ประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจไม่ใช่เรื่องเล็ก

ประจำเดือน” เป็นภาวะสุขภาพวัยเจริญพันธุ์ในผู้หญิงทุกคน เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น อายุประมาณ 12-15 ปี ก็จะเริ่มมีประจำเดือน และจะหยุดมีประจำเดือนเมื่อเข้าสู่วัยทอง หรืออายุประมาณ 45-55 ปี โดยประจำเดือนแต่ละรอบ จะเกิดห่างกันประมาณ 28 วัน และอาจจะมาเร็วหรือช้ากว่านั้น การที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เป็นปัญหาที่พบบ่อยในผู้หญิงหลายๆ คน โดยไม่รู้เลยว่าอาจตามมาด้วยปัญหาต่างๆ อีกมากมาย เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง และกลุ่มอาการ PCOS ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อย

มีคำถามเกี่ยวกับ ประจำเดือน? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นอย่างไร?

ประจำเดือนถือเป็นสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงสุขภาพในการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงทุกคน การจดบันทึกเป็นประจำจะช่วยในการตรวจสอบและสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายได้ หากประจำเดือนมาตามปกติ ก็จะมาทุก 28 วัน หรือคลาดเคลื่อนจากวันเดิมเล็กน้อย แต่ถ้า “ประจำเดือนมาไม่ปกติ” จะสังเกตได้จากประจำเดือนไม่มา มามากหรือน้อยเกินไป หรือประจำเดือนห่าง เป็นต้น

โดยสาเหตุของประจำเดือนมาไม่ปกติ มักเกิดจากความเครียด ความอ้วน การใช้ยาคุมกำเนิด โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุล ความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับต่อมไทรอยด์หรือระบบสืบพันธุ์ และอาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนที่ไม่ปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากตรวจพบรอยโรคจะได้เริ่มขั้นตอนการรักษาก่อนลุกลามหรือหากตรวจพบว่าเกิดจากระดับฮอร์โมนไม่สมดุล ในบางรายแพทย์อาจรักษาโดยการใช้ยาปรับฮอร์โมน แต่ในบางรายเพียงแค่ปรับพฤติกรรมก็สามารถแก้ไขปัญหาประจำเดือนมาไม่ปกติได้แล้ว

ประจำเดือนมาไม่ปกติมีแบบไหนบ้าง?

ประจำเดือนมาไม่ปกติสามารถแบ่งตามลักษณะการมาของประจำเดือนได้หลายรูปแบบ ดังนี้

  • ประจำเดือนมามาก (Menorrhagia) คือ การมีประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน และอาจพบลิ่มเลือดหรือก้อนเลือดออกมาพร้อมกับประจำเดือนด้วย โดยสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนมามากนั้น อาจเกิดจากการติดเชื้อ มีก้อนเนื้องอก อุ้งเชิงกรานอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจนไม่สมดุล
  • ประจำเดือนมาน้อย (Hypomenorrhe) โดยปกติ ระยะเวลาในการมีประจำเดือนแต่ละครั้งจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน จะถือว่าประจำเดือนมาน้อย ซึ่งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การคุมกำเนิดที่มีผลต่อการตกไข่ ภาวะถุงน้ำ PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ โรคไทรอยด์ น้ำหนักตัวน้อยเกินไป หรือการมีภาวะเครียดสะสม
  • ประจำเดือนขาด (Amenorrhea) หรือประจำเดือนไม่มา หมายถึง การขาดประจำเดือนติดต่อกันตั้งแต่ 3 รอบขึ้นไปในผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ รวมถึงการไม่เคยมีประจำเดือนเลยในกรณีของวัยรุ่นที่อายุ 16 ปีขึ้นไป
  • ประจำเดือนห่าง (Oligomenorrhea) คือ การที่มีประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วันในแต่ละรอบ และใน 1 ปี มีประจำเดือนเพียง 4-9 ครั้งเท่านั้น
  • ประจำเดือนมาบ่อย (Polymenorrhea) คือ การมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนสั้นกว่า 21 วัน
  • ประจำเดือนเลื่อน (Delayed Period) คือ การที่ประจำเดือนที่เคยมาเป็นประจำทุกๆ 21-35 วัน มาเร็วหรือช้ากว่ารอบเดือนก่อนหน้าเกิน 7 วัน
  • ประจำเดือนหลังวัยทอง (Postmenopausal Bleeding) คือ การที่เข้าสู่วัยทองแต่กลับมามีประจำเดือนหลังประจำเดือนหยุดไปแล้วประมาณหนึ่งปี
  • ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ (Metrorhagia) คือ การที่ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอในแต่ละรอบเดือน ซึ่งโดยทั่วไป ช่วงระยะห่างของการมีประจำเดือนในแต่ละครั้ง มักอยู่ที่ 21-35 วัน แต่เมื่อไหร่ที่ระยะห่างรอบเดือนน้อยกว่า 21 วัน หรือประจำเดือนขาด คือ 2-3 เดือนมาสักครั้ง และมาแบบกะปริดกะปรอย ก็ถือว่าประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของมดลูก โรคเกี่ยวกับถุงน้ำรังไข่ ระดับฮอร์โมนขาดความสมดุล ซึ่งมักพบในคนที่มีภาวะเครียดหรืออ้วนมากๆ

ประจำเดือนมาไม่ปกติเกิดจากอะไร?

ความผิดปกติต่างๆ ที่ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ เกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

  • ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โทนเดี่ยวโปรเจสเตอโรน เช่น ยาฉีดคุมกำเนิด หรือ ยาฝังคุมกำเนิด ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางลงจนไม่สามารถรองรับการฝังตัวของตัวอ่อนได้ จะทำให้ไม่มีประจำเดือน หลังจากหยุดใช้ยา อาจทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นเวลาประมาณ 6 เดือนได้ โดยเฉพาะในผู้ที่ใช้ยาฉีดคุมกำเนิด
  • การให้นมบุตร ในช่วงให้นมบุตร ร่างกายจะผลิตฮอร์โมนโปรแลคติน (Prolactin) สูงกว่าปกติ ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ยับยั้งการมีประจำเดือน ทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติในหญิงให้นมบุตรบางราย
  • การเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศ สมดุลของฮอร์โมนเอสโตรเจนและเทสโทสเตอโรนในเพศหญิง เป็นสาเหตุหนึ่งของประจำเดือนมามากและประจำเดือนขาด ซึ่งการเสียสมดุลของฮอร์โมนเพศนั้น อาจเกิดจากโรคถุงน้้ำในรังไข่หลายใบ โดยผู้ป่วยมักจะมีประจำเดือนน้อยว่า 9 ครั้งใน 1 ปี หรือรอบประจำเดือนห่างกันเกิน 35 วัน
  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคบูลิเมีย เนอโวซา (Bulimia Nervosa) หรือการล้วงคอให้อาเจียนหลังรับประทานอาหาร สามารถทำให้ระบบสืบพันธุ์เพศหญิงทำงานผิดปกติ ซึ่งส่งผลต่อปริมาณหรือความถี่ของการเป็นประจำเดือน
  • วัยทอง ช่วงระยะเวลาเข้าสู่วัยทอง การทำงานของรังไข่อาจมีความผิดปกติ ทำให้ผู้หญิงมีประจำเดือนในปริมาณมากหรือน้อยกว่าปกติ ซึ่งอาจมีระยะห่างระหว่างรอบเดือนถึง 60 วัน หรือประจำเดือนไม่มาในบางเดือน
  • ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นความผิดปกติของเยื่อบุโพรงมดลูก อาการที่มักจะพบได้บ่อย ก็คืออาการปวดท้องน้อยและมีประจำเดือนปริมาณมากผิดปกติ ซึ่งยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ โดยอาจพบเซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกเติบโตนอกโพรงมดลูกได้ เช่น บริเวณรังไข่ ท่อนำไข่ หรือเยื่อบุช่องท้อง
  • ความเครียด จะทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งจะไปรบกวนการทำงานสมองส่วนไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) ส่งผลให้ประจำเดือนขาด มาช้า หรือมาน้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ ออกกำลังกายหักโหม หรือป่วยเป็นกลุ่มอาการคุชชิง (Cushing Syndrome) ร่างกายก็จะหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลออกมาสูงเช่นกัน
  • เนื้องอกบริเวณมดลูก หรือเนื้องอกในโพรงมดลูก ซึ่งเป็นสาเหตุของประจำเดือนมามาก หรือประจำเดือนมานานกว่าปกติ
  • ความผิดปกติภายในรังไข่ เช่น ภาวะถุงน้ำหลายใบในรังไข่ (Polycystic Ovary Syndrome) ภาวะประจำเดือนหมดเร็วกว่าปกติ (Premature Ovarian Insufficiency) ซึ่งอาจเกิดจากผลกระทบของโรคมะเร็งปากมดลูก และมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
  • ร่างกายขาดการพักผ่อน บางกรณีอาจมาจากการเดินทางข้ามทวีป มีการอดหลับอดนอน หรือมีอาการ “Jet Lag” ก็จะส่งผลต่อประจำเดือนได้
  • ภาวะติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน (Pelvic Inflammatory Disease) มักพบจากผู้ป่วยเพศหญิงที่มีกิจกรรมทางเพศค่อนข้างบ่อย หรือมีคู่นอนหลายคน
  • ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (Chronic Anovulation) เป็นภาวะที่เป็นสาเหตุระยะระหว่างรอบประจำเดือนยาวนาน หรือ ขาดประจำเดือน หรือมีเลือดประจำเดือนออกผิดปกติกะปริบกะปรอยไม่เป็นรอบ และยังก่อให้เกิดปัญหาด้านอื่นๆ อีก เช่น ทำให้มีบุตรยาก เพิ่มความเสี่ยงของภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวผิดปกติ ซึ่งถ้าทิ้งไว้ ไม่รักษาจะเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งโพรงมดลูกได้อีกด้วย

ประจำเดือนมาไม่ปกติแบบไหนเสี่ยงมะเร็ง?

การสังเกตอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่บ่งบอกถึงสัญญาณความเสี่ยงของโรคมะเร็งมีอาการดังนี้

  • ปริมาณประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือ เป็นประจำเดือนติดต่อกันเกิน 7 วัน โดยมีเลือดออกจากช่องคลอดปริมาณมากและลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อนๆ
  • มีเลือดไหลก่อนถึงกำหนดการมีประจำเดือน
  • ระยะห่างระหว่างรอบเดือน น้อยกว่า 21 วัน หรือมากกว่า 35 วัน ติดต่อกันเกิน 3 เดือน
  • ประจำเดือนขาดติดต่อกันเกิน 3 รอบเดือน
  • เป็นประจำเดือน พร้อมกับมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยแทบทุกครั้ง เช่น เป็นไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว คลื่นไส้ อาเจียน ตกขาวมีกลิ่นเหม็น
  • มีเลือดไหลออกจากช่องคลอดเหมือนเป็นประจำเดือน หลังเข้าสู่วัยทองแล้ว
  • ประจำเดือนมามากกว่าเดือนละครั้ง
  • ประจำเดือนมาน้อยกว่า 2 วัน หรือ มาแบบกะปริดกะปรอย

การตรวจเวลาประจำเดือนมาไม่ปกติ

เมื่อประจำเดือนมาไม่ปกติ ควรไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์จะซักประวัติเบื้องต้น โดยเฉพาะประวัติทางสูตินรีเวช ได้แก่ ประวัติการตั้งครรภ์ ประวัติการคุมกำเนิด ประวัติการตรวจภายในและตัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงประวัติประจำเดือนย้อนหลัง และจะตรวจร่างกาย เพื่อยืนยันผลที่ชัดเจนก่อนพิจารณาการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การตรวจภายใน (Per Vaginal Examination) คือ ตรวจดูช่องคลอด ปากมดลูกด้วยการคลำหรือส่องกล้องว่ามีก้อน แผล หรือติ่งเนื้อหรือไม่ ร่วมกับการเก็บเซลล์จากปากมดลูกเพื่อนำมาเพาะหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ ตลอดจนคลำตรวจขนาดของมดลูกและรังไข่ ตรวจด้วยการกดแล้วสังเกตอาการว่าเจ็บหรือไม่ หรือพบก้อนแปลกปลอมหรือไม่
  2. การตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนล่างทางหน้าท้อง (Ultrasound Lower Abdomen) หลังจากการตรวจภายใน ถ้าพบก้อน หรือติ่งเนื้อ แพทย์จะทำการอัตราซาวด์เพื่อตรวจดูอวัยวะในช่องท้องทั้งหมด โดยเฉพาะมดลูก ส่วนใหญ่แพทย์จะแนะนำให้ตรวจเมื่อมีอายุ 30 ปีขึ้นไป หรือในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงเนื้องอกมดลูก เช่น มีภาวะปวดท้องประจำเดือนเรื้อรัง หรือประจำเดือนมาผิดปกติ ซึ่งเป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูงที่บริเวณช่องท้องส่วนล่าง โดยต้องตรวจในขณะที่ปวดปัสสาวะมากพอสมควร ผู้ที่เข้ารับการตรวจจึงควรดื่มน้ำปริมาณมากๆ เและกลั้นปัสสาวะก่อนการตรวจ เพราะน้ำในกระเพาะปัสสาวะจะช่วยให้เห็นมดลูกจากการบดบังของอวัยวะอื่นๆ ได้ชัดเจนขึ้น
  3. การตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด (Transvaginal Ultrasound – TVS) เป็นการตรวจอัลตราซาวด์ด้วยคลื่นความถี่สูง เพื่อตรวจความหนาของเยื่อบุโพรงมดลูก ที่อาจทำให้เกิดเนื้องอก โดยสอดเครื่องมือขนาดเล็กเข้าทางช่องคลอดสำหรับเก็บภาพภายในมดลูก และถึงแม้ว่าคลื่นความถี่จะสามารถผ่านเข้าไปได้ในบริเวณที่จำกัด แต่ก็ให้ภาพที่ชัดเจนมากกว่าการตรวจทางหน้าท้อง ผู้ที่เข้ารับการตรวจจะต้องถ่ายปัสสาวะออกให้หมดก่อนตรวจ

ประจำเดือนมาไม่ปกติรักษาอย่างไร?

วิธีการรักษาประจำเดือนมาไม่ปกติ มีด้วยกันหลายวิธีดังนี้

มีคำถามเกี่ยวกับ ประจำเดือน? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

รักษาด้วยการใช้ยา

สำหรับยาที่มีผลรักษาอาการประจำเดือนมามากผิดปกติ ซึ่งต้องรับประทานภายใต้การดูแลของแพทย์และมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น เช่น

  • ยาคุมกำเนิด ทั้งแบบยาเม็ดรับประทานและยาฉีดคุมกำเนิด เนื่องจากการทานยาคุมกำเนิดอาจช่วยลดปริมาณของเลือดประจำเดือนได้ และในกรณีที่คนไข้เป็นภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ก็อาจสามารถช่วยให้ประจำเดือนกลับมาเป็นปกติได้
  • ยากรดทราเนซามิก (Tranexamic Acid) ที่ใช้ต้านกลไกการสลายลิ่มเลือด ลดอาการเลือดออกมาก ส่วนประจำเดือนที่มามากผิดปกติที่อาจเป็นสัญญาณของเนื้องอกภายในมดลูกควรสังเกตบันทึกอาการและความบ่อยในการเปลี่ยนผ้าอนามัยก่อนไปพบแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจทำการรักษาด้วยการจ่ายยา หรือทำการผ่าตัดเอาเนื้องอกออกมาจากมดลูกต่อไป
  • ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดประจำเดือน หรือยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ในกรณีเป็นเมนผิดปกติ เนื่องจากภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ

รักษาด้วยฮอร์โมน

หากประจำเดือนมามากผิดปกติ แพทย์จะจ่ายฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ให้รับประทาน เพื่อยับยั้งการสร้างเยื่อบุโพรงมดลูก มีส่วนช่วยลดปริมาณเลือดประจำเดือน

การผ่าตัด

สำหรับในกรณีที่คนไข้อายุน้อยหรือยังต้องการมีบุตร หากความผิดปกติของอาการประจำเดือนมาไม่ปกติที่เกิดจากเนื้องอกในมดลูก แพทย์จะรักษาด้วยการผ่าตัดเฉพาะก้อนเนื้องอก ซึ่งขั้นตอนการผ่าตัดต้องใช้เวลานานและคนไข้อาจเสียเลือดมาก แต่ถ้าหากก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีภาวะมดลูกโตร่วมด้วยและคนไข้ไม่ได้ต้องการมีบุตรแล้ว แพทย์ก็จะเลือกผ่าตัดนำก้อนเนื้องอกออกไปพร้อมกับมดลูก

การดูแลตัวเองหากประจำเดือนมาไม่ปกติ

ด้วยสภาพร่างกายที่แตกต่างกัน อาการจากประจำเดือนของแต่ละคนก็ย่อมแตกต่างกัน การดูแลตัวเองหากประจำเดือนมาไม่ปกติจึงมีหลายแบบดังนี้

  • กรณีที่ประจำเดือนมามาก ควรพบแพทย์ และหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ ขณะมีประจำเดือน เพื่อป้องกันการติดเชื้อทางอวัยวะสืบพันธุ์
  • กรณีที่ปวดประจำเดือนมากกว่าที่เคยเป็น ซึ่งอาการปวดท้องประจำเดือนเกิดจากการที่มดลูกขับเลือดประจำเดือนออกมา อาการปวดประจำเดือนจึงเป็นอาการปกติที่พบได้ แต่ถ้าหากปวดมาก ในเบื้องต้นสามารถรับประทานยาแก้ปวดอย่างพาราเซตามอล หรือไอบูโปรเฟน ใช้ถุงน้ำร้อนประคบ นวดเบาๆ บริเวณท้องช่วงล่าง หรืออาบน้ำแช่น้ำอุ่นเพื่อเพิ่มความผ่อนคลาย บรรเทาอาการปวด และควรรีบไปพบแพทย์
  • กรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง ผอมหรืออ้วนจนเกินไป ควรไปพบแพทย์ และดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เลือกรับประทานอาหารที่ประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักด้วยวิธีที่ถูกต้องเหมาะสมและรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
  • กรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ จากภาวะเครียด ควรพบแพทย์และหลีกเลี่ยงความเครียด
  • กรณีที่ประจำเดือนมาไม่ปกติ จากการใช้ยาหรืออุปกรณ์คุมกำเนิด ควรพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพราะแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป

การป้องกันตัวเองไม่ให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ผู้หญิงทุกคนสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ประจำเดือนมาไม่ปกติเบื้องต้นง่ายๆดังนี้

  • ดูแลสุขภาพของตนเองให้แข็งแรง หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ควรเลือกการออกกำลังกายที่ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายหนักหรือต้องใช้แรงมากเกินไปก็ส่งผลต่อความผิดปกติของประจำเดือนได้ แนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง ควบคู่ไปกับสร้างกล้ามเนื้อครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 1-2 ครั้งก็เพียงพอ
  • เลือกทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ โดยเลือกกินไขมันประเภทไขมันดี เช่น ปลาแซลมอน ทูน่า หรือวอลนัท และเลือกกินโปรตีนที่มีไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา เนื้อไก่ไม่ติดมัน ควบคู่กับการกินอาหารที่มีไฟเบอร์สูง อย่างผัก ผลไม้หรือโฮลเกรน
  • ดูแลสุขภาพของน้ำหนักตัว ไม่ให้อ้วนหรือผอมเกินไป ตามมวลกล้ามเนื้อและสัดส่วนของไขมันในร่างกายที่เหมาะสม ควบคุมน้ำหนักในอยู่ในเกณฑ์ เพราะน้ำหนักตัวที่น้อยไปก็จะส่งผลต่อการสร้างฮอร์โมนที่มีความจำเป็นในกระบวนการตกไข่ ส่วนน้ำหนักตัวที่มากเกินไปก็ทำให้ประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอได้ และที่สำคัญ “ไม่ควร” อดอาหารเพื่อให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว
  • พักผ่อนนอนหลับอย่างเพียงพอ ทั้งในเรื่องของคุณภาพและปริมาณในการนอนที่เหมาะสม ซึ่งควรปรับเวลาการนอน เป็นเข้านอนราว 4 ทุ่ม ตื่น 6 โมงเช้า หรือตื่นเร็วกว่านี้ การนอนเต็มอิ่มจะทำให้ไม่มีอาการง่วงหรือเพลียระหว่างวัน และอวัยวะภายในร่างกายจะได้รับการฟื้นฟูให้กลับมาทำงานปกติอีกด้วย
  • ลดความเครียดและผ่อนคลายจิตใจ เพราะทุกครั้งที่เกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งสารที่ส่งผลทำให้ประจำเดือนแปรปรวน
  • หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ ได้แก่ สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
  • ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อตรวจภายใน จะได้ทราบถึงภาวะสุขภาพของระบบสืบพันธุ์เพศหญิง หากพบความผิดปกติ จะได้รักษาทันท่วงที

การมีประจำเดือนมาไม่ปกติ อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงโรคร้าย จึงควรเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้ชำนาญการ


บทความที่เกี่ยวข้อง


ข้อมูลอ้างอิง

มีคำถามเกี่ยวกับ ประจำเดือน? สอบถามฟรีทาง LINE รับคำตอบได้ทันที ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อความสบายใจของคุณ

หากคุณติดตั้ง LINE บนคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว ระบบจะเปิดบัญชีทางการ LINE ของ HDcare โดยอัตโนมัติ

หากคุณยังไม่ได้ติดตั้ง LINE บนเดสก์ท็อป โปรดสแกน QR โค้ดด้วย LINE บนโทรศัพท์มือถือของคุณเพื่อเริ่มแชทกับ พยาบาล HDcare