หลังจากที่รู้แล้วว่า เต้านมเกิดความผิดปกติอะไรได้บ้าง ต่อมาเราจะพาไปเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างก้อนที่เต้านมกับซีสต์เต้านมกัน ซึ่งเป็น 2 ความผิดปกติที่พบได้บ่อยๆ ในเต้านมของผู้หญิง ใครที่คลำพบก้อนที่เต้านมแล้วสงสัยว่าคืออะไร อันตรายไหม ต้องรักษาด้วยวิธีไหนดี บทความนี้มีคำตอบ
สารบัญ
ก้อนเนื้อที่เต้านมกับซีสต์เต้านมแตกต่างกันอย่างไร?
เมื่อคลำเจอก้อนเนื้อที่เต้านม หลายคนมักคิดว่าเป็นเนื้องอกในเต้านม แต่จริงๆ แล้ว ก้อนเนื้อที่พบ อาจเป็นซีสต์ที่เต้านมก็ได้ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ล้วนจัดอยู่ในกลุ่มก้อนเนื้อ หรือถุงน้ำเต้านมชนิดที่ไม่ร้ายแรง (Benign Breast Disease) ไม่ทำให้เกิดอันตราย และจะไม่พัฒนาไปเป็นมะเร็งเต้านมด้วย
ก้อนเนื้อที่เต้านมกับซีสต์เต้านมนั้น จะมีความแตกต่างกันตรงที่ ก้อนเนื้อที่เต้านม ภายในก้อนจะเป็นเนื้อ หรือของแข็ง ในขณะที่ซีสต์เต้านม ภายในก้อนจะเป็นของเหลว ซึ่งสามารถแยกความแตกต่างได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ หรือใช้เข็มเล็กๆ ดูดออกมาดูว่ามีน้ำอยู่ภายในก้อนไหม
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าก้อนเนื้อที่เต้านมกับซีสต์เต้านมจะจัดอยู่ในกลุ่มเดียว แต่ก็มีสาเหตุการเกิด ลักษณะอาการ และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เมื่อคลำเจอก้อนเนื้อที่เต้านมแล้ว จึงควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและวางแผนรักษาอย่างเหมาะสม
ก้อนเนื้อที่เต้านม (Breast Lumps) คืออะไร?
ก้อนเนื้อที่เต้านม คือ เนื้องอกที่เกิดจากเซลล์ของต่อมน้ำนมและเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเต้านมรวมตัวกันจนเกิดเป็นก้อน แบ่งเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ ก้อนเนื้อธรรมดาที่ไม่พัฒนาไปเป็นเซลล์มะเร็ง และก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็งเต้านม ซึ่งในบทความนี้เราจะเจาะลึกไปที่ก้อนเนื้อธรรมดาที่พบได้บ่อยกว่า
ก้อนเนื้อที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรงนั้น จะแบ่งเป็น 2 ชนิดหลักๆ ได้แก่
-
- ไฟโบรอดีโนมา (Fibroadenoma) เป็นก้อนเนื้อในเต้านมที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิง มีลักษณะเรียบกลม หรือเป็นรูปไข่ มีขอบชัดเจน กลิ้งไปมาได้เมื่อสัมผัส พบได้ทั้งแบบก้อนเดียว หรือหลายก้อนก็ได้ ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ และมีขนาดประมาณ 1-5 เซนติเมตร
- ก้อนเนื้อที่เกิดจากเซลล์ไขมันในเต้านมถูกทำลาย (Fat Necrosis) เกิดจากเซลล์ไขมันในเต้านมตาย และไม่ได้สลายไป แต่จับตัวเป็นก้อนแข็งแทน
สาเหตุที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อที่เต้านม
ก้อนเนื้อที่เต้านมชนิด Fibroadenoma ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย การตั้งครรภ์ และพันธุกรรม
ส่วนก้อนเนื้อที่เต้านมชนิด Fat Necrosis จะมีสาเหตุหลักมาจากการประสบอุบัติเหตุ แล้วเต้านมได้รับการกระทบกระเทือน ส่งผลให้เซลล์ไขมันในเต้านมตาย และเกิดเป็นก้อนเนื้อตามมา
อาการของก้อนเนื้อที่เต้านม
นอกเหนือจากคลำพบก้อนบริเวณเต้านมแล้ว โดยทั่วไป ก้อนเนื้อที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรง จะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเจ็บตรงก้อนในเวลาที่มีประจำเดือนได้บ้าง
ก้อนเนื้อที่เต้านมอันตรายไหม?
ก้อนเนื้อที่เต้านมไม่ได้เป็นอันตราย และอาจยุบได้เองในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีก้อนที่เต้านมจะต้องตรวจติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ หากแพทย์ตรวจพบว่า ก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นจากการถูกกระตุ้นด้วยปัจจัยบางอย่าง เช่น ฮอร์โมน การตั้งครรภ์ การให้นมบุตร หรือก้อนเนื้อทำให้เกิดอาการเจ็บปวด หรือมีขนาดใหญ่เกิน 2-3 เซนติเมตรขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก
วิธีรักษาเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง
วิธีรักษาเนื้องอกเต้านมชนิดไม่ร้ายแรง มี 2 วิธี ได้แก่
-
- การรักษาด้วยความเย็นติดลบ (Cryoablation) เป็นการใช้เข็มเจาะเข้าไปจี้ที่ก้อนเนื้องอก แล้วปล่อยความเย็นติดลบเข้าไปทำให้เซลล์ก้อนเนื้องอกทั้งก้อนตายทันที หลังจากนั้นร่างกายจะสลายและดูดซึมเซลล์ที่ตายออกไปเองภายใน 6 เดือน
- การผ่าตัดเนื้องอกเต้านม เป็นการผ่าตัดเอาก้อนเนื้อที่เต้านมออกโดยตรง มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่
-
-
- ผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบ Wide Excision เป็นการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาทั้งก้อน พร้อมกับเลาะเอาเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ ออกด้วย สามารถผ่าตัดออกได้ทั้งเนื้องอกขนาดเล็ก กลาง และใหญ่
- ผ่าตัดเนื้องอกเต้านมผ่านเข็ม ด้วยเครื่องเจาะดูดชิ้นเนื้อระบบสุญญากาศ (VAE) แพทย์จะใช้เข็มขนาดใหญ่สอดเข้าไปตัดก้อนเนื้องอกเป็นชิ้นเล็กๆ และทยอยดูดออกมาด้วยระบบสุญญากาศ โดยจะทำร่วมกับการใช้เครื่องอัลตราซาวด์นำทาง เพื่อทำให้เห็นก้อนเนื้อที่ต้องทำการรักษา
- ผ่าตัดเนื้องอกเต้านมแบบส่องกล้อง (Endoscopic Breast Surgery) เป็นการผ่าตัดโดยการเปิดแผลขนาดเล็ก แล้วสอดอุปกรณ์ผ่าตัดที่มีกล้องเอนโดสโคปขนาดเล็กติดอยู่ที่ส่วนปลายเข้าไปผ่าตัดเอาเนื้องอกเต้านมออกมา แผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กกว่าการผ่าตัดแบบ Wide Excision ทำให้ฟื้นตัวได้ไวกว่า
-
ซีสต์เต้านม (Breast cysts) คืออะไร?
ซีสต์ (Cyst) เป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ในทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น บริเวณผิวหนัง หรืออวัยวะภายใน โดยซีสต์จะมีลักษณะเป็นถุง และด้านในอาจมีส่วนประกอบของน้ำ หรือสารคัดหลั่งจากต่อมของร่างกาย โดยซีสต์ที่คนส่วนใหญ่รู้จักกันดีก็คือ ช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) ที่พบบริเวณเยื่อบุโพรงมดลูก
สำหรับซีสต์ที่เต้านม หรือที่เรียกว่า “ถุงน้ำในเต้านม” เป็นภาวะที่มีน้ำขังอยู่ในเนื้อเต้านมจนทำให้เกิดซีสต์ หรือถุงน้ำตามมา จัดเป็นภาวะปกติที่พบได้ในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคน ไม่ใช่เนื้องอก และไม่ได้เป็นมะเร็งด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ซีสต์ขนาดเล็ก (Micro Cyst) เป็นซีสต์ที่พบได้ทั่วไปในเนื้อเยื่อเต้านมทั้งเต้า มีขนาดเล็กมาก ตั้งแต่ระดับไมครอนไปจนถึง 2-3 มิลลิเมตร ปกติแล้วจะคลำไม่เจอ แต่สามารถตรวจพบได้ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์เต้านม หรือส่องกล้อง
- ซีสต์ขนาดใหญ่ (Macro Cyst) เป็นซีสต์ขนาดใหญ่ที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า ถ้ามีขนาด 2-3 เซนติเมตรขึ้นไปจะสามารถคลำพบได้ จัดเป็นประเภทที่ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่าเป็นเนื้องอกเต้านม
สาเหตุที่ทำให้เกิดซีสต์เต้านม
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดแน่ชัด แต่คาดว่ามีความเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในช่วงที่มีประจำเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างกายมีการเตรียมความพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์และให้นมบุตร โดยปกติแล้ว ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ ไม่มีการตั้งครรภ์ เมื่อมีประจำเดือน ระดับฮอร์โมนเพศลดลง ถุงน้ำนมก็จะค่อยๆ ยุบลงไปเอง แต่ในบางครั้งก็อาจมีบางถุงที่ยังพองอยู่ และทำให้เกิดซีสต์ที่เต้านมได้
อาการของซีสต์เต้านม
ซีสต์เต้านมอาจพบที่เต้านมข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ โดยจะมีลักษณะเป็นก้อนกลม หรือรูปไข่ มีพื้นผิวเรียบ และเคลื่อนย้ายได้ง่าย ปกติแล้วจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติแต่อย่างใด แต่ก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บ หรือคัดเต้านมบริเวณที่มีซีสต์ได้
ซีสต์เต้านมอันตรายไหม?
หากเป็นซีสต์เต้านมที่เป็นถุงน้ำ จะไม่ได้เป็นอันตรายต่อร่างกาย และสามารถยุบเองได้ แต่ถ้าซีสต์มีความผิดปกติตั้งแต่ต้น มีลักษณะคล้ายมะเร็งเต้านม ก็ถือว่าเป็นอันตราย จำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่ามีแนวโน้มจะเป็นมะเร็งหรือไม่ เพื่อที่จะได้วางแผนรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีรักษาซีสต์เต้านม
การรักษาซีสต์เต้านม ทำได้ด้วยการใช้เข็มเจาะดูดเอาของเหลว หรือน้ำด้านในออกมา ร่วมกับการให้ยาที่ช่วยปรับระดับฮอร์โมนในร่างกายเพื่อลดการเกิดถุงน้ำที่เต้านม ส่วนจะต้องเจาะเอาน้ำออกมากี่ครั้งนั้น ก็ขึ้นอยู่กับอาการของแต่ละบุคคล
อย่างไรก็ตาม ในรายที่มีอาการค่อนข้างมาก ซีสต์ที่เต้านมมีขนาดใหญ่ หรือเจาะดูดเอาของเหลวออกมาแล้วพบว่ามีเลือดปน หรือมีข้อสงสัยในการเกิดมะเร็งเต้านม แพทย์จะแนะนำให้รักษาด้วยตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจพิสูจน์ต่อไป
ถึงแม้ก้อนเนื้อที่เต้านมกับซีสต์เต้านมจะจัดอยู่ในกลุ่มก้อนเนื้อเต้านมชนิดไม่ร้ายแรงเหมือนกัน แต่ก็มีสาเหตุ อาการ และวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน เมื่อคลำพบก้อนที่เต้านมแล้ว จึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม นอกจากจะช่วยให้เราดูแลสุขภาพเต้านมได้ดีแล้ว ยังช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า ก้อนเนื้อที่พบไม่ได้เป็นเนื้อร้าย และไม่ทำให้เกิดอันตรายในอนาคตด้วย
สำหรับใครที่มีอาการผิดปกติที่เต้านม แล้วกำลังสงสัยว่าตัวเองเป็นโรค หรือภาวะที่อันตรายรึเปล่า? อยากเช็กให้ชัวร์ ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย