รู้จักกับ อยู่ไฟหลังคลอด

รู้จักกับ อยู่ไฟหลังคลอด

การอยู่ไฟ เป็นวิธีการดูแลมารดาหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย โบราณเชื่อว่าในระยะหลังคลอดช่วงแรกๆ ทารกและมารดายังไม่แข็งแรง อาจเกิดอันตรายได้ง่าย จึงให้มีการอยู่ไฟหลังคลอด หรืออยู่เดือนไฟ

ในสมัยโบราณหญิงหลังคลอดทุกคนต้องอยู่ไฟ โดยให้นอนบนไม้กระดานแผ่นเดียว เรียกว่า “กระดานไฟ” หรือนอนบนแคร่ไม้ไผ่ ก่อไฟให้พอร้อนด้านล่าง หรือใกล้ๆ กระดาน ขณะนอนคุณแม่ต้องขาชิดกันเพื่อให้แผลสมานเร็ว มีญาติหรือสามีคอยดูไม่ให้ไฟร้อนเกินไป

ช่วงอยู่ไฟห้ามหญิงหลังคลอดทำงาน ห้ามออกไปนอกบ้านเป็นเวลา 7-15 วัน บางรายอาจอยู่นอนถึง 1 เดือน ซึ่งเชื่อกันว่าหากคุณแม่รายไหนไม่ได้อยู่ไฟจะมีอาการผิดปกติเมื่ออายุมากขึ้น เช่น หนาวสะท้านง่าย เลือดลมไหลเวียนไม่ดี วิงเวียน หน้ามืด เป็นต้น

นอกจากการนอนบนกระดานอยู่ไฟ ยังอาจมีการนวด ทับหม้อเกลือ อบสมุนไพร นั่งถ่าน ประกอบกันด้วย นอกจากนี้หญิงอยู่ไฟจะมีข้อจำกัดในการรับประทานอาหารบางประเภท

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันมีข้อจำกัดด้านเวลา ระยะเวลาในการอยู่ไฟสำหรับหญิงหลังคลอดหลายคนจึงจำเป็นต้องมีการปรับลดลง โดยอาจเหลือเพียง 3-7 วันเท่านั้น

อยู่ไฟให้ประโยชน์อย่างไร?

เมื่อมีการตั้งครรภ์จะมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งด้านร่างกาย เช่น มีอาการแพ้ท้อง หน้าอกขยาย คัดตึงเต้านม สรีระเปลี่ยน หนักเนื้อหนักตัว เคลื่อนไหวไม่สะดวก น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น หน้าท้องขยาย การรับน้ำหนักของหน้าท้องที่ใหญ่ขึ้นทำให้มีอาการปวดหลัง ปวดเมื่อยตัว

นอกจากนี้ระบบฮอร์โมนต่างๆ ในร่างกายยังมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้อารมณ์ของหญิงมีครรภ์แปรปรวน และจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาที่อุ้มท้องจนถึงเวลาคลอด อีกทั้งขณะคลอดมารดายังเสียเลือดจำนวนมาก ซึ่งอ้างอิงจากศาสตร์การแพทย์แผนไทยแล้ว การเสียเลือดจะสูญเสียธาตุไฟ ธาตุน้ำ ทำให้ร่างกายเสียสมดุล

การอยู่ไฟ เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยฟื้นฟูให้ร่างกายมารดาหลังคลอดกลับสู่สมดุล เนื่องจากการอยู่ไฟเป็นการให้ความร้อน คือธาตุไฟ เพื่อไปช่วยปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานดี ลดอาการอ่อนเพลีย หน้ามืด ปวดเมื่อยตามร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยทำให้น้ำนมไหลสะดวก ขับน้ำคาวปลา และยังช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็วอีกด้วย

อยู่ไฟทำอย่างไรบ้าง?

การอยู่ไฟจะสามารถทำในมารดาที่คลอดธรรมชาติหลังจากคลอดแล้ว 7 วัน ส่วนมารดาที่ผ่าคลอด จะทำได้หลังคลอด 30-45 วัน โดยประเมินความเหมาะสมจากแผล และอาการอื่นๆ เช่น น้ำคาวปลา ระดับมดลูก อาการเจ็บแผล เป็นต้น

ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสภาพแวดล้อม พื้นที่ สังคม บ้านหรือที่อาศัยที่ค่อนข้างมิดชิด ไม่เหมาะสมกับการอยู่ไฟแบบการนอนแคร่และก่อไฟ จึงนิยมดูแลหลังคลอดด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

  1. การนวด เพื่อกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด คลายความตึงของกล้ามเนื้อ ทำให้ผ่อนคลาย ลดอาการอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามร่างกาย ลดอาการปวดมดลูก ลดอาการปวด ชา หรือตะคริว กระตุ้นให้น้ำนมไหลดี
  2. การประคบสมุนไพร เป็นการนำสมุนไพรสดหรือแห้งมาโขลกแล้วคลุกเคล้ารวมกัน ห่อเป็นลูกประคบ แล้วนำมานึ่งหรือผ่านความร้อน นำไปประคบบริเวณหลัง สะโพก ขา แขน ความร้อนจากลูกประคบจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด ช่วยให้กล้ามเนื้อคลาย ลดอาการช้ำบวม ลดอาการอักเสบ และกลิ่นของสมุนไพรจะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น นอกจากนี้ความชื้นจากลูกประคบยังช่วยให้รูขุมขนเปิด ให้ระบายเหงื่อและของเสียออกมาได้ นอกจากนี้หากประคบบริเวณเต้านมยังช่วยกระตุ้นให้น้ำนมไหลดีขึ้น ลดอาการปวด คัดตึงเต้านมได้ด้วย
  3. การทับหม้อเกลือ เป็นการนำเกลือสมุทรมาใส่หม้อดินขนาดเล็กๆ ตั้งไฟให้ร้อน แล้วนำมาวางบนสมุนไพร ห่อด้วยใบพลับพลึง นำมาประคบบริเวณหน้าท้อง หลัง สะโพก และขา ซึ่งความร้อนจากหม้อเกลือจะร้อนนานและลงไปสู่กล้ามเนื้อชั้นที่ลึกมากกว่าการประคบสมุนไพร จึงเหมาะสมกับการประคบบริเวณหน้าท้องที่มีความหนามากกว่าบริเวณอื่นๆ การทับหม้อเกลือจะช่วยกระชับหน้าท้อง ช่วยให้มดลูกเข้าอู่เร็ว ขับน้ำคาวปลา และช่วยคลายความตึงของกล้ามเนื้อ ช่วยลดอาการปวดได้
  4. การอบสมุนไพร เป็นการใช้ประโยชน์ของไอน้ำจากการต้มสมุนไพร โดยให้มารดาหลังคลอดอยู่ในกระโจม หรือตู้อบเป็นเวลา 10-15 นาที การอบสมุนไพรจะช่วยเปิดรูขุมขน ขับเหงื่อและของเสียออกจากร่างกาย ชะล้างสิ่งสกปรกบริเวณผิวหนัง และกลิ่นของสมุนไพรช่วยช่วยระบบหายใจ ทำให้หายใจสะดวก ผ่อนคลายและสดชื่นขึ้น
  5. การนั่งถ่าน เป็นการใช้ผงสมุนไพรโรยบนก้อนถ่านที่มีความร้อน แล้วครอบด้วยกะลามะพร้าวที่มีรูด้านบน ให้ควันและความร้อนลอยขึ้นจากรู แล้วให้มารดาหลังคลอดนั่งบนเก้าอี้เตี้ยๆ ที่เจาะรู ให้บริเวณแผลฝีเย็บอยู่ตรงกับรู เพื่อให้ความร้อนจากถ่าน ช่วยสมานแผลฝีเย็บ ทำให้แผลแห้งเร็ว

นอกจากวิธีการดังกล่าว คุณแม่หลังคลอดควรรักษาอุณหภูมิร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ ไม่รับประทานของเย็น เช่น น้ำเย็น ผลไม้ฤทธิ์เย็น จำพวกแตงกวา แตงโม ฟักเขียว รสเผ็ดซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการไหลของน้ำนม ทำให้มีน้ำนมน้อย ไม่ควรรับประทานของหมักดอง พืชผักหรืออาหารที่มีมีกลิ่นฉุน ซึ่งจะทำให้กลิ่นน้ำนมผิดปกติ ควรดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำขิงเพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น กระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด และช่วยในการไหลของน้ำนม

ข้อควรรู้และข้อควรระวังในการอยู่ไฟหลังคลอด

  • การอยู่ไฟในวิธีการต่างๆ ควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ เช่น แพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้านที่มีใบประกอบโรคศิลป์ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเกิดอันตรายจากการดูแลผิดวิธี
  • หากต้องการอยู่ไฟด้วยตนเอง ควรศึกษาวิธีการและขั้นตอนอย่างละเอียด และควรระวังความร้อน ไม่ให้ร้อนเกินไป ป้องกันการเกิดบาดแผล หรือพุพองจากโดนความร้อน
  • กรณีผ่าคลอด ควรทำหลังคลอดแล้ว 30 วัน และต้องตรวจหลังคลอดตามแพทย์นัด เพื่อประเมินแผล หากแผลยังไม่สนิทหรือมีการอักเสบ ไม่ควรทับหม้อเกลือหรือนวดบริเวณท้อง จะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบและแผลหายช้ายิ่งขึ้น
  • กรณีคลอดธรรมชาติ แต่มีการทำหมันรวมด้วย ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ และบอกประวัติที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ดูแลระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออันตรายอื่นๆ ตามมา
  • ไม่ควรอยู่ไฟในขณะที่มีไข้ ตัวร้อน หรืออ่อนเพลียมากๆ เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้
  • หากทำแล้วมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น แผลมีเลือดออก ปวดมดลูกมากขึ้น มีไข้ ควรหยุดและรีบไปพบแพทย์
  • หลังจากการอบสมุนไพร ควรดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อชดเชยน้ำที่สูญเสียไปกับเหงื่อ

การอยู่ไฟไม่ใช่เรื่องของคนโบราณ ไม่ใช่การกระทำที่เป็นอันตราย เป็นการดูแลมารดาหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ซึ่งสามารถช่วยฟื้นฟูร่างกายของหญิงหลังคลอดให้กลับสู่ภาวะปกติได้ดี ช่วยปรับการทำงานของระบบต่าง ๆ ให้สมดุล แต่ก็มีข้อควรระวังหลายประการ ดังนั้นจึงควรทำกับผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และควรพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามนัดทุกครั้ง


เขียนบทความและตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top