รู้จักกับการฉีดน้ำไขข้อเทียม หนึ่งในวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม scaled

รู้จักกับการฉีดน้ำไขข้อเทียม หนึ่งในวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม

การฉีดน้ำไขข้อเทียมเป็นหนึ่งในวิธีรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมที่ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อเข่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ข้อเข่าเคลื่อนไหวได้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังช่วยชะลอการผ่าตัดเปลี่ยนเข่าเทียมไปได้ 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม การฉีดน้ำไขข้อเทียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อาการแพ้น้ำไขข้อเทียม หรือเกิดเนื้องอกเทียมได้

ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ควรศึกษารายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการฉีดน้ำไขข้อเทียม และปรึกษาแพทย์เฉพาะทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อก่อนเข้ารับการรักษา

ทำไมถึงต้องให้ความสำคัญกับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม?

โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย สาเหตุเกิดจากผิวข้อของกระดูกอ่อนสึกหรอจากปัจจัยต่างๆ เช่น อายุที่เพิ่มมากขึ้น น้ำหนักตัว เคยประสบอุบัติเหตุ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับข้อเข่าต่างๆ

บริเวณข้อเข่าของคนเรามีลักษณะเป็นกระดูกอ่อน ซึ่งเปรียบเหมือนฟันเฟืองที่เชื่อมกระดูกต้นขากับกระดูกหน้าแข้งเข้าไว้ด้วยกัน ช่วยในการรองรับการลงน้ำหนักและการเคลื่อนไหว โดยด้านใต้ของกระดูกอ่อนจะมีเส้นประสาทอยู่

การที่ผิวข้อของกระดูกอ่อนสึกจะทำให้กระดูกไม่เรียบลื่น ขรุขระ ทำให้รองรับน้ำหนักได้ไม่ดี เมื่อขยับแล้วจะเกิดเสียงจากการที่กระดูกต้นขาและกระดูกหน้าแข้งขัดกัน ทำให้รู้สึกเจ็บและปวดในข้อเข่ามาก

หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้เคลื่อนไหวลำบากไปจนถึงขาผิดรูป หรือขาโก่งนั่นเอง

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดน้ำไขข้อเทียมคืออะไร?

ตามปกติแล้ว น้ำไขข้อที่หล่อเลี้ยงข้อเข่าจะทำหน้าที่เหมือนน้ำมันที่ช่วยหล่อลื่นให้กระดูกเคลื่อนไหวได้ลื่นไหล แต่ในผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อม น้ำในข้อจะเหนียวหนืด ขาดความยืดหยุ่น เนื่องจากขาดสารไฮยาลูรอนิกแอซีด (Hyaluronic acid)

นั่นทำให้เกิดอาการปวด บวม อักเสบภายในข้อ และเคลื่อนไหวไม่สะดวกตามมา

แนวทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาอาการดังกล่าว ได้แก่ การฉีดน้ำไขข้อเทียมเพื่อทดแทนน้ำไขข้อที่เสื่อมสภาพไป

น้ำไขข้อเทียม หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า น้ำเลี้ยงข้อเทียม เป็นสารสังเคราะห์ไฮยาลูรอนิกแอซีดที่มีคุณสมบัติคล้ายกับน้ำไขข้อในร่างกายมนุษย์

ในปัจจุบันมีการสกัดน้ำไขข้อเทียมจากหลายอย่าง เช่น

  • สกัดจากหงอนไก่ ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่ประวัติแพ้สัตว์ปีก หรือไข่
  • สกัดจากแบคทีเรียจากแหล่งธรรมชาติ มีความปลอดภัยสูง
  • สกัดจากสารสังเคราะห์หรือสารเคมี อาจทำให้เกิดอาการแพ้รุนแรงได้

ผลจากการศึกษาทางคลินิกพบว่า น้ำไขข้อเทียมจากแหล่งที่มาที่ต่างกันให้ผลในการรักษาอาการปวดได้ไม่แตกต่างกันมากนัก ซึ่งแพทย์จะประเมินและเลือกใช้น้ำไขข้อเทียมที่เหมาะกับตัวผู้ป่วยแต่ละคน ไม่ทำให้เกิดการแพ้ และมีความปลอดภัยสูง

วิธีการฉีดน้ำไขข้อเทียม

การฉีดน้ำไขข้อเทียมจะต้องฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะหากแพทย์ฉีดไม่เข้าข้อจะทำให้เกิดเนื้องอกเทียม (Pseudo tumor) ได้ โดยแพทย์จะฉีดสัปดาห์ละ 1 เข็ม ติดต่อกัน 3-5 สัปดาห์

การฉีดน้ำไขข้อเทียมเห็นผลค่อนข้างออกฤทธิ์ช้า ในช่วง 1-2 เดือนแรก ควรรับประทานยาแก้ปวดควบคู่ไปด้วย เมื่ออาการดีขึ้นให้ลด หรือหยุดยาแก้ปวด แต่ถ้าใช้ยาติดต่อกันนาน 3 เดือนแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้หยุดยาแล้วไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยต่อไป

การรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมด้วยการฉีดน้ำไขข้อเทียมจะช่วยบรรเทาอาการปวดและขัดตึงไปได้ 6 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและการดูแลสุขภาพของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม การฉีดน้ำไขข้อเทียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ข้ออักเสบกำเริบภายหลังการฉีด การติดเชื้อในข้อ

เมื่อไรที่ต้องเข้ารับการรักษาด้วยการฉีดน้ำไขข้อเทียม?

ปกติแล้ว ขั้นตอนการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมในเบื้องต้นจะเริ่มจากให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ทำให้อาการปวดรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการนั่งขัดสมาธิ คุกเข่า หรือพับเพียบ รวมไปถึงการยก หรือแบกของหนัก

แพทย์มักแนะนำให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และออกกำลังกายแบบไม่มีแรงกระแทก (Low impact) เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อรอบข้อให้แข็งแรง เช่น ว่ายน้ำ เดินเร็ว

ในระหว่างที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แพทย์จะให้ยารับประทานเพื่อบรรเทาอาการข้อเข่าเสื่อม เช่น ยาแก้ปวดพาราเซตามอล ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ ยาพยุง หรือลดความเสื่อมของข้อ แต่หากอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะให้ยาฉีดสเตียรอยด์ หรือการฉีดน้ำไขข้อเทียมแทน

หากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวยังไม่ได้ผลอีก ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมอาจต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด เช่น ผ่าตัดปรับแนวข้อ ผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียม เพื่อรักษาอาการปวดที่ต้นเหตุ

อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมจะได้ผลเพียงใดนั้น ขึ้นอยู่กับอาการ ระดับความเสื่อมของข้อเข่า พฤติกรรมการใช้ชีวิต อายุ ของแต่ละคน รวมถึงความชำนาญของแพทย์ด้วย

ก่อนรับการผ่าตัดจึงควรปรึกษาแพทย์ถึงผลดีและผลเสียจากการผ่าตัดโดยละเอียด

จำเป็นต้องตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่าก่อนการฉีดน้ำไขข้อเทียมหรือไม่?

ไม่เสมอไป เพราะทั้งสองอย่างเป็นคนละขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต้องทำต่อเนื่องกัน การตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่าเป็นการตรวจวิเคราะห์โรค ส่วนการฉีดน้ำไขข้อเทียมเป็นการรักษา

การตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่าจะใช้วิธีเจาะดูดน้ำเลี้ยงข้อเข่านำไปวิเคราะห์ในห้องแล็บ เพื่อหาสารที่เป็นสัญญาณของโรคข้ออักเสบในเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม โรคเกาต์ โรครูมาตอยด์ โรคข้ออักเสบ เช่น

  • น้ำตาลกลูโคส (Glucose)
  • โปรตีน
  • กรดยูริก (Uric acid)
  • แลกติกดีไฮโดรจีเนส (Lactic dehydrogenase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่เพิ่มขึ้น เมื่อเกิดการอักเสบ หรือเกิดความเสียหายของเนื้อเยื่อ)

นอกจากนี้การตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่ายังถูกใช้ในการตรวจผู้ป่วยที่มีอาการเข่าบวม หากพบว่า เกิดจากการที่มีน้ำเลี้ยงข้อเข่ามากเกินไป แพทย์จะทำการรักษาด้วยการเจาะดูดน้ำเลี้ยงข้อเข่าออก

การตรวจน้ำเลี้ยงข้อเข่านั้นเป็นหนึ่งในวิธีวินิจฉัยโรคข้ออักเสบที่ให้ผลลัพธ์แม่นยำ ปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ ในขณะที่การฉีดน้ำไขข้อเทียมเป็นวิธีการรักษาโรคข้อเสื่อมหลังจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและใช้ยารับประทานไม่ได้ผล

โรคข้อเข่าเสื่อม สามารถป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคได้ด้วยการควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน หมั่นออกกำลังกาย ยืดเหยียดกล้ามเนื้อรอบข้อเข่าเป็นประจำ

หลีกเลี่ยงการนั่งพับเพียบ หรือนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานานๆ หมั่นเปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆ และตรวจสุขภาพข้อเข่าเป็นประจำทุกปี


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

  • Amber Gabbey, Synovial Fluid Analysis (https://www.healthline.com/health/synovial-fluid-analysis#purpose), 2 May 2020.
  • นายแพทย์ ณัฐวุฒิ ชนะฤทธิชัย, โรคข้อเข่าเสื่อม (https://www.youtube.com/watch?v=qf3gpQfrdeo), 3 พฤษภาคม 2563.
  • แนวปฏิบัติการสาธารณสุข โรคข้อเข่าเสื่อม (https://www.chiangmaihealth.go.th/cmpho_web/document/160610146554495425.pdf), 18 พฤษภาคม 2563.
Scroll to Top