อาการบวมน้ำ เกิดขึ้นได้อย่างไร ป้องกันได้หรือเปล่า scaled

อาการบวมน้ำ เกิดขึ้นได้อย่างไร ป้องกันได้หรือเปล่า?

หลายคนคงเคยมีอาการบวมหลังตื่นนอนตอนเช้า สังเกตได้จากหน้าบวม มือเท้าบวม ถุงใต้ตาบวม หรือท้องป่อง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็รับประทานอาหารปกติ และไม่เคยมีอาการแบบนี้มาก่อน แต่เมื่อผ่านไปสัก 2-3 วัน อาการบวมก็หายไปเอง อีกไม่นานจึงกลับมาเป็นใหม่ อาการเหล่านี้เกิดจากอะไร และแยกจากภาวะอ้วนได้อย่างไร

อาการบวมน้ำ (Edema) คืออะไร?

อาการบวมน้ำ คือภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ จึงทำให้เซลล์ในร่างกายต้องกักเก็บน้ำไว้ใต้ผิวหนังมากกว่าปกติ อาการบวมน้ำเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และสามารถหายได้เอง เพราะร่างกายจะมีการปรับตัวให้กลับสู่สภาพปกติได้เสมอ

อาการบวมน้ำเกิดจากสาเหตุอะไร?

สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอาการบวมน้ำ มาจากความผิดปกติของร่างกายในระดับเซลล์ ที่ไม่สามารถรักษาความสมดุลของน้ำในร่างกายได้ หรืออยู่ในภาวะที่ร่างกายขาดน้ำ จึงมีการกักเก็บน้ำไว้มากกว่าปกติ ต้นเหตุของปัญหา ได้แก่

  • รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียมมากเกินไป ส่วนใหญ่พบโซเดียมมากในขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ อาหารรสเค็ม อาหารแปรรูป อาหารแช่แข็ง อาหารหมักดอง หรือแม้กระทั่งในขนมปัง คุณสมบัติของโซเดียมคือ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดแล้วจะทำให้เลือดเสียสมดุล ร่างกายจึงต้องพยายามดูดน้ำเข้าเซลล์เพื่อเจือจางโซเดียม เป็นเหตุผลว่าทำไมกินของเค็มแล้วรู้สึกกระหายน้ำบ่อยๆ และร่างกายจะใช้เวลานานกว่าจะขับน้ำออกหมด ทำให้เกิดอาการบวมน้ำนั่นเอง
  • อยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ เช่น นั่ง นอน หรือยืน นานเกินไป ร่างกายไม่มีการเคลื่อนไหว จึงทำให้เกิดภาวะคั่งของน้ำ ส่วนใหญ่มักมีอาการบวมบริเวณขาและเท้าทั้งสองข้าง
  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง พบมากในผู้หญิงช่วงมีประจำเดือนและระหว่างการตั้งครรภ์ เพราะความไม่สมดุลของฮอร์โมนดังกล่าวส่งผลให้ร่างกายสะสมน้ำไว้ในชั้นเนื้อเยื่อมากขึ้น มีการกักเก็บน้ำสูงขึ้นมากกว่าปกติ ทำให้อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นประมาณครึ่งกิโลถึง 2 กิโลกรัม รวมถึงตัวบวม หน้าท้องบวม จนสังเกตได้ชัดเจน แต่เมื่อผ่านช่วงรอบเดือนหรือหลังจากคลอดบุตรไปแล้ว ร่างกายจะปรับให้ระดับฮอร์โมนกลับเข้าสู่สภาพปกติ ทำให้อาการบวมน้ำลดลง น้ำหนักตัวก็กลับสู่ปกติ
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไปหรือได้รับน้ำไม่เพียงต่อวัน ทำให้ร่างกายพยายามเก็บน้ำเอาไว้ และทำให้โซเดียมในเลือดไม่ถูกขับออกมา
  • นอนน้อยหรืออดนอน ทำให้ระบบในร่างกาย ทั้งการขับถ่ายและการรักษาสมดุลต่างๆ ทำงานผิดปกติ
  • เป็นโรคไต โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคในระบบทางเดินน้ำเหลือง ซึ่งอวัยวะดังกล่าวมีหน้าที่สำคัญในการรักษาสมดุลของเหลวของร่างกาย ควบคุมน้ำและแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด
  • กินยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเพศหญิง เช่น ยาคุมกำเนิด ยาควบคุมความดันโลหิตอย่างกลุ่มยาต้านแคลเซียม (Calcium-channel blockers) ยาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์และยาบางประเภท สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการบวมน้ำได้เช่นกัน

จะรู้ได้อย่างไรว่าอ้วนหรือแค่บวมน้ำ?

สามารถสังเกตว่าที่คุณเป็นนั้นเป็นอาการบวมน้ำหรืออ้วน ด้วยหลักต่อไปนี้

  • อาการบวมน้ำ จะเกิดขึ้นและลดลงแบบฉับพลัน โดยที่การรับประทานอาหารปกติเหมือนทุกวัน
  • อ้วน น้ำหนักจะค่อยๆ ขึ้นเรื่อยๆ และจะลดยากกว่าบวมน้ำ เพราะความอ้วนเกิดจากปริมาณไขมันส่วนเกิน ต้องใช้เวลาในการเผาผลาญ

หากไม่แน่ใจ สามารถทดสอบอาการบวมได้โดยใช้นิ้วกดบริเวณที่บวม (Pitting edama) ค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที หากกดแล้วเนื้อบุ๋มลงไปเป็นรอยนิ้ว หมายถึงมีอาการบวมน้ำ แต่ถ้ากดไปแล้วรู้สึกแน่น คือภาวะอ้วน

ความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับอาการบวมน้ำ

หลายคนอาจเข้าใจว่าการดื่มน้ำมากทำให้มีอาการตัวบวม หรือเคยพยายามดื่มน้ำน้อยเพื่อหลีกเลี่ยงอาการบวมน้ำ ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะร่างกายมีระบบที่ช่วยรักษาสมดุลของน้ำให้อยู่ในระดับปกติอยู่แล้ว

นอกจากนี้ การดื่มน้ำสะอาดยังช่วยให้มีการกระตุ้นการขับถ่ายมากยิ่งขึ้น ทำให้ร่างกายไม่ขาดน้ำ และยังช่วยลดโซเดียมในร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ปริมาณของโซเดียมประมาณ 90% จะถูกขับออกพร้อมปัสสาวะ

จะป้องกันอาการบวมน้ำได้อย่างไร?

คุณสามารถป้องกันอาการบวมน้ำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเค็มหรือรสจัด โดยการลดปริมาณเครื่องปรุงในการประกอบอาการ เช่น ผงชูรส ซุปก้อน ผงหรือซอสปรุงรสต่างๆ
  • พยายามอ่านฉลากคุณค่าทางโภชนาการก่อนรับประทาน เพื่อตรวจสอบสารอาหารก่อนที่ร่างกายจะได้รับเข้าไป นอกจากจะช่วยควบคุมน้ำตาลหรือแคลอรีแล้ว ค่าโซเดียมก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน ปริมาณโซเดียมที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคต่อวันคือ 2,000 มิลลิกรัม แต่การสำรวจจากสถาบันวิจัยสาธารณสุขพบว่า คนไทยบริโภคโซเดียมมากกว่า 3,000 มิลลิกรัมต่อวันเลยทีเดียว การฝึกอ่านฉลากโภชนาการก่อนทุกครั้ง จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการบวมน้ำ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยลดโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการกินได้หลายโรคอีกด้วย
  • เลือกรับประทานอาหารที่แมกนีเซียม เช่น กลุ่มผักใบเขียว เมล็ดธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง เพราะจากรายงานวิจัยพบว่าแมกนีเซียมมีส่วนช่วยในการรักษาสมดุลของน้ำและแร่ธาตุในร่างกาย จึงช่วยลดอาการบวมน้ำได้
  • เมื่อขาดน้ำ ร่างกายของคนเราจะมีการปรับตัวให้เซลล์เก็บน้ำไว้ ทำให้เกิดอาการบวม แต่ถ้าคุณดื่มน้ำมากขึ้น ร่างกายก็จะมีการขับน้ำออกปกติ และจะไม่กักเก็บน้ำไว้เกินความจำเป็น จึงเป็นวิธีการลดอาการบวมน้ำได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง แนะนำให้ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว หรือมากกว่ากว่านี้ได้หากมีอาการกระหายน้ำ โดยควรค่อยๆ จิบทุกชั่วโมง จะช่วยให้ร่างกายเจือจางความเข้มข้นของโซเดียมและขับออกได้ดีขึ้น
  • รับประทานผักและผลไม้ให้มากขึ้น เพราะมีปริมาณน้ำมากและกากใยสูง จึงช่วยขับของเสียและโซเดียมส่วนเกินได้เป็นอย่างดี และช่วยยังช่วยให้อิ่มท้องนาน แคลอรีต่ำ ดีสำหรับผู้ที่หิวบ่อย
  • ลดการรับประทานอาหารปรุงสำเร็จ อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก กุนเชียง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เบเกอรีที่ (เพราะแม้ไม่มีรสเค็มแต่ก็มีโซเดียมแฝง) รวมไปถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารขยะ เนื่องจากอาหารเหล่านี้มักมีปริมาณโซเดียมสูงเพื่อเป็นการถนอมอาหาร และในสารกันเสียก็จะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบหลักด้วย หากร่างกายได้รับโซเดียมปริมาณมากเกินความจำเป็น จะส่งผลให้เกิดอาการบวมน้ำได้ง่าย เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้าย เช่น โรคไตวาย โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน
  • ออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายเคลื่อนไหว ช่วยระบบการไหลเวียนดีขึ้น และทำให้ร่างกายขับของเสียในรูปแบบเหงื่อผ่านผิวหนัง หมั่นนวดเบาๆ บริเวณที่มีอาการบวมเพื่อให้ของเหลวใต้ผิวหนังกระจายไปบริเวณอื่น ก็สามารถลดอาการบวมน้ำได้เช่นเดียวกัน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ แนะนำให้นอนยกเท้าสูงกว่าศีรษะหรือยกขาให้สูงกว่าระดับหัวใจ ทำให้การไหลเวียนและขับของเหลวต่างๆ ในร่างกายได้ดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า วิธีการข้างต้นเป็นวิธีการที่ง่ายและสามารถทำได้ทุกวัน ไม่เพียงแต่ป้องกันภาวะบวมน้ำเท่านั้น แต่ยังช่วยดูแลสุขภาพโดยรวมได้อีกด้วย


เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top