ภูมิแพ้อาหารแฝง สาเหตุของอาการผิดปกติมากมาย


ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ตรวจอย่างไร? ใครควรตรวจ? รักษาได้ไหม? ภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดจากอะไร? อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝงมีอะไรบ้าง? ทำให้เกิดสิวอักเสบ จริงไหม? หากมีอาการแพ้อาหารแฝง ยังกินได้ไหม?​ หาคำตอบได้ที่นี่

หากคุณเป็นคนที่มีอาการท้องเสียท้องอืดเป็นประจำ มีปัญหาสิวอักเสบ ปวดไมเกรน ปวดศีรษะเรื้อรัง หรือผื่นคัน โดยไม่ทราบสาเหตุ นั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance) ก็ได้

ในบทความนี้ HDmall.co.th จะพาไปทำความรู้จักกับโรคภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร? เกิดจากอะไร? ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงอย่างไร? ซึ่งอาจช่วยให้พบสาเหตุของอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นอยู่ได้ จะน่าสนใจแค่ไหน ไปดูกันเลย


เลือกอ่านหัวข้อตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงที่สนใจ

  • ภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร?
  • ภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดจากอะไร?
  • ภูมิแพ้อาหารแฝงต่างจากแพ้อาหารอย่างไร?
  • อาการของโรคภูมิแพ้อาหารแฝง เป็นอย่างไร?
  • อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝง มีอะไรบ้าง?
  • ภูมิแพ้อาหารแฝง ตรวจอย่างไร?
  • ใครควรตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง?
  • ก่อนตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ต้องเตรียมตัวอย่างไร?
  • ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีขั้นตอนอย่างไร?
  • หลังตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ควรดูแลตนเองอย่างไร?
  • ข้อดีของการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีอะไรบ้าง?
  • ข้อเสียของการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีอะไรบ้าง?
  • โรคภูมิแพ้อาหารแฝงมีความสัมพันธ์กับการเกิดสิวอย่างไร?
  • รู้ว่าแพ้อาหารแฝงชนิดไหนแล้ว ยังกินได้อยู่ไหม?
  • โรคภูมิแพ้อาหารแฝงรักษาหายไหม?
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ที่นี่ หรือแอดไลน์ @hdcoth

  • ภูมิแพ้อาหารแฝง คืออะไร?

    ภูมิแพ้อาหารแฝง (Food intolerance) คือ อาการแพ้อาหารแบบเรื้อรัง เมื่อรับประทานอาหารที่แพ้แฝงเข้าไปแล้ว จะไม่ทำให้เกิดอาการแพ้ทันที แต่ถ้ารับประทานอาหารชนิดนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้เกิดอาการผิดปกติตามมา

    อาการแพ้อาหารแฝงสามารถเกิดขึ้นได้หลายระบบในร่างกาย เช่น ระบบทางเดินอาหาร ระบบประสาท หรือระบบทางเดินหายใจ แต่เป็นอาการที่ไม่รุนแรง และมีลักษณะอาการแบบเรื้อรัง เช่น ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ปวดหัวเรื้อรัง ปวดไมเกรน ไอจาม หรือสิวอักเสบ

    ผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหารแฝงมักไม่รู้ตัวว่าเป็นภาวะนี้อยู่ และเข้าใจผิดว่า อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเกิดจากสาเหตุอื่น เช่น โรคแพ้อากาศ ฮอร์โมนทำงานผิดปกติ หรือความเครียด ทำให้รักษาไม่ถูกวิธี และยังคงมีอาการนี้อยู่นั่นเอง

    ภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดจากอะไร?

    ภูมิแพ้อาหารแฝง เกิดจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันชนิด IgG (Immunoglobulin G) ขึ้นมาต่อต้านอาหารที่รับประทานเข้าไป โดย IgG จะเข้าใจผิดว่าอาหารเป็นสิ่งแปลกปลอม และเข้าไปทำลาย ส่งผลให้เนื้อเยื่อตามส่วนต่างๆ ถูกทำลายและเกิดการอักเสบตามไปด้วย

    กระบวนการที่เกิดขึ้นนี้ จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตราบใดที่ยังรับประทานอาหารชนิดนั้นอยู่ จนกระทั่งอวัยวะส่วนนั้นเสียหาย และทำให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นมา

    อาการแพ้อาหารแฝงจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าอวัยวะส่วนไหนในร่างกายที่ได้รับผลกระทบ

    ภูมิแพ้อาหารแฝงต่างจากแพ้อาหารอย่างไร?

    ภูมิแพ้อาหารแฝงเป็นอาการแพ้แบบเรื้อรัง จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรารับประทานอาหารชนิดนั้นติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เป็นอาการแพ้ที่ไม่รุนแรง และไม่เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิต

    ในขณะที่โรคภูมิแพ้อาหาร (Food Allergy) เป็นอาการแพ้ที่เกิดขึ้นทันที หรือภายในไม่กี่นาทีหลังรับประทานอาหาร หรือสัมผัสอาหารชนิดนั้น

    อาการแพ้อาหารสามารถเกิดขึ้นเพียงระบบเดียว หรือหลายระบบพร้อมกันก็ได้ โดยอาการที่เกิดขึ้นจะค่อนข้างรุนแรง เช่น ลมพิษ ปากบวม ตาบวม อาเจียน ท้องเสีย ช็อค หายใจติดขัด หอบ หรือแพ้รุนแรง (Anaphylaxis)

    เมื่อเกิดอาการแพ้เฉียบพลันขึ้นแล้ว จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันที และต้องรักษาด้วยการยาฉีดอะดรีนารีน (Adrenaline) เพราะอาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้

    อาการภูมิแพ้อาหารแฝง เป็นอย่างไร?

    ลักษณะอาการภูมิแพ้อาหารแฝงจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าระบบร่างกายส่วนไหนได้รับผลกระทบจากการที่ IgG เข้าไปทำลายอาหารที่รับประทานเข้าไป

    อาการแพ้อาหารแฝงอาจเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมง หรือหลายวันหลังรับประทานอาหารก็ได้

    ตัวอย่างอาการภูมิแพ้อาหารแฝง

    • ระบบทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หอบหืด
    • ระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ ท้องผูก ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน จุดเสียดท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร
    • ระบบผิวหนัง เช่น สิวอักเสบ ผื่นคัน ลมพิษ ผิวบวมน้ำ
    • ระบบประสาท ปวดศีรษะเรื้อรัง ปวดไมเกรน
    • ระบบกระดูกและข้อต่อ ปวดข้อ ปวดเข่า
    • อาการอื่นๆ เช่น ครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่สบายตัว ขอบตาดำ มีถุงใต้ตา

    อาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝง มีอะไรบ้าง?

    อาหารทุกชนิดสามารถก่อให้เกิดภูมิแพ้อาหารแฝงได้ โดยอาจเป็นอาหารที่ไม่เคยรับประทานเลย หรือเป็นอาหารที่รับประทานเป็นประจำก็ได้

    ตัวอย่างอาหารที่มักพบว่าเป็นสาเหตุของภูมิแพ้อาหารแฝง

    • นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น ชีส โยเกิร์ต เนย ครีม เวย์
    • เครื่องแกงไทย
    • เมล็ดธัญพืชที่มีกลูเตน เช่น ข้าวสาลี ข้าวไรย์ ข้าวบาร์เล่ย์ ข้าวโอ๊ต
    • ถั่วในกลุ่มทรีนัต (Tree nuts) เช่น อัลมอนด์ ฮาเซลนัท วอลนัท มะม่วงหิมพานต์ พีแคน
    ภูมิแพ้อาหารแฝง - อาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้แฝง และสามารถตรวจหาค่า IgG ได้

    ภูมิแพ้อาหารแฝง ตรวจอย่างไร?

    การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ทำได้โดยการตรวจเลือดหาสารก่อภูมิต้านทาน (Food specific IgG) โดยสามารถตรวจหา IgG ในอาหารได้ 222 ชนิด ครอบคลุมกลุ่มอาหารที่คนส่วนใหญ่รับประทาน

    ตัวอย่างรายการอาหารที่สามารถตรวจหา IgG ได้

    • ปลา/อาหารทะเล เช่น เนื้อปู กุ้ง ปลากระพง ปลาแมกเคอเรล สาหร่ายวากาเมะ หอยแครง หอยแมลงภู่ หอยนางรม หอยโข่ง หอยกาบ
    • เนื้อสัตว์ เช่น เนื้อเป็ด เนื้อไก่ เนื้อกระต่าย เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อหมูป่า ไก่งวง
    • สมุนไพร/เครื่องเทศ เช่น เครื่องแกง เมล็ดผักชี แปะก๊วย โรสแมรี โสม ใบโหระพา ใบกระวาน ใบผักชี พริกแดง ชะเอม ก้านพลู ขิง กระเทียม ใบมิ้นต์
    • ถั่ว/จำพวกเมล็ด เช่น มะพร้าว เมล็ดทานตะวัน เมล็ดป่าน เมล็ดอัลมอนด์ แห้วไทย งา เรปซีด ถั่วลิสง ถั่ววอลนัท มะม่วงหิมพานต์
    • อาหารในกลุ่มอื่นๆ เช่น ชาเขียว ชาดำ กาแฟ เห็ด เมล็ดโกโก้ น้ำผึ้ง อ้อย ว่านหางจระเข้ ยีสต์สำหรับทำขนมปัง ผงวุ้น

    ใครควรตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง?

    ผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น ท้องเสียเป็นประจำ สิวอักเสบ นอนไม่หลับ หรือปวดไมเกรน เพราะการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงอาจช่วยพบสาเหตุ และรักษาให้หายขาดได้

    ก่อนตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ต้องเตรียมตัวอย่างไร?

    การเตรียมตัวก่อนตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีดังนี้

    • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากต้องมีการเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียได้
    • ไม่จำเป็นต้องงดน้ำ งดอาหาร
    • ไม่จำเป็นต้องงดยาแก้แพ้ก่อนตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง
    • ควรสวมใส่เสื้อที่สามารถถลกแขนเสื้อให้เจาะเลือดได้ง่าย
    • หากกำลังรับประทานยารักษาโรค ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าจำเป็นต้องหยุดยาไหม ไม่ควรหยุดรับประทานยาด้วยตนเอง

    ตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีขั้นตอนอย่างไร?

    การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มักเริ่มจากการซักประวัติสุขภาพเบื้องต้น และตรวจสุขภาพร่างกายทั่วไปก่อน เช่น วัดความดันโลหิต ชั่งน้ำหนัก และส่วนสูง

    หลังจากนั้นแพทย์จะเจาะเลือดเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์ โดยจะนัดหมายให้กลับมาฟังผลตรวจอีกครั้งใน 2-3 วันถัดไป

    ผู้เข้ารับการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงจะได้รับสมุดผลตรวจ และแผ่นการ์ดระบุรายชื่ออาหารที่มีอาการแพ้แฝงของตนเอง โดยระดับอาการภูมิแพ้อาหารแฝง แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้

    • ระดับสูง (สีแดง) หมายถึง ร่างกายมีการสร้าง IgG ในระดับสูง หากรับประทานเข้าไปจะทำให้เนื้อเยื่อในร่างกายเกิดการอักเสบ ควรงดรับประทาน 3-6 เดือน
    • ระดับปานกลาง (สีเหลือง) หมายถึง ร่างกายมีการสร้าง IgG ในระดับปานกลาง สามารถรับประทานได้สัปดาห์ละครั้ง และควรหมุนเวียนอาหารไปเรื่อยๆ ในช่วง 3 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้อาการแพ้เพิ่มระดับเป็นสีแดง
    • ระดับปกติ (สีเขียว) หมายถึง ไม่มีอาการแพ้ สามารถรับประทานได้ปกติ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่เหมาะสม และหลากหลาย ไม่รับประทานอาหารประเภทเดิมๆ ติดต่อกัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

    หลังตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง ต้องดูแลตนเองอย่างไร?

    ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยการหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่อยู่ในระดับสีแดงอย่างน้อย 3-6 เดือน แล้วค่อยๆ กลับมารับประทานทีละน้อย เพื่อป้องกันการเกิดอาการแพ้

    ในส่วนของอาหารในกลุ่มสีเหลือง ไม่ควรรับประทานบ่อยจนเกินไป และจะต้องหมุนเวียนการรับประทานอาหารเป็นประจำ

    ในระหว่างนั้น ผู้เข้ารับการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงควรหมั่นสังเกตตนเองว่า มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้างไหม

    หากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เช่น ท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ สิวอักเสบ ดีขึ้น หรือหายเป็นปกติ ย่อมหมายความว่าอาการผิดปกติเหล่านี้เกิดจากภูมิแพ้อาหารแฝงนั่นเอง

    ข้อดีของการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีอะไรบ้าง?

    ข้อดีของการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีดังนี้

    • ช่วยให้รู้ว่าร่างกายไวต่ออาหารชนิดใดบ้าง อาหารชนิดไหนสามารถรับประทานได้ และอาหารชนิดไหนควรหลีกเลี่ยง
    • ทำให้วางแผนแนวทางการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับตนเองได้
    • อาจช่วยหาสาเหตุของอาการผิดปกติที่ไม่ทราบสาเหตุได้

    ข้อเสียของการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีอะไรบ้าง?

    ข้อเสียของการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง มีดังนี้

    • ค่าบริการตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงค่อนข้างมีราคาสูง เริ่มต้นที่ 10,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนของรายการตรวจ
    • หากต้องการติดตามผลการรักษาภูมิแพ้อาหารแฝง จะต้องตรวจซ้ำใหม่อีกครั้ง
    ตรวจภูมิอาหารแฝง - ภูมิแพ้อาหารแฝงทำให้เกิดสิวอักเสบจริงไหม

    ภูมิแพ้อาหารแฝงมีความสัมพันธ์กับการเกิดสิวอย่างไร?

    โรคภูมิแพ้อาหารแฝงเกิดจาก IgG ต่อต้านกับอาหารที่รับประทานเข้าไป และทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อในระบบต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือระบบผิวหนัง ซึ่งส่งผลให้เกิดสิวอักเสบตามมาได้

    นอกจากนี้ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้อาหารแฝง มักมีภาวะลำไส้รั่วร่วมด้วย เป็นภาวะที่ส่งผลให้สารพิษ สารก่อภูมิแพ้ หรือเชื้อก่อโรค สามารถเล็ดลอดผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์เยื่อบุผนังลำไส้ แล้วเข้าสู่กระแสเลือดได้โดยไม่ผ่านการกรอง ซึ่งส่งผลให้เกิดสิวอักเสบได้เช่นกัน

    รู้ว่าแพ้อาหารแฝงชนิดไหนแล้ว ยังกินได้อยู่ไหม?

    สามารถกินได้ แต่อาจกระตุ้นให้เกิดอาการผิดปกติขึ้นอีก

    หากต้องการรักษาอาการผิดปกติให้หายขาด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยการงดรับประทานอาหารชนิดนั้นอย่างน้อย 3-6 เดือน

    ภูมิแพ้อาหารแฝง รักษาหายไหม?

    สามารถรักษาให้หายได้โดยการงดรับประทานอาหารที่ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝง 3-6 เดือน

    หลังจากนั้น ค่อยๆ กลับมารับประทานชนิดนั้นทีละน้อย และไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะจะทำให้โรคภูมิแพ้อาหารแฝงกำเริบอีกครั้ง

    นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย ไม่รับประทานอาหารประเภทเดิมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ก็จะช่วยลดการเกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝงได้

    แม้ว่า โรคภูมิแพ้อาหารแฝงจะเป็นโรคที่ไม่อันตราย แต่อาการผิดปกติเรื้อรังที่เกิดขึ้น อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว และสร้างความรำคาญใจในการใช้ชีวิตประจำวันได้

    หากคุณเป็นหนึ่งในคนที่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ การตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้

    สนใจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝง กด เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจภูมิแพ้อาหารแฝงได้ที่นี่ หรือแอดไลน์ @hdcoth มีแอดมินใจดีให้บริการตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงตีหนึ่ง! การันตีโปรสุดคุ้ม สามารถผ่อนฟรี 0% สูงสุด 10 เดือน ผ่านบัตรเครดิตที่ร่วมรายการได้ด้วยนะ!


    บทความที่เกี่ยวข้อง


    ที่มาของข้อมูล

    ขยาย

    ปิด

    • Marsha McCulloch, What Is the Best Food Sensitivity Test? (https://www.healthline.com/nutrition/food-sensitivity-test), 19 November 2021.
    • NHS, Food intolerance (https://www.nhs.uk/conditions/food-intolerance/), 19 November 2021.
    • Yvette Brazier, What is a food intolerance? (https://www.medicalnewstoday.com/articles/263965), 19 November 2021.
    @‌hdcoth line chat