เป็นนิ้วล็อคเพราะขาดวิตามิน เป็นแล้วเป็นเลยถาวรตลอดชีวิต ไม่มีทางหายขาด หรือเป็นแล้วทำท่ากำลูกบอลแบบในทีวีก็หายได้เหมือนกัน ข้อเท็จจริงเหล่านี้ถูกต้องแล้วจริงหรือ?
มาไขข้อข้องใจและสิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับอาการนิ้วล็อค ปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อที่มือซึ่งพบได้บ่อยในผู้คนแทบทุกสายอาชีพ
ใช้งานนิ้วหนักไป รู้หรือไม่ว่าเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อค นิ้วล็อคคืออะไร? อ่านต่อได้ในบทความนี้ คลิกอ่านเลย
สารบัญ
- 1. เมื่อเกิดอาการนิ้วล็อค ควรทำอย่างไร?
- 2. โรคนิ้วล็อค เกิดจากการขาดวิตามินใช่หรือไม่?
- 3. โรคนิ้วล็อค พบในผู้สูงอายุเท่านั้นใช่หรือไม่?
- 4. ใช้มือถือบ่อยๆ เสี่ยงเป็นนิ้วล็อคทุกรายใช่หรือไม่?
- 5. นิ้วล็อค เป็นแล้วเป็นเลยถาวรใช่หรือไม่?
- 6. นิ้วล็อค หายเองได้ไหม?
- 7. ฉีดยาแก้นิ้วล็อค กี่วันหาย?
- 8. เป็นโรคนิ้วล็อค กำลูกบอล ทำให้หายนิ้วล็อคหรือไม่?
1. เมื่อเกิดอาการนิ้วล็อค ควรทำอย่างไร?
ตอบ: เมื่อสงสัยว่ามีอาการนิ้วล็อค ข้อปฏิบัติที่ลองบรรเทาอาการได้เบื้องต้น ได้แก่
- พักการใช้งานนิ้วก่อน งดกิจกรรมที่ต้องใช้นิ้วหนักๆ ชั่วคราว
- แช่นิ้วในน้ำอุ่น 15-20 นาทีทุกวันเพื่อลดอาการติดขัดข้อนิ้ว
- ประคบเย็นเพื่อลดอาการบวม และอักเสบ
- หากมีอาการปวดมาก สามารถกินยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้
- ทำกายบริหารนิ้วเบาๆ เช่น กำและแบมือเบาๆ ในน้ำอุ่น
หากรู้สึกว่าอาการนิ้วล็อคยังไม่หายไป ยังปวดและเจ็บข้อนิ้ว งอและเหยียดนิ้วได้ยาก จนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาวิธีรักษาที่เหมาะสม
2. โรคนิ้วล็อค เกิดจากการขาดวิตามินใช่หรือไม่?
ตอบ: ไม่ใช่ โรคนิ้วล็อคเกิดจากการอักเสบของปลอกหุ้มเส้นเอ็นนิ้ว ซึ่งมักเกิดจากการใช้งานนิ้วที่หนักเกินไป และมักพบได้ในพฤติกรรมต่อไปนี้
- การพิมพ์คีย์บอร์ด แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน
- การใช้นิ้วยกของหนัก
- การใช้นิ้วทำกิจกรรมหรือทำงานที่ต้องมีงอและเกร็งข้อนิ้ว หรือมีการเหยียดข้อนิ้วเป็นประจำ
- โรคประจำตัวบางชนิดสามารถเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคนิ้วล็อคได้ เช่น
- โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคเบาหวาน
- โรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์
วิตามินบางอย่างอาจส่งผลต่อนิ้วล็อค แต่ไม่มากเท่าสาเหตุอื่น การทานวิตามินเหล่านี้เสริมอาจช่วยบำรุงกล้ามเนื้อได้เพียงเล็กน้อย
- วิตามินบี 6 (Pyridoxine): มีความสำคัญต่อระบบประสาทและการทำงานของกล้ามเนื้อ
- วิตามินดี: วิตามินดีช่วยในการดูดซึมแคลเซียม ซึ่งมีผลต่อความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ
- แมกนีเซียม: แมกนีเซียมช่วยในการผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
3. โรคนิ้วล็อค พบในผู้สูงอายุเท่านั้นใช่หรือไม่?
ตอบ: ไม่ใช่ โรคนิ้วล็อคสามารถพบได้ในคนทุกช่วงวัยที่ใช้งานนิ้วหนักเกินไป เช่น พนักงานออฟฟิศ พนักงานเสิร์ฟ แต่มีแนวโน้มจะพบได้มากกว่าในผู้หญิงช่วงอายุ 40-50 ปี
4. ใช้มือถือบ่อยๆ เสี่ยงเป็นนิ้วล็อคทุกรายใช่หรือไม่?
ตอบ: ไม่เสมอไป ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ร่วมด้วย หากไม่ได้กำมือถือแน่นๆ จนต้องเกร็งนิ้วอยู่เสมอ หรือพิมพ์มือถืออยู่ตลอดเวลา แต่ก็มีการพักการใช้งานนิ้วเป็นระยะๆ ความเสี่ยงในการเป็นโรคนี้ก็จะลดลง
5. นิ้วล็อค เป็นแล้วเป็นเลยถาวรใช่หรือไม่?
ตอบ: ไม่ใช่ โรคนิ้วล็อคสามารถรักษาให้หายได้ หากรีบรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ
แต่หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา จนถึงระยะที่อาการอักเสบของปลอกหุ้มเอ็นรุนแรงมากขึ้น หรือในระยะที่ 3-4 ของตัวโรค ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะข้อยึดติดถาวร (Joint Stiffness) ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถขยับนิ้วได้อีก หรือขยับได้ลำบากมาก
ระยะของโรคนิ้วล็อค แบ่งออกได้ 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1: มีอาการปวดตึงที่ข้อนิ้ว เมื่องอนิ้วจะรู้สึกสะดุดในบางครั้ง เริ่มรู้สึกกดเจ็บที่โคนนิ้วทางด้านหน้า (ด้านฝ่ามือ) แต่ยังงอและเหยียดนิ้วได้ตามปกติ
- ระยะที่ 2: ปวดตึงที่ข้อนิ้วมากขึ้น เมื่อขยับนิ้ว งอนิ้ว และเหยียดนิ้วจะเริ่มรู้สึกสะดุดบ่อยขึ้น ผู้ป่วยมักเริ่มสังเกตอาการด้วยตนเองได้ในระยะนี้
- ระยะที่ 3: มีอาการนิ้วล็อคถี่และบ่อยอย่างเห็นได้ชัด ผู้ป่วยไม่สามารถกำและแบมือออกได้เองอีก ต้องใช้นิ้วช่วยดันข้อนิ้วให้แบออก
- ระยะที่ 4: ไม่สามารถกำมือและเหยียดนิ้วตรงได้อีก หลายรายมีอาการนิ้วบวม และระหว่างพยายามเหยียดนิ้วให้ตรงก็จะมีอาการปวดที่รุนแรงมาก ในผู้ป่วยบางรายอาจมีลักษณะนิ้วที่ผิดรูประหว่างพยายามงอนิ้วมือด้วย
6. นิ้วล็อค หายเองได้ไหม?
ตอบ: ได้ หากอาการของโรคนิ้วล็อคยังไม่รุนแรง เช่น ติดขัดข้อนิ้วบ้าง มีอาการปวดเล็กน้อย แต่ยังแบและเหยียดนิ้วได้ตามปกติ และผู้ป่วยสังเกตอาการได้ทัน จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการใช้งานนิ้วลง ก็มีโอกาสที่โรคบรรเทาลงและหายได้เอง
แต่หากผู้ป่วยมีอาการติดขัดที่ข้อนิ้วเรื้อรัง พักการใช้งานนิ้วแล้ว แต่ยังไม่ดีขึ้น ร่วมกับมีอาการปวดเจ็บที่โคนนิ้ว ซึ่งเป็นสัญญาณของการอักเสบของกล้ามเนื้อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งวิธีรักษาโรคนิ้วล็อคกับแพทย์นั้นแบ่งออกได้หลายวิธี เช่น
- การใส่อุปกรณ์ดามนิ้ว
- การทำกายบริหารข้อนิ้วกับแพทย์และนักกายภาพบำบัด
- การกินยาแก้อักเสบหรือยาแก้ปวด
- การฉีดสารคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาสเตียรอยด์เพื่อลดการอักเสบ
- การผ่าตัดนิ้วล็อคเพื่อตัดปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่อักเสบออก
7. ฉีดยาแก้นิ้วล็อค กี่วันหาย?
ตอบ: สำหรับผู้ป่วยที่เลือกฉีดยาสเตียรอยด์เพื่อลดอาการอักเสบและอาการปวดจากโรคนิ้วล็อค หลังฉีดยาประมาณ 3-5 วัน อาการผิดปกติที่ข้อนิ้วจะเริ่มค่อยๆ ดีขึ้น
8. เป็นโรคนิ้วล็อค กำลูกบอล ทำให้หายนิ้วล็อคหรือไม่?
ตอบ: มีโอกาสหาย แต่ไม่ใช่กับผู้ป่วยทุกราย หลายคนอาจเข้าใจผิดจากสื่อทางโทรทัศน์หรือช่องทางอื่นๆ เกี่ยวกับท่ากำลูกบอลเพื่อทำกายบริหารนิ้ว แต่ความจริงแล้วท่ากำลูกบอลไม่ใช่วิธีรักษาอาการของโรคนิ้วล็อคในผู้ป่วยทุกรายเสมอไป ในบางรายหากกำลูกบอลผิดวิธี ก็มีโอกาสนิ้วล็อคกว่าเดิมได้
ท่าบริหารนิ้วสำหรับรักษาโรคนี้จะขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์และนักกายภาพบำบัด ในการออกแบบท่ากายบริหารนิ้วให้แต่ละคน
โรคนิ้วล็อคเป็นโรคที่มักสร้างความรำคาญและทำให้ผู้ป่วยดำเนินชีวิตได้ยากลำบากขึ้น การเข้าใจถึงต้นตอที่ทำให้เกิดโรคและปรับพฤติกรรมการใช้นิ้วมือ ร่วมกับรับการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้หายจากโรคนี้ได้
หากพบอาการนิ้วล็อค ลองบรรเทาอาการด้วยตนเองแล้วยังไม่ดีขึ้น แนะนำให้รีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาด้วยวิธีที่ปลอดภัย เพื่อให้นิ้วมือของคุณกลับมาใช้งานได้ตามปกติคล่องตัวอีกครั้ง
ข้อมูลที่เรารู้มาใช่เรื่องจริงไหม? เข้าใจผิดหรือเปล่า? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย