Default fallback image

ผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอดกับ ผศ.พญ. พัทยา ด้วยบริการจาก HDcare

เจาะลึกการเย็บปิดช่องคลอด ช่วยรักษาอะไร ใครเหมาะที่จะผ่าตัดบ้าง ผ่าตัดแล้วจะใช้ชีวิตลำบากขึ้นหรือไม่ 

ให้ข้อมูลโดย “หมอไต๊” ผศ.พญ. พัทยา เฮงรัศมี สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสาขาเวชศาสตร์เชิงกรานสตรี การศัลยกรรมซ่อมเสริม และเป็นแพทย์ผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช รวมถึงเป็นหนึ่งในทีมแพทย์จากบริการ HDcare

อ่านประวัติหมอไต๊ได้ที่นี่ [รู้จัก “หมอไต๊” สูตินรีแพทย์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์เชิงกรานสตรี การศัลยกรรมซ่อมเสริม และการผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช]

ภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนเกิดจากอะไร?

ภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน คือ ปัญหาอวัยวะเดิมที่อยู่ภายในอุ้งเชิงกรานหย่อนลงมาจากตำแหน่งเดิม และยื่นออกมาจากช่องคลอด เช่น มดลูกยื่น ผนังช่องคลอดยื่น และส่งผลกระทบต่ออวัยวะข้างเคียง เช่น กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ทวารหนัก จนทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตคนไข้ เช่น

  • ปัสสาวะลำบาก หรือปล่อยปัสสาวะไม่สุด ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำบ่อยขึ้น
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ 
  • เวลาไอหรือจามมักมีปัสสาวะเล็ด
  • ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
  • รู้สึกอุจจาระลำบาก หรืออุจจาระไม่สุด
  • เกิดบาดแผลจากการเสียดสีระหว่างผิวจุดซ่อนเร้นหรือกางเกงชั้นในกับอวัยวะที่ยื่นออกมา และเสี่ยงทำให้เกิดการติดเชื้อที่ช่องคลอดได้

คนกลุ่มแบบไหนที่เสี่ยงมีภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน

  • กลุ่มผู้หญิงที่คลอดบุตรทางช่องคลอด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีปัญหาคลอดบุตรยาก หรือต้องใช้อุปกรณ์ช่วยคลอดบุตรด้วย เช่น คีมคีบ เครื่องดูดศีรษะสุญญากาศ
  • กลุ่มผู้หญิงที่ทำงานหนัก ยกของหนัก เล่นกีฬาหรือออกกำลังกายที่ยกน้ำหนักบ่อย
  • กลุ่มผู้หญิงที่อายุมาก ซึ่งเนื้อเยื่อร่างกายทุกส่วนก็จะมีโอกาสหย่อนยานตามอายุ รวมถึงผิวช่องคลอดด้วย

การรักษาอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อน ในปัจจุบันมีกี่วิธี?

วิธีรักษาเมื่อเกิดปัญหาอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนแบ่งออกได้ 3 วิธีหลักๆ ได้แก่

  1. วิธีการเฝ้าสังเกตอาการ ยังไม่ต้องทำการรักษาด้วยวิธีใดทั้งนั้น นิยมใช้ในคนไข้ที่อาการยังไม่รุนแรง 
  2. วิธีไม่ผ่าตัด เช่น การฝึกขมิบช่องคลอด การใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงอวัยวะในอุ้งเชิงกราน การยิงเลเซอร์ยกกระชับจุดซ่อนเร้นและเพื่อเสริมสร้างคอลลาเจนในช่องคลอด การนั่งเก้าอี้แม่เหล็กไฟฟ้า
  3. วิธีผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอด นิยมใช้ในคนไข้ที่อาการรุนแรง หรือใช้วิธีรักษาแบบไม่ผ่าตัดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น

การเย็บปิดช่องคลอดคืออะไร?

การเย็บปิดช่องคลอด คือ กระบวนการรักษาภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนให้กลับขึ้นไปตำแหน่งเดิม ด้วยการผ่าตัดเย็บลดขนาดรูช่องคลอดให้เล็กลงเหลือเพียง 2-3 เซนติเมตร เป็นการผ่าตัดที่เหมาะกับคนไข้ที่ไม่มีความสนใจในการมีเพศสัมพันธ์อีก เช่น คนไข้สูงวัย คนไข้ที่คู่รักเสียชีวิตไปแล้ว

อาการแบบไหนต้องรีบพบแพทย์เพื่อผ่าตัด

เมื่อไรก็ตามที่คนไข้สังเกตเห็นก้อนยื่นออกมาจากช่องคลอด หรือได้รับการวินิจฉัยว่า มีภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนและภาวะนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน เช่น ปัญหาการปัสสาวะ เกิดแผลที่จุดซ่อนเร้น ให้เดินทางมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาในการรักษาโดยทันที

รายละเอียดการผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอด

การผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอดจะเย็บตามตำแหน่งของช่องคลอดที่มีการหย่อนออกมา ความซับซ้อนและระยะเวลาในการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความรุนแรงของโรค เทคนิคการผ่าตัดที่แพทย์เลือกใช้ เช่น การผ่าตัดทางหน้าท้อง การผ่าตัดทางช่องคลอด การผ่าตัดส่องกล้อง 

หากอวัยวะหย่อนไม่มาก แพทย์มักใช้เวลาผ่าตัดประมาณ 1 ชั่วโมง แต่หากอวัยวะมีการหย่อนมาก หรือมีอวัยวะส่วนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในอุ้งเชิงกรานหย่อนออกมาด้วย เช่น กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ แพทย์จะต้องระมัดระวังในการผ่าตัดมากขึ้น อาจต้องใช้หลายเทคนิคในการผ่าตัดครั้งเดียว และใช้เวลาผ่าตัดนานขึ้น โดยอาจอยู่ที่ 2-5 ชั่วโมงเป็นต้นไป 

นอนพักโรงพยาบาลกี่คืน? มีข้อควรระวังหลังผ่าตัดหรือไม่?

หลังการผ่าตัด คนไข้จะนอนโรงพยาบาล 2 วัน หลังจากนั้นก็สามารถเดินทางกลับบ้านได้

สิ่งที่คนไข้ควรระวังหลังการผ่าตัดแบ่งออกได้ 2 ส่วนได้แก่ 

  1. ความตึงของแผลผ่าตัดซึ่งอยู่ใกล้กับท่อปัสสาวะ และอาจทำให้คนไข้ปัสสาวะลำบากในช่วงแรกหลังผ่าตัด ดังนั้นก่อนออกจากโรงพยาบาล แพทย์จะทดสอบความสามารถในการปัสสาวะของคนไข้ก่อน 

หากคนไข้สามารถปัสสาวะได้ตามปกติ ก็สามารถกลับบ้านได้เลย แต่หากไม่สามารถปัสสาวะได้ปกตินัก แพทย์จะให้คนไข้ใส่สายสวนปัสสาวะกลับบ้านประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นค่อยกลับมาทดสอบการปัสสาวะกับแพทย์อีกครั้ง หากคนไข้ปัสสาวะได้ตามปกติแล้ว แพทย์จะถอดสายสวนให้

  1. ปัญหาปัสสาวะเล็ดหลังผ่าตัด สามารถเกิดได้จากอวัยวะในอุ้งเชิงกรานที่หย่อนลงมาเบียดท่อปัสสาวะมาก ทำให้เมื่อแพทย์ผ่าตัดแก้ไขปัญหาหย่อนคล้อยให้ จึงทำให้คนไข้ปัสสาวะได้ง่ายเกินไปจนกลายเป็นปัญหาปัสสาวะเล็ด

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้สามารถทดสอบเพื่อคาดเดาอาการก่อนผ่าตัดได้ หากแพทย์ทดสอบคนไข้และประเมินว่า จะมีอาการปัสสาวะเล็ดรุนแรงหลังผ่าตัด แพทย์จะแนะนำให้คนไข้ผ่าตัดซ่อมแซมภาวะปัสสาวะเล็ดไปพร้อมกันด้วย แต่หากประเมินว่า อาจมีอาการปัสสาวะเล็ดไม่รุนแรง แพทย์จะแนะนำให้ใช้วิธีเฝ้าสังเกตอาการหลังผ่าตัดไปก่อน

การป้องกันไม่ให้อวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนทำยังไงได้บ้าง?

ภาวะอวัยวะอุ้งเชิงกรานหย่อนเป็นปัญหาที่ยากต่อการป้องกันได้ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่ยากต่อการควบคุมไม่ให้เกิด เช่น

  • พันธุกรรม ในผู้หญิงบางรายมีปัญหาเนื้อเยื่อที่จุดซ่อนเร้นอ่อนแอมาแต่กำเนิด จึงทำให้เกิดอวัยวะที่ช่องเชิงกรานหย่อนคล้อยได้แต่กำเนิด
  • การคลอดบุตรยาก ซึ่งในหญิงตั้งครรภ์หลายราย การคลอดบุตรด้วยวิธีธรรมชาติหรือทางช่องคลอดจัดเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยกว่าการผ่าคลอด จึงอาจยากจะหลีกเลี่ยงภาวะนี้หลังคลอดบุตรได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์ในระหว่างการตั้งครรภ์ด้วย

อย่างไรก็ตาม เราก็ยังสามารถหลีกเลี่ยงพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้อวัยวะในอุ้งเชิงกรานหย่อนได้ เช่น งดยกของหนักบ่อยๆ หลีกเลี่ยงอย่าให้เกิดโรคหรืออาการป่วยที่ทำให้ไอเรื้อรัง ท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดแรงดันในช่องท้อง และทำให้มีโอกาสที่อวัยวะจะหย่อนออกมาจากช่องคลอดได้

ผ่าตัดเย็บปิดช่องคลอดกับ ผศ.พญ. พัทยา ด้วยบริการจาก HDcare

มีปัญหาอวัยวะข้างในอุ้งเชิงกรานยื่นออกมา ทำให้ปัสสาวะลำบาก มีแผลที่จุดซ่อนเร้น คุณภาพชีวิตแย่ลง ขยับตัวก็อึดอัดไปหมด อย่ากังวลไป ปัญหานี้รักษาได้ ติดต่อทีมงาน HDcare เพื่อนัดปรึกษาสูตินรีแพทย์ได้ทันที

และหากสนใจรับการผ่าตัด ทีมงาน HDcare สามารถเป็นผู้ช่วยประสานงานกับโรงพยาบาลให้กับคุณ ทั้งนัดวันผ่าตัดที่คุณสะดวก พร้อมมีพยาบาลผู้ช่วยคอยอยู่เป็นเพื่อนในระหว่างการผ่าตัด ไม่มีญาติไปด้วยในวันรักษาก็สบายใจหายห่วง

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top