12 เรื่องที่หลายคนอยากรู้ และเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก

12 เรื่องที่หลายคนอยากรู้ และเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก

อยากมีลูก แต่ทำอย่างไรก็ไม่มีสักที แบบนี้ใช่ภาวะมีบุตรยาก (Infertility) หรือไม่  กินยาคุมกำเนิดติดต่อกันนานๆ ส่งผลให้มีบุตรยากจริงไหม ภาวะมีบุตรยากต้องรักษาอย่างไร แล้วเด็กที่เกิดมาจะมีความผิดปกติหรือไม่ 

หากใครมีข้อสงสัยเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก ลองอ่านบทความนี้ เรารวบรวม 12 เรื่องที่หลายคนอยากรู้ และเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก มาไว้ให้แล้ว

เรื่องที่หลายคนอยากรู้เกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก

สารบัญ

1. อะไรคือสิ่งที่บ่งบอกว่าเรามีลูกยาก

ตอบ: หากคู่สมรสมีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี โดยไม่มีการคุมกำเนิด แต่ยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ ถือว่าเป็นผู้มีบุตรยาก 

นอกจากนี้หากฝ่ายหญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป หากมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกันอย่างสม่ำเสมอ เป็นระยะเวลา 6 เดือน แต่ยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ ก็ถือว่าเป็นผู้มีบุตรยากเช่นเดียวกัน

2. อายุเยอะมีผลต่อภาวะมีบุตรยากหรือไม่

ตอบ: สำหรับผู้หญิง อายุที่มากขึ้นส่งผลต่อภาวะมีบุตรยากได้จริง เนื่องจากเซลล์ไข่จะค่อยๆ สลายไปเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายความว่า เมื่ออายุเพิ่มขึ้น ปริมาณเซลล์ไข่ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย และคุณภาพของเซลล์ไข่ก็จะเสื่อมลงเช่นกัน 

ดังนั้นผู้หญิงที่อายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีโอกาสมีลูกยาก และมีโอกาสแท้งสูง ซึ่งแตกต่างจากผู้ชาย ที่สามารถผลิตเซลล์อสุจิได้ตลอด ไม่จำกัดอายุ

3. ความเครียดส่งผลให้มีบุตรยากจริงไหม

ตอบ: ความเครียดมีผลต่อภาวะมีลูกยาก ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง สำหรับผู้หญิงนั้นความเครียดจะส่งผลให้ฮอร์โมนแปรปรวน ประจำเดือนคลาดเคลื่อน หรือมาผิดปกติ จนเกิดภาวะไข่ไม่ตกได้ ส่วนผู้ชายนั้นความเครียดจะส่งผลให้การผลิตน้ำเชื้อจากอัณฑะทำได้ไม่ดี และคุณภาพน้ำเชื้อแย่ลง

4. โรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ส่งผลต่อภาวะมีบุตรยากหรือไม่

ตอบ: โรคอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์มาตรฐาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มีลูกยากได้จริง เนื่องจากโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์มีส่วนทำให้เกิดภาวะฮอร์โมนผิดปกติ และส่งผลทำให้ไข่ไม่ตก ทำให้มีลูกยากขึ้น

นอกจากนี้สำหรับบางรายที่ตั้งครรภ์สำเร็จ แต่หญิงตั้งครรภ์มีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแท้งบุตรได้ เพราะโรคอ้วนมีส่วนให้เกิดภาวะฮอร์โมนพร่องขณะตั้งครรภ์ 

นอกจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแท้งบุตรแล้ว ยังมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้ด้วย เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งทำให้เกิดอันตรายทั้งต่อแม่และทารกในครรภ์

ดังนั้น หากจะวางแผนมีบุตร ควรควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

5. เมื่อไหร่ที่ควรไปปรึกษาแพทย์เรื่องมีบุตรยาก

ตอบ: คู่สามีภรรยาที่มีเพศสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี แต่ยังไม่เกิดการตั้งครรภ์ ควรไปปรึกษาแพทย์เรื่องภาวะมีบุตรยาก

นอกจากนี้ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัว หรือประจำเดือนมาไม่ปกติ ปวดประจำเดือนมาก ก็สามารถไปปรึกษาแพทย์ได้เลย โดยไม่ต้องรอเวลา 1 ปี

หรือหากคู่สามีภรรยาต้องการเตรียมความพร้อมก่อนมีบุตร ก็สามารถไปตรวจคัดกรองเบื้องต้นได้เลย เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนการมีบุตรได้อย่างปลอดภัย เพิ่มโอกาสให้ทารกในครรภ์เติบโตอย่างแข็งแรง ปราศจากโรคแทรกซ้อน ความพิการ หรือปัญหาด้านสุขภาพอื่นๆ

6. การตรวจหาสาเหตุภาวะมีบุตรยากทำอย่างไร

ตอบ: สาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้น เกิดได้จากทั้งความผิดปกติของฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย สำหรับผู้หญิงนั้นอาจเกิดได้จากความผิดปกติของฮอร์โมน อุ้งเชิงกราน มดลูกและปากมดลูก หรือภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย เป็นต้น

ส่วนผู้ชายอาจเกิดได้จากการสร้างเชื้ออสุจิที่ผิดปกติ การขนส่งเชื้ออสุจิผิดปกติ การหย่อนสมรรถภาพทางเพศ โรคต่างๆ ที่ส่งผลต่อการผลิตอสุจิ โรคประจำตัว ความเครียด เป็นต้น หรืออาจเป็นไปได้ว่า เกิดจากสองฝ่ายร่วมกัน

ในการตรวจหาภาวะมีบุตรยากนั้น แพทย์จะตรวจประเมินปัจจัยทั้งหมดจากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง พร้อมกับซักประวัติเกี่ยวกับความสม่ำเสมอของรอบประจําเดือน อาการปวดท้องประจำเดือน ประวัติเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน ประวัติการตั้งครรภ์และการแท้งบุตร วิธีการคุมกําเนิดที่ผ่านมา

ส่วนผู้ชายนั้นจะสอบถามประวัติประวัติเกี่ยวกับการบาดเจ็บหรือการผ่าตัดที่อวัยวะเพศ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ เพื่อที่จะตรวจหาสาเหตุและรักษาการมีบุตรยากได้อย่างตรงจุด

อยากตรวจเช็กให้แน่ชัด ว่าคู่ของเราเข้าข่ายภาวะมีบุตรยากไหม? ทักหาแอดมิน ค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยากได้ทันใจ พร้อมนัดคิวให้คุณได้ปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง ช่วยให้คุณท้องได้สำเร็จ! คลิกเลย

7. คนที่มีลูกยาก ควรทำอย่างไร เพื่อเพิ่มความสำเร็จในการมีลูก

ตอบ: อันดับแรก คือควรหลีกเลี่ยงความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้มีลูกยาก ถัดมาควรรับประทานอาหารให้ได้สารอาหารครบถ้วน เน้นสารอาหารประเภทโปรตีน และลดคาร์โบไฮเดรต เพื่อไม่ให้เกิดการสะสมของไขมัน 

ต่อมาควรนอนหลับพักผ่อนให้มีคุณภาพ โดยระยะเวลาการนอนที่เหมาะสม คือ 6-8 ชั่วโมง และสุดท้าย ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อครั้ง เพราะอาจหนักเกินไป และส่งผลให้ระบบสืบพันธุ์ทำงานลดน้อยลง

8. การรักษาภาวะมีบุตรยาก มีวิธีไหนบ้าง

ตอบ: ในทางการแพทย์ก็มีเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการมีลูกให้กับคู่สมรส ซึ่งมีด้วยกันหลากหลายวิธี วิธีที่เป็นที่นิยมมากที่สุด ได้แก่ IUI, IVF และ ICSI

  1. การผสมเทียม (Intrauterine Insemination, IUI) เป็นการรักษาภาวะมีลูกยาก โดยการคัดเลือกเชื้ออสุจิที่แข็งแรง ฉีดเข้าไปในโพรงมดลูก ในช่วงเวลาที่ไข่ตกพอดี เพื่อเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ วิธีนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องเชื้ออสุจิไม่แข็งแรง หรือฝ่ายหญิงไข่ตกน้อย หรือคู่สมรสมีบุตรยากแบบหาสาเหตุไม่ได้
  2. การทำเด็กหลอดแก้ว (In Vitro Fertilization, IVF) เป็นการนำเอาไข่ที่สุกเต็มที่ออกมาจากรังไข่ มาผสมกับอสุจิในหลอดทดลอง เมื่อปฏิสนธิกันแล้วค่อยฉีดกลับเข้าร่างกาย วิธีนี้เหมาะกับคู่สมรสที่มีภาวะมีลูกยาก หรือเสี่ยงต่อการส่งต่อโรคทางพันธุกรรม รวมทั้งคู่สมรสที่เคยใช้วิธี IUI มาแล้วแต่ไม่ได้ผล
  3. การทำเด็กหลอดแก้วอิ๊กซี่ (Intracytoplasmic Sperm Injection, ICSI) เป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดจาก IVF ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์มากที่สุด เนื่องจากการทำ ICSI จะใช้เชื้ออสุจิ 1 ตัว ฉีดเข้าไปในเซลล์ไข่โดยตรง 1 ใบ นิยมใช้แก้ปัญหาเมื่อทำ IVF ไม่สำเร็จ วิธีนี้เหมาะสำหรับกรณีที่ฝ่ายชายมีปัญหาเรื่องเชื้ออสุจิ

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยาก

9. กินยาคุมกำเนิดนานๆ จะทำให้มีลูกยากจริงไหม

ตอบ: การกินยาคุมกำเนิดติดต่อกันเป็นเวลานาน ไม่ได้ทำให้มีลูกยากอย่างที่หลายคนเข้าใจ เมื่อหยุดยาคุมไปแล้ว และรอบเดือนกลับมาสม่ำเสมอ ก็สามารถมีลูกได้ตามปกติ 

อย่างไรก็ตาม หลังจากหยุดยาคุมแล้ว ร่างกายของบางคนอาจต้องให้เวลารังไข่ฟื้นฟูและกลับมาทำงานได้ตามเดิม ดังนั้น คุณหมอจึงมักจะแนะนำให้คนที่อยากมีลูก ปล่อยท้องหลังจากหยุดยาคุม 1-3 เดือน

10. ผู้หญิงที่มีปัญหาเนื้องอกมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ต้องผ่าตัดรักษาก่อน แล้วค่อยรักษาเรื่องมีบุตรยากหรือเปล่า

ตอบ: ผู้ที่มีปัญหาเนื้องอกมดลูก หรือเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ไม่จำเป็นต้องรับการรักษา หรือเข้ารับการผ่าตัดก่อนวางแผนมีลูกเสมอไป แม้จะมีปัญหาเนื้องอกมดลูก ก็ยังสามารถตั้งครรภ์ได้

ในทางกลับกัน บางรายที่รักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ด้วยฮอร์โมนบางชนิด กลับยิ่งทำให้โอกาสมีบุตรลดลงได้

ดังนั้นหากมีปัญหาเกี่ยวกับมดลูกตามที่กล่าวมา ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางถึงความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ เพื่อจะได้วางแผนการรักษาและการตั้งครรภ์ได้ถูกต้อง

11. หากพ่อแม่ของเรามีบุตรยาก ก็แปลว่าเราจะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้มีบุตรยากตามไปด้วย

ตอบ: แม้ว่าพ่อแม่ ญาติ หรือคนในครอบครัวที่ใกล้ชิด มีภาวะมีบุตรยาก ก็ไม่ได้แปลว่า เราจะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้มีลูกยากเสมอไป เพราะภาวะมีลูกยากนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน โรคประจำตัว หรือความเครียดก็ได้ 

12. การรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก มีความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กเกิดมาผิดปกติ หรือไม่แข็งแรง

ตอบ: การรักษาภาวะผู้มีบุตรยากด้วยการผสมเทียม หรือทำเด็กหลอดแก้วนั้น ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ว่า จะทำให้เด็กที่เกิดมามีความผิดปกติ พัฒนาการช้า หรือร่างกายไม่แข็งแรง 

ในกระบวนการรักษานั้น แพทย์จะคัดเลือกไข่และน้ำเชื้อที่แข็งแรงและสมบูรณ์ที่สุด มาทำให้เกิดการปฏิสนธิ นอกจากนี้ยังมีกระบวนการคัดกรองโครโมโซม ที่ช่วยลดอัตราเสี่ยงของดาวน์ซินโดรม และความผิดปกติทางพันธุกรรมได้ด้วย 

ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า หากได้รับการดูแลจากแพทย์เฉพาะทางอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาการรักษา ลูกก็จะสามารถมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงได้

หากคุณกำลังกังวลเรื่องภาวะมีบุตรยาก อยากรู้สาเหตุที่แท้จริง และวางแผนวิธีการรักษา อย่าลังเลที่จะไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะมีบุตรยากเพิ่มเติมอยู่ใช่ไหม? ถ้าไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองภาวะมีบุตรยาก จาก ร.พ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top