Default fallback image

สูงวัยใช้ยาต้องระวัง อาจเสี่ยงอันตรายแบบไม่รู้ตัว!

คงเป็นภาพที่เห็นกันบ่อย ผู้สูงวัยที่บ้านจะต้องหยิบยามากินพร้อมกันหลาย ๆ เม็ด ไม่ว่าจะเป็นยาความดัน ยาเบาหวาน หรือยาอื่น เมื่อต้องใช้ยาหลายชนิด ลูกหลานก็คงอดห่วงไม่ได้ว่าอันตรายไหม จะกระทบต่อตับและไตหรือเปล่า 

เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ยา เราควรดูแลผู้สูงอายุอย่างไร หรือผู้สูงอายุเองควรดูแลตัวเองอย่างไร ให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย ยากลุ่มไหนมักก่อให้ปัญหา และปัญหาการกินยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ บทความนี้มีคำตอบมาฝาก

ทำไมผู้สูงอายุต้องระวังการใช้ยา 

เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายของผู้สูงอายุจะมีการเปลี่ยนแปลงในหลายด้าน เหมือนเครื่องจักรที่ใช้งานมานาน ทำงานได้ช้าลงกว่าเดิม ประสิทธิภาพลดลง ทั้งการดูดซึมยา การกระจายตัวยา และการกำจัดยาออกจากร่างกาย 

ตามธรรมชาติเมื่อเราอายุมากขึ้น การไหลเวียนเลือดและน้ำย่อยในทางเดินอาหารน้อยกว่าเดิม ร่างกายจะดูดซึมยาได้น้อยลง รวมถึงการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหารลดลง ยาสัมผัสกับกระเพาะอาหารนานขึ้น 

ขณะเดียวกันสัดส่วนไขมันในร่างกายมากขึ้น ปริมาณน้ำในร่างกายลดลง ทำให้ยาบางชนิดจับตัวกับไขมันหรือน้ำได้ดี จึงอยู่ในร่างกายได้นานมากขึ้น และออกฤทธิ์นานขึ้นด้วย 

ส่วนตับและไตก็ทำงานได้ไม่ดีเท่าเดิม ยาถูกขับออกจากร่างกายได้น้อยลง เพิ่มโอกาสให้เกิดผลข้างเคียงจากยาได้ง่ายขึ้น ยิ่งผู้สูงอายุมักมีโรคประจำตัวหลายโรค ต้องกินยาหลายตัวพร้อมกัน ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interaction) หรือยาตีกันได้ด้วย  

การดูแลเรื่องยาให้ผู้สูงอายุจึงสำคัญมาก ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ในการใช้ยาให้เหมาะสม คอยสังเกตอาการผิดปกติอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การใช้ยาเกิดประโยชน์สูงสุด และปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ

ปัญหาการใช้ยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ

การใช้ยาไม่ถูกวิธี การใช้ยาไม่เหมาะสม รวมไปถึงการเก็บยาผิดวิธี อาจก่อให้เกิดอันตรายกับร่างกายได้ทั้งนั้น โดยปัญหาการใช้ยาของผู้สูงอายุที่พบบ่อย เช่น 

  • ใช้ยาหลายชนิด: เพื่อรักษาโรคประจำตัว ผู้สูงอายุมักต้องใช้ยาหลายชนิด และพบแพทย์หลายโรค ทำให้ต้องใช้ยาหลายตัว เสี่ยงต่อการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาหรือยาตีกันในร่างกาย ส่งผลให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์และอันตรายจากยาได้
  • หลงลืมกินยา: ผู้สูงอายุมักจะมีปัญหาความจำที่เสื่อมถอย ทำให้ลืมกินยาหรือกินยาผิดเวลา การรักษาโรคไม่ได้ผลหรือไม่ดีเท่าที่ควร 
  • อ่านฉลากยาผิด: ผู้สูงอายุหลายคนมีปัญหาตาพร่ามัว ทำให้อ่านตัวหนังสือเล็กๆ บนฉลากยาไม่ชัด อาจนำไปสู่การหยิบยาผิดหรือกินยาเกินขนาด ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงขั้นอาการทรุดหนักได้
  • มีความเชื่อหรือทัศนคติเกี่ยวกับยาหรือโรคไม่ถูกต้อง: ผู้สูงอายุหลายคนคิดว่ายิ่งกินยามาก ยิ่งหายไว หรืออาหารเสริมและสมุนไพรมาจากธรรมชาติ กินมากไม่อันตราย ทำให้กินยาหรือสารเหล่านั้นเกินความจำเป็น ตับและไตทำงานหนัก เสื่อมเร็ว หรือเกิดผลข้างเคียงรุนแรง 
  • เก็บยาไม่ถูกวิธี: ผู้สูงอายุอาจไม่รู้ว่ายาแต่ละชนิดควรเก็บอย่างไร ทำให้ยาเสื่อมคุณภาพเร็ว ประสิทธิภาพของยาลดลง เช่น เก็บให้พ้นแสง หรือในตู้เย็น 

การเอาใจใส่เรื่องการใช้ยาของผู้สูงอายุจะช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากขึ้น ทุกครั้งที่มีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร หรือให้ลูกหลานช่วยดูแลเรื่องการใช้ยาอย่างใกล้ชิด 

กลุ่มยาที่ต้องใช้อย่างระวังในผู้สูงอายุ

ยาหลายตัวอาจมีผลข้างเคียงของยา  และผลข้างเคียงจากยาเหล่านั้นมักเป็นเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้ม โดยเฉพาะยากลุ่มต่อไปนี้

  • ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก และยาแก้หวัดรุ่นเก่า เช่น ไดเฟนไฮดรามีน (Diphenhydramine) บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine) และคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ทำให้ง่วง สับสน ท้องผูก ปากแห้ง ตาแห้ง ปัสสาวะไม่ออก และอาจทำให้เสี่ยงต่อการหกล้ม 
  • ยานอนหลับและยาคลายกังวล เช่น ไดอะซีแพม (Diazepam) และลอราซีแพม (Lorazepam) อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม สับสน เพิ่มความเสี่ยงต่อการหกล้ม กระดูกหัก และภาวะสมองเสื่อม
  • ยาแก้ปวดลดอักเสบหรือยาเอ็นเสด (NSAIDs) โดยเฉพาะเมื่อใช้เป็นเวลานาน เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) และแอสไพริน (Aspirin) เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร เลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นพิษต่อไต ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อการหกล้ม 
  • ยาลดความดันโลหิต เช่น อะทีโนลอล (Atenolol) คาร์วีดิลอล (Carvedilol) และพราโซซิน (Prazosin) อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำขณะเปลี่ยนท่าทางทันทีทันใด เมื่อจะลุก นั่ง หรือยืนควรค่อย ๆ ทำอย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้หน้ามืด เป็นลม หรือล้มลงได้
  • กลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อ เช่น อาจทำให้เกิดอาการง่วงซึม ปากแห้ง เวียนศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง เพิ่มโอกาสในการหกล้ม

นอกจากนี้ ยังมียากลุ่มอื่นอีก อาหารเสริม สมุนไพร วิตามินอื่น การใช้ยาหรือสารใด ๆ ควรอยู่ภายใต้การดูของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อลดปัญหาจากการใช้ยา

ผู้สูงอายุใช้ยาอย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีปัญหาสุขภาพหลากหลาย ทำให้มีโรคประจำตัวมากขึ้น และจำเป็นต้องใช้ยามากขึ้นด้วย จึงจำเป็นต้องใช้ยาให้เหมาะสม ถูกกับโรค ถูกขนาดยา และถูกเวลา 

หากเป็นได้ควรมีคนช่วยดูแลการใช้ยาของผู้สูงอายุ ตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • ก่อนใช้ยาควรอ่านฉลากยาให้ละเอียด ตรวจสอบวันหมดอายุของยา 
  • กินยาตามเวลาในปริมาณเหมาะสมตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด หรือตามคำแนะนำบนฉลากยา เช่น ยาก่อนอาหารควรกินก่อนอาหารอย่างน้อย 30 นาที ส่วนยาหลังอาหารกินหลังอาหารได้ทันที 
  • ไม่ปรับหรือลดปริมาณการกินยาด้วยตัวเอง
  • หลีกเลี่ยงการซื้อยามากินเอง เพราะอาจทำให้ยาตีกันจนเกิดผลข้างเคียงรุนแรง หรือยาลดประสิทธิภาพในการรักษาลง
  • ถ้ากินยาหลายตัวร่วมกัน ควรนำยาทั้งหมดไปให้แพทย์หรือเภสัชกรดูด้วยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการกินยาซ้ำซ้อนหรือกินยาเกินขนาด 
  • เมื่อเริ่มยาใหม่ ควรสอบถามถึงอาการข้างเคียงและข้อควรระวังในการใช้ยาทุกครั้ง 
  • ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบด้วยถ้ามีการใช้อาหารเสริม วิตามิน และสมุนไพร เพราะอาจมีผลกับยาปัจจุบันที่ใช้อยู่

วิธีป้องกันการลืมกินยาในผู้สูงอายุ

การลืมกินยาเป็นอีกปัญหาที่พบในผู้สูงอายุและส่งผลต่อการรักษาโรค อาจจะลองเอาเทคนิคต่อไปนี้ไปปรับใช้ได้

ใช้กล่องแบ่งยา
จัดยาเป็นชุด แบ่งเป็นมื้อ เช้า กลางวัน ก่อนนอน ก่อนหรือหลังอาหาร ตามที่แพทย์สั่งบนฉลากยา พร้อมกับระบุวันของสัปดาห์ให้ชัดเจน แต่ไม่ควรจัดยาไว้ล่วงหน้าจำนวนมากเกินไป เพราะยาบางชนิดอาจไวต่อแสงหรือความชื้น ทำให้เสื่อมสภาพได้

ทำตารางเวลาการใช้ยา
เขียนตารางเวลาที่ต้องกินยาแต่ละชนิดและวางไว้ในที่ที่มองเห็นง่าย เช่น ตู้เย็นหรือโต๊ะอาหาร เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถติดตามได้ง่ายและไม่พลาดการกินยา

ตั้งนาฬิกาปลุกหรือเตือนความจำ
ใช้นาฬิกาปลุก หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เพื่อเตือนเวลาที่ต้องกินยา เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สะดวกในการช่วยเตือนเวลาให้ผู้สูงอายุ

สมาชิกครอบครัวหรือผู้ดูแลช่วยเตือน
นอกจากการใช้อุปกรณ์ช่วยเตือนแล้ว คนดูแล ลูกหลาน หรือคนในครอบครัว สามารถเตือนให้ผู้สูงอายุกินยาเมื่อถึงเวลา และคอยสังเกตว่ากินยาถูกต้องหรือไม่

เมื่อลืมกินยา ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
หลังจากได้รับยามาแล้ว ผู้สูงอายุหรือผู้ดูแล ควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรในกรณีที่ลืมกินยา เพราะยาแต่ละตัวอาจกินไม่เหมือนกัน บางตัวกินได้ทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ บางตัวให้ข้ามไปกินมื้อถัดไปได้เลย

การใช้ยาอย่างถูกวิธี ไม่ลืมกินยาหรือไม่กินยาเกิน จะช่วยให้การรักษาโรคมีประสิทธิภาพ และอย่าลืมพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อติดตามอาการและผลการรักษา 

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพเป็นประจำ ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับตับ ไต หรือพบความผิดปกติในด้านใด จะได้รับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม

สูงวัยต้องเช็กให้ชัวร์! HDmall.co.th มีแพ็กเกจครบวงจร ตรวจสุขภาพผู้สูงวัย ตรวจเลือด ตรวจสุขภาพไต จากรพ.ชั้นนำทั่วประเทศ จองเลยวันนี้ในราคาโปร !

Scroll to Top