ปวดก้นกบ ข้อมูล สาเหตุ การรักษา ป้องกัน scaled

ปวดก้นกบ ข้อมูล สาเหตุ การรักษา ป้องกัน

เชื่อกันว่าก้นกบของมนุษย์คือส่วนของหางที่หดสั้นลง เนื่องจากไม่ได้ใช้งานเพื่อช่วยในการทรงตัวเหมือนลิงอีกต่อไป

ในวัยเด็ก กระดูกส่วนนี้จะเป็นข้อต่อ 4-5 ชิ้นที่เคลื่อนไหวจากกันได้ เมื่อโตขึ้นจึงค่อยๆ เชื่อมติดกันจนไม่สามารถขยับออกจากกันได้อีก

ถึงแม้จะไม่ได้มีหน้าที่หลักในการช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวเหมือนข้อต่ออื่นๆ แต่ก้นกบเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน และเส้นเอ็น (Ligaments) จำนวนมาก ทำให้เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น หรือกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณหลังส่วนล่าง หรือสะโพกบาดเจ็บ มักจะส่งผลให้มีอาการปวดบริเวณก้นกบ (Coccyx pain หรือ Coccydynia) ได้

สารบัญ

สาเหตุของอาการปวดก้นกบมีอะไรบ้าง?

อาการปวดก้นกบ พบบ่อยในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย 2-3 เท่า โดยเฉพาะในช่วงมีประจำเดือนหรือตั้งครรภ์ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าก้นกบเป็นจุดเกาะของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นจำนวนมาก ส่งผลให้เมื่อกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเหล่านั้นหดรั้ง หรือตึงตัวมากกว่าปกติ ก็จะทำให้มีอาการปวดก้นกบได้

นอกจากนี้ อุบัติเหตุ รูปร่างของแต่ละคน และพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงปัญหาสุขภาพบางอย่าง ก็ส่งผลให้มีอาการปวดก้นกบได้ด้วย โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ปวดก้นกบจากอุบัติเหตุ

เป็นสาเหตุลำดับต้นๆ ของอาการปวดก้นกบ เช่น การหกล้มก้นกระแทก การลื่นล้ม การตกจากที่สูง เป็นต้น ในบางรายอาจจะมีอาการปวดรุนแรงมาก หรืออาจะพบว่ามีการแตกของกระดูกก้นกบได้

2. ปวดก้นกบจากการมีประจำเดือน

เนื่องจากช่วงมีประจำเดือน ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เส้นเอ็นยืดหรือหดตัวกว่าปกติ เกิดการทำงานที่ไม่สมดุลของกล้ามเนื้อและข้อต่อระหว่างการเคลื่อนไหว อาการปวดก้นกบจากสาเหตุนี้มักจะดีขึ้นเมื่อหมดรอบเดือนนั้นๆ

3. ปวดก้นกบในสตรีตั้งครรภ์

นอกจากเรื่องของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงแล้ว น้ำหนักตัวที่มากขึ้น ขนาดของท้องที่ใหญ่ขึ้น ก็ทำให้จุดศูนย์ถ่วงน้ำหนักของร่างกายเปลี่ยนแปลงไป

ในช่วงตั้งครรภ์นี้ กล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานจะทำงานหนักขึ้นเนื่องจากต้องรับนำหนักของครรภ์ และเมื่อถึงเวลาใกล้คลอดหรือระหว่างการคลอด กระดูกเชิงกรานก็จะขยายขนาดอย่างมาก ทำให้เส้นเอ็นบริบริเวณนั้นถูกยืดออก เป็นสาเหตุของอาการปวดก้นกบได้

4. ปวดก้นกบเพราะน้ำหนักตัวที่มากเกินไปหรือน้อยเกินไป

ในกรณีผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก กลไกของอาการปวดจะคล้ายกับของสตรมีครรภ์ ในขณะผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย มักจะทำให้มีบริเวณก้นมีไขมันและกล้ามเนื้อน้อย ทำให้เมื่อนั่งเป็นเวลานานๆ น้ำหนักอาจจะกดทับลงบริเวณก้นกบ ส่งผลให้มีอาการปวดได้

5. ปวดก้นกบเพราะท่านั่งผิดปกติ

ในท่านั่งหลังตรง จุดรับน้ำหนักของร่างกายจะอยู่ที่ปุ่มกระดูกที่ชื่อว่า Ischial tuberosity ซึ่งมีลักษณะเหมือนเก้าอี้เล็กๆ จุดนี้เป็นจุดรับน้ำหนักที่เหมาะสม แต่เมื่อนั่งท่าผิดปกติ โดยเฉพาะนั่งตัวไหล ไหล่ห่อ น้ำหนักส่วนมากจะไปลงบนก้นกบ ซึ่งไม่ได้มีหน้าที่รับน้ำหนัก จึงทำให้มีอาการปวดได้

เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?

โดยทั่วไป อาการปวดก้นกบมักจะไม่รุนแรงจนรบกวนการนอนหลับ ไม่ส่งผลให้เกิดอาการชา หรือไม่พบปัญหาการควบคุมการทำงานของระบบปัสสาวะและอุจจาระได้

แต่หากพบอาการดังกล่าว อาจจะเป็นสัญญาณอันตรายบ่งชี้อาการที่รุนแรง เช่น มะเร็งบางชนิด หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท หรือการติดเชื้อในช่องไขสันหลัง ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยสาเหตุที่ชัดเจนและทำการรักษาต่อไป

วิธีรักษาอาการปวดก้นกบ มีอะไรบ้าง

มีรายงานชัดเจนว่า 90% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบสามารถรักษาให้หายได้ด้วยวิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด

การรักษาทางเลือกอื่นๆ เช่น การฉีดยาสเตียรอยด์ การผ่าตัด การฝังเข็ม หรือการฉีดยาชา เพื่อยับยั้งการทำงานของเส้นประสาท จึงไม่ค่อยถูกนำมาใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดก้นกบ

การรักษาทางกายภาพมักมุ่งเน้นไปที่การให้ความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การเปลี่ยนท่านั่งให้เหมาะสม การควบคุมน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม การใช้อุปกณ์เสริมต่างๆ เช่น เบาะรองนั่ง และการออกกำลังกายเพื่อให้กล้ามเนื้อรอบๆ ก้นกบกลับมาทำงานอย่างสมดุล

นอกจากนี้การลดปวด เช่น การประคบร้อน การทำอัลตราซาวด์เพื่อลดปวด ก็สามารถถูกนำมาใช้ได้

ท่าออกกำลังกายลดปวดก้นกบที่ทำได้เองที่บ้านมีอะไรบ้าง?

การออกกำลังกายเพื่อลดอาการปวดก้นกบ จะมุ่งเน้นไปที่การยืดกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนล่าง กล้ามเนื้อสะโพก และกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีท่าออกกำลังกายจำนวนมาก

ตัวอย่าง 5 ท่าลดปวดก้นกบที่ทำได้ง่ายๆ ที่บ้าน มีดังนี้

1. ฝึกหายใจเพื่อลดความตึงตัวของกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic floor release)

ทำได้โดยการนอนหงาย อาจจะชันเข่าทั้ง 2 ข้างขึ้นหรือไม่ก็ได้ หายใจเข้าช้าๆ ให้สุดจนท้องป่องขึ้น โดยเฉพาะบริเวณท้องน้อย กลั้นหายใจออกแรงเบ่งเบาๆ เคลื่อนลมที่กักไว้ให้ไปในทิศทางของเชิงกราน จากนั้นหายใจออกช้าๆ ไม่ควรกลั้นกายใจนานไป ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง

ผู้ที่มีปัญหาความดันสูง ควรปรึกษานักกายภาพบำบัดก่อนออกกำลังกายด้วยวิธีนี้

2. ฝึกกล้ามเนื้อสะโพก (Piriformis stretching)

นอนหงาย ชันเข่าขึ้น ยกขาข้างที่ต้องการยืดสะโพกมาไขว้อีกข้างไว้ในลักษณะไขว่ห้าง จากนั้นใช้มือกอดรัดต้นขาข้างที่อยู่ข้างล่างให้เข้ามาชิดกับอก ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1-2 รอบ

3. กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลัง (Hamstring stretching)

นอนหงาย ชันเข่า ใช้มืออ้อมไปกอดยกขาข้างที่ต้องการยืดขึ้นโดยที่เข่ายังงออยู่ พยายามให้ฝ่าเท้าของเข่าข้างที่ชันอยู่แนบกับพื้นตลอดเวลา ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1-2 รอบ

4. กล้ามเนื้อสะโพกด้านหน้า (Iliopsoas stretching)

นั่งให้แก้มก้นวางพอดีกับขอบเตียง กอดเข่าหนึ่งข้าง ค่อยๆ เอนตัวลงนอน จะรู้สึกตึงบริเวณสะโพกด้านหน้าของเข่าข้างที่ไม่ได้กอดไว้ ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1-2 รอบ

5. กล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง (Cobra stretch)

นอนคว่ำค่อยๆ ท้าวแขนขึ้นโดยที่สะโพกทั้งสองข้างไม่ยกจากพื้น ค้างไว้ 10-15 วินาที ทำซ้ำ 1-3 เซต สลับทำกับขาอีกข้าง วันละ 1-2 รอบ

หากออกกำลังกายตามคำแนะนำนี้แล้วมีอาการปวดกลังหรือก้นกบมากขึ้น ควรหยุดออกกำลังกายทันที

สามารถป้องกันอาการปวดก้นกบได้อย่างไร?

สาเหตุหลักของอาการปวดก้นกบมักจะมาจากพฤติกรรมที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งการป้องกันอาการปวดก้นกบสามารถทำได้ ดังนี้

1. ควบคุมน้ำหนักร่างกายให้เหมาะสม

2. ไม่นั่งทำงานนานๆ เปลี่ยนอิริยาบททุกๆ 1-2 ชั่วโมง

3. ปรับท่านั่งให้เหมาะสมไม่นั่งตัวไหล ไหล่ห่อ

4. เลือกเก้าอี้ที่ไม่นุ่มเกินไปซึ่งสนับสนุนให้เกิดการนั่งตัวไหล ในทางกลับกันหากเก้าอี้ที่นั่งอยู่เบาะแข็งเกินไปควรหาเบาะมารอง

5. ยืดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่าง สะโพก แล้วกล้ามเนื้อในอุ้งเชิงกรานอย่างสม่ำเสมอ


เขียนบทความโดย กภ. ธีรวิทย์ วิโรจน์วิริยะกุล


ที่มาของข้อมูล

  • Wray CC, Easom S, Hoskinson J. Coccydynia, Aetiology and treatment, March 1991.
  • Patel R, Appanagari A, Whang PG, Coccydynia. Curr Rev Musculoskelet Med, December 2018.
  • Mohanty, P.P. et al, Effect of stretching of piriformis and iliopsoas in coccydynia, July 2017.
  • Frontera WR, Coccydynia. In: Essentials of Physical Medicine and Rehabilitation: Musculoskeletal Disorders, Pain, and Rehabilitation, 2015.
  • Chakraborty S, Nonoperative Management of Coccydynia: A Comparative Study Comparing Three Methods, 1 September 2012.
Scroll to Top