blood test screening process

รวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับการตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคพื้นฐาน แบ่งย่อยได้เป็นหลายประเภทตามแพทย์สั่งตรวจ เช่น ตรวจการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ค้นหาสาเหตุของโรคหรืออาการผิดปกติ ติดตามผลการรักษา หรือผลของการใช้ยา 

การตรวจเลือดแต่ละประเภทมีอะไรบ้าง ก่อนตรวจเลือดต้องเตรียมตัวอย่างไร และอีกหลายเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับการตรวจเลือด จะมีอะไรอีกบ้าง ไปอ่านกัน

การตรวจเลือด คืออะไร 

การตรวจเลือด (Blood test) หรือตรวจแล็บ (Laboratory investigation หรือ Lab test) จะเจาะเอาเลือดจากเส้นเลือดดำบริเวณแขน หลังมือ ปลายนิ้ว หรือบริเวณอื่น ๆ ออกมาจำนวนหนึ่ง แล้วนำเลือดไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อวิเคราะห์หาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพ และวินิจฉัยโรคพื้นฐาน

จุดประสงค์ของการตรวจเลือด

การตรวจเลือดมีจุดประสงค์หลัก ๆ อยู่ 3 อย่าง คือ  

  • ตรวจสุขภาพร่างกายพื้นฐาน การตรวจเลือดสามารถช่วยตรวจดูสุขภาพร่างกายโดยรวม ตรวจดูการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ อย่างตับ ไต และหัวใจ และค้นหาความเสี่ยงในการเกิดโรค การตรวจเลือดเลยมักจะเป็นการตรวจรายการหนึ่งในการตรวจสุขภาพประจำปี
  • วินิจฉัยโรค การตรวจเลือดสามารถช่วยวินิจฉัยโรคหรือความผิดปกติต่าง ๆ เบื้องต้น เช่น โรคติดเชื้อ โรคเรื้อรัง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง โรคมะเร็ง เป็นต้น
  • ติดตามผลการรักษา กรณีที่เป็นโรคเรื้อรัง การตรวจเลือดจะช่วยให้แพทย์สามารถติดตามผลการรักษาของโรค อย่างโรคเบาหวานหรือโรคติดเชื้อบางชนิด รวมไปถึงติดตามผลของยาที่ใช้ในการรักษาโรคนั้น ๆ   

ประเภทของการตรวจเลือดที่พบบ่อย

การตรวจเลือดที่นิยมตรวจกันมีอยู่หลายประเภท ได้แก่ 

การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count: CBC)

เป็นการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด คือ เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด  โดยจะดูทั้งปริมาณและลักษณะ ค่านี้จะช่วยบอกได้ว่าระบบเลือดมีความผิดปกติหรือไม่ 

โดยช่วยในการวินิจฉัยโรคและความผิดปกติเบื้องต้น เช่น โรคโลหิตจาง โรคติดเชื้อ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเลือดที่เกิดจากพันธุกรรม ภาวะขาดสารอาหาร รวมถึงเป็นรายการตรวจหนึ่งในการตรวจสุขภาพพื้นฐาน 

การตรวจสารเคมีในเลือด (Basic metabolic panel: BMP)

เป็นการตรวจระดับสารเคมีต่าง ๆ ในเลือดที่ตรวจได้จากพลาสมา ระดับสารเคมีเหล่านี้จะบ่งบอกถึงสภาพการทำงานโดยรวมของร่างกาย และช่วยหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยเบื้องต้น เช่น โรคเบาหวาน โรคไต  ภาวะไม่สมดุลของระดับเกลือแร่ในร่างกาย 

ตัวอย่างการตรวจสารเคมีในเลือด เช่น

  • การตรวจกลูโคสหรือน้ำตาลในเลือด เพื่อคัดกรองโรคเบาหวาน 
  • การตรวจระดับแคลเซียมในเลือด หากค่าผิดปกติอาจบ่งบอกถึงภาวะแคลเซียมในเลือดผิดปกติ มักพบในผู้ป่วยโรคไต วัณโรค และโรคมะเร็งที่แพร่กระจายไปที่กระดูก
  • การตรวจระดับไนโตรเจนในเลือด (Blood Urea Nitrogen: BUN) เป็นค่าของเสียจากการเผาผลาญโปรตีน หากค่าที่ได้สูงมากไปอาจบอกถึงการทำงานของไตผิดปกติ
  • การตรวจระดับครีเอตินิน (Creatinine) เป็นค่าที่บ่งบอกถึงการทำงานของไต หากไตยังทำงานดีจะมีการกำจัดครีอะตินีนทิ้งออกทางปัสสาวะ และคงเหลือไว้ในเลือดเพียงเล็กน้อย 
  • การตรวจระดับคลอไรด์ เพื่อดูความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย 

การตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid panel)

เป็นการตรวจระดับไขมันชนิดต่าง ๆ ในเลือด เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยชนิดของไขมันสำคัญที่ควรรู้มี 4 ตัว 

  • คอเรสเตอรอลรวม 
  • คอเรสเตอรอลชนิดเลวหรือ LDL (Low Density Lipoprotein) 
  • คอเรสเตอรอลชนิดดีหรือ HDL (High Density Lipoprotein)
  • ไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides)   

การตรวจหาลิ่มเลือด (Coagulation Panel)

เป็นการตรวจดูโปรตีนในเลือดที่มีผลต่อกระบวนการแข็งตัวของเลือด และระยะเวลาในการแข็งตัวของเลือด เพื่อตรวจหาสาเหตุของเลือดออกง่าย หรือภาวะที่มีการเกิดลิ่มเลือดง่ายกว่าปกติ 

การตรวจฮอร์โมนไทรอยด์ (Thyroid function test)

เป็นการตรวจดูการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยวัดระดับฮอร์โมนไทรอยด์ 3 ชนิด คือ

  • ฮอร์โมน T3 (Triiodothyronine) และ T4 (Thyroxine) จะทำงานร่วมกัน เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไทรอยด์ โดยจะควบคุมการเผาผลาญของร่างกาย กระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย
  • ฮอร์โมน TSH (Thyroid-stimulating hormone) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมใต้สมอง ทำหน้าที่กระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมน T3 และ T4 เพื่อใช้ในการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย โดยค่า TSH ที่สูงขึ้นจะบ่งบอกถึงการทำงานของต่อมไทรอยด์ผิดปกติ

ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดสูงหรือต่ำเกินไปจะบอกได้ถึงภาวะผิดปกติหลายอย่าง เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ไทรอยด์ทำงานต่ำ ภาวะขาดโปรตีน ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) หรือเทสโทสเตอโรนต่ำ (Testosterone)

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการในระยะแรก ทำให้ยากต่อการสังเกต

การตรวจเลือดเลยเป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้หลายโรค เช่น เชื้อเอชไอวี (HIV) เชื้อซิฟิลิส (Syphilis) เริม (Herpes) เชื้อไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) และเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) โดยส่วนมากจะตรวจควบคู่กับการตรวจปัสสาวะ 

มีความเสี่ยง แต่เขินอายไม่กล้าไปตรวจ บอกแอดมินของ HDmall จองให้ได้นะ แอดไลน์เลย หรืออยากดูโปรตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก่อน เลือกโรงพยาบาล และคลินิก คลิกที่นี่ 

การเตรียมตัวก่อนตรวจเลือด 

ก่อนการตรวจเลือดไม่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นพิเศษ เพราะแพทย์ต้องการตรวจดูว่าตัวอย่างเลือดมีความผิดปกติหรือไม่

วันที่ไปตรวจเลือดควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือด

ก่อนวันตรวจควรนอนพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ คนที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังรับประทานยาใดอยู่ ควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้า เพราะอาจต้องหยุดรับประทานยาบางชนิด  

การตรวจเลือดบางประเภทจะต้องงดน้ำและอาหารทุกชนิด ยกเว้นน้ำเปล่า ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่นัดตรวจเลือด หรืออย่างน้อย 8-12 ชั่วโมง เพราะสารต่าง ๆ จากการน้ำและอาหารจะทำให้ค่าในเลือดสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริง ส่งผลให้ผลการตรวจคาดเคลื่อนได้ 

ขั้นตอนการตรวจเลือด

แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ในเบื้องต้นก่อนการสั่งตรวจเลือด เพื่อเป็นข้อมูลในการประเมินผลหลังจากได้ผลตรวจเลือด

การเจาะเลือดมาตรวจใช้เวลาไม่นาน หรือประมาณ 10 นาที โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. ผู้เข้ารับการตรวจจะนั่งบนเก้าอี้หรือนอนบนเตียง
  2. เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณที่จะเจาะเลือดด้วยสำลีชุบแอลกอฮอล์
  3. ใช้เข็มเจาะเข้าในเส้นเลือดบริเวณที่ต้องการ นำเลือดออกมาจำนวนหนึ่ง และเก็บเลือดใส่หลอดเลือดที่เตรียมไว้ 
  4. เมื่อได้เลือดในปริมาณที่ต้องการแล้ว เจ้าหน้าที่จะถอนเข็มเจาะเลือดออก 
  5. ทำความสะอาดบริเวณที่เจาะเลือดอีกครั้ง และปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ หรืออาจใช้สำลีปิดบริเวณรอยเจาะแล้วให้กดสำลีเอาไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้เลือดหยุดไหล หรือหากเจาะเลือดที่แขนสามารถใช้แขนหนีบสำลีเอาไว้ได้

ระยะเวลาในการรอผลตรวจเลือด

หลังการตรวจเลือดสามารถกลับบ้านได้เลย และทำกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามปกติ ผลตรวจเลือดมักจะออกภายใน 1-2 วันหลังการตรวจ หรืออาจนานเป็นสัปดาห์ ขึ้นอยู่กับประเภทของการตรวจเลือด และเงื่อนไขของแต่ละสถานพยาบาล 

โดยแพทย์จะนัดหมายเพื่อแจ้งผลเลือดและอธิบายผลการตรวจอีกครั้ง แต่บางกรณีอาจรับผลเลือดได้ภายในวันที่ตรวจเลือดเลย 

ผลข้างเคียงของการตรวจเลือด

การตรวจเลือดเป็นการเจาะเอาตัวอย่างเลือดไปเล็กน้อย ค่อนข้างปลอดภัย และพบผลข้างเคียงรุนแรงได้น้อยมาก 

หลังการเจาะเลือดอาจมีอาการคัน ปวด บวม แดง ฟกช้ำเล็กน้อยบริเวณที่เจาะเลือด แต่อาการจะดีขึ้นและหายได้เอง แต่หากมีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ หรืออาการอื่น ๆ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที 

การตรวจเลือดเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ใช้บ่อย ทำได้ง่าย และรวดเร็ว แต่ผลการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวไม่สามารถยืนยันความผิดปกติหรือโรคบางโรคได้ เพราะมีหลายปัจจัยกระทบต่อผลการตรวจเลือด และอาจต้องมีการตรวจเลือดซ้ำ หรือตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่น  

ตรวจเลือดเช็กได้หลายอย่าง! หาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ พร้อมเปรียบเทียบราคาจาก รพ. และคลินิกชั้นนำ ผ่าน HDmall.co.th เลือกตรวจได้ตามความต้องการ และความเสี่ยง หรืออยากปรึกษาคุณหมอเพิ่มเติม ก็มีครบ คลิกเลย มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามแอดมินได้ที่ไลน์ทุกวัน ทักแช็ต  

Scroll to Top