ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง

ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง (chronic compartment syndrome)

ความหมายของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง

“ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง” เป็นการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาที่พบได้ไม่บ่อย มักเกิดกับนักวิ่งหรือนักกีฬาประเภทอื่น ๆ ที่มีการออกกำลังกายเคลื่อนไหวซ้ำ ๆ ร่วมกับการรับน้ำหนักมากเกินไปหรือออกแรงขาส่วนล่างหรือแขนมากเกินไป

ภาวะนี้ยังอาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “Exertional compartment syndrome” เนื่องจากมักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมากเกินไป ตำแหน่งที่นักกีฬาจะพบปัญหานี้ได้บ่อยที่สุดคือ กล้ามเนื้อน่อง

อาการของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง

อาการหลักของภาวะนี้ เกิดจากการกดเบียดเนื้อเยื่ออ่อนด้านในและรอบๆ กล้ามเนื้อที่มีปัญหา รวมถึงอาการกดเบียดเส้นประสาท และเนื้อเยื่อ โดยอาการเหล่านี้มักจะพบได้บ่อยที่บริเวณด้านหน้าของน่องหรือที่แขน เช่น

  • อาการชา
  • อาการเหน็บ
  • อาการปวด
  • อ่อนแรง
  • แสบร้อน

สำหรับอาการอื่นๆ ของภาวะนี้ ได้แก่

  • อาการเท้าตก (Foot drop) ในขาข้างที่มีปัญหา ซึ่งเกิดจากการกดกล้ามเนื้อ และเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงเท้า ทำให้เสียการควบคุมและการประสานงานของกล้ามเนื้อที่ใช้กระดกข้อเท้าขึ้น ทำให้เท้าตก การมีเท้าตกร่วมกับมีเนื้อยื่นนูนออกมาคล้ายไส้เลื่อนที่ทางด้านหน้าของหน้าแข้ง ร่วมกับอาการอื่น ๆ บ่งบอกถึงอาการที่รุนแรงของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง
  • เกิดอาการเจ็บโดยทั่ว เมื่อคุณเริ่มออกกำลังกาย และแย่ลงตามเวลาที่ออกกำลังกายนานขึ้น หลังจากนั้นจะมีแนวโน้มที่จะค่อยๆ บรรเทาลงหลังจากหยุดออกกำลังกาย

ในผู้ป่วยที่เพิ่งเริ่มมีอาการ ความเจ็บปวดจะหายไปภายในเวลา 1 ชั่วโมงหลังออกกำลังกาย หรือเมื่อหยุดออกกำลังกาย แต่หากภาวะดังกล่าวรุนแรงหรือเรื้อรัง ก็อาจคงอยู่ได้เป็นวัน หลังจากการออกกำลังกาย

สาเหตุของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง

สาเหตุของภาวะนี้เกิดมาจากเนื้อเยื่อเหนียวๆ ซึ่งอยู่ในแขนและขาของเรา เรียกว่า “Fascia” คอยหุ้มรอบกล้ามเนื้อมัดต่างๆ หรือเปรียบเทียบอีกแบบ Fascia ก็คือห้องเล็กๆ ที่มีกล้ามเนื้อ เส้นเลือดและเส้นประสาทอยู่นั่นเอง

Fascia จะมีความยืดหยุ่นที่จำกัด ดังนั้นหากกล้ามเนื้อบวมขึ้นเกินความสามารถที่ Fascia จะยืดได้ทำให้เกิดภาวะความดันสูงในพื้นที่ปิด ส่งผลให้เกิดแรงดันต่อเส้นประสาท และเส้นเลือดในพื้นที่แคบๆ นั้น หากการบวมยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เลือดที่มาเลี้ยงกล้ามเนื้อจะลดลง เส้นประสาทจะถูกกด และทำให้เกิดอาการชา หรือเป็นเหน็บชาที่เท้าและน่องได้

การวินิจฉัย

วิธีการวินิจฉัยภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อที่แน่นอนที่สุด คือการสอดเข็มเล็กๆ เข้าไปใน “ห้อง” ของกล้ามเนื้อดังกล่าว โดยวัดในขณะพัก และ 1 นาทีหลังออกแรง โดยมีเกณฑ์การวินิจฉัยคือ

  • ความดันในช่องกล้ามเนื้อขณะพักมากกว่า 15 มิลลิเมตรปรอท
  • ความดันในช่องกล้ามเนื้อ 1 นาที หลังออกแรงขณะพักมากกว่า 30 มิลลิเมตรปรอท

ผลดังกล่าวเป็นข้อบ่งชี้ของภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง

ในนักวิ่ง ภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงจะเกิดขึ้นได้บ่อยกว่า แต่นักกีฬาประเภทอื่นๆ ก็สามารถเกิดภาวะนี้ได้เช่นกัน เนื่องจากตำแหน่งของอาการปวด จะทำให้ภาวะนี้มักถูกวินิจฉัยผิดในช่วงแรก ว่าเป็นกล้ามเนื้อหน้าแข้งอักเสบ (Shin splints) หรือ กระดูกหักจากการล้าโดยมีแรงมากระทำซ้ำๆ (Stress fracture)

การรักษาภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง

  • การพักกล้ามเนื้อที่มีปัญหา ถือเป็นการรักษาแรกของคนที่เกิดภาวะนี้ เพื่อลดอาการบวมและอักเสบ
  • การรักษาแบบประคับประคองอื่นๆ ได้แก่
    • การประคบน้ำแข็ง
    • การยืดกล้ามเนื้อ
    • ยกขาสูงหลังกิจกรรม
  • การเปลี่ยนการออกกำลังกายเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อลดผลที่มีต่อร่างกายส่วนล่าง เช่น หากคุณเคยวิ่ง การเปลี่ยนไปเล่นกีฬาประเภทอื่นที่ไม่มีผลกระทบกับขาแทนจะช่วยได้
  • การผ่าตัดเพื่อคลาย Fascia และทำให้มีพื้นที่ในช่องกล้ามเนื้อมากขึ้น เป็นอีกการรักษาที่นักกีฬาหลายรายเลือก หรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ให้ผ่าตัด การผ่าตัดนั้นไม่ซับซ้อนนักแต่ก็ยังคงมีความเสี่ยง เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องพูดคุยกับแพทย์เพื่อทำความเข้าใจ ทั้งเรื่องความเสี่ยง และประโยชน์ที่จะได้รับจากการผ่าตัดประเภทนี้

เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูง นักกีฬาสามารถป้องกันความเสี่ยงของภาวะนี้ได้ โดยปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้

  • สวมรองเท้าที่เหมาะสมหรือใช้พื้นเสริมที่เหมาะสม
  • วิ่งบนพื้นผิวที่นุ่ม
  • การฝึกออกกำลังในระดับความหนักที่ผสมผสานกัน
  • ให้ความสำคัญกับความรู้สึกปวด หรือเจ็บโดยการลดเวลาวิ่ง และความหนักลง อย่าหักโหม
  • ยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกครั้งหลังออกกำลังกาย
  • ไปพบแพทย์ หากรู้สึกว่ากล้ามเนื้อมีอาการปวด หรือมีความผิดปกติ เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และวางแผนการรักษาต่อไป

การออกกำลังกายถือเป็นสิ่งที่ดี เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์และทำให้สุขภาพของคุณแข็งแรง แต่หากคุณหักโหมออกกำลังกายมากเกินไป หรือไม่ให้ความสำคัญกับอาการบาดเจ็บ รวมถึงอุปกรณ์ในการออกกำลังกาย เช่นรองเท้า ก็อาจทำให้คุณเกิดภาวะความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงได้


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top