ปัญหาสายตาสั้น ภาวะสายตาที่พบได้บ่อยในยุคดิจิทัล

ปัญหาสายตาสั้น ภาวะสายตาที่พบได้บ่อยในยุคดิจิทัล

รู้ไหม ประชากรกว่า 40% ทั่วโลก มีภาวะสายตาสั้น ทั้งยังเป็นปัญหาที่พบได้ทุกเพศ ทุกวัย และเป็นอุปสรรคที่ทำให้หลายคนใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากขึ้น เช่น การอ่านหนังสือ การเรียนในห้องเรียน การอ่านป้ายตามทางเดินหรือระหว่างเดินทาง

นอกจากนี้ภาวะสายตาสั้น ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ยังอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุได้ เช่น จากการขับขี่รถยนต์ การควบคุมเครื่องจักร

ฉะนั้นถ้าเริ่มมีภาวะสายตาสั้น แนะนำให้รีบไปตรวจวัดสายตา เพื่อหาทางแก้ไขที่เหมาะกับตัวเองมากที่สุด

สายตาสั้นคืออะไร?

สายตาสั้น (Myopia หรือ Nearsightedness) คือ ภาวะสายตาผิดปกติ ทำให้แสงจากภาพหรือวัตถุ ไปตกกระทบที่ด้านหน้าจอประสาทตา แทนที่จะตกลงบนจอประสาทตาพอดี ทำให้ผู้ที่สายตาสั้นมองเห็นภาพในระยะไกลจากดวงตาได้ไม่ชัดเจน

ภาพจำลองภาวะสายตาสั้น

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

ภาวะสายตาสั้นแบ่งได้ 3 ระดับ ได้แก่

    • สายตาสั้นระดับต่ำ เป็นกลุ่มที่มีค่าสายตาอยู่ที่ประมาณ -0.25 ถึง -3.00 ไดออปเตอร์ (Diopter หรือ D) กลุ่มนี้จะมีปัญหาด้านการมองเห็นระยะไกลที่พร่าเบลอ ทำให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากขึ้น อาจต้องสวมแว่นตา หรือใส่คอนแทคเลนส์ในบางกิจกรรม  
    • สายตาสั้นระดับกลาง เป็นกลุ่มที่มีค่าสายตาอยู่ที่ประมาณ -3.00 ถึง -6.00 ไดออปเตอร์ กลุ่มนี้จะมองเห็นภาพระยะไกลพร่าเบลอมากขึ้น ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันโดยปราศจากแว่นตา หรือคอนแทคเลนส์ได้ แต่ยังไม่มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเป็นโรคทางสายตาที่ต้องรีบรักษา
    • สายตาสั้นระดับมาก เป็นกลุ่มที่มีค่าสายตาสั้นมากกว่า -6.00 ไดออปเตอร์ หรือสายตาสั้นกว่า 600 ขึ้นไป จัดเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างอันตราย เช่น อาจสะดุดล้ม ตกบันได ถ้าไม่ได้สวมแว่นตา เป็นต้น และยังมีโอกาสมองเห็นจุดดำหรือแสงประหลาดในดวงตาด้วย นอกจากนี้ผู้ที่สายตาสั้นในระดับมากยังเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น โรคต้อหิน โรคต้อกระจก ภาวะจอประสาทตาเสื่อม เป็นต้น

กังวลใจอยู่รึเปล่า? สายตาสั้นมากๆ เสี่ยงเป็นโรคร้ายแรงอะไรไหม? ทักหาทีม HDcare นัดปรึกษากับคุณหมอตา หาวิธีแก้ปัญหาสายตาให้เหมาะกับคุณมากที่สุด คลิกเลย

สาเหตุของภาวะสายตาสั้น 

ภาวะสายตาสั้นเกิดได้จากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย เช่น

  • ลักษณะของลูกตา กระจกตามีความโค้งมากกว่าปกติหรือกระบอกตามีความยาวมากกว่าปกติ ทำให้มีการหักเหของแสงมากเกินไป ส่งผลให้แสงโฟกัสไปไม่ถึงจอประสาทตา
  • พันธุกรรม เด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่มีภาวะสายตาสั้นอยู่แล้ว ก็มีโอกาสที่รุ่นลูกจะมีภาวะสายตาสั้นด้วย
  • ความผิดปกติระหว่างคลอดบุตร เด็กที่คลอดก่อนกำหนดหรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดน้อย จะมีความเสี่ยงเกิดภาวะสายตาสั้นได้มากกว่าเด็กทั่วไป
  • ใช้สายตามองในระยะใกล้อยู่เป็นประจำ เช่น การเพ่งอ่านหนังสือ การดูโทรทัศน์ใกล้ๆ การทำงานอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือดูมือถือในระยะใกล้ๆ เป็นเวลานาน 
  • ไม่ออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน เนื่องจากแสงแดดธรรมชาติสามารถช่วยบำรุงการเจริญเติบโตของลูกตาไม่ให้ผิดรูปได้ ผ่านการกระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาทของสมอง ดังนั้นเด็กที่ไม่ค่อยออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน จึงมีโอกาสเกิดปัญหาสายตาสั้นได้มากกว่า

อาการของภาวะสายตาสั้น

ผู้ที่มีภาวะสายตาสั้นมักจะมีพฤติกรรมการใช้สายตาที่เปลี่ยนไป โดยอาการที่มักสังเกตเห็นได้ง่าย ได้แก่

  • เมื่อมองภาพหรือวัตถุระยะใกล้ จะมองเห็นได้ชัดเจน แต่เมื่อมองภาพหรือวัตถุระยะไกล จะมองเห็นทุกอย่างพร่าเบลอ เช่น ป้ายจราจร ตัวอักษร หรือข้อความบนจอโทรทัศน์
  • มักจะเผลอเพ่ง หรี่ตา หรือกะพริบตาบ่อยๆ เวลามองภาพที่อยู่ในระยะไกล หรือต้องขยับไปยืนใกล้ๆ ถึงจะอ่านหรือมองสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างชัดเจน
  • ปวดศีรษะ มีภาวะตาล้า
  • ขับรถได้ยากลำบากขึ้น โดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • ความสามารถในการเล่นกีฬาที่ต้องอาศัยการมองเห็นระยะไกลแย่ลง เช่น ยิงปืน แบตมินตัน เทนนิส 

การมองเห็นเริ่มไม่ชัด มองภาพไกลๆ แล้วไม่เคลียร์ อยากทำเลสิกเพื่อให้การมองเห็นกลับมาชัดอีกครั้ง ปรึกษาทีม HDcare เพื่อหาแพ็กเกจทำเลสิกในราคาโดนใจได้ที่นี่

วิธีรักษาภาวะสายตาสั้น

การรักษาภาวะสายตาสั้นแบ่งได้ 4 ชนิดหลักๆ ได้แก่

  1. การรักษาด้วยวิธีไม่ผ่าตัด เป็นการใช้อุปกรณ์เสริมช่วยปรับให้แสงที่ผ่านเข้ามายังดวงตาหักเหตกลงบนจอประสาทตาพอดี ได้แก่
  • การใส่แว่นตา จัดเป็นตัวเลือกที่ง่าย และยังเลือกชนิดของเลนส์และรูปแบบกรอบแว่นได้ตามต้องการ แต่อาจมีข้อจำกัดคือ ใช้ทำกิจกรรมบางอย่างได้ไม่ถนัดนัก แตกหักได้ง่าย เป็นต้น
  • การใส่คอนแทคเลนส์ เป็นอุปกรณ์เสริมที่ช่วยแก้ปัญหาสายตาได้หลากหลาย ทั้งสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง นอกจากนี้ยังใช้งานได้สะดวกมากกว่าการใส่แว่น แต่ต้องระวังเรื่องสุขอนามัย เพราะหากไม่รักษาความสะอาด หรือใช้ผิดวิธี เช่น ใส่คอนแทคเลนส์ขณะนอนหลับ ดวงตาอาจติดเชื้อจนสูญเสียการมองเห็นได้
  1. การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดทำเลสิก (Laser Assisted In Situ Keratomileusis: LASIK) เป็นการรักษาภาวะสายตาสั้นด้วยการผ่าตัดเพื่อเจียผิวกระจกตาที่ผิดปกติให้กลับมาเรียบโค้งในระดับปกติอีกครั้ง และช่วยคืนความคมชัดให้กับค่าสายตาได้ ปัจจุบันแบ่งออกได้หลายเทคนิค เช่น
  • การทำเลสิกแบบ Trans PRK (Transepithelial Photorefractive Keratectomy) เป็นเทคนิคการทำเลสิกที่แพทย์จะใช้พลังงาน Excimer Laser เข้าไปลอกผิวกระจกตาออกและปรับความโค้งของกระจกตาในขั้นตอนเดียว ไม่มีการใช้เครื่องมือเข้าไปแตะสัมผัสดวงตาแต่อย่างใด
  • การทำเลสิกแบบ SBK (Sub Bowman Keratomileusis) เป็นเทคนิคการทำเลสิกที่แพทย์จะเปิดแยกชั้นกระจกตาได้บางขึ้นกว่าเทคนิคการทำเลสิกดั้งเดิม ช่วยเพิ่มโอกาสให้เนื้อกระจกตาที่เหลืออยู่หลังผ่าตัดยังคงหนาอยู่ ช่วยให้ปรับแก้สายตาได้มากขึ้น และยังช่วยลดอาการตาแห้งหลังทำเลสิกได้ดีอีกด้วย
  • การทำเลสิกแบบ Femto หรือที่นิยมเรียกว่า เลสิกไร้ใบมีด เนื่องจากแพทย์จะใช้พลังงานเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond Laser) เป็นเครื่องมือในการผ่าตัดทุกขั้นตอน ช่วยเสริมความแม่นยำและความปลอดภัยในการผ่าตัดได้มากขึ้น 

ทำเลสิกแบบไหนดี เจาะลึกความต่างของเทคนิคการทำเลสิก แบบไหนเหมาะ มีข้อดี ข้อจำกัดยังไง อ่านได้ที่นี่เลย

แก้ไขสายตาสั้นถาวร หยุดปัญหามองไกลไม่ชัด แถมยังปวดหัวง่าย มีอาการตาล้าระหว่างวัน ปรึกษา HDcare เพื่อหาแพ็กเกจเลสิกในราคาสุดคุ้ม คลิกเลย

  1. การทำ ReLEx SMILE (Refractive Lenticule Extraction, Small Incision Lenticule Extradition) 

เป็นการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่พัฒนามาจากการทำเลสิกแบบไร้ใบมีด แต่แผลจะมีขนาดเล็กกว่า ไม่มีฝาที่กระจกตา และยังช่วยคงความแข็งแรงของกระจกตาไว้ได้

การทำ ReLEx SMILE แพทย์จะใช้พลังงานเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond Laser) ยิงเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา โดยจะยิงทะลุผ่านชั้นกระจกตาเข้าไป โดยไม่ต้องกรีดเปิดฝากระจกตาออก

เมื่อเลเซอร์ผ่านเข้าไปแล้ว จะแยกชั้นกระจกตาเป็นแผ่นบางๆ ซึ่งความหนาของชั้นกระจกตา จะขึ้นอยู่กับปริมาณค่าสายตาที่ต้องการแก้ไข 

หลังนั้นจะใช้เลเซอร์กรีดเปิดกระจกตาเป็นแผลเล็กๆ ขนาด 2-4 มิลลิเมตร แล้วใช้เครื่องมือพิเศษ ดึงชั้นกระจกตา ผ่านแผลออกมา กระจกตาจะถูกเปลี่ยนรูปความโค้งตามต้องการ ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนขึ้น

  1. การรักษาด้วยการใส่เลนส์แก้วตาเทียม หรือการทำ ICL (Implantable Collamer Lens) 

เป็นการผ่าตัดเพื่อใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งเป็นวัสดุชิ้นเล็กที่รูปร่างคล้ายกับเลนส์แก้วตาลงไปด้านหน้าเลนส์แก้วตาธรรมชาติ 

เลนส์แก้วตาเทียมมีคุณสมบัติช่วยเสริมการมองเห็นในระยะที่มีปัญหาให้กลับมาคมชัดได้อีกครั้ง และยังสามารถแก้ไขได้หลายระยะ จึงแก้ภาวะสายตาผิดปกติได้อย่างครอบคลุม ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง

นอกจากนี้เลนส์แก้วตาเทียมยังสามารถถอดออกได้ โดยไม่กระทบต่อโครงสร้างเดิมของเนื้อกระจกตาด้วย

ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะสายตาสั้นมักมีต้นตอมาจากพฤติกรรมการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ ต่อเนื่องกันนานๆ แต่ด้วยวิถีชีวิตประจำวัน ก็อาจจะเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้ยาก ทั้งยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน แต่ทำได้เพียงชะลอให้สายตาเราสั้นช้าลงเท่านั้น 

หากสายตาสั้นแล้ว ก็ต้องรีบรักษา เพราะหากละเลย สายตาอาจยิ่งสั้นขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอันตรายได้

ส่วนใหญ่แล้ว ภาวะสายตาสั้นมักมีต้นตอมาจากพฤติกรรมการใช้สายตาที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ หรือเล่นโทรศัพท์มือถือ ต่อเนื่องกันนานๆ แต่ด้วยวิถีชีวิตประจำวัน ก็อาจจะเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงได้ยาก ทั้งยังไม่มีวิธีป้องกันที่ชัดเจน แต่ทำได้เพียงชะลอให้สายตาเราสั้นช้าลงเท่านั้น 

หากสายตาสั้นแล้ว ก็ต้องรีบรักษา เพราะหากละเลย สายตาอาจยิ่งสั้นขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นอันตรายได้

เริ่มมีภาวะสายตาสั้นใช่ไหม? หรือใส่แว่นมานานจนเบื่อ อยากปรับบุคลิกให้มั่นใจขึ้น ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจทำเลสิก จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top