การตดบอกอะไร

การตดบอกอะไรได้บ้าง

การผายลม หรือ การตด อาจเป็นเรื่องน่าอายและดูน่าขบขัน แต่ความจริงแล้ว การตดเป็นเพียงกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกายในการขับไล่ลม หรือแก๊สผ่านลำไส้ใหญ่เท่านั้น

เพราะทุกครั้งที่คุณรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม หรือแม้กระทั่งในระหว่างที่พูดคุยกับผู้อื่น คุณจะกลืนอากาศเข้าไปด้วยโดยไม่รู้ตัว

การตดในชีวิตประจำวันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่หลายคนอาจข้องใจว่า แล้วตดบ่อยแค่ไหนถึงจะเรียกว่า ปกติ แล้วตดดังและเหม็นเป็นสัญญาณอันตรายเกี่ยวกับสุขภาพหรือไม่

ตดบ่อยแค่ไหนเรียกว่า “ปกติ”

โดยปกติผู้ที่มีร่างกายอุดมสมบูรณ์และแข็งแรงจะตดประมาณ 14-23 ครั้งต่อวัน ซึ่งเมื่อใช้เกณฑ์นี้เป็นตัววัดความเหมาะสม การตดมากกว่า 23 ครั้งภายใน 1 วันจึงถือว่า “ผิดปกติ”

ความผิดปกติที่ว่านี้อาจเกิดจากความผิดปกติบางอย่างภายในร่างกาย การรับประทานอาหาร หรือดื่มเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดแก๊สในร่างกายมากเกินไป เช่น

  • เนื้อสัตว์
  • ไข่
  • นม
  • ถั่ว
  • ชีส
  • กะหล่ำปลี
  • หัวหอม
  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • เครื่องดื่มที่อัดลม หรือแก๊ส
  • รำข้าว
  • สารให้ความหวานซอร์บิทอล (Sorbitol)

ดังนั้นเพื่อป้องกันภาวะและโรคที่เกี่ยวข้องกับการตด คุณจึงควรสังเกตจำนวนครั้งที่ตนเองตดในแต่ละวันบ้าง และตรวจว่าตนเองชอบรับประทานอาหารที่ทำให้ตดบ่อยหรือเปล่า

หากคุณตดบ่อยครั้งเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือรู้สึกว่า จำนวนครั้งการตดของตนเองผิดปกติไปจากเดิม ควรลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารเพื่อให้จำนวนแก๊สในร่างกายลดลง หรืออาจปรึกษานักโภชนาการ หรือแพทย์ว่า อาหารประเภทใดบ้างที่ไม่ทำให้ตดมากเกินไป

ภาวะ หรือความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับตด

การตดบ่อยเกินไปเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะสุขภาพภายในได้ โดยภาวะ หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับการตดมีดังต่อไปนี้

  • โรคมะเร็งลำไส้ (Colon Cancer)
  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
  • การทำงานผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร (Functional GI Disorders)
  • การแพ้อาหารที่มีส่วนประกอบของแลคโตส (Lactose) เช่น นมวัว โยเกิร์ต
  • ภาวะที่เกี่ยวของกับกระเพาะอาหาร เช่น อาหารเป็นพิษ (Food poisoning)
  • แผลในกระเพาะอาหาร (Peptic ulcer)
  • โรคเบาหวาน (Diabetes)
  • โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome: IBS)
  • โรคโครห์น (Crohn’s Disease)
  • โรคเซลิแอค (Celiac Disease) หรือโรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อโปรตีนกลูเตน
  • โรคลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)
  • โรคระบบทางเดินอาหารอักเสบ (Inflammatory Bowel Disease)
  • โรคกรดไหลย้อน (Gastroesophageal Reflux Disease)
  • โรคมะเร็งรังไข่ (Ovarian cancer)

ภาวะแทรกซ้อนเกี่ยวกับตด

ตดเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ไม่ได้ผิดปกติแต่อย่างใด แต่อย่างไรก็ตาม หากตดมากขึ้นผิดปกติ และมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วยดังต่อไปนี้ ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และหาทางรักษาโดยเร็วที่สุด

  • มีเลือดปนในอุจจาระ
  • มีภาวะกลั้นอุจจาระไม่ได้
  • น้ำหนักลดอย่างหาสาเหตุไม่ได้
  • ท้องเสีย
  • ท้องผูก
  • ท้องอืด
  • มีสัญญาณของการติดเชื้อ เช่น ไข้ขึ้นสูง อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ

ที่มาของเสียงและกลิ่นของตด

ตดที่มีเสียงดังนั้น เกิดมาจากแก๊สในร่างกายถูกขับออกมาด้วยแรงดันอากาศ หรือแรงเบ่งที่สูงมาก หรืออาจเกิดจากแก๊สที่แทรกตัวผ่านกล้ามเนื้อหูรูดของลำไส้ที่บีบตัวแน่น เสียงที่มาพร้อมกับตดจึงไม่ได้บ่งบอกถึงความผิดปกติใดๆ

ส่วนกลิ่นของตดจะขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทานเข้าไป ส่วนมากแล้วอาหารจำพวกโปรตีนจะก่อให้เกิดแก๊สที่มีกลิ่นเหม็นมาก เช่น เนื้อสัตว์ ไข่ ชีส และนม ถั่วชนิดต่างๆ อีกทั้งแก๊สเหล่านี้ยังต้องเดินทางผ่านลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของอาหารและกากอาหารที่ถูกย่อยสลายแล้วอีก

ดังนั้นการที่กลิ่นตดมีกลิ่นเหม็นจึงเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ถือว่าเป็นสัญญาณของความผิดปกติของสุขภาพแต่อย่างใด

วิธีป้องกันไม่ให้ตดมากเกินไป

หลายคนที่มีปัญหาตดบ่อยและไม่สามารถควบคุมได้คงอยากรู้ว่า มีวิธีแก้ปัญหาใดบ้างที่จะช่วยให้ตดน้อยลงได้ ซึ่งคุณอาจปฏิบัติตามเคล็ดลับต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงอาหารที่รู้ว่าจะทำให้ตดง่าย หากรู้ว่าอาหารอะไรที่ชอบรับประทานในชีวิตประจำวันแล้วทำให้ตดง่าย ให้ลองลดปริมาณการรับประทานอาหารเหล่านั้นให้น้อยลง
  • แบ่งมื้ออาหารย่อยในแต่ละวัน บางครั้งการรับประทานอาหารมื้อใหญ่มากเกินไปก็ทำให้ตดบ่อยขึ้นได้ ดังนั้นให้ลองแบ่งมื้ออาหารที่ต้องรับประทานให้แต่ละวันให้ถี่ขึ้นแต่ปริมาณน้อยลงดู แก๊สในลำไส้ใหญ่อาจน้อยลงและตดน้อยลงได้
  • บริโภคอาหารให้ช้าลง หลายคนมักจะเคี้ยวอาหารเร็วรวมถึงดื่มน้ำเร็วเกินไป ซึ่งวิธีการรับประทานแบบนี้จะเป็นการเพิ่มอากาศเข้าไปในร่างกายขณะกลืนอาหาร ดังนั้นการเคี้ยวอาหารให้ช้าลง ค่อยๆ ดื่มน้ำอย่างช้าๆและไม่รีบร้อนจนเกินไป จะสามารถทำให้คุณตดน้อยลงได้
  • หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทุกวัน วันละประมาณ 30 นาทีจะทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรง และปริมาณแก๊สในร่างกายก็จะอยู่ในปริมาณเหมาะสมด้วย
  • อย่ารับประทานอาหารที่มีไขมันสูง เพราะอาหารประเภทนี้จะทำให้การย่อยอาหารของกระเพาะอาหารช้าลง และทำให้เกิดปริมาณแก๊สมากเกินไป
  • รับประทานยาไซเมทิโคน (Simethicone) เพราะยากลุ่มนี้เป็นยาที่ถูกใช้เพื่อแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และช่วยขับแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ นอกจากนี้ยังช่วยลดอาการจุกเสียดจากแก๊สที่มีปริมาณมากเกินไปด้วย
  • หยุดสูบบุหรี่และเคี้ยวหมากฝรั่ง เพราะพฤติกรรม 2 อย่างนี้จะทำให้ร่างกายได้รับแก๊สส่วนเกินเข้ามาในทางเดินอาหารมากขึ้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มอัดลม เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำเกิดฟองแก๊สเพิ่มในทางเดินอาหาร

เรื่องผายลม หรือตด ไม่ใช่เรื่องตลก น่าขบขัน หรือชวนล้อเลียน แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ว่าใครในโลกนี้ก็ตดกันทั้งนั้น สิ่งสำคัญคือ ให้ลองหมั่นสังเกตตนเองดูว่า “คุณตดบ่อยเกินไป หรือไม่ หรือ “ตดมีกลิ่นเหม็นมาก หรือไม่” รวมทั้ง “มีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่”

เพราะหากตดบ่อยเกินไป หรือตดมีกลิ่นเหม็นมาก หรือมีภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ร่วมด้วย นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะผิดปกติบางอย่างในร่างกายก็เป็นได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top