สเตียรอยด์ เป็นตัวยาที่มีสรรพคุณบรรเทาอาการเจ็บป่วยและรักษาโรคได้หลากหลาย แม้แต่ในแวดวงความงาม หรือแวดวงกีฬา ก็มีการนำสเตียรอยด์มาใช้ด้วยเช่นกัน ประโยชน์ที่หลากหลายเช่นนี้เองทำให้บางคนถึงกับเรียกเสตียรอยด์ว่า “ยาครอบจักรวาล” กินปั๊บ หายปุ๊บ ฉีดปั๊บ ได้ผลปุ๊บ อย่างไรก็ดี ภายใต้คุณสมบัติที่หลากหลายและความรวดเร็วในการออกฤทธิ์ก็มี “อันตราย” ซ่อนอยู่ด้วยเช่นกัน หากใช้อย่างรุ้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือใช้ไม่เหมาะสม ดังนั้นหากจำเป็นต้องใช้สเตียรอยด์ก็ควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
สารบัญ
สเตียรอยด์คืออะไร
สเตียรอยด์ (Steroid) เป็นกลุ่มยาชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อเต็มว่า corticosteroid บางครั้งถูกเรียกสั้นๆ ว่า “roids” หรือ “juice” สเตียรอยด์เป็นหนึ่งในฮอร์โมนที่ร่างกายสร้างขึ้นจากต่อมหมวกไตชั้นนอกเพื่อกระตุ้นการทำงานของร่างกาย เช่น รับมือกับความเครียด ส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย และพัฒนาการด้านต่างๆ ของร่างกาย เป็นต้น ส่วนสเตียรอยด์ที่ใช้ในทางการแพทย์คือสารที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค ทดแทนการขาดฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต และความบกพร่องของต่อมใต้สมองส่วนหน้า
ประเภทของยาสเตียรอยด์
ยาสเตียรอยด์แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลักตามรูปแบบการใช้งาน
- ใช้ภายนอกเพื่อการออกฤทธิ์เฉพาะที่ ด้วยการหยอด พ่น สูดพ่น และทา
- เพื่อการออกฤทธิ์ทั่วร่างกาย ด้วยการฉีด การรับประทาน
ประโยชน์สเตียรอยด์
สเตียรอยด์ เป็นสารที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ บรรเทาอาการเจ็บปวด บวม แดง ร้อน ของเนื้อเยื่อภายในร่างกาย อาการของโรคในระบบต่างๆ รวมทั้งกดภูมิคุ้มกันและลดไข้ได้ อย่างไรก็ดี มีหลายคนที่พยายามใช้ยาสเตียรอยด์ทั้งแบบเม็ด แบบเจล แบบครีม หรือการฉีดเข้าสู่เส้นเลือด เพราะเชื่อว่า สเตียรอยด์จะพัฒนาศักยภาพทางด้านกีฬา หรือสภาพร่างกายได้ โดยเฉพาะยาอนาบอลิกสเตียรอยด์
อันตรายและผลกระทบจากการใช้สเตียรอยด์
- กดการหลั่งของฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต ทำให้สร้างได้น้อยลง หรือไม่พอกับความต้องการของร่างกาย
- กดภูมิต้านทานของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสได้ง่ายขึ้น
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของร่างกาย
- ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ทำให้กระดูกผุ
- ส่งผลต่ออารมณ์และความรู้สึก เช่น มีภาวะทางด้านอารมณ์ที่ก้าวร้าว ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ หงุดหงิด
- ความดันลูกตาสูงขึ้น เสี่ยงต่อการเป็นต้อหิน
นอกจากนี้อาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่ไว้วางใจผู้อื่น หวาดระแวง ซึ่งผู้ใช้เตียรอยด์มักมีความเสี่ยงที่จะใช้ยาเสพติดอื่นๆ เพิ่มขึ้นด้วย เช่น แอลกอฮอล์ หรือโคเคน และแน่นอนยาเสพติดเหล่านี้ส่งผลเสียต่อตัวยาสเตียรอยด์
ผู้ใช้สเตียรอยด์แบบฉีดเข้าเส้นเลือดยังเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV หรือเป็นโรคเอดส์สูงมาก หากมีการใช้เข็มร่วมกันกับผู้อื่น นอกจากนี้หากเข็มที่ใช้นั้นไม่สะอาดพอก็จะทำให้มีโอกาสติดโรคไวรัสตับอักเสบ หรือเป็นโรคเยื่อบุหัวใจอักเสบอันเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้
การใช้สเตียรอยด์หลายชนิดในเวลาเดียวกัน และภาวะเสพติดการใช้ยา
ผู้ใช้สเตียรอยด์บางท่านมีการใช้ยาแบบทบรอบคือ พวกเขาจะใช้ยาปริมาณมากกว่าสองเท่าในช่วงเวลาเดียวกัน จากนั้นจะหยุดการใช้ยาชั่วคราวและจะกลับมาใช้ใหม่ นอกจากนี้ยังมีหลายคนที่ใช้สเตียรอยด์หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยวิธีการรับประทานยาแบบพีระมิดคือ ใช้ยาจากปริมาณน้อยไปหามากจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ รับประทานถี่มากขึ้น และรับประทานสเตียรอยด์หลากหลายชนิดมากขึ้น จากนั้นจะลดระดับการใช้ลงโดยทำเช่นนี้ตามตารางและรอบเวลา ผู้ใช้เชื่อว่า การใช้สเตียรอยด์หลายชนิดในเวลาเดียวกันจะทำให้ยาแต่ละตัวทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และการใช้ยาแบบพีระมิดจะทำให้ร่างกายคุ้นเคยกับการใช้ยาในปริมาณมากๆ ในช่วงพักจากการใช้ยาร่างกายก็จะกลับมาสู่สภาพปกติอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่พบผลของการศึกษาวิจัยใดๆ สนับสนุนความเชื่อเหล่านี้แต่อย่างใด
ผู้ใช้หลายท่านมักบอกว่า พวกเขาจะใช้เตียรอยด์เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น แต่สเตียรอยด์ทำให้ผู้ใช้เกิดอาการเสพติดได้จึงต้องใช้สเตียรอยด์ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อหยุดใช้สเตียรอยด์ก็จะมีอาการขาดยา เช่น ไม่อยากอาหาร หดหู่ เหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน และเกิดภาวะซึมเศร้า เป็นต้น
แม้ว่า สเตียรอยด์จะมีประโยชน์หลากหลาย แต่การใช้สเตียรอยด์ควรอยู่ในการแนะนำและการควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงการซื้อยาสเตียรอยด์มารับประทานเองอย่างเด็ดขาดรวมทั้งระมัดระวังการซื้อยาสมุนไพรลูกกลอน หรือยาชุดแก้เมื่อย ยาชุดแก้หวัด หรือยาที่ไม่มีฉลากกำกับ ที่มักมีการผสมสเตียรอยด์เพื่อหวังผลในการรักษา หากสงสัยว่า มีอาการข้างเคียงจากสเตียรอยด์ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร
รู้จักยาอนาบอลิกสเตียรอยด์
ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ (Anabolic-Androgenic Steroids : ASS) เป็นฮอร์โมนเทียมที่ออกฤทธิ์สร้างกล้ามเนื้อ เนื่องจากมีโครงสร้างคล้ายกับฮอร์โมนเพศชาย (Androgen) มีการผลิตยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ขึ้นมากว่า 100 ชนิด ซึ่งฮอร์โมนที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพสูงสุดคือ ฮอร์โมน Testosterone และแม้ Testosterone จะเป็นฮอร์โมนของชายวัยเจริญพันธุ์ แต่สามารถพบในร่างกายของเด็กผู้หญิงด้วยแต่พบในปริมาณที่น้อยมาก ฮอร์โมนดังกล่าวจะส่งผลต่อการเพิ่มโปรตีนภายในเซลล์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์ของกล้ามเนื้อ ทำให้ผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้มีคุณลักษณะความเป็นชายอย่างโดดเด่น หากใช้ในช่วงวัยแรกรุ่น เช่น มีเสียงทุ้มหรือมีขนดก เป็นต้น นอกจากนี้ Testosterone ยังส่งผลถึงภาวะทางด้านอารมณ์ทำให้ผู้ใช้ยามีอารมณ์ที่ก้าวร้าวได้
นักกีฬาบางกลุ่มใช้ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์เพื่อการกระตุ้นการทำงานของฮอร์โมน Testosterone เสริมสร้างสมรรถนะทางด้านร่างกาย ส่วนสเตียรอยด์ชนิดอื่นๆ บางครั้งมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของ Dehydroepiandrosterone (DHEA) อาจผสม Androstenedione ที่เรียกสั้นๆ ว่า Andro เข้าไปด้วย ถึงหาซื้อได้แต่เป็นยาผิดกฎหมายหากซื้อมารับประทานโดยไม่ได้รับใบสั่งจากแพทย์ อย่างไรก็ตาม ยาประเภท DHEA นั้น อาจยกเว้นได้บางกรณีซึ่งยังสามารถหาซื้อได้ทั่วไป แม้ว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสเตียรอยด์เป็นรูปแบบของยาที่มีส่วนประกอบของ Androgen ในปริมาณน้อยนิดซึ่งแทบจะไม่พบผลข้างเคียงใดๆ แต่หากมีการใช้ในปริมาณที่มากเกินไปก็จะเกิดผลข้างเคียงเช่นเดียวกับการใช้ฮอร์โมน Testosterone อย่างไรก็ตาม จากผลของการศึกษาวิจัยพบว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสเตียรอยด์นให้ผลทางด้านการกีฬาน้อยมาก
สิ่งสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสเตียรอยด์ คือ บริษัทผู้ผลิตมักแอบอ้างสรรพคุณของยาเกินจริง น้อยคนนักที่จะรู้ถึงผลข้างเคียงในระยะยาวต่อสุขภาพร่างกาย นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่รัฐบาลต้องออกกฎหมายควบคุมการใช้สเตียรอยด์
ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ออกฤทธิ์อย่างไร
ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์จะกระตุ้นเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อให้เติบโตขึ้นและมีจำนวนมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการออกกำลังและเพิ่มกล้ามเนื้อ โดยทำหน้าที่เลียนแบบการทำงานของฮอร์โมน Testosterone ธรรมชาติที่เกิดขึ้นเองในร่างกาย หลังใช้ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ไปแล้วจะยังตกค้างอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายเป็นระยะเวลาหลายวัน หรือบางคนอาจนานเป็นปีๆ เลยทีเดียว หากมีการใช้อย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่สเตียรอยด์ได้รับความนิยมนั้นเพราะช่วยให้ร่างกายอึดขึ้น ทนทานต่อการออกกำลังนานๆ และช่วยเพิ่มปริมาณกล้ามเนื้อให้มากขึ้นกว่าเดิมได้นั่นเอง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวิจัยใดยืนยันว่า สเตียรอยด์นั้นสามารถพัฒนาทักษะ เพิ่มความคล่องตัว หรือเพิ่มประสิทธิภาพทางด้านกีฬาได้จริงหรือไม่
อันตรายและผลข้างเคียงจากการใช้ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์
- เป็นสิว
- หัวล้านก่อนวัยอันควร หรือผมร่วง
- น้ำหนักขึ้น / อ้วน
- อารมณ์แปรปรวน
- มีอารมณ์ก้าวร้าว
- นอนไม่หลับ
- ความดันโลหิตสูง
- กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมีโอกาสเกิดความเสียหาย
- มีโอกาสเป็นโรคดีซ่าน หรือตับถูกทำลาย
- ตัวแคระแกร็น หรือร่างกายไม่เจริญเติบโตตามปกติ
- มีความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ตามมา เช่น โรคหัวใจ หลอดเลือดตีบ เส้นเลือดอุดตัน หรือมะเร็งบางชนิด เป็นต้น
ผลข้างเคียงในผู้หญิง
- มีขนขึ้นดกตามใบหน้าและร่างกาย
- ก่อให้เกิดภาวะบุรุษภาพ เช่น มีเสียงทุ้ม และสูญเสียลักษณะเฉพาะของเพศหญิง เช่น หน้าอกเล็กลง เป็นต้น
- อวัยวะเพศมีขนาดใหญ่ขึ้น
- รอบเดือนมีการเปลี่ยนแปลง
ผลข้างเคียงในผู้ชาย
- อัณฑะหดตัวลง
- รู้สึกปวด แสบ เมื่อปัสสาวะ
- หน้าอกหนาขึ้น
- อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- มีปริมาณอสุจิลดลง และเกิดภาวะมีบุตรยาก
อ่านเพิ่มเติม: ผลข้างเคียงจากยาสเตียรอยด์
เนื่องจากการใช้ยาอนาบอลิกสเตียรอยด์ถือว่า ผิดกฎหมายและมีคำสั่งห้ามโดยองค์กรกีฬาอาชีพและสมาคมทางการแพทย์ต่างๆ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักกีฬาบางท่านฝ่าฝืนใช้สเตียรอยด์อยู่ เพราะคิดว่าวิธีนี้จะทำให้ได้เปรียบทางการแข่งขัน ยกตัวอย่างจากหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับนักกีฬามืออาชีพชื่อดังที่ถูกตรวจพบว่า มีการใช้สเตียรอยด์ ทำให้อาชีพทางการกีฬาของพวกเขาถูกทำลายลงด้วย หากคุณเป็นนักกีฬา การใช้สเตียรอยด์อาจไม่ใช่วิธีที่ฉลาดนักเพราะไม่เพียงเป็นการทำร้ายร่างกายของคุณเองแต่ยังเป็นการทำลายชื่อเสียงที่คุณสั่งสมมาด้วย การจะเป็นนักกีฬาดาวเด่นค้างฟ้าได้นั้น คุณจำเป็นต้องใช้ความมุ่งมั่น มีวินัย ขยันซ้อม รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ มั่นฝึกฝน เพียงเท่านี้คุณก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งยาอีกต่อไป