมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- เพมิเทรกเซด (Pemetrexed)
- เพอร์เฟนิโดน (Pirfenidone)
หากกำลังรับประทานยาต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์ ให้ใช้ยาตัวอื่นแทน Diclofenac
- ยาละลายลิ่มเลือด เช่น ฟอนดาพารินุก (Fondaparinux) ดาบิกาทราน (Dabigatran) วาร์ฟาริน (Warfarin) หรือเฮพาริน (Heparin)
- ยาต้านเศร้า เช่น ไซตาโลแพรม (Citalopram) พาร็อกซีทีน (Paroxetine) และเอสซิตาโลแพรม (Escitalopram)
- ยาขับปัสสาวะ เช่น ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) คลอร์ธาลิโดน (Chlorthalidone) หรือคลอโรไทอะไซด์ (Chlorothiazide)
- ยาในกลุ่มเบตาบล็อกเกอร์ (Beta blockers) เช่น อะซีบูโทลอล (Acebutolol) ไบโซโปรลอล (Bisoprolol) อะทีโนลอล (Atenolol) เอสโมลอล (Esmolol) และยาคาร์วีไดลอล (Carvedilol)
- ยาในกลุ่ม NSAIDs ตัวอื่น ๆ เช่น เซเลโคซิบ (Celecoxib) นาพรอกเซน (Naproxen) มีลอกซิแคม (Meloxicam) นาบูมีโทน (Nabumetone) หรืออีโตโดแลค (Etodolac)
- ยารักษาโรคเบาหวานในกลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (Sulfonylureas) เช่น ไกลเมพิไรด์ (Glimepiride) ไกลเบนคลาไมด์ (Glyburide) และไกลพิไซด์ (Glipizide)
ปฏิกิริยาของยา Diclofenac กับแอลกอฮอล์
ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างรับประทานยานี้ เพราะจะยิ่งเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหาร และส่งผลต่อระบบการทำงานของไต
นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานยาพร้อมกับผลิตภัณฑ์จากผลเกรปฟรุตด้วย
ข้อควรระวังในการใช้ยา Diclofenac
- ไม่ควรใช้ยา Diclofenac หากมีประวัติแพ้ยา NSAIDs หรือแพ้ยาแอสไพริน (Aspirin)
- ควรระมัดระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ เพราะเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงรุนแรงกว่าคนอายุน้อย เช่น อาการสับสน มึนงง สูญเสียการทรงตัว และปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ซึ่งเสี่ยงต่อการหกล้ม หรือเกิดภาวะอันตรายอื่น ๆ
- ผู้ที่กำลังจะเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ โดยเฉพาะการผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (CABG: Coronary artery bypass graft) ไม่ควรรับประทานยานี้
- การใช้ยานี้เป็นเวลานาน หรือในปริมาณมาก สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาหัวใจ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง และภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิต หากมีอาการของโรคเส้นเลือดสมอง หรือมีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก พูดไม่ชัด หรือเกิดอาการผิดปกติหลังใช้ยา ให้เรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที
- ยานี้อาจมีผลข้างเคียงต่อกระเพาะอาหาร ทำให้เยื่อบุกระเพาะอาหารถูกทำลาย เสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ซึ่งต่างก็เป็นอันตรายต่อชีวิตหากเริ่มรู้สึกแสบร้อนกลางหน้าอก ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือถ่ายเป็นสีดำ ควรหยุดใช้ยา และปรึกษาแพทย์ทันที
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา Diclofenac หากมีภาวะใด ๆ ต่อไปนี้
-
- เป็นโรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมัน คอเลสเตอรอลสูง โรคเบาหวาน
- มีประวัติกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง หรือเคยเกิดลิ่มเลือดอุดตันมาก่อน
- เคยมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร หรือเป็นแผลในกระเพาะอาหาร
- มีภาวะน้ำคั่งในร่างกาย หรืออาการบวมน้ำ
- เป็นโรคหอบหืด
- เป็นโรคตับ หรือโรคไต
- สูบบุหรี่
-
การใช้ยา Diclofenac ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร
ยา Diclofenac มีความเสี่ยงต่อทารกแตกต่างกันตามช่วงของการตั้งครรภ์ จึงจัดอยู่ใน 2 กลุ่ม ได้แก่
การใช้ยาในช่วง 29 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์
ยาจัดอยู่ใน Category C หมายความว่า เสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อทารก แต่ยังไม่มีหลักฐานยืนยันเมื่อใช้ระหว่างตั้งครรภ์
การใช้ยาในช่วงสัปดาห์ที่ 30 ของการตั้งครรภ์ และหลังจากนั้น
ยาจัดอยู่ใน Category D หมายความว่า ยาอาจทำให้ทารกเกิดความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด โดยยาจะทำให้หลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่เลี้ยงหัวใจปิด ดังนั้น จะใช้ยา Diclofenac ก็ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกในการรักษาอื่นที่ปลอดภัยกว่านี้แล้ว
ดังนั้นก่อนใช้ยานี้ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบหากคุณกำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ รวมถึงคุณแม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หรือวางแผนที่จะให้นมบุตร เนื่องจากยานี้อาจออกมาทางน้ำนมและเป็นอันตรายต่อทารกได้
ถ้าลืมกินยา Diclofenac ต้องทำอย่างไร
ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด)
กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา
ผลข้างเคียงจากยา Diclofenac
ผลข้างเคียงที่พบได้บ่อย
- อาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหาร เช่น ปวดท้อง แสบท้อง ท้องอืด ปวดบีบ ท้องผูก หรือท้องเสีย
- มีอาการท้องไส้ปั่นป่วน และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร รวมถึงทางเดินอาหาร สังเกตได้จากอุจจาระสีดำ การถ่ายเป็นเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด
- ปวดศีรษะ หรือได้ยินเสียงในหู
- มีผื่นขึ้น
อาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรง แต่หากมีอาการรุนแรงยิ่งขึ้น หรือส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรหยุดใช้ยาและปรึกษาแพทย์ทันที
ผลข้างเคียงรุนแรง
ถ้าเกิดอาการต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและรีบพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
- เลือดกำเดาไหล
- ตับเสียหาย หรือเกิดการอักเสบที่ตับ โดยจะมีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้องบวม นอนหลับ หรือง่วงซึมผิดปกติ มีอาการสับสน
- ความดันโลหิตต่ำ อาการที่สังเกตได้ชัดคือ จะรู้สึกเวียนศีรษะเมื่อลุกขึ้นยืน
- ความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด เช่น เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดแดงต่ำ และการทำงานของไขกระดูกต่ำลง
- หัวใจวาย โดยระยะแรกจะมีอาการขาบวมทั้ง 2 ข้าง หายใจลำบาก มีปัญหาเกี่ยวกับการเดินในระยะทางที่เคยเดินได้ หรือรู้สึกเหนื่อยมากกว่าปกติ
- มีรอยฟกช้ำตามร่างกาย
- มีปฏิกิริยาทางผิวหนังที่รุนแรง เช่น กลุ่มอาการสตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens–Johnson) หรือเป็นโรคผิวหนังในกลุ่มผื่นแพ้ยา (Toxic epidermal necrolysis)
สังเกตได้จากอาการแสบร้อนหรือบวมบริเวณหน้า คอ ริมฝีปาก ลิ้น และตา รวมถึงอาการเจ็บตามผิวหนัง ก่อนจะตามมาด้วยผื่นสีม่วงหรือสีแดงที่กระจายตัวตามผิวหนัง รวมทั้งมีอาการพุพองและผิวลอก
หากพบอาการเหล่านี้ ให้โทรเรียกรถฉุกเฉินทันที เพราะเป็นอาการที่อาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
ยาทุกชนิด แม้จะมีข้อดีและมีประโยชน์ในการรักษา แต่หากใช้อย่างไม่ถูกต้อง ยาชนิดนั้นอาจนำมาซึ่งข้อเสียและผลข้างเคียงที่อันตรายได้ ดังนั้น เราจึงควรศึกษาคุณสมบัติของยา รวมถึงวิธีใช้งานก่อนให้ละเอียดถี่ถ้วน
หากคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีโรคเรื้อรัง เป็นผู้สูงอายุ อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจกายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษา หรือลองเข้ามาดูแพ็กเกจรักษา ผ่าตัด กระดูกและข้อจากรพ. และคลินิกใกล้บ้านคุณ ถ้าหาอันไหนไม่เจอ ทักมาสอบถามได้ที่นี่เลย!
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD