ผู้ที่เคยผ่านการจัดฟันทุกคนย่อมต้องรู้จักอุปกรณ์ที่ชื่อว่า “รีเทนเนอร์” กันแล้ว เพราะรีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญต่อการเรียงตัวของฟันหลังการจัดฟันเสร็จแล้วอย่างมาก หากจัดฟันเสร็จแล้วไม่ได้ใส่รีเทนเนอร์ ก็มีโอกาสอย่างมากที่ฟันจะล้ม เอียง ได้ดังเดิม
รีเทนเนอร์มีหลายแบบ แต่ละแบบมีจุดเด่น-ข้อด้อยแตกต่างกัน แต่ข้อเดียวที่เหมือนกันคือ ข้อปฏิบัติในการใส่รีเทนเนอร์ ส่วนระยะเวลาในการใส่รีเทนเนอร์จะสั้นยาวแค่ไหน หรือจัดฟันเสร็จแล้วไม่ใส่เลยได้หรือไม่ เรามาดูคำตอบพร้อมๆ กัน
สารบัญ
ความหมาย และความสำคัญของรีเทนเนอร์
รีเทนเนอร์ (Retainer) คือ อุปกรณ์สำหรับคงสภาพแนวฟันทั้งบนและล่างหลังจากจากจัดฟันเสร็จแล้ว การจัดฟันในที่นี้หมายถึงการจัดฟันทุกแบบ ไม่ว่าจะการจัดฟันแบบลวด หรือการจัดฟันแบบใส
ทั้งนี้เพื่อให้แนวฟันบนและล่างที่จัดเรียงใหม่ยังคงสภาพอยู่อย่างนั้นได้ยาวนาน
สาเหตุที่หลังจัดฟันเสร็จแล้วยังต้องใส่รีเทนเนอร์ต่อไปอีก ก็เพราะในช่วงแรกหลังจากถอดอุปกรณ์จัดฟันแล้ว เอ็นยึดปริทันต์ที่ถูกฟันดึงรั้งไปยังตำแหน่งใหม่ ยังสามารถดึงฟันกลับมาตำแหน่งเดิมได้
ผู้ที่เคยจัดฟันจึงจำเป็นต้องมีอุปกรณ์เข้ามาคงสภาพแนวฟันทั้งบนและล่างให้ยังคงอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
ดังนั้นความสำคัญของรีเทนเนอร์คือ การช่วยเป็นโครงสร้างที่ช่วยยึดไม่ให้ฟันที่จัดเสร็จแล้วเคลื่อนตัวกลับไปเรียงผิดรูปอีกครั้ง
ระยะเวลาในการใส่รีเทนเนอร์
ระยะเวลาสำหรับการใส่รีเทนเนอร์ในแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่หากคุณต้องการคงสภาพแนวฟันที่เรียงตัวสวยงามไปตลอด ก็ควรใส่รีเทนเนอร์ไปตลอดชีวิต
โดยในช่วง 1 ปีแรกที่ใส่ คุณอาจต้องใส่รีเทนเนอร์ทั้งกลางวัน และกลางคืน สามารถถอดออกได้เฉพาะเวลาแปรงฟัน หรือขณะรับประทานอาหารเท่านั้น
จากนั้นในปีถัดๆ ไป คุณถึงสามารถลดช่วงเวลาในการใส่รีเทนเนอร์ลงได้ เช่น ใส่เฉพาะเวลานอน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแนะนำของทันตแพทย์ด้วย
ประเภทของรีเทนเนอร์
รีเทนเนอร์สามารถแบ่งออกได้หลักๆ 2 ชนิด ได้แก่
รีเทนเนอร์แบบลวด
มักใช้วัสดุอะคริลิคสำหรับทำเป็นฐาน และมีโครงสำหรับจัดฟันเป็นวัสดุจากลวดโลหะไร้สนิม
- จุดเด่น: มีความแข็งแรง ไม่ขังน้ำลาย สามารถถอดเปลี่ยนสี หรือลายของตัวฐานรีเทนเนอร์ได้
- จุดด้อย: ตัวโครงสร้างที่เป็นลวดโลหะไร้สนิม สามารถเห็นได้ชัดจากภายนอก ผู้อื่นจะเห็นได้ชัดว่า คุณกำลังใส่รีเทนเนอร์
รีเทนเนอร์แบบใส
- ใช้วัสดุจากพลาสติก ดูค่อนข้างกลมกลืนไปกับเนื้อฟัน วิธีใส่จะไม่ซับซ้อนเท่ากับรีเทนเนอร์แบบลวด โดยสามารถใส่ครอบลงไปกับฟันเพียงเท่านั้นก็เสร็จเรียบร้อยจุดเด่น:ไม่ทำให้ผู้อื่นเห็นว่า คุณกำลังใส่รีเทนเนอร์ อีกทั้งยังใส่สบายกว่ารีเทนเนอร์แบบลวด
- จุดด้อย: ทำความสะอาดยาก มีความแข็งแรงน้อยกว่าแบบลวด
ผลกระทบหากไม่ใส่รีเทนเนอร์หลังจัดฟัน
ผู้ที่ไม่ใส่รีเทนเนอร์หลังจัดฟันมีความเสี่ยงที่ฟันจะล้ม เอียง หรือเกได้ ถึงแม้จะเคยจัดฟันให้เรียงตัวอย่างเหมาะสมมาเป็นเวลานานแล้วก็ตาม
นอกจากนี้หากไม่ยอมใส่รีเทนเนอร์ตั้งแต่จัดฟันเสร็จใหม่ๆ แล้วกลับมาใส่รีเทนเนอร์ชิ้นเดิมในภายหลัง ลักษณะรีเทนเนอร์กับลักษณะฟันในเวลานั้นอาจไม่พอดีกันเหมือนช่วงแรกๆ อีก
รีเทนเนอร์อาจหลวม หรือคับตึงกว่าปกติ ส่งผลทำให้เกิดบาดแผลในช่องปากระหว่างใช้งานได้ ซึ่งปัญหานี้สามารถแก้ได้ด้วยวิธีเดียวคือ ไปทำรีเทนเนอร์คู่ใหม่กับทันตแพทย์เท่านั้น
หากมีปัญหาเรื่องการจัดเรียงฟันอีก ฟันล้ม ฟันเอียง และรู้สึกไม่พึงพอใจ หรือไม่มั่นใจอีกแล้ว คุณก็อาจตัดสินใจเข้ารับการจัดฟันใหม่อีกครั้ง
ไม่ได้จัดฟัน ใส่รีเทนเนอร์ได้หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ได้ ไม่จำเป็น และไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะรีเทนเนอร์มีหน้าที่คงสภาพแนวฟันที่จัดใหม่ให้คงอยู่ได้ยาวนาน หากไม่ได้จัดฟันแล้วไปทำรีเทนเนอร์มาใส่เองก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เกิดขึ้น
ยิ่งหากไปหยิบยืมเอารีเทนเนอร์ผู้อื่นมาใส่ หรือไปซื้อรีเทนเนอร์ที่ทำเลียนแบบ ยิ่งห้ามทำโดยเด็ดขาด เพราะทันตแพทย์จะเป็นผู้จัดทำรีเทนเนอร์ทุกชิ้นให้เหมาะสมกับการจัดเรียงฟันของผู้ใส่เท่านั้น แน่นอนว่า รีเทนเนอร์แต่ละชิ้นก็จะมีขนาดและลักษณะแตกต่างกันไป
ดังนั้นหากคุณไม่ได้เป็นเจ้าของรีเทนเนอร์ชิ้นนั้น แล้วนำมันมาใส่กับฟันของตนเอง รีเทนเนอร์ก็อาจแตกเสียหายได้ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดแผลในช่องปาก หรือหากไม่แตกก็อาจเกิดการเสียดสีเพราะแน่นคับเกินไป เจ็บเหงือก และฟัน รู้สึกอึดอัด พูดไม่ชัด รวมทั้งฟันเคลื่อนตำแหน่ง
นอกจากนี้การใส่รีเทนเนอร์ที่ไม่ได้ทำโดยทันตแพทย์ ยังอาจมาพร้อมกับการปนเปื้อนเชื้อโรค วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อใส่เข้าไปอาจทำให้เกิดบาดแผล สร้างความระคายเคืองให้ช่องปากได้
วิธีทำความสะอาด และดูแลรักษารีเทนเนอร์
วิธีดูแลรักษารีเทนเนอร์ทำได้ไม่ยาก เพียงแต่ต้องอาศัยความระมัดระวังและความสม่ำเสมอ เพื่อให้รีเทนเนอร์ยังคงสภาพที่ดี สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์
- ควรแปรงฟันก่อนใช้รีเทนเนอร์ โดยเฉพาะหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ เพื่อไม่ให้มีเศษอาหารเข้าไปสะสมอยู่ในรีเทนเนอร์
- ทำความสะอาดรีเทนเนอร์ด้วยแปรงสีฟันขนนุ่มกับน้ำอุ่นและสบู่อ่อน หลังจากนั้นซับรีเทนเนอร์ให้แห้ง หรืออาจใช้เม็ดทำความสะอาด หรือครีมทำความสะอาดรีเทนเนอร์ก็ได้ แต่ทางที่ดีให้ปรึกษาทันตแพทย์ก่อนว่า ควรใช้สารใดล้างทำความสะอาดรีเทนเนอร์ โดยไม่ทำให้รีเทนเนอร์ผุกร่อน หรือเสียหาย
- อย่าใช้ยาสีฟัน น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก และน้ำร้อนต้มเดือดในการล้างรีเทนเนอร์เพราะอาจทำให้รีเทนเนอร์เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะรีเทนเนอร์แบบใสที่อาจบิดงอเสียรูปจนใช้งานไม่ได้อีก
- ระหว่างวันที่ใช้รีเทนเนอร์ หากรู้สึกว่า มีเศษอาหารเข้าไปติดรีเทนเนอร์ หรือรีเทนเนอร์มีกลิ่นเหม็น ให้ถอดรีเทนเนอร์ออก ผสมน้ำอุ่นกับน้ำยาบ้วนปากในปริมาณเท่ากันเพื่อล้างรีเทนเนอร์แบบชั่วคราว โดยน้ำยาบ้วนปากที่ใช้ล้างรีเทนเนอร์ไม่ควรมีสารแอลกอฮอล์ผสมอยู่
- วางรีเทนเนอร์ให้ห่างจากสัตว์เลี้ยง เพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งสกปรก ขนสัตว์ น้ำลายสัตว์ปนเปื้อนรีเทนเนอร์จนสกปรกส
- เก็บรีเทนเนอร์ใส่กล่องไว้ในกล่องเสมอหากไม่ได้ใช้งาน
- อย่ากำรีเทนเนอร์ ไม่ห่อรีเทนเนอร์ไว้ในกระดาษทิชชู่ เพราะมีโอกาสที่คุณอาจจะเผลอใช้มือกด บิด หรือกำรีเทนเนอร์แรงๆ ระหว่างถือจนรีเทนเนอร์รูปร่างบิดเบี้ยวไปจากเดิม ไม่พอดีต่อช่องปาก และไม่สามารถใช้งานได้อีก รวมทั้งมีโอกาสที่จะลืม หรือเผลอโยนรีเทนเนอร์ทิ้งได้
รีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์ที่เปราะบาง มักเสียหายง่ายหากไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อีกทั้งหลายคนยังชอบมองข้ามความสำคัญของอุปกรณ์นี้ และมองว่า แค่การจัดฟันอย่างเดียวก็สามารถทำให้ฟันสวยไปได้ตลอดชีวิตแล้ว แต่ความจริง รีเทนเนอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการช่วยจัดฟันให้อยู่ในตำแหน่งเรียงสวยงามไปได้เป็นระยะยาวนาน เพียงแต่ต้องใส่รีเทนเนอร์ให้ถูกวิธีเท่านั้น คุณจึงอย่าละเลยที่จะใส่รีเทนเนอร์หลังจัดฟัน และอย่าลืมไปตรวจฟันทุกๆ 6 เดือนกับทันตแพทย์ด้วย เพื่อความมั่นใจในสุขภาพช่องปากของตนเอง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทพญ. สิริพัชร ชำนาญเวช