‘ตอนนี้สายตาสั้น แต่ถ้าอายุมากขึ้น เดี๋ยวสายตาก็ยาว แล้วจะหักลบกันจนเป็นปกติเอง’ ‘ขีดเส้นไม่ตรง สายตาเอียงแน่ๆ’ ‘ห้ามนอนตะแคงอ่านหนังสือ เพราะจะทำให้สายตาเอียง’ ความเชื่อที่ว่านี้ เป็นจริงแค่ไหน เรารวบรวม 12 ข้อ ที่หลายคนอาจสงสัย หรือเข้าใจผิดเอาไว้ในบทความนี้ ไปหาคำตอบกันได้เลย
สารบัญ
- 1. ปัญหาด้านสายตาสั้น ยาว เอียง สามารถป้องกันได้?
- 2. สายตาสั้น ยาว เอียง มากๆ ทำให้ตาบอด?
- 3. ตอนนี้สายตาสั้น ถ้าอายุมากขึ้น แล้วสายตายาว ค่าสายตาจะหักลบกันจนเป็นปกติเอง?
- 4. สายตาสั้น แต่ก็สายตายาวหรือเอียงด้วย ตัดแว่นอันเดียวไม่ได้ ต้องสลับใช้หลายๆ อัน?
- 5. เด็กสายตาสั้นไม่ควรให้ใส่แว่น เพราะจะยิ่งทำให้สายตาสั้นมากกว่าเดิม?
- 6. สายตาสั้นควรใส่แว่นตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นสายตาอาจสั้นมากขึ้น?
- 7. เมื่ออายุมากขึ้น ค่าสายตาสั้นจะค่อยๆ หายไป?
- 8. สายตายาว พบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น?
- 9. สายตาเอียง เกิดจากการอ่านหนังสือในที่มืด การใช้ตาทำกิจกรรมเยอะๆ ?
- 10. การนอนตะแคงอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์จะทำให้สายตาเอียง?
- 11. สายตาเอียงจะทำให้วัดด้านซ้ายและด้านขวาได้ไม่เท่ากัน ขีดเส้นเอียง หรือมองภาพทุกอย่างเบี้ยวไม่สมมาตร?
- 12. สายตายาวกับสายตาเอียง ทำเลสิกไม่ได้?
1. ปัญหาด้านสายตาสั้น ยาว เอียง สามารถป้องกันได้?
ตอบ ปัญหาด้านค่าสายตา ไม่ว่าจะ สายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียง นั้น “ไม่สามารถป้องกันได้” เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติทางกายภาพของโครงสร้างดวงตา และยังเกิดได้จากปัจจัยด้านพันธุกรรมอีกด้วย
แต่สิ่งที่เราทุกคนพอจะทำได้ คือ การชะลอให้ภาวะสายตาที่ผิดปกติเกิดขึ้นได้ช้าที่สุด ด้วยการดูแลและถนอมสุขภาพดวงตาของเราให้แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น
- ตรวจสุขภาพตากับแพทย์ทุกปี
- กำหนดเวลาพักสายตาจากการทำงาน โดยทุก 2 ชั่วโมง ควรหยุดพักสายตาประมาณ 10-15 นาที
- กินอาหารที่มีประโยชน์และมีสารอาหารบำรุงสุขภาพตา เช่น ผักใบเขียว ข้าวโพด แครอท ผลไม้ตระกูลส้มหรือเบอร์รี
- งดสูบบุหรี่ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ดวงตาเสื่อมเร็วขึ้น
- หากรู้สึกมองเห็นภาพไม่ชัด ไม่ว่าจะในระยะใกล้หรือไกล รวมถึงมองเห็นความผิดปกติอื่นๆ ในดวงตา เช่น เห็นจุดดำ เห็นแสงสีขาว เห็นฝ้าเกิดขึ้นในภาพที่เห็น ให้รีบไปพบแพทย์
- ระมัดระวังอย่าให้ดวงตาได้รับบาดเจ็บหรือได้รับการกระทบกระเทือน
- หากมีโรคประจำตัวที่อาจส่งผลต่อดวงตา เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปลอกประสาทเสื่อม พยายามรักษาอาการให้อยู่ในระดับคงที่
2. สายตาสั้น ยาว เอียง มากๆ ทำให้ตาบอด?
ตอบ: โดยทั่วไปภาวะสายตาสั้น ยาว และเอียง ไม่ได้ส่งผลร้ายแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ นอกเสียจากความผิดปกติทางสายตาดังกล่าวจะมีอาการแทรกซ้อน หรือมีโรคทางดวงตาอื่นๆ ร่วมด้วย และทำให้เกิดความเสี่ยงทำให้ตาบอดเพิ่มขึ้น เช่น
- ภาวะตาขี้เกียจ
- โรคต้อหิน
- โรคต้อกระจก
- โรคจอประสาทตาเสื่อม
- การประสบอุบัติอุบัติเหตุหรือรับการผ่าตัดจนดวงตาได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง
3. ตอนนี้สายตาสั้น ถ้าอายุมากขึ้น แล้วสายตายาว ค่าสายตาจะหักลบกันจนเป็นปกติเอง?
ตอบ: ไม่จริง ค่าสายตาจะไม่สามารถหักล้างกันได้ และเราสามารถมีปัญหาสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียงภายในเวลาเดียวกันได้ ซึ่งจะทำให้การมองเห็นยิ่งไม่ชัดเจน
พฤติกรรมของผู้ที่มีปัญหาสายตาสั้นและสายตายาวพร้อมกัน ที่สังเกตได้ชัดเจนคือ ถ้ากำลังสวมแว่นสำหรับสายตาสั้น แล้วต้องการอ่านหนังสือ จะต้องถอดแว่นออก แต่ถ้าจะมองไกล เช่น ขับรถ ต้องใส่แว่น
นอกจากนี้ปัญหาสายตาสั้น พร้อมสายตายาว ยังพบได้ในกลุ่มคนทุกวัย ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้ใหญ่ ไม่ใช่เพียงกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น (แต่ผู้สูงอายุจะพบปัญหานี้บ่อยกว่ากลุ่มอื่นๆ)
ต้องถอดแว่นเวลามองใกล้ ใส่แว่นเวลามองไกล ใครเบื่อการใส่ๆ ถอดๆ อยากทำเลสิกให้จบทุกปัญหา ทักมาที่ HDcare ปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางด้านสายตา เลือกวิธีทำเลสิกที่เหมาะกับคุณ (ไม่มีค่าใช้จ่าย) คลิกเลย
4. สายตาสั้น แต่ก็สายตายาวหรือเอียงด้วย ตัดแว่นอันเดียวไม่ได้ ต้องสลับใช้หลายๆ อัน?
ตอบ: จริงๆ แล้วใช้แว่นตาอันเดียวได้ แต่ขึ้นอยู่กับค่าสายตาที่ผิดปกติด้วย เช่น ผู้ที่มีปัญหาทั้งสายตาสั้นและสายตายาว แต่มีปัญหาสายตายาวไม่มากนัก ก็อาจมีแว่นสายตาสั้นเพียงอย่างเดียวสำหรับช่วยการมองระยะไกลก็พอ แต่เมื่อต้องการมองระยะใกล้ ก็ถอดแว่นและมองด้วยตาเปล่าแทน
แต่ถ้ามองชัดไม่ชัดทั้งระยะใกล้และไกล กรณีนี้อาจจำเป็นต้องใช้ทั้งแว่นสายตายาว และสายตาสั้น
หรือถ้าไม่สะดวกที่จะพกแว่น 2 อัน ก็สามารถตัดแว่นด้วยเลนส์พิเศษที่ผลิตขึ้นเพื่อแก้ปัญหาค่าสายตาหลากหลายพร้อมๆ กัน เช่น เลนส์แว่นโปรเกรสซีฟ (Progressive) ซึ่งจะทำให้มองเห็นภาพทั้งระยะใกล้และระยะไกลได้ชัดเจนทั้งหมด โดยไม่ต้องพกแว่นหลายอัน
5. เด็กสายตาสั้นไม่ควรให้ใส่แว่น เพราะจะยิ่งทำให้สายตาสั้นมากกว่าเดิม?
ตอบ: ไม่จริง เด็กที่มีภาวะสายตาสั้นและไม่มีแว่นสายตา จะยิ่งมีโอกาสที่สายตาจะสั้นมากขึ้นได้ เนื่องจากเด็กต้องใช้ความพยายามในการเพ่งมองภาพหรือวัตถุมากขึ้นโดยปราศจากตัวช่วย และทำให้ลูกตาที่ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ต้องยืดตัวออกไปอีก จนทำให้ระยะการมองเห็นผิดเพี้ยนมากขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เด็กที่สายตาสั้นน้อยกว่า -2.00 ไดออปเตอร์ อาจให้ใส่แว่นตาเฉพาะเวลาที่ต้องอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ แต่หากเด็กมีโรคประจำตัวเกี่ยวกับดวงตาอื่นๆ ด้วย เช่น ตาเข่ ตาเหล่ ตาขี้เกียจ แพทย์จะแนะนำให้ใส่แว่นตาตลอดเวลาจะดีที่สุด
6. สายตาสั้นควรใส่แว่นตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นสายตาอาจสั้นมากขึ้น?
ตอบ: ไม่จริง ความถี่และระยะเวลาในการใส่แว่นตาไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้สายตาสั้นเพิ่มขึ้นได้ เพราะสายตาของมนุษย์จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แว่นเป็นเพียงตัวช่วยเสริมให้การมองเห็นชัดเจนขึ้นเท่านั้น แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของค่าสายตา
ตื่นมาปุ๊บโลกชัดแจ๋ว ไม่ต้องง้อแว่น ทำเลสิก ครั้งเดียวจบ! จะสายตาสั้น ยาว เอียง ก็แก้ได้ทุกปัญหา ทักมาหาทีม HDcare เลย พร้อมให้คำแนะนำอย่างละเอียด พร้อมนัดคิวกับคุณหมอเลสิก ได้ทันที สะดวก รวดเร็ว ราคาดี คลิกเลย!
7. เมื่ออายุมากขึ้น ค่าสายตาสั้นจะค่อยๆ หายไป?
ตอบ: ไม่จริง ค่าสายตาสั้นจะไม่สามารถหายไปได้เองตามการเจริญเติบโตของร่างกาย
เด็กที่มีภาวะสายตาสั้นตั้งแต่อายุยังน้อย ค่าสายตาอาจจะสั้นมากขึ้นและเริ่มคงที่เมื่ออายุได้ประมาณ 20 ปี แต่จะไม่หายไป นี่จึงเป็นสาเหตุที่แพทย์ไม่แนะนำให้ทำเลสิกในขณะที่อายุน้อยกว่า 20 ปี เพราะค่าสายตาอาจยังมีการเปลี่ยนแปลงได้
8. สายตายาว พบได้ในกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น?
ตอบ: ภาวะสายตายาวพบในเด็กได้ด้วย โดยภาวะสายตายาวนั้นแบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
- ภาวะสายตายาวโดยกำเนิด (Hyperopia หรือ Farsightedness) เป็นภาวะสายตายาวที่พบได้ตั้งแต่ยังเด็ก มักเกิดจากลักษณะของกระบอกตาสั้นกว่าปกติหรือกระจกตามีความโค้งน้อยกว่าปกติ ทำให้แสงไม่สามารถตกกระทบบนจอประสาทตาได้อย่างพอดี
- ภาวะสายตายาวตามอายุ (Presbyopia) เป็นภาวะสายตายาวที่พบในผู้สูงอายุเป็นหลัก โดยเฉลี่ยช่วงอายุอยู่ที่ประมาณ 40 ปีขึ้นไป มักเกิดจากความเสื่อมของกล้ามเนื้อตารอบเลนส์ตา และความยืดหยุ่นของเลนส์ตาที่ลดลง จนทำให้ความสามารถในการโฟกัสภาพหรือวัตถุลดลงไปด้วย
9. สายตาเอียง เกิดจากการอ่านหนังสือในที่มืด การใช้ตาทำกิจกรรมเยอะๆ ?
ตอบ: ไม่จริง พฤติกรรมการอ่านหนังสือในที่มืด หรือการใช้สายตาอยู่กับหน้าจอเป็นระยะเวลานาน ไม่ได้เป็นปัจจัยทำให้เกิดภาวะสายตาเอียง
โดยส่วนมากภาวะสายตาเอียงมักเกิดจากความผิดปกติของผิวกระจกตาที่ไม่โค้งกลม นอกจากนี้ยังเกิดได้จากพันธุกรรม หรือการประสบอุบัติเหตุจนทำให้กระจกตาได้รับบาดเจ็บ และทำให้การมองเห็นผิดปกติไปด้วย
10. การนอนตะแคงอ่านหนังสือหรือดูโทรทัศน์จะทำให้สายตาเอียง?
ตอบ: ไม่จริงเช่นกัน สายตาเอียงมีสาเหตุหลักมาจากลักษณะความโค้งที่ผิดปกติของกระจกตาหรือกระจกตาได้รับบาดเจ็บ แต่ไม่ได้เกิดจากการนอนตะแคงใช้สายตาแต่อย่างใด แต่พฤติกรรมดังกล่าวอาจจะทำให้กระบอกตาล้าจนทำให้รู้สึกปวดตาหรือปวดศีรษะได้
11. สายตาเอียงจะทำให้วัดด้านซ้ายและด้านขวาได้ไม่เท่ากัน ขีดเส้นเอียง หรือมองภาพทุกอย่างเบี้ยวไม่สมมาตร?
ตอบ: อาการหลักของปัญหาสายตาเอียงจะทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดเจน ไม่ว่าระยะใกล้และไกล คล้ายกับภาพทุกอย่างดูเบลอไปหมด ไม่มีจุดโฟกัส
ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสายตาเอียงจึงอาจจะขีดเส้นไม่ตรง หรือวัดระยะซ้าย ขวาไม่เท่ากันได้ โดยเกิดจากความพร่ามัวของภาพหรือการเห็นภาพซ้อนเป็นหลัก แต่ไม่ได้เกิดจากการมองภาพตรงหน้าเบี้ยวหรือเอียงอย่างที่หลายคนเข้าใจผิด
12. สายตายาวกับสายตาเอียง ทำเลสิกไม่ได้?
ตอบ: หลายคนอาจเข้าใจว่าการทำเลสิกแก้ได้เฉพาะปัญหาสายตาสั้นเท่านั้น แต่จริงๆ แล้ว การทำเลสิกในปัจจุบันนั้นมีหลายเทคนิค และช่วยแก้ปัญหาทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียงได้ทั้งหมดด้วย เช่น การทำเลสิกเทคนิค Trans PRK การทำเลสิกเทคนิค SBK หรือ การทำเลสิกเทคนิค Femto หรือเลสิกไร้ใบมีด
มีปัญหาด้านสายตาใช่ไหม ไม่แน่ใจว่าตัวเองสายตาสั้น ยาว หรือเอียง อยากตรวจกับคุณหมอให้มั่นใจ ทาง HDcare พร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพดวงตาและคืนความคมชัดให้กับค่าสายตาของคุณ
นัดหมายปรึกษาปัญหาสายตากับคุณหมอเฉพาะทาง หรือสอบถามแพ็กเกจทำเลสิก แพ็กเกจตรวจสุขภาพตาในราคาสุดคุ้มกับโรงพยาบาลชั้นนำ คลินิกที่ได้เลย!