รักษาอาการน้ำมูกไหล

รักษาอาการน้ำมูกไหล

น้ำมูกไหล เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกคน และสามารถรักษาให้หายได้ง่ายๆ ที่บ้าน

สาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำมูกไหลที่พบบ่อยที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัสในโพรงจมูกจากการเป็นโรคไข้หวัด รองลงมาคือ เป็นอาการของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้

ทั้งนี้สาเหตุที่แตกต่างกันจะทำให้วิธีการรักษาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้นเราต้องแยกให้ออกก่อนว่า อาการน้ำมูกไหลเกิดขึ้นจากสาเหตุอะไร เพื่อที่จะได้เลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมนั่นเอง

น้ำมูกไหลจากไข้หวัดและโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ แตกต่างกันอย่างไร?

อาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากโรคไข้หวัด หรือที่เรียกว่า “โรคจมูกอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส (Viral rhinitis)” ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกข้นหรือใสก็ได้

ผู้ป่วยมักมีอาการร่วมกับอาการคัดจมูก ตัวร้อน มีไข้ เจ็บคอ หรือแสบคอ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หรือมึนศีรษะ ส่วนมากมักจะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องรับประทานยา เพียงแค่พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์เท่านั้น

ส่วนอาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคแพ้อากาศนั้น เป็นอาการที่มักเกิดขึ้นทันทีหลังจากที่สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น หรือขนสัตว์ โดยน้ำมูกจะมีลักษณะใส และเป็นๆ หายๆ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้นั้นจะไม่มีอาการตัวร้อน ไข้ และไม่ติดต่อเหมือนผู้ป่วยโรคไข้หวัด แต่จะมีอาการคันคอร่วมด้วยแทนโดยวิธีการรักษาคือ หลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือบรรเทาอาการด้วยการรับประทานยาแก้แพ้

วิธีบรรเทาอาการน้ำมูกไหลที่เกิดจากโรคไข้หวัด

หากคุณชื่นชอบการรักษาแบบธรรมชาติ ไม่อยากรับประทานยา สามารถทำได้ด้วยวิธีการต่อไปนี้

1. ดื่มน้ำมากๆ

การดื่มน้ำมากๆ นอกจากจะช่วยให้ร่างกายไม่ขาดน้ำแล้ว ยังช่วยทำให้มูกที่อยู่ในโพรงจมูกบางลงและไหลออกมา ทำให้สามารถสั่งน้ำมูกได้ง่ายขึ้น

หากผู้ป่วยโรคไข้หวัดรับประทานน้ำน้อย น้ำมูกจะมีลักษณะเหนียว ข้น และทำให้คัดจมูกมากขึ้น อีกทั้งยังเกิดอาการอ่อนเพลียจากการขาดน้ำได้อีกด้วย

ในระหว่างที่ป่วยเป็นโรคไข้หวัด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้กระหายน้ำมากขึ้น เช่น กาแฟ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

2. ชาร้อน

เครื่องดื่มอุ่นๆ เช่น ชาร้อน สามารถช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหลได้มากกว่าการดื่มเครื่องดื่มที่เย็น เนื่องจากความร้อนและไอน้ำจะช่วยเปิดทางเดินหายใจ ทำให้หายใจได้โล่งขึ้น และลดอาการคัดจมูก

นอกจากนี้ชาสมุนไพรบางชนิดยังมีสรรพคุณทางยาที่ช่วยลดอาการคัดจมูกได้เล็กน้อย อีกทั้งยังช่วยลดการอักเสบและอาการแพ้ได้ด้วย เช่น ชาคาโมไมล์ ชาขิง ชามิ้นต์

ผู้ป่วยควรชงชาสมุนไพรร้อนและสูดดมไอน้ำก่อนที่จะรับประทาน ในระหว่างที่มีน้ำมูกนั้นอาจจะมีอาการเจ็บคอร่วมด้วย  ซึ่งการดื่มชาร้อนก็สามารถช่วยบรรเทาอาการเจ็บคอได้เช่นกัน

3. อบไอน้ำที่ใบหน้า

การหายใจเข้าเอาไอน้ำร้อนเข้าไปในร่างกายสามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกได้และช่วยทำให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น โดยมีวิธีการอบไอน้ำที่ใบหน้าดังนี้

  • ตั้งเตาและใส่น้ำอุ่นในภาชนะที่สะอาด
  • อุ่นให้ร้อนเพียงพอที่จะเกิดไอน้ำ แต่ไม่ต้องเดือด
  • ให้หน้าอยู่เหนือไอน้ำครั้งละ 20-30 นาที ในระหว่างนี้ให้หายใจเข้าลึกๆ ผ่านทางจมูก และหยุดพักหากรู้สึกร้อนที่ใบหน้าเกินไป
  • ให้สั่งน้ำมูกเพื่อกำจัดมูกออกจากจมูก

ผู้ป่วยสามารถเพิ่มน้ำมันที่ช่วยลดอาการคัดจมูกลงในน้ำได้ เช่น น้ำมันยูคาลิปตัส เปปเปอร์มิ้นต์ ต้นสน โรสแมรี่ สเปียร์มิ้นท์ ต้นชา และต้นไธม์

ขนาดน้ำมันที่ใช้ คือ ประมาณ 2 หยดต่อน้ำ 1 ออนซ์

หากคุณไม่มีน้ำมันหอมระเหยเหล่านี้ให้ใช้สมุนไพรแบบแห้งแทน โดยให้ทำเป็นชาก่อนจะสูดเอาไอน้ำเข้าไป ก็จะได้ผลลัพธ์ในแบบเดียวกัน

4. อาบน้ำอุ่น

หากต้องการบรรเทาอาการอย่างรวดเร็ว ให้ลองอาบน้ำอุ่น เพราะการอาบน้ำอุ่นสามารถช่วยบรรเทาอาการคัดจมูกและน้ำมูกไหลได้ เช่นเดียวกับการดื่มชาร้อนและการอบไอน้ำที่ใบหน้า

โดยระหว่างอาบน้ำให้ใบหน้าและโพรงจมูกของคุณสัมผัสกับไอน้ำ และละอองน้ำโดยตรงเพื่อให้ได้ผลที่ดีที่สุด

5. ล้างจมูกด้วยกาเนติ (Neti pot)

ผู้ป่วยสามารถใช้กาเนติล้างจมูก ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหล และอาการไม่สบายที่เกิดขึ้น

กาเนตินั้นจะมีลักษณะคล้ายกาน้ำชาขนาดเล็ก วิธีการใช้คือ ใส่น้ำเกลืออุ่นลงไป ก่อนที่จะเทเข้าที่รูจมูกข้างหนึ่ง และให้น้ำเกลือไหลออกไปอีกข้างหนึ่ง

วิธีนี้จะช่วยทำความสะอาดโพรงจมูกได้ค่อนข้างทั่ว โดยเวลาใช้ให้ทำตามคำแนะนำที่ฉลากผลิตภัณฑ์ เพราะถ้าหากใช้ไม่ถูกต้อง อาจทำให้อาการคัดจมูกรุนแรงขึ้น หรืออาจทำให้เกิดการติดเชื้อในโพรงจมูกได้

วิธีบรรเทาอาการน้ำมูกไหลเหล่านี้สามารถช่วยบรรเทาอาการน้ำมูกไหลได้โดยไม่ต้องใช้ยา แต่ผู้ป่วยก็ต้องให้ความสำคัญกับการพักฟื้นร่างกายด้วย

ระหว่างที่ป่วยเป็นไข้หวัดนั้นควรพักผ่อนให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น และสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไวรัส


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. วรรณวนัช เสถียรธรรมมณี


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top