Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน)

Fluoxetine (ฟลูออกซิทีน) เป็นยาต้านอาการซึมเศร้ากลุ่ม SSRIs (Selective serotonin reuptake inhibitors) ใช้รักษาโรคซึมเศร้า โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive compulsive disorder) และลดอาการตื่นตระหนก (Panic disorder)

นอกจากนี้ยังใช้รักษาอาการจากโรคพฤติกรรมการรับประทานอาหารผิดปกติ หรือโรคบูลิเมีย (Bulimia) และใช้บรรเทากลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD: Premenstrual dysphoric disorder) ได้อีกด้วย 

Fluoxetine ใช้รักษาโรคอะไร 

Fluoxetine จะออกฤทธิ์เพิ่มสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมอง ซึ่งจะช่วยให้อารมณ์ดีขึ้น นอนหลับได้ง่ายขึ้น เพิ่มความอยากอาหาร และเพิ่มระดับพลังงานในร่างกาย 

Fluoxetine ใช้รักษาโรคและอาการต่าง ๆ เหล่านี้

  • โรคซึมเศร้า: ช่วยลดอาการซึมเศร้า อารมณ์ไม่ดี และความคิดลบ
  • โรคย้ำคิดย้ำทำ (OCD: Obsessive compulsive disorder): ช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการกับความคิดย้ำคิดย้ำทำ 
  • โรคแพนิก (Panic disorder): ช่วยลดอาการตื่นตระหนกและความวิตกกังวล
  • โรควิตกกังวลทั่วไป (GAD: Generalized anxiety disorder): ช่วยลดความตึงเครียดและอาการวิตกกังวลทั่วไป 
  • โรคบูลิเมีย (Bulimia nervosa): ช่วยลดความถี่ของอาการอาเจียน รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารแบบบีบบังคับ 
  • อาการดิสโทเนีย (Dystonia) หลังคลอด: ช่วยลดอารมณ์ที่ไม่ดีและอาการซึมเศร้าหลังคลอด

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลก่อนได้รับยา Fluoxetine 

ก่อนการใช้ยา Fluoxetine ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทราบเกี่ยวกับประวัติทางการแพทย์เสมอ โดยเฉพาะในกรณีที่: 

  • ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder)
  • ตนเองหรือคนในครอบครัวมีประวัติคิดฆ่าตัวตาย
  • เป็นโรคตับ
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • โซเดียมในเลือดต่ำ เช่น เกิดขึ้นระหว่างการใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretics)
  • ร่างกายขาดน้ำอย่างรุนแรง
  • มีอาการชัก
  • เป็นแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้
  • ตนเองหรือคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหินมุมปิด

การใช้ยา Fluoxetine 

ยา Fluoxetine มีทั้งรูปแบบยาเม็ด ยาแคปซูล และยาน้ำ ส่วนมากมักจะพบในรูปแบบเม็ด ขนาดยา 20 มิลลิกรัม แพทย์จะเป็นคนกำหนดปริมาณการใช้ยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน 

โดยทั่วไป ยารูปแบบยาเม็ดจะให้รับประทานวันละ 1 ครั้งตอนเช้า หรือวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้ากับตอนกลางวัน  

ถ้าเป็นยารูปแบบน้ำ ให้ตวงยาโดยใช้อุปกรณ์ตวงยาหรือช้อนตวงยาโดยเฉพาะ อย่าใช้ช้อนรับประทานอาหารตวงยา เพราะอาจได้รับขนาดยาไม่ถูกต้องได้

ผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างต่อเนื่องให้ครบ สอบถามการใช้ยาจากแพทย์หรือเภสัชกรให้แน่ชัด โดยอาจมีการปรับขนาดยาเพิ่มได้ตามอาการ และควรอ่านฉลากแนะนำวิธีใช้ยาอย่างละเอียด 

สำหรับอาการก่อนมีประจำเดือน แพทย์อาจให้รับประทานยานี้ทุกวัน หรือให้รับประทานช่วง 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือน ไปจนถึงวันแรกที่มีประจำเดือน

โดยส่วนใหญ่ อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นภายใน 1–2 สัปดาห์ และอาจใช้เวลานานถึง 4–5 สัปดาห์ จึงจะเห็นผลจากยาเต็มที่ และให้แจ้งแพทย์ทันที หากอาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ปฏิกิริยาระหว่างยา Fluoxetine กับยาอื่น ๆ 

การเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา (Drug interactions) อาจเปลี่ยนแปลงการออกฤทธิ์ของยาหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงได้ 

จึงต้องแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบทุกครั้ง ว่ากำลังรับประทานยา อาหารเสริม หรือสมุนไพรใด ๆ อยู่ในช่วงนี้ ห้ามเริ่มยา หยุดยา หรือเปลี่ยนแปลงขนาดยาต่าง ๆ เองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 

ก่อนการใช้ยาอื่น ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร หากรับประทานยา Fluoxetine ในช่วง 5 สัปดาห์ที่ผ่านมา เพราะยา Fluoxetine อาจอยู่ในร่างกายได้นานหลายสัปดาห์หลังรับประทานยามื้อสุดท้าย และอาจเกิดปฏิกิริยากับยาอื่นได้หลายชนิดด้วย 

ตัวอย่างยาที่อาจเกิดปฏิกิริยาร่วมกับยา Fluoxetine 

ยาในกลุ่ม MAO Inhibitors

การใช้ยาในกลุ่ม MAO Inhibitors ร่วมกับยา Fluoxetine อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาที่ร้ายแรงจนเสียชีวิตได้ ควรเว้นระยะห่างในการใช้ยากลุ่ม MAO Inhibitors อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนหรือ 5 สัปดาห์หลังใช้ยา Fluoxetine โดยปรึกษาแพทย์เสมอว่าควรเริ่มหรือหยุดยา Fluoxetine เมื่อไร 

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ เช่น Isocarboxazid, Linezolid, Methylene Blue, Moclobemide, Phenelzine, Procarbazine, Rasagiline, Safinamide, Selegiline, หรือ Tranylcypromine 

ยา Aspirin

เมื่อใช้ยา Fluoxetine ร่วมกับยา Aspirin อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออก 

แต่กรณีที่แพทย์สั่งยา Aspirin ขนาดต่ำ เพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Heart attack) หรือโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) โดยขนาดยาทั่วไปจะอยู่ที่ 81–325 มิลลิกรัมต่อวัน ก็ใช้ยาต่อไปได้ ยกเว้นแพทย์สั่งยาชนิดอื่น 

ยาที่เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin)

การใช้ยา Fluoxetine ร่วมกับยาอื่นที่เพิ่มปริมาณสารสื่อประสาท Serotonin ในร่างกาย อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการเซโรโทนินหรือเซโรโทนินเป็นพิษ (Serotonin syndrome/toxicity) 

เช่น สมุนไพร St. John’s wort และยาต้านเศร้าบางชนิด (ยาในกลุ่ม SSRIs เช่น Citalopram/Paroxetine หรือยาในกลุ่ม SNRIs เช่น Duloxetine/Venlafaxine) ซึ่งความเสี่ยงจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเพิ่มขนาดยา 

ยาอื่น ๆ เช่น

  • ยาที่อาจส่งผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือทำให้คลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวขึ้น ได้แก่ Pimozide และ Thioridazine
  • ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น  Propafenone หรือ Flecainide
  • ยาที่ถูกขจัดออกจากร่างกายผ่านเอนไซม์ที่ตับบางชนิด รวมถึงยา Vinblastine
  • ยาต้านเศร้ากลุ่ม Tricyclic Antidepressants เช่น Desipramine/Imipramine
  • ยาที่ทำให้เกิดเลือดออก มีรอยช้ำ เช่น ยาต้านเกล็ดเลือดอย่าง Clopidogrel ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) อย่าง Ibuprofen หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่าง Warfarin

ข้อควรระวังในการใช้ยา Fluoxetine 

  • ก่อนใช้ยา Fluoxetine ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ประวัติการแพ้ยา หรือแพ้สารอื่น ๆ เพราะตัวยาอาจประกอบด้วยสารไม่ออกฤทธิ์ที่เป็นสาเหตุของการแพ้หรือปัญหาอื่นได้ 
  • ยา Fluoxetine อาจทำให้เวียนศีรษะหรือง่วงนอน จึงไม่ควรขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร หรือทำกิจกรรมใด ๆ ที่ต้องตื่นตัวอยู่ตลอด และห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาการจะยิ่งรุนแรงขึ้น 
  • ถ้ากำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ทำให้ง่วงนอน ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ เช่น แอลกอฮอล์ ยาต้านฮีสตามีน (เช่น Cetirizine, Diphenhydramine) ยานอนหลับ หรือยารักษาอาการวิตกกังวล (เช่น Alprazolam, Diazepam, Zolpidem) ยาคลายกล้ามเนื้อ และยาแก้ปวดที่อาจทำให้เสพติดได้ (เช่น Codeine)  
  • ยา Fluoxetine อาจเป็นสาเหตุของหัวใจเต้นผิดจังหวะ ชนิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาว (QT prolongation) แม้เป็นภาวะพบได้น้อย แต่ร้ายแรงจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ กรณีมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือตัวเองเป็นโรคหัวใจ ต้องแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบก่อน
  • ยา Fluoxetine รูปแบบน้ำอาจมีส่วนประกอบของแอลกอฮอล์ จึงต้องระมัดระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง หรือผู้ป่วยโรคตับ 
  • ผู้สูงอายุอาจมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงจากยาได้มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะอาการเลือดออก และหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด QT prolongation 
  • ยา Fluoxetine อาจรบกวนผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ หรือผลตรวจทางการแพทย์ อย่างการตรวจสแกนสมองสำหรับโรคพาร์กินสัน ทำให้ผลการตรวจผิดพลาดได้ จึงต้องแจ้งแพทย์และเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการทุกครั้งหากกำลังใช้ยานี้อยู่

คำเตือนในการใช้ยา Fluoxetine 

ยาต้านเศร้า (Antidepressant medications) เป็นยาที่ใช้รักษาโรคได้หลายโรค เช่น โรคซึมเศร้า โรคเกี่ยวกับความผิดปกติทางจิตใจหรืออารมณ์ต่าง ๆ (Mental/Mood disorders) ซึ่งจะช่วยป้องกันความคิดหรือพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตาย

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแย่ลงจากการใช้ยาต้านเศร้า สิ่งสำคัญ คือการปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์และความเสี่ยงที่อาจได้รับจากยานี้ แม้จะไม่ได้ใช้ยาเพื่อรักษาอาการทางจิตใจโดยตรงก็ตาม โดยเฉพาะผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี

แจ้งแพทย์ทันที หากใช้ยาแล้วมีอาการซึมเศร้า อาการทางจิตแย่ลง มีพฤติกรรมผิดปกติไป มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย เกิดความเปลี่ยนแปลงของสภาพจิตใจ อารมณ์ 

เช่น วิตกกังวลมากกว่าเดิม ตื่นตระหนก มีปัญหาในการนอน หงุดหงิด ฉุนเฉียว รู้สึกเกลียด โกรธ หุนหันพลันแล่น กระวนกระวายใจอย่างรุนแรง พูดเร็วมาก โดยให้สังเกตอาการเหล่านี้เป็นพิเศษในช่วงเริ่มใช้ยาต้านเศร้า หรือเมื่อมีการปรับขนาดยา

ผู้ที่ห้ามใช้ยา Fluoxetine 

ห้ามใช้ยา Fluoxetine เด็ดขาดในผู้ป่วยบางกลุ่ม โดยเฉพาะโรคหรือภาวะต่อไปนี้ หากมีโรคประจำตัวหรือภาวะใด ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอก่อนใช้ยา 

  • เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นกลุ่มอาการของการหลั่งฮอร์โมนต้านการขับปัสสาวะไม่เหมาะสม (Syndrome of inappropriate antidiuretic hormone secretion)
  • มีระดับแมกนีเซียม (Magnesium) ในเลือดต่ำ
  • มีระดับโซเดียม (Sodium) ในเลือดต่ำ
  • มีระดับโพแทสเซียม (Potassium) ในเลือดต่ำ
  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดเลือดออกมากกว่าปกติ
  • เป็นโรคไบโพลาร์ 
  • มีพฤติกรรมร่าเริงและทำกิจกรรมต่าง ๆ มากเกินไป
  • มีอาการคลุ้มคลั่งที่ไม่รุนแรง (Mild degree of mania)
  • มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • เป็นกลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) ที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยาได้
  • เป็นโรคต้อหินมุมปิด หรือเสี่ยงต่อการเป็นต้อหินมุมปิด
  • มีอาการกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดใน 30 วันที่ผ่านมา
  • หัวใจเต้นเร็วชนิดตอร์ซาดเดอปวงต์ (Torsades de Pointes) 
  • หัวใจเต้นช้า
  • พบคลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ยาวจากการตรวจ EKG
  • มีอาการหัวใจล้มเหลวอย่างรุนแรงเฉียบพลัน
  • คลื่นไฟฟ้าหัวใจช่วง QT ผิดปกติแต่กำเนิด
  • ตับแข็ง หรือเป็นโรคตับ
  • มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือหลอดอาหาร
  • มีอาการชัก
  • มีอาการเบื่ออาหาร
  • มีระดับเอนไซม์ CYP2D6 น้อยกว่าปกติ (CYP2D6 poor metabolizer)
  • แพ้ยา Fluoxetine หรือยาอื่น ๆ ที่โครงสร้างคล้ายกัน
  • แพ้ยาในกลุ่ม SSRIs

การได้รับยา Fluoxetine เกินขนาด

อาการที่เกิดจากการได้รับยา Fluoxetine เกินขนาด เช่น เวียนศีรษะอย่างรุนแรง หน้ามืด

หากได้รับยานี้เกินขนาดจนก่อให้เกิดอาการร้ายแรง เช่น หมดสติ หรือหายใจลำบาก ให้รีบเรียกรถพยาบาลทันที โทร 1669

หมายเหตุ: ห้ามแบ่งยานี้ให้ผู้อื่นใช้เด็ดขาด ต้องไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจร่างกาย และติดตามอาการทางจิตเวช

การใช้ยา Fluoxetine ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

เนื่องจากโรคเกี่ยวกับอารมณ์หรือสภาพจิตใจที่ไม่ได้รับการรักษา เช่น โรคซึมเศร้า โรคตื่นตระหนก โรคย้ำคิดย้ำทำ อาจเป็นอาการที่ร้ายแรงได้ ดังนั้น หากเริ่มใช้ยาแล้ว ห้ามหยุดยาเองโดยที่แพทย์ไม่ได้สั่ง 

ถ้าคุณกำลังวางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือคิดว่าตนเองอาจจะตั้งครรภ์ ให้รีบปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงและประโยชน์ที่จะได้รับจากยานี้ขณะตั้งครรภ์ทันที

ระหว่างการตั้งครรภ์ ควรใช้ Fluoxetine เฉพาะในกรณีที่ประเมินแล้วว่ามีความจำเป็นจริง ๆ เพราะยาอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกในครรภ์ได้ 

นอกจากนี้ เด็กทารกที่คลอดจากมารดาผู้ใช้ยานี้ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์อาจมีอาการถอนยา เช่น หายใจลำบาก ดูดนมลำบาก มีอาการชัก กล้ามเนื้อแข็งเกร็ง หรือร้องไห้ไม่หยุด ถ้าพบอาการเหล่านี้ในเด็กแรกเกิด ให้รีบแจ้งแพทย์ทันที

ยา Fluoxetine ผ่านไปยังน้ำนมได้ และอาจทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ในทารกที่ดูดนม จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนให้นมบุตร

ถ้าลืมกินยา Fluoxetine ต้องทำอย่างไร

ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด) 

กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

ผลข้างเคียงจากยา Fluoxetine 

โดยส่วนใหญ่ การที่แพทย์สั่งยานี้ให้ หมายความว่า แพทย์ได้ประเมินแล้วว่าผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากยานี้มากกว่าความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียง ผู้ป่วยหลาย ๆ รายจึงไม่ได้รับผลข้างเคียงร้ายแรงจากการใช้ยา 

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ใช้ยา Fluoxetine บางรายก็อาจเจอกับผลข้างเคียงได้ ทั้งผลข้างเคียงทั่วไป และผลข้างเคียงที่ร้ายแรง แต่พบได้น้อย 

ผลข้างเคียงทั่วไป 

  • คลื่นไส้ ง่วงนอน เวียนศีรษะ วิตกกังวล นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย เหงื่อออก หรือมีอาการหาว ถ้าอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ให้แจ้งแพทย์ทันที
  • หากเป็นผู้ป่วยเบาหวาน ยา Fluoxetine อาจส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงต้องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำ และควรนำผลตรวจมาให้แพทย์ดูด้วย ซึ่งแพทย์อาจจำเป็นต้องปรับยารักษาโรคเบาหวาน ปรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายในขณะที่เริ่มหรือหยุดยา Fluoxetine
  • ยา Fluoxetine อาจเพิ่มปริมาณสารสื่อประสาทเซโรโทนิน (Serotonin) ที่อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนินหรือเซโรโทนินเป็นพิษได้ ให้ไปพบแพทย์ทันที ถ้ามีอาการดังนี้: หัวใจเต้นเร็ว ประสาทหลอน สูญเสียการประสานงานกันของร่างกาย เวียนศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียอย่างรุนแรง กล้ามเนื้อกระตุก มีไข้อย่างไม่ทราบสาเหตุ กระสับกระส่าย กระวนกระวายผิดปกติ
  • กรณีที่พบได้น้อย คือการปวดอวัยวะเพศชาย หรืออวัยวะเพศแข็งตัวนานตั้งแต่ 4 ชั่วโมงขึ้นไป ถ้ามีอาการนี้เกิดขึ้น ให้หยุดใช้ยา และไปพบแพทย์ทันที  ซึ่งผลข้างเคียงนี้อาจเรื้อรังได้หากยังใช้ยาต่อไป

นอกจากผลข้างเคียง อาจเกิดอาการแพ้ยาได้ด้วย แต่พบได้น้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม หากเกิดอาการแพ้ยาใด ๆ เช่น ผื่นคัน หรือผื่นบวม โดยเฉพาะที่หน้า ลิ้น คอ เวียนศีรษะรุนแรง หรือหายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน 

ผลข้างเคียงร้ายแรงที่อาจพบได้ 

แจ้งแพทย์ทันที หากมีอาการข้างเคียงเหล่านี้ 

  • มีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ หรือสภาพจิตใจอย่างผิดปกติ รุนแรง เช่น กระสับกระส่าย ตื่นตัวมากผิดปกติ รู้สึกมีพละกำลังมากผิดปกติ มีความคิดฆ่าตัวตาย
  • มีเลือดออกง่าย มีรอยช้ำง่าย
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง กล้ามเนื้อหดเกร็ง
  • ตัวสั่น
  • ความสนใจทางเพศลดลง
  • ความสามารถทางเพศเปลี่ยนไป
  • น้ำหนักลดผิดปกติ
  • อุจจาระปนเลือด อุจจาระมีสีดำ หรือเหมือนน้ำมันดิน
  • อาเจียนคล้ายกากกาแฟ
  • หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • หน้ามืด เป็นลม
  • มีอาการชัก
  • มีอาการของโรคไต เช่น มีการเปลี่ยนแปลงปริมาณปัสสาวะ
  • ปวดตา ตาบวม ตาแดง
  • รูม่านตาขยาย
  • การมองเห็นผิดปกติ เช่น มองเห็นรุ้งรอบแสงไฟตอนกลางคืน ตาพร่ามัว

ผลข้างเคียงที่กล่าวไว้ข้างต้นไม่ใช่อาการข้างเคียงทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากมีอาการผิดปกติใด ๆ นอกเหนือจากนี้ ให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 

การเก็บรักษายา Fluoxetine 

เก็บรักษายาที่อุณหภูมิห้อง ห่างจากแสงแดดและความชื้น ไม่เก็บยาในห้องน้ำ และเก็บให้ห่างจากมือเด็กและสัตว์เลี้ยง (รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ ด้วย) 

นอกจากนี้ ห้ามเทยา Fluoxetine ทิ้งในห้องน้ำหรือในท่อระบายน้ำ แต่ให้ทิ้งยานี้อย่างเหมาะสมเมื่อยาหมดอายุ หรือเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้ยาอีก

เพราะเราอยากให้คุณแข็งแรงทั้งกายและใจ HDmall.co.th จึงรวบรวมแพ็กเกจปรึกษาสุขภาพจิต (Mental Health Check Up) ใกล้บ้านคุณไว้ให้ หรือถ้าหาอันไหนไม่เจอ แช็ตมาสอบถามแอดมินของเราได้เลย ที่นี่

อย่าลืมดูแลรักษาหัวใจกันนะ

Scroll to Top