รักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดวัคซีน

รักษาโรคภูมิแพ้ด้วยการฉีดวัคซีนเป็นอย่างไร

การรักษาโรคภูมิแพ้โดยการฉีดวัคซีน (Immunotherapy) เป็นอีกวิธีบรรเทาอาการภูมิแพ้ให้ค่อยๆ หายไป ผ่านการฉีดสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยทีละน้อย

จุดเด่นอยู่ที่การรักษาโรคภูมิแพ้ซึ่งตรงตามสาเหตุการเกิด นั่นคือ เพื่อทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรงขึ้น และไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ที่แพ้อีก

นอกจากนี้วัคซีนภูมิแพ้ยังเป็นวิธีบรรเทาอาการโรคหอบหืดร่วมกับโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้อีกด้วย

รู้จักวิธีการฉีดวัคซีนภูมิแพ้

การฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ เป็นการรักษาเพื่อลดอาการโรคภูมิแพ้ในระยะยาว มักใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้จมูก หอบหืดจากภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผื่นแพ้จากแมลงสัตว์กัดต่อย

วัคซีนจะทำหน้าที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไวต่อสิ่งที่เราแพ้น้อยลงเรื่อยๆ ผลการของการฉีดจะอยู่ได้นาน แม้ว่าจะหยุดฉีดไปแล้ว

ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้สามารถมาเข้ารับวัคซีนภูมิแพ้ได้ตั้งแต่อายุ 5 ขวบขึ้นไป เพราะผู้ป่วยจะสามารถสื่อสารอาการ และหัดสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้แล้ว

โดยในช่วง 5-6 เดือนแรก แพทย์จะฉีดสารก่อภูมิแพ้ให้กับผู้ป่วยที่บริเวณแขนสัปดาห์ละประมาณ 1 ครั้ง สลับข้างกัน จากนั้นก็จะค่อยๆ เพิ่มปริมาณของวัคซีนทีละน้อย

จนเมื่อปริมาณของวัคซีนที่ผู้ป่วยได้รับถึงระดับสูงสุดเท่าที่จะได้ฉีดได้แล้ว และอาการแพ้ไม่เกิดขึ้นอีก แพทย์ก็จะหยุดเพิ่มปริมาณวัคซีน

นอกจากจะหยุดเพิ่มปริมาณวัคซีนแล้ว แพทย์ยังจะเพิ่มระยะห่างจากการฉีดวัคซีนออกไปด้วย โดยจะให้ผู้ป่วยเข้ามารับวัคซีนทุกๆ 2-3 สัปดาห์ และหลังจากนั้นก็จะเปลี่ยนเป็นฉีดเดือนละ 1 ครั้ง เพื่อให้ร่างกายรักษาระดับภูมิคุ้มกันไว้ในระดับที่สูงพอตลอด

ระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะต้องมารับวัคซีนภูมิแพ้จะอยู่ที่ 3-5 ปี แล้วแต่แพทย์จะพิจารณาว่า ผู้ป่วยสามารถหยุดรับวัคซีนได้หรือยัง

ในผู้ป่วยที่อาการแพ้ยังคงอยู่ หรือผลของการรับวัคซีนยังไม่ดีพอ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยเข้ามารับวัคซีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 1 ปี หรือมากกว่านั้น แล้วแต่การพิจารณาของแพทย์ และอาการแพ้ของผู้ป่วย

จะรู้ได้อย่างไรว่า ควรฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้หรือยัง

การฉีดวัคซีนรักษาภูมิแพ้ มักใช้กรณีที่เป็นโรคภูมิแพ้มานาน รักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล ไม่อยากใช้ยานาน ไม่สามารถควบคุมสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

ทั้งนี้การรักษาด้วยวิธีนี้ มีราคาค่อนข้างสูง และต้องมีความสม่ำเสมอในการเข้ารับการฉีดวัคซีนเป็นอย่างมาก

กลุ่มผู้ที่ควรเข้ารับวัคซีนภูมิแพ้

  • ผู้ป่วยโรคเยื่อบุจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยโรคเยื่อบุตาอักเสบตาภูมิแพ้ หรือผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ตา
  • ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ที่ไม่สามารถรักษาอาการแพ้ด้วยยาแก้แพ้ได้ หรือได้รับผลข้างเคียงจากการใช้ยา
  • ผู้ป่วยที่ต้องอยู่กับสารก่อภูมิแพ้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ผู้ป่วยที่แพ้แมลง

ข้อควรระวังในการรับวัคซีนภูมิแพ้

ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงจากวัคซีนภูมิแพ้ เช่นเดียวกับอาการแพ้ยาวัคซีนชนิดอื่นๆ ซึ่งอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นมักจะเป็นอาการแพ้ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้ว แต่อาจรุนแรงกว่า เช่น

อาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากวัคซีนภูมิแพ้มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่นาที หรือไม่กี่ชั่วโมงหลังจากรับวัคซีนแล้ว และยังสามารถลุกลามรุนแรงได้เหมือนอาการแพ้เฉียบพลุนรุนแรงได้ด้วย

หากคุณรู้สึกไม่สบายตัวและมีอาการแพ้อย่างหนักหลังจากรับวัคซีน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด

นอกจากอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ผู้ป่วยอาจต้องใช้เวลา 3-6 เดือนจึงจะเห็นผลลัพธ์ของวัคซีน และยังต้องฉีดอย่างต่อเนื่องเพื่อให้อาการแพ้ดีขึ้นในระยะยาวด้วย

สิ่งที่ควรทำหลังจากรับวัคซีนภูมิแพ้

  • นั่งรอประมาณ 30 นาที- 1 ชั่วโมง เพื่อให้แพทย์สังเกตอาการว่า คุณมีอาการแพ้วัคซีนหรือไม่
  • อย่าเพิ่งออกกำลังกาย ยกของหนัก หรือทำงานหนักหลังรับวัคซีนอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังรับวัคซีน
  • หลังรับวัคซีน 24 ชั่วโมง ให้สังเกตอาการบวม หรือผื่นแดงที่เกิดขึ้นแล้วจดบันทึกไว้ รวมถึงขนาด จำนวนของตุ่มแดง และอาการผิดปกติอื่นๆ ของร่างกายด้วย

หลังจากรับวัคซีนภูมิแพ้แล้ว ผู้ป่วยยังต้องดูแลร่างกายของตนเองให้แข็งแรงอย่างเหมาะสม เพื่อให้สุขภาพยังคงแข็งแรง ไม่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยโรคอื่นๆ โดยสามารถทำตามคำแนะนำเบื้องต้นต่อไปนี้

  • พักผ่อนให้เพียงพอ อย่าปล่อยให้ร่างกายอ่อนเพลีย เพราะจะเสี่ยงเป็นโรคภูมิแพ้มากกว่าเดิมได้
  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ให้ร่างกายได้สารอาหารเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงอย่าเข้าใกล้สารก่อภูมิแพ้ทุกชนิดที่คุณแพ้
  • ทำความสะอาดร่างกาย ที่อยู่อาศัย และสภาพแวดล้อมที่คุณต้องเข้าไปอยู่บ่อยๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ดูแลสุขภาพจิตให้แจ่มใส ไม่เครียด และวิตกกังวลเกินไป

อย่างไรก็ตาม การฉีดวัคซีนเพื่อรักษาภูมิแพ้อาจไม่ได้ผลในกรณีดังต่อไปนี้

  • ปริมาณของวัคซีนเข้มข้น หรือแรงไม่เพียงพอ
  • ใช้ประเภทวัคซีนไม่ตรงกับสิ่งที่แพ้
  • แม้ว่าจะฉีดวัคซีนแล้ว ปริมาณสิ่งกระตุ้นการแพ้ในสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ยังมีปริมาณสูง
  • สูบบุหรี่ หรือมีการใช้สารอื่นที่อาจกระตุ้นการเกิดภูมิแพ้ ที่ไม่ใช่สารที่ก่อให้เกิดการแพ้

คุณสามารถเข้าปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการรับวัคซีนภูมิแพ้ เพื่อตรวจว่า ร่างกายสามารถรับวัคซีนได้อย่างไรบ้าง หรืออาจเป็นการทดสอบภูมิแพ้ เพื่อที่จะได้นำผลการทดสอบไปปรึกษากับแพทย์ เพื่อรับวัคซีนภูมิแพ้ที่เหมาะสมต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. รุจิรา เทียบเทียม


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top