น้ำมันปลา Fish Oil

น้ำมันปลา (Fish Oil) น้ำมันเพื่อสุขภาพ คุณประโยชน์ควรรู้

เมื่อพูดคำว่าน้ำมัน ใครหลาย ๆ คนก็คงอยากเลี่ยง เพราะนึกถึงแต่ไขมันในน้ำมัน ที่เป็นตัวการของโรคร้ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด หรือแม้แต่โรคมะเร็ง

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไขมันนั้นมีทั้งชนิดที่ดีและไม่ดี ซึ่งการกินไขมันดีอย่าง “น้ำมันปลา (Fish oil)” ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยกำจัดไขมันไม่ดีในร่างกาย และยังเป็นประโยชน์ต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ด้วย 

บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับน้ำมันปลา ว่าคืออะไร มีสรรพคุณอย่างไร กินแบบไหนให้ได้ผลดี ข้อควรระวัง รวมถึงคำถามที่พบบ่อย 

สารบัญ

น้ำมันปลาคืออะไร

น้ำมันปลา คือน้ำมันที่สกัดมาจากส่วนประกอบของปลา ไม่ว่าจะเป็นเนื้อปลา หัวปลา หนังปลา และหางปลา

ปลาที่จะนำมาสกัดเป็นน้ำมันได้นั้นต้องเป็นปลาทะเลน้ำลึก น้ำเย็น และตัวปลามีไขมันสูง เช่น ปลาค็อด ปลาแซลมอน ปลาแอนโชวี ปลาเฮร์ริง ปลาแมคเคอเรล ปลาทูน่า หรือปลาซาร์ดีน

ปัจจุบัน คนหันมากินน้ำมันปลากันมากขึ้น เนื่องจากน้ำมันปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น โอเมกา-3 (Omega-3) และโอเมกา-6 (Omega-6) 

ทั้งสองอย่างมีทั้งกรดไขมันอีพีเอ (Eicosapentaenoic acid: EPA) และกรดไขมันดีเอชเอ (Docosahexaenoic acid: DHA) มีประโยชน์มากมายต่อร่างกาย เช่น ช่วยบำรุงระบบประสาท หรือรักษาสิว 

น้ำมันปลาที่มีคุณภาพ ควรมีสัดส่วนของปริมาณกรดไขมันดีเอชเอต่อกรดไขมันอีพีเออยู่ที่ 1:2 หรือ 2:3

น้ำมันปลาทำงานอย่างไร?

ประโยชน์มากมายของน้ำมันปลามาจากกรดไขมันโอเมก้า-3 เป็นที่น่าสนใจว่าร่างกายมนุษย์ไม่สามารถผลิตไขมันประเภทนี้เองได้ และไม่สามารถกลั่นกรดโอเมก้า-3 จากกรดไขมันโอเมก้า-6 ได้ งานวิจัยมากมายได้ศึกษาเรื่องกรดไขมันอีพีเอและดีเอชเอ ซึ่งเป็นกรดโอเมก้า-3 ซึ่งทั้งสองชนิดมักรวมอยู่ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันปลา

กรดไขมันโอเมก้า-3 ช่วยลดความเจ็บปวดและอาการบวม น้ำมันปลาจึงใช้รักษาโรคสะเก็ดเงินหรือตาแห้งได้ โดยกรดไขมันเหล่านี้ยังป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากกับภาวะหัวใจบางประเภท

ประโยชน์ของน้ำมันปลา

1. รักษาภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง (Hypertriglyceridemia)

น้ำมันปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันอิสระจำพวกดีเอชเอและอีพีเอ เป็นไขมันดี ช่วยลดการสะสมของไขมันที่ไม่ดีในเลือด

ทางการแพทย์ได้นำน้ำมันปลามาทำเป็นยาควบคุมระดับไขมันในเลือด โดยใช้รักษาผู้ที่มีภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง 

ไตรกลีเซอไรด์คือไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง และได้จากการกินอาหารจำพวกเนย น้ำมัน หรือไขมันต่าง ๆ 

ถ้าร่างกายสะสมไตรกลีเซอไรด์มากเกินไป จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันได้

2. ช่วยให้สุขภาพกระดูกดีขึ้น

น้ำมันปลาไม่ได้มีแค่แคลเซียม วิตามินดี และแมกนีเซียม สารอาหารสำคัญที่ช่วยรักษาความหนาแน่นของกระดูก แต่ยังมีกรดไขมันโอเมกา-3 ชนิดดีเอชเอ ซึ่งจำเป็นต่อการเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรงด้วยเหมือนกัน 

ถ้ากินน้ำปลาในปริมาณที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้กระดูกแข็งแรงขึ้นได้ 

3. ช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อกระดูกอักเสบ

งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า กรดไขมันโอเมกา-3 ในน้ำมันปลา ช่วยบรรเทาอาการของโรคข้อกระดูกอักเสบได้อย่างมีนัยสำคัญ

โดยทดลองให้อาหารที่มีโอเมกา-3 สูงกับหนูตะเภาที่เป็นโรคข้อกระดูกอักเสบ พบว่าช่วยรักษาโรคได้ถึง 50% เมื่อเทียบกับหนูที่กินอาหารแบบปกติ 

4. ช่วยเสริมความจำและเพิ่มพลังให้สมอง

กรดไขมันดีเอชเอในน้ำมันปลาถือเป็นสารอาหารบำรุงสมองชั้นดี ช่วยให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านความจำ ด้านการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาท (Motor skill) รวมถึงระบบการมองเห็นของจอประสาทตา (Retina)

5. ช่วยรักษาสิว

กรดไขมันอีพีเอและกรดไขมันดีเอชเอที่พบในน้ำมันปลา มีส่วนช่วยในการผลิตสารพรอสตาแกลดิน (Prostaglandins) มีหน้าที่หลักในการรักษาฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

เพราะเมื่อมีการผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจนมากเกินไป จะทำให้ไขมันบนผิวสูงขึ้น ยิ่งทำให้เป็นสิวอุดตันได้ง่าย การกินน้ำมันปลาเข้าไปปรับระดับฮอร์โมนแอนโดรเจนก็จะช่วยลดสิวลงได้นั่นเอง 

6. ช่วยลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด

น้ำมันปลาอุดมไปด้วยกรดไขมันดี ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ อีกทั้งยังต้านการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น ทางการแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดกินน้ำมันปลาเป็นประจำ

7. ช่วยชะลอวัย

กรดไขมันโอเมกา-3 ในน้ำมันปลา ไม่ว่าจะเป็นกรดไขมันอีพีเอหรือกรดไขมันดีเอชเอ ล้วนมีส่วนช่วยในการต้านการอักเสบภายในร่างกาย ซึ่งการอักเสบในร่างกายนั้นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ร่างกายเสื่อมถอย น้ำมันปลาจึงมีสรรรพคุณในการช่วยชะลอวัยนั่นเอง

น้ำมันปลา กินอย่างไรให้ปลอดภัย

  • คนทั่วไป ควรกินปลาทะเลหรือน้ำมันปลาอย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ครั้ง
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรกินน้ำมันปลา 1,000 มิลลิกรัม/วัน
  • ผู้ป่วยที่ต้องการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ควรกินน้ำมันปลาวันละ 2,000–4,000 มิลลิกรัม
  • ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรกินน้ำมันปลาโดยไม่ปรึกษาหมอ 
  • น้ำมันปลาอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำได้ ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำ หรือกินยาลดความดัน ควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรก่อนใช้ยา

น้ำมันปลา กินเยอะเกินไป มีผลข้างเคียงหรือไม่ 

น้ำมันปลา กินได้ แต่ถ้ากินเยอะไป อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น 

  • คลื่นไส้ ปวดท้อง ท้องเสีย แก้ได้โดยการกินน้ำมันปลาหลังมื้ออาหาร และลองเริ่มกินแค่น้อย ๆ ก่อน 
  • เรอเป็นกลิ่นคาวปลา
  • มีรสฝาดในปาก
  • คนที่แพ้น้ำมันปลา อาจเกิดผื่นคัน อาหารไม่ย่อย
  • ถ้ากินติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ อาจทำให้มีกลิ่นคาวออกมาจากผิวหนัง
  • ถ้ากินน้ำมันปลามากเกินไป จะยิ่งทำให้ระดับวิตามินอีในร่างกายลดลง

การกินอาหารเสริม ไม่ว่าจะเป็นวิตามินหรือสมุนไพร ควรปรึกษาหมอหรือเภสัชกรก่อนทุกครั้ง เพื่อหาปริมาณที่เหมาะสมในการกิน หรือดูว่าจำเป็นต้องกินจริง ๆ หรือเปล่า เพราะการกินอาหารเสริมเยอะเกินไปอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดีได้ 

น้ำมันปลา และ น้ำมันตับปลา ต่างกันอย่างไร 

หลาย ๆ คนมักเข้าใจผิดว่า น้ำมันปลาเหมือนกับน้ำมันตับปลา และมีประโยชน์คล้าย ๆ กัน ซึ่งจริง ๆ แล้วทั้งสองสิ่งนี้มีสรรพคุณที่แตกต่างกัน

  • น้ำมันปลา จะอุดมไปด้วยกรดไขมันดีเอชเอและกรดไขมันอีพีเอ
  • น้ำมันตับปลา จะมีแต่วิตามินเอและวิตามินดี ไม่มีกรดไขมัน ผลลัพธ์ที่ได้จากการกินน้ำมันสองสิ่งอย่างนี้จึงแตกต่างกัน 

ถึงน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลาจะมีประโยชน์มากมาย แต่การทำความเข้าใจสรรพคุณและปริมาณที่ควรกินก็เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก ๆ เพื่อไม่ให้มีโทษหรือผลข้างเคียงต่อร่างกายตามมา และสิ่งที่สำคัญที่สุด ก็เพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์สูงสุดนั่นเอง  

ภาวะที่น้ำมันปลาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ไตรกลีเซอร์ไรด์สูง งานวิจัยส่วนมากพบว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและอาหารที่อุดมด้วยน้ำมันปลาสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ได้จริง ซึ่งในผู้ที่มีระดับไตรกลีเซอร์ไรด์สูง การกิน Fish oil ยิ่งได้ผล อีกทั้งปริมาณน้ำมันปลาที่บริโภคเข้าไปก็ส่งผลต่อการลดลงของไตรกลีเซอร์ไรด์เช่นกัน

ภาวะที่น้ำมันปลาอาจใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  • ป้องกันการอุดตันซ้ำหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือด งานวิจัยกล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถลดอัตราการอุดตันซ้ำของหลอดเลือดได้มากถึง 45 % เมื่อรับประทานก่อนเข้ารับการผ่าตัดขยายหลอดเลือดอย่างน้อย 3 สัปดาห์ และหลังจากผ่าตัด 1 เดือน แต่หากรับประทานก่อนผ่าตัด 2 เดือนจะได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร
  • แท้งบุตรในผู้หญิงที่มีภาวะภูมิคุ้มกันทำลายตนเองที่เรียกว่ากลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid syndrome) การรับประทานน้ำมันปลาอาจจะสามารถป้องกันการแท้งบุตรและเพิ่มอัตราการตั้งท้องสำเร็จของผู้หญิงที่เป็นโรคต้านฟอสโฟลิพิดได้
  • โรคสมาธิสั้นในเด็ก การรับประทานน้ำมันปลาจะเพิ่มสมาธิ การทำงานทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กโรคสมาธิสั้นที่มีอายุ 8-13 ปีได้ การศึกษาวิจัยอื่นพบว่า การรับประทานน้ำมันปลาที่ประกอบด้วยน้ำมันปลา และน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส สามารถเพิ่มการทำงานทางสมอง และพฤติกรรมของเด็กอายุ 7-12 ปีที่เป็นโรคสมาธิสั้นได้จริง
  • โรคอารมณ์สองขั้ว การรับประทานน้ำมันปลาร่วมกับการบำบัดรักษาโรคอารมณ์สองขั้วตามปกติสามารถบรรเทาอาการซึมเศร้า (Depression) แต่ไม่อาจบรรเทาอาการพลุ่งพล่าน (Mania) ในผู้ป่วยอารมณ์สองขั้วได้
  • น้ำหนักลดในผู้ป่วยมะเร็ง การรับประทานน้ำมันปลาปริมาณสูงอาจช่วยชะลอน้ำหนักที่หายไปในผู้ป่วยโรคมะเร็งบางราย การใช้น้ำมันปลาในปริมาณที่น้อยเกินจะไม่ส่งผลเช่นนี้ นักวิจัยบางท่านเชื่อว่าการชะลอการสูญเสียน้ำหนักในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งได้นั้นเกิดจากฤทธิ์ที่ช่วยลดอาการจากภาวะซึมเศร้าและช่วยปรับอารมณ์ของบรรดาผู้ป่วยให้ดีขึ้นนั่นเอง
  • โรคหัวใจ การรับประทานปลาจะช่วยให้หัวใจมีสุขภาพดี ปลอดจากโรคหัวใจ ผู้ที่เป็นโรคหัวใจเองก็สามารถลดความเสี่ยงต่างๆ จากโรคของตนได้ด้วยการรับประทานปลา แต่สำหรับการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลานั้นยังคงไม่ชัดเจน ผู้ที่รับประทานยาสำหรับโรคหัวใจอย่าง “สแตติน” และผู้ที่รับประทานปลาในปริมาณที่เพียงพออาจไม่ได้ผลจากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาก็เป็นได้
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery bypass surgery) ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาจะป้องกันไม่ให้ทางเบี่ยงหลอดเลือดตีบตันซ้ำ
  • ความดันโลหิตสูงจากยาไซโคลสปอริน (Cyclosporine) ยาไซโคลสปอรินใช้สำหรับลดความเสี่ยงการปฏิเสธอวัยวะใหม่ที่ต้องใช้หลังการปลูกถ่ายอวัยวะ การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาตัวนี้
  • ความเสียหายที่ไตจากการใช้ยาไซโคลสปอริน การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยป้องกันความเสียหายที่ไตจากการใช้ยาตัวนี้ น้ำมันปลายังช่วยเพิ่มกระบวนการทำงานของไตช่วงพักฟื้นของผู้ป่วยที่ร่างกายปฏิเสธอวัยวะปลูกถ่ายที่กำลังใช้ยาไซโคลสปอรินอีกด้วย
  • โรคความผิดปกติด้านพัฒนาการประสานงานของอวัยวะ (Developmental coordination disorder (DCD)) การรับประทานน้ำมันปลา (80 %) กับน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส (20 %) อาจช่วยเพิ่มความสามารถในการอ่าน สะกดคำ และพฤติกรรมของเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการประสานงานของอวัยวะที่มีอายุ 5-12 ปีได้ อย่างไรก็ตาม น้ำมันปลาอาจไม่ช่วยในเรื่องทักษะการเคลื่อนไหว
  • ปวดประจำเดือน (Dysmenorrhea) งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับวิตามินบี12 สามารถลดระยะเวลาเจ็บปวดและลดความจำเป็นในการใช้ยาแก้ปวดในช่วงปวดประจำเดือนของผู้หญิงได้
  • ภาวะผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวในเด็ก (Dyspraxia) การรับประทานน้ำมันปลาที่ประกอบด้วยน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส น้ำมันไทม์ และวิตามินอีก (Efalex, Efamol Ltd) อาจช่วยลดความผิดปกติด้านการเคลื่อนไหวในเด็กป่วย dyspraxia ได้
  • มะเร็งเยื่อบุมดลูก (Endometrial cancer) มีหลักฐานบางชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิงที่รับประทานไขมันปลาประมาณ 2 มื้อต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเยื่อบุมดลูกน้อยลง
  • หัวใจล้มเหลว งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าการบริโภคน้ำมันปลาในปริมาณมากทั้งจากอาหารและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
  • ปลูกถ่ายหัวใจ การรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยสงวนการทำงานของไตและลดความดันโลหิตระยะยาวหลังการปลูกถ่ายหัวใจ
  • คอเลสเตอรอลผิดปกติจากการรักษาผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS มีบางงานวิจัยที่กล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถลดไตรกลีเซอร์ไรด์ในผู้ที่มีระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติที่เกิดจากการรักษา HIV/AIDS ได้ อีกทั้งยังมีรายงานว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกลุ่มตัวอย่างนี้ได้ด้วย แม้ผลสรุปจะยังคงไม่สอดคล้องกันอยู่ก็ตาม
  • ความดันโลหิตสูง น้ำมันปลาสามารถลดความดันโลหิตในผู้ป่วยที่มีปัญหาความดันเลือดสูงได้เล็กน้อย และอาจมีส่วนช่วยเพียงเล็กน้อยก็เป็นได้ เพราะในกลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยที่มีปัญหาไม่สามารถควบคุมความดันได้ก็กำลังใช้ยาลดความดันโลหิตอยู่เช่นกัน
  • โรคไตประเภทที่เรียกว่า IgA nephropathy งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการใช้น้ำมันปลาในระยะยาวจะส่งผลดี โดยน้ำมันปลาสามารถชะลอการสูญเสียการทำงานของไตในคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูงที่เป็น IgA nephropathy น้ำมันปลาอาจส่งผลอย่างมากเมื่อรับประทานในปริมาณมาก อีกทั้งจะมีประสิทธิภาพมากที่สุดในกลุ่มผู้ป่วย IgA nephropathy ที่มีระดับโปรตีนในเลือดสูง
  • กระดูกพรุน (Osteoporosis) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียว หรือรับประทานร่วมกับแคลเซียมและน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรสสามารถชะลอการสูญเสียกระดูกและเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกต้นขา (Femur) และสันหลังของผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนได้ แต่การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ชะลอการสูญเสียกระดูกในผู้สูงอายุที่เป็นโรคข้อเสื่อมที่เข่า
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการให้น้ำมันปลาทางหลอดเลือดดำสามารถลดความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินได้ อีกทั้งหากนำน้ำมันปลาไปทาบนผิวหนังก็จะช่วยให้อาการของโรคนี้ดีขึ้น แต่การรับประทานไม่ได้ส่งผลต่อโรคนี้แต่อย่างใด
  • โรคจิต (Psychosis) งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันโรคจิตในวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุน้อยที่มีอาการไม่รุนแรงมากได้ โดยผลจากน้ำมันปลานี้ยังไม่ได้นำไปทดสอบกับผู้สูงอายุ
  • โรคเรย์เนาด์ (Raynaud’s syndrome) มีหลักฐานบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะช่วยให้ผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์มีความทนทานต่อหวัดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยโรคเรย์เนาด์ที่เกิดจากภาวะที่เรียกว่าโรคหนังแข็งแบบลุกลาม (Progressive systemic sclerosis) จะไม่ได้รับประโยชน์จากการรับประทานอาหารเสริมน้ำมันปลาเช่นนี้
  • คอเลสเตอรอลผิดปกติหลังจากการปลูกถ่ายไต งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับยาลดระดับคอเลสเตอรอลสามารถช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลของผู้มีปัญหาคอเลสเตอรอลผิดปกติหลังการปลูกถ่ายไตได้
  • โรคข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis: RA) การรับประทานน้ำมันปลาเพียงอย่างเดียว หรือร่วมกับยานาพรอกเซน (Naproxen (Naprosyn)) สามารถช่วยให้อาการจากข้อต่ออักเสบรูมาตอยด์ดีขึ้นได้ ผู้ที่รับประทานน้ำมันปลาจะมีอาการเจ็บปวดลดลงจนมีการใช้ยาแก้ปวดน้อยลง อีกทั้งการให้น้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดเองก็สามารถลดบวมและข้อแข็งในผู้ป่วยโรคนี้ได้อีกด้วย
  • โรคหลอดเลือดสมอง การบริโภคปลาในปริมาณที่พอเหมาะ (1 หรือ 2 ครั้งต่อสัปดาห์) จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองลง 27 % แต่หากเป็นการบริโภคในปริมาณที่สูงมาก (รับประทานปลามากกว่า 46 กรัมต่อวัน) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้อย่างมาก การรับประทานปลาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองในผู้ที่ต้องใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อป้องกันโรคนี้อยู่แล้ว

ภาวะที่น้ำมันปลาอาจไม่สามารถรักษาได้

  • เจ็บหน้าอก (Angina) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือเพิ่มสุขภาพหัวใจของผู้ที่มีปัญหาเจ็บหน้าอก อีกทั้งยังมีหลักฐานบางชิ้นที่กล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงการเสียชีวิตในกลุ่มผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกเกี่ยวกับโรคหัวใจ
  • หลอดเลือดแดงแข็งตัว (Atherosclerosis) งานวิจัยบางชิ้นพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอาจลดการลุกลามของ atherosclerosis ได้เล็กน้อย ส่วนงานวิจัยส่วนมากยังคงเชื่อว่าน้ำมันปลาไม่ได้ชะลอการลุกลามของโรคนี้หรือทำให้อาการดีขึ้นแต่อย่างใด
  • ผิวหนังหลุดสะเก็ดและคัน (Eczema) งานวิจัยพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการจากโรคผิวหนังดีขึ้น อีกทั้งงานวิจัยส่วนมากก็แสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาในช่วงตั้งครรภ์ไม่อาจป้องกันทารกจากโรคผิวหนังได้ แต่เด็กที่รับประทานปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงนี้ลดลง (เด็กอายุ 1-2 ปี)
  • หัวใจเต้นผิดปกติ (Atrial fibrillation) บางงานวิจัยกล่าวว่าผู้ที่รับประทานปลา 5 ครั้งขึ้นไปภายใน 1 สัปดาห์จะมีความเสี่ยงลดลงต่อภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ แต่งานวิจัยส่วนมากเชื่อว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาหรือไขมันปลาไม่ได้ลดความเสี่ยงนี้
  • ภาวะสมองผิดปกติเนื่องจากปัญหาการสูบฉีดเลือด (โรคหลอดเลือดสมองขาดเลือด (Cerebrovascular disease)) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานปลาจะลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองขาดเลือดได้ แต่งานวิจัยคุณภาพสูงกลับชี้แจงว่าน้ำมันปลาไม่ได้มีสรรพคุณเช่นนี้
  • ตับแข็ง (Cirrhosis) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ปัญหาตับดีขึ้น
  • เจ็บขาจากปัญหาการไหลเวียนเลือด (Claudication) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยเพิ่มระยะทางการเดินของผู้ป่วยที่มีปัญหาเจ็บขาจากการไหลเวียนโลหิตไม่ดี
  • การทำงานทางจิต งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานหรือบริโภคปลาที่มีปริมาณไขมันมากจะเพิ่มการทำงานทางจิตและลดภาวะทางจิตตกของผู้สูงวัย แต่หลักฐานส่วนมากยังไม่มีข้อมูลเรื่องการทำงานทางจิตในผู้สูงวัยหรือในผู้ใหญ่อายุน้อยหรือเด็ก
  • โรคเหงือก (Gingivitis) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการของโรคเหงือกอักเสบดีขึ้น
  • การติดเชื้อเอชโพโลไร (Helicobacter pylori (H.pylori)) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ภาวะติดเชื้อแบคทีเรียในกระเพาะอาหารหรือเชื้อเอชโพโลไรดีขึ้นแต่อย่างใด เมื่อนำไปเทียบกับการใช้ยาตามปกติ
  • ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS มีหลักฐานบางชิ้นที่พบว่าการรับประทานอาหารอัดแท่งที่ประกอบด้วยน้ำมันปลาไม่ได้เพิ่มจำนวนเซลล์ CD4 ในผู้ที่มีเชื้อเอชไอวี อีกทั้งการรับประทานน้ำมันปลาก็ไม่ได้ลดปริมาณเชื้อเอชไอวีในเลือดลงแต่อย่างใด
  • เจ็บเต้านม (Mastalgia) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ลดอาการเจ็บเต้านมระยะยาวแต่อย่างใด
  • ปวดศีรษะไมเกรน (Migraine headaches) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความรุนแรงหรือความถี่ของอาการปวดไมเกรนลง
  • ข้อเสื่อม (Osteoarthritis) การรับประทานน้ำมันปลาที่มีกลูโคซามีนซัลเฟต (Glucosamine sulfate) ไม่ได้ลดอาการจากโรคข้อเสื่อมเมื่อเทียบกับการใช้กลูโคซามีนซัลเฟตเพียงอย่างเดียว อีกทั้งการรับประทานน้ำมันปลาเองก็ไม่ได้เพิ่มความแข็งแรงของกระดูกในกลุ่มผู้ป่วยข้อเสื่อม
  • ปอดบวม (Pneumonia) งานวิจัยประชากรพบว่าไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างการบริโภคปลากับความเสี่ยงต่อการเกิดปอดบวม
  • ปลูกถ่ายไต งานวิจัยแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ผู้ป่วยที่เข้ารับการปลูกถ่ายไตมีชีวิตยืนยาวขึ้น อีกทั้งยังไม่ได้ช่วยป้องกันการปฏิเสธอวัยวะด้วย
  • ภาวะเลือดเป็นพิษ (Sepsis) งานวิจัยกล่าวว่าการฉีดน้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดไม่ได้เพิ่มอัตราการรอดชีวิตหรือลดการบาดเจ็บที่สมองในผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดเป็นพิษแต่อย่างใด
  • หัวใจเต้นจังหวะเร็วผิดปกติ (Ventricular arrhythmias) งานวิจัยประชากรพบว่าการรับประทานปลามากๆ ไม่มีผลต่อความเสี่ยงหัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ แต่งานวิจัยทางการแพทย์กลับเห็นแย้ง บ้างกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงนี้ แต่บ้างก็พบว่าการรับประทานน้ำมันปลานาน 11 เดือนจะชะลอการเกิดภาวะนี้ขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม โดยสรุปแล้ว น้ำมันปลาไม่ได้ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่มีปัญหาหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ

ภาวะที่น้ำมันปลาอาจจะไม่ได้ผล

  • เบาหวาน (Diabetes) การรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่อย่างใด น้ำมันปลาก็ยังมีประโยชน์อื่นต่อผู้ป่วยเบาหวาน อย่างลดระดับไขมันในเลือดที่เรียกว่าไตรกลีเซอร์ไรด์

ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐาน และยังไม่มีข้อสรุปว่าน้ำมันปลารักษาได้หรือไม่

  • ปัญหาสายตาที่เกี่ยวข้องกับอายุ มีหลักฐานว่าผู้ที่มีอายุมากขึ้นที่มีปัญหาทางสายตา หากรับประทานปลามากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์จะมีความเสี่ยงน้อยลงต่อปัญหาสายตา แต่งานวิจัยอื่นกลับพบว่าการรับประทานน้ำมันปลานาน 5 ปีไม่ได้ป้องกันปัญหานี้
  • ภูมิแพ้ตามฤดูกาล หรือไข้ละอองฟาง (Hay feverงานวิจัยกล่าวว่าแม่ที่รับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาระหว่างช่วงท้ายของการตั้งครรภ์อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้ในเด็กได้ แต่งานวิจัยอื่นแย้งว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดโอกาสเกิดภูมิแพ้ในเด็ก แม้มารดาจะรับประทานน้ำมันปลาระหว่างการตั้งครรภ์ก็ตาม
  • โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) มีหลักฐานที่กล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ อย่างไรก็ตาม ณ ตอนนี้สรุปได้ว่าน้ำมันปลาไม่อาจป้องกันการเสื่อมถอยของกระบวนการคิดของผู้ป่วยส่วนมากที่เคยถูกวินิจฉัยว่าเป็นอัลไซเมอร์
  • หอบหืด (Asthma) งานวิจัยกล่าวว่าน้ำมันปลาอาจช่วยรักษาหอบหืดได้แค่บางอาการ คือ ช่วยให้หายใจดีขึ้นและลดการใช้ยาบางตัวลง งานวิจัยชิ้นอื่นแสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาไม่ได้ลดความรุนแรงของหอบหืดในเด็ก แต่อาจช่วยป้องกันหอบหืดในเด็กเล็กหากแม่รับประทานน้ำมันปลาขณะตั้งครรภ์ แต่หากเป็นการรับประทานน้ำมันปลาขณะที่ต้องให้นมจะไม่ส่งผลใดๆ
  • ออทิสติก/ปัญญาอ่อน (Autism) การศึกษาขนาดเล็กชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยลดความตื่นตัวของเด็กพิเศษได้ แต่การศึกษานี้ยังมีจุดด้อยอยู่มาก ในขณะที่งานวิจัยอื่นกลับแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยลดความตื่นตัวของพวกเขา
  • มะเร็ง งานวิจัยในเรื่องผลกระทบของน้ำมันปลากับการป้องกันมะเร็งมีผลสรุปที่ขัดแย้งกัน บ้างก็กล่าวว่าการรับประทานปลาหรือการมีระดับโอเมก้า-3 ในเลือดที่สูงช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งช่องปาก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่งานวิจัยชิ้นอื่นกลับกล่าวว่าการรับประทานปลาไม่ได้ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็งแต่อย่างใด
  • ต้อกระจก (Cataracts) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานปลา 3 ครั้งต่อสัปดาห์สามารถลดความเสี่ยงต่อต้อกระจกได้เล็กน้อย
  • กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome: CFS) มีหลักฐานที่ขัดแย้งกันในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันปลากับน้ำมันอิฟนิ่งพริมโรส (Efamol Marine) ในการลดอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง
  • โรคไตเรื้อรัง มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าน้ำมันปลาอาจมีส่วนช่วยผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เข้ารับการฟอกไต แต่ยังไม่ชัดเจนว่าน้ำมันปลาจะช่วยผู้ที่การทำงานของไตย่ำแย่ได้
  • คอเลสเตอรอลผิดปกติจากการใช้ยาโคลซาปีน (Clozapine) โคลซาปีนเป็นยาที่ใช้รักษาจิตเภท (Schizophrenia) โดยมีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาจะลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ แต่เพิ่มระดับคอเลสเตอรอลรวมและคอเลสเตอรอลลิโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (Low-density lipoprotein (LDL) ในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติจากการใช้ยาโคลซาปีน
  • ภาวะสมองบกพร่อง (Cognitive impairment) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 12 เดือนอาจช่วยเพิ่มการทำงานในส่วนความจำของผู้ที่มีการทำงานของสมองน้อยผิดปกติได้
  • มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colorectal cancer) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาระหว่างการทำเคมีบำบัดอาจชะลอการลุกลามของเนื้อร้ายในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
  • โรคโครห์น (Crohn’s disease) งานวิจัยเรื่องผลกระทบของน้ำมันปลากับโรคโครห์นยังคงขัดแย้งกันเอง บ้างพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปลาบางชนิด (Purepa, Tillotts Pharma) สามารถลดการเกิดอาการของโรคโครห์นซ้ำได้ แต่งานวิจัยอื่นกลับไม่พบว่าน้ำมันปลามีประโยชน์เช่นนี้
  • โรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic fibrosis) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถเพิ่มการทำงานของปอดของผู้ป่วยโรคซิสติกไฟโบรซิสได้ อย่างไรก็ตาม หากเป็นการให้น้ำมันปลาเข้าเส้นเลือดนั้นกลับพบว่าไม่ได้มีประโยชน์เช่นนี้
  • สูญเสียความทรงจำ (Dementia) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานปลาอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ สามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ แต่งานวิจัยชิ้นอื่นกลับแย้งว่าไม่มีความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคปลากับความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมแต่อย่างใด
  • ภาวะซึมเศร้า (Depression) ยังคงมีหลักฐานเรื่องผลกระทบของการรับประทานน้ำมันปลารักษาโรคซึมเศร้าที่ไม่สอดคล้องกันอยู่ บ้างพบว่าน้ำมันปลาร่วมกับยาต้านซึมเศร้าสามารถลดอาการของโรคได้ในบางคน แต่งานวิจัยชิ้นอื่นพบว่าน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้อาการซึมเศร้าดีขึ้นแต่อย่างใด กระนั้นความขัดแย้งของการศึกษานี้อาจเป็นผลมาจากปริมาณ EPA และ DHA ในผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือจากความรุนแรงของภาวะซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างก่อนเข้ารับการรักษาก็เป็นได้
  • ความเสียหายที่ไตในผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic nephropathy) มีหลักฐานกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาไม่ได้ช่วยให้ไตของผู้ป่วยเบาหวานทำงานดีขึ้น
  • ความเสียหายที่ตาของผู้ป่วยเบาหวาน (Diabetic retinopathy) การบริโภคน้ำมันปลาปริมาณสูงเชื่อมโยงกับความเสี่ยงต่อความเสียหายที่ดวงตาผู้ป่วยเบาหวานที่น้อยลง
  • ตาแห้ง มีรายงานว่าผู้หญิงที่บริโภคน้ำมันปลาจากอาหารสูงเกี่ยวโยงกับความเสี่ยงต่อภาวะตาแห้งที่น้อยลง แต่ผลกระทบในเรื่องของการใช้น้ำมันปลากับตาแห้งยังคงนับว่าไม่สอดคล้องกันอยู่ บ้างพบว่าน้ำมันปลาสามารถลดอาการจากตาแห้งอย่างเจ็บตา การมองเห็นไม่ชัดเจน และตาอ่อนไหวมากขึ้นได้ แต่น้ำมันปลาก็ไม่ได้ช่วยให้สัญญาณหรืออาการอื่นๆ ดีขึ้น อย่างเช่นการผลิตน้ำตาและความเสียหายที่พื้นผิวของดวงตา การรับประทานน้ำมันปลายังไม่ได้ช่วยให้อาการตาแห้งดีขึ้นเมื่อกำลังใช้การรักษาตาแห้งวิธีอื่นอยู่
  • ระดับคอเลสเตอรอลหรือไขมันในเลือดผิดปกติ (Dyslipidemia) หลักฐานเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้น้ำมันปลากับเรื่องระดับไขมันและคอเลสเตอรอลยังขัดแย้งกันเองอยู่ บางงานวิจัยบอกว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดคอเลสเตอรอลไลโพโปรตีนความหนาแน่นต่ำ (LDL) และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลไลโพโปรตีนความหนาแน่นสูง (HDL) ในผู้ที่มีปัญหาระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติได้ ในขณะที่งานวิจัยอื่นไม่พบว่าน้ำมันปลามีสรรพคุณดังกล่าว
  • โรคไตชนิดลุกลาม (ไตวายระยะสุดท้าย) มีหลักฐานที่กล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถลดการอักเสบในผู้ที่เป็นโรคไตชนิดลุกลามได้
  • โรคลมชัก (Epilepsy) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานกรดไขมันโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลาทุกวันนาน 10 สัปดาห์จะลดอาการชักในผู้ที่มีปัญหาลมชักที่ดื้อยาได้
  • ปวดกล้ามเนื้อเนื่องจากออกกำลังกาย งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 1-6 เดือนทั้งก่อนและระหว่างออกกำลังกายไม่อาจป้องกันอาการปวดกล้ามเนื้อที่ข้อศอกหรือเข่าได้ แต่งานวิจัยอื่นๆ กล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดอาการปวดจากการออกกำลังกายได้
  • ป้องกันการอุดตันของทางเบี่ยง (Grafts) ที่ใช้ในการฟอกไต การรับประทานน้ำมันปลาอาจช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดขึ้นในท่อไตเทียมหรือทางเบี่ยง อีกทั้งยังช่วยให้ใช้การได้นานขึ้น แต่จำเป็นต้องมีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณของน้ำมันปลาที่เหมาะสมในการใช้ต่อไป
  • ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน (Prediabetes) งานวิจัยกล่าวว่าน้ำมันปลาสามารถป้องกันการพัฒนาจากภาวะก่อนโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
  • พัฒนาการของทารก มีหลักฐานที่กล่าวว่ามารดาที่รับประทานปลาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งเสริมพัฒนาการด้านสมองของเด็กได้ แต่หากรับประทานขณะให้นมบุตรจะไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การรับประทานน้ำมันปลาในระหว่างตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรอาจช่วยพัฒนาในการมองเห็นของเด็กและลดความเสี่ยงในการเกิดอาการแพ้ต่างๆ
  • โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) การรับประทานผลิตภัณฑ์น้ำมันปลา (MaxEPA) ไม่ได้ลดระยะเวลา ความถี่ หรือความรุนแรงของการเกิดอาการจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาทุกวันนาน 90-150 วันร่วมกับออกกำลังกายแบบต้าน (Resistance strength training) 90 วันอาจเพิ่มการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อและความแข็งแรงให้กับผู้หญิงอายุมากที่มีสุขภาพดีได้
  • ลดน้ำหนัก งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการรับประทานปลาจะเพิ่มอัตราการลดน้ำหนักและลดระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ที่มีน้ำหนักร่างกายมากที่มีความดันโลหิตสูง อีกทั้งยังพบว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลา (Hi-DHA, NuMega) จะลดไขมันร่างกายลงเมื่อรับประทานร่วมกับการออกกำลังกาย แต่หลักฐานอื่นๆ กล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารน้ำมันปลาอีกชนิด (Lovaza) ไม่ได้ช่วยผู้ที่มีน้ำหนักมากในการลดน้ำหนักแต่อย่างใด
  • ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการให้สารอาหารอย่างน้ำมันปลาทางเส้นเลือด จะช่วยการบำบัดทดแทนไตของผู้ป่วยที่มีภาวะตับอ่อนอักเสบรุนแรงได้
  • โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria (PKU)) มีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากน้ำมันปลาจะเพิ่มความสามารถในการเคลื่อนไหว การประสานงาน และการมองเห็นของเด็กที่ป่วยเป็นโรคทางพันธุกรรมหายากที่เรียกว่าฟีนิลคีโตนูเรียได้
  • ภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรง (Post-traumatic stress disorder (PTSD)) มีงานวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ประกอบด้วยโอเมก้า-3 จากน้ำมันปลากับเรื่องการให้สุขภาพจิตศึกษา (Psychoeducation) ไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อผู้ประสบภาวะทางจิตจากเหตุการณ์รุนแรงได้แต่อย่างใด
  • ภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ มีหลักฐานที่กล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาหรือรับประทานอาหารทะเลระหว่างตั้งครรภ์สามารถป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้ อย่างไรก็ตาม น้ำมันปลาไม่อาจช่วยป้องกันภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างมีครรภ์ได้
  • เด็กที่คลอดก่อนกำหนด (Prematurity) นมเด็กที่ผสมกับกรดไขมันจากน้ำมันปลาและน้ำมันโบราจ (Borage oil) อาจช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตและพัฒนาการด้านระบบประสาทของทารกที่คลอดก่อนกำหนดได้ โดยเฉพาะกับทารกเพศชาย
  • แผลกดทับ (Pressure ulcers) งานวิจัยกล่าวว่าการเสริมอาหารผู้ป่วยติดเตียงด้วยน้ำมันปลาแบบป้อนทางสายอาหารเป็นเวลา 28 วันอาจชะลอการเกิดแผลกดทับได้
  • ภาวะแพ้ซาลิไซเลต (Salicylate intolerance) งานวิจัยบางชิ้นกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาอาจทำให้อาการจากภาวะแพ้ซาลิไซเลต อย่างเช่นหอบหืดและคันดีขึ้นได้
  • จิตเภท (Schizophrenia) มีรายงานว่าน้ำมันปลาสามารถบรรเทาอาการของจิตเภทในหญิงตั้งครรภ์ได้ แต่งานวิจัยชิ้นอื่นๆ กลับกล่าวว่า น้ำมันปลาที่มีสารเคมีที่เรียกว่ากรดอัลฟาไลโปอิก (Alpha-lipoic) ไม่อาจลดอาการจิตเภทได้
  • โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคีย (Sickle cell disease) งานวิจัยกล่าวว่าการรับประทานน้ำมันปลาสามารถลดความเจ็บปวดที่เกิดกับผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียวได้
  • โรคแพ้ภูมิตัวเอง (Systemic lupus erythematosus (SLE)) การศึกษาหนึ่งพบว่าน้ำมันปลาสามารถช่วยให้อาการจากโรคแพ้ภูมิตัวเองดีขึ้น ในขณะที่การศึกษาอื่นยังไม่พบผลใดๆ จากการใช้น้ำมันปลากับโรคนี้
  • โรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล (Ulcerative colitis) งานวิจัยเรื่องผลกระทบของน้ำมันปลากับการรักษาโรคลำไส้ใหญ่ชนิดเป็นแผลยังคงมีผลการศึกษาที่ขัดแย้งกันอยู่

ข้อควรระวังในการกินน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลา

น้ำมันปลามีสรรพคุณในการต้านการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด และทำให้เลือดหยุดไหลช้า

กลุ่มคนต่อไปนี้ต้องระมัดระวังการกินน้ำมันปลาและน้ำมันตับปลามากเป็นพิเศษ

  • ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดบาดแผล เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร
  • ผู้ที่กินยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) หรือวอร์ฟาริน (Warfarin) ควรระมัดระวังในการกินยา

นอกจากนี้ คนที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดกินน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาอย่างน้อย 14 วัน และต้องแจ้งหมอผู้ผ่าตัดด้วยว่ากำลังกินน้ำมันปลาหรือน้ำมันตับปลาอยู่

น้ำมันปลากับผู้หญิง

ผู้หญิงสามารถรับประทานน้ำมันปลาเพื่อป้องกันอาการปวดประจำเดือน ปวดเต้านม และภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ เช่น การแท้งบุตร (รวมไปถึงภาวะที่เรียกว่ากลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด (Antiphospholipid syndrome)) ความดันโลหิตสูงในช่วงอายุครรภ์มาก คลอดก่อนกำหนด ทารกเจริญเติบโตช้า และกระตุ้นการเจริญเติบโตของทารก

น้ำมันปลากับการลดน้ำหนัก และออกกำลังกาย

การรับประทานน้ำมันปลาสำหรับลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย และเสริมความแข็งแรงกล้ามเนื้อก็สามารถทำได้ หรือแม้แต่ลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกาย มะเร็ง ปอดบวม (Pneumonia) โรคปอด ภูมิแพ้ตามฤดูกาลหรือไข้ละอองฟาง (Hay Fever) กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome) และเพื่อป้องกันหลอดเลือดกลับไปตีบแคบหลังการผ่าตัดขยายหลอดเลือดได้ด้วย


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับน้ำมันปลา

น้ำมันปลา ควรกินตอนไหน

ควรกินวันละ 1–2 ครั้ง พร้อมอาหารหรือหลังอาหาร เพื่อให้ร่างกายดูดซึมกรดไขมันโอเมกา 3 ได้ดียิ่งขึ้น โดยจะกินเวลาไหนก็ได้

ในหนึ่งวัน กินน้ำมันปลาเท่าไรดี   

สำหรับผู้ใหญ่ ไม่ควรกินน้ำมันปลาเกินวันละ 3,000 มิลลิกรัม หรือ 3 กรัมต่อวัน ถ้ากินเป็นแบบเม็ดละ 1,000 มิลลิกรัม ก็กินได้วันละ 3 เม็ด

ถ้าจะกินเพื่อลดไตรกลีเซอร์ไรด์ ลดความดันโลหิต ลดการอักเสบ หรือลดสิว อาจกินวันละ 3,000–4,000 มิลลิกรัม แต่ไม่ควรเกิน 5,000 มิลลิกรัม ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพิ่มปริมาณ ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้ทานยาชนิดอื่นที่ได้ผลดีกว่าแทน 

สำหรับการกินเพื่อเสริมสุขภาพทั่ว ๆ ไป ควรกินแค่ 1,000–2,000 มิลลิกรัมก็พอ โดยขึ้นอยู่กับอายุ โรคประจำตัว รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ด้วย 

ถ้ามีข้อสงสัย ควรปรึกษาหมอประจำตัวหรือเภสัชกรที่ร้านขายยาใกล้บ้าน

น้ำมันปลา ไม่ควรกินกับอะไร 

  1. ยาต้านการแข็งตัวของเลือด 
  2. ยาควบคุมความดันโลหิต
  3. ยาเสริมสมรรถภาพทางเพศ
  4. น้ำมันตับปลา
  5. พืชสมุนไพรบางชนิด เช่น กระเทียม โสม ขิง

ในกรณีของยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยาควบคุมความดันโลหิต ถึงจะไม่เห็นผลเสียหรืออาการผิดปกติอย่างชัดเจน แต่การกินน้ำมันปลากับยาเหล่านี้ก็อาจทำให้ตัวยาทำงานได้ไม่เต็มที่

หากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาเภสัชกร สอบถามถึงยาประจำตัวที่ใช้

น้ำมันปลา กินต่อเนื่องนาน ๆ ได้ไหม 

โดยปกติแล้ว ถ้าไม่มีอาการแพ้ใด ๆ ก็กินต่อเนื่องได้ทุกวัน

ทั้งนี้ ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานและมีแหล่งที่มาในการผลิตชัดเจน เพื่อเลี่ยงสารปนเปื้อนที่เกินระดับมาตรฐาน 

การกินน้ำมันปลา ควรปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านหรือคุณหมอเสมอ เพื่อให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วคุณจำเป็นต้องกินน้ำมันปลาจริง ๆ ไหม ถ้ากิน ควรกินเท่าไร 

อย่าลืมศึกษาคุณประโยชน์ ข้อควรระวัง และผลข้างเคียงของยาให้ดี ๆ กันด้วยนะ 

อ่านบทความความรู้สุขภาพแบบรอบด้านได้ที่ HDBlog


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล และ ทีมแพทย์ HD


ที่มาของข้อมูล

  • เภสัชกรศุภทัต ชุมนุมวัฒน์, ตอบปัญหาเรื่องยาโดยเภสัชกรหน่วยคลังข้อมูลยา “น้ำมันปลากับน้ำมันตับปลา แตกต่างกันอย่างไร เเละให้ประโยชน์อย่างไรบ้าง” (https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/dic/qa_full.php?id=1998), 8 มีนาคม 2563.), 16 เมษายน 2553.
  • Siscovick DS, Barringer TA, Fretts AM, et al. Omega-3 Polyunsaturated Fatty Acid (Fish Oil) Supplementation and the Prevention of Clinical Cardiovascular Disease: A Science Advisory From the American Heart Association. Circulation. 2017;135(15):e867-e884. doi:10.1161/CIR.0000000000000482.
  • ผศ.ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นิธิยา รัตนาปนนท์, น้ำมันปลา (Fish oil) (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/6582/fish-oil-น้ำมันปลา), 6 มีนาคม 2563.
Scroll to Top