โรคไม่ติดต่อคืออะไร โรคอะไรเสี่ยงบ้าง

โรคไม่ติดต่อคืออะไร โรคอะไรเสี่ยงบ้าง

นอกจากโรคติดต่อที่หลายคนคิดว่า เป็นโรคร้ายแรง สามารถส่งต่อถึงผู้อื่นได้ “โรคไม่ติดต่อ” ก็เป็นโรคที่สร้างอาการเจ็บป่วยรุนแรงและเรื้อรัง จนถึงขั้นเสียชีวิตได้ไม่ต่างกัน แถมบางโรคยังสามารถส่งต่อกันได้ทางพันธุกรรมด้วย ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นโรคติดต่อ หรือไม่ติดต่อ ทุกคนก็ต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวัง ดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ตนเองมีความเสี่ยงเกิดโรคทั้ง 2 ประเภทนี้ทั้งนั้น

ความหมายของโรคไม่ติดต่อ

โรคไม่ติดต่อ (Non-communicable disease: NCDs) คือ โรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ หรือรับเชื้อโรคจากผู้อื่น และเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากการติดต่อจากคนสู่คน แต่มักเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม หรือความผิดปกติภายในร่างกายผู้ป่วยเอง

ตัวอย่างของโรคไม่ติดต่อที่พบได้มากในกลุ่มคนทั่วไป ได้แก่

  • โรคหลอดเลือดสมอง
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคเบาหวาน
  • โรคมะเร็ง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • โรคหลอดลมอักเสบและโรคถุงลมโป่งพอง

สถานการณ์โรคไม่ติดต่อของทั่วโลกในตอนนี้

จากข้อมูลล่าสุดใน ค.ศ. 2018 ขององค์การอนามัยโลก ได้สรุปสถานการณ์ของโรคไม่ติดต่อเอาไว้ดังนี้

  • โรคไม่ติดต่อได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกถึงประมาณปีละ 41 ล้านคน หรือ คิดเป็น 70% ของอัตราการตายทั้งหมด
  • ช่วงอายุของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อจะอยู่ที่ประมาณ 30-69 ปี ซึ่ง 85% ของผู้เสียชีวิตเหล่านี้มาจากประเทศด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา
  • ปัจจัยเสี่ยงในร่างกายที่มักทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินเกณฑ์ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) ภาวะไขมันในเลือดสูง (Hyperlipidemia)
  • พฤติกรรมที่มักนำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อมีอยู่ 4 ส่วนหลักๆ คือ การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารเค็มจัด หรือมีโซเดียมสูง และการออกกำลังกายไม่เพียงพอ
  • โรคไม่ติดต่อที่พบได้มากที่สุดจากทั่วโลกคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular diseases)

สถานการณ์โรคไม่ติดต่อในประเทศไทย

จากสถิติ พ.ศ. 2562 ของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคไม่ติดต่อในประเทศไทยที่พบได้บ่อยสามารถแจกแจงได้ 5 โรคด้วยกัน โดยเรียงจากอัตราการตายของผู้ป่วยจากมากไปน้อย ดังต่อไปนี้

1. โรคหลอดเลือดสมอง 

โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดที่ส่งเลือดไปเลี้ยงสมองเกิดการอุดตัน ตีบ หรือแตก จนสมองขาดเลือด และทำให้เนื้อสมองตายในที่สุด

อาการหลักๆ ของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ได้แก่ ปวดศีรษะอย่างรุนแรง ตาพร่ามัวมองไม่ชัด มุมปากข้างหนึ่งตก ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด หรือไม่สามารถพูดได้เลย คลื่นไส้อาเจียน และไม่สามารถยกแขนข้างใดข้างหนึ่งได้ หรือแขนขาอ่อนแรง

ปัจจัยที่ส่งผลทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองมักมาจากพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และสูบบุหรี่บ่อยๆ ความเครียด และพักผ่อนไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูงมักมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดสมองร่วมกับโรคเดิมมากกว่าคนทั่วไปด้วย

โรคหลอดเลือดหัวใจยังพบได้มากในผู้สูงอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง และผู้ที่เคยมีคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดสมองมาก่อน ก็มีความเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้เช่นกัน

วิธีรักษาโรคหลอดเลือดสมองโดยทั่วไปมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ ทำให้สมองได้รับเลือดไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ หลอดเลือดไม่มีการอุดตัน หรือตีบ ก้อนเลือดไม่แข็งตัวเป็นลิ่ม โดยการใช้ยาดังต่อไปนี้ เช่น

  • ยาละลายลิ่มเลือด
  • ยาต้านเกล็ดเลือด
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด

2. โรคหัวใจขาดเลือด

โรคหัวใจขาดเลือด (Ischaemic heart disease) คือ โรคซึ่งเกิดจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ เหงื่อออกผิดปกติ คลื่นไส้อาเจียน หายใจถี่ รวมถึงรู้สึกเจ็บแน่น หรือแสบที่หน้าอกอย่างรุนแรง ร่วมกับมีอาการเจ็บร้าวที่หัวไหล่

โรคหัวใจขาดเลือดมีปัจจัยมาจากโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหลายอย่าง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง

นอกจากนี้ความเครียด พฤติกรรมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง และการสูบบุหรี่เป็นประจำก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้เช่นกัน

การรักษาโรคหัวใจขาดเลือดจะคล้ายกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง นั่นคือ การจ่ายยาต้านเกล็ดเลือด ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาลดการบีบตัวของหัวใจ

แต่หากรักษาด้วยยาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Artery Bypass Surgery) หรือขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Coronary Angioplasty and Stenting) เพื่อทำให้หลอดเลือดกลับมาทำงานส่งเลือดเข้าไปเลี้ยงหัวใจได้อีกครั้ง

3. โรคหลอดลมอักเสบและโรคถุงลมโป่งพอง

โรคหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) คือ โรคที่เกิดจากเยื่อบุหลอดลมซึ่งเป็นหลอดนำอากาศเข้าสู่ปอดเกิดการอักเสบ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการไอเรื้อรัง หายใจลำบาก หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ด รวมถึงรู้สึกเจ็บคอ แสบหน้าอก

โรคถุงลมโป่งพองคือ โรคที่เกิดจากถุงลมเกิดการขยายตัวมากผิดปกติจนทำให้ผิวปอดมีพื้นที่น้อยลง และทำให้หายใจไม่สะดวก

สาเหตุหลักๆ ของโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจทั้งสองโรคมีความคล้ายคลึงกันนั่นคือ การสูดเอาควันบุหรี่ ละอองสิ่งสกปรก หรือมลพิษเข้าไปในปอด จนเกิดความระคายเคืองขึ้น มีการสะสมของสิ่งสกปรกต่างๆ ภายในปอด และทำให้หลอดลมอุดตัน

วิธีรักษาโรคหลอดลมอักเสบจะเป็นการปรับวิถีการดำเนินชีวิตให้เหมาะสมร่วมกับการรับประทานยารักษาไปตามอาการ เช่น งดสูบบุหรี่ งดอยู่ในที่อากาศเย็นจัด งดการสัมผัสลมเย็นจากเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลมโดยตรง ทำให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ

ส่วนวิธีรักษาโรคถุงลมโป่งฟองมี 2 วิธีสำคัญ คือ การรักษาด้วยการใช้ยาขยายหลอดลม และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การงดสูบบุหรี่ การหลีกเลี่ยงออกไปเผชิญมลภาวะสกปรก หรือเป็นพิษ การออกกำลังกายฟื้นฟูสุขภาพปอด

4. โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงคือ โรคที่เกิดจากแรงดันของเลือดที่ไหลเวียนอยู่ภายในร่างกายสูงกว่าปกติ มักมีปัจจัยมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม จนทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่คล่องตัว หรือทำให้ความดันภายในหลอดเลือดสูงขึ้น เช่น

  • การรับประทานอาหารรสเค็มจัด มีไขมัน และน้ำตาลสูง
  • การบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • การสูบบุหรี่เป็นประจำ
  • ความเครียด

นอกจากนี้ความเสื่อมของหลอดเลือดในผู้สูงอายุก็มีส่วนทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูงได้ ส่วนอาการหลักๆ ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงจะได้แก่ หน้ามืด ใจสั่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ปวดตา ตาพร่ามัว คลื่นไส้อาเจียน เหนื่อยง่าย หอบหนัก

วิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูงจะเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการหมั่นออกกำลังกายในปริมาณที่ไม่หักโหมเกินไป การลดปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ลด หรือเลี่ยงการรับประทานอาหารเค็มจัด มีไขมัน หรือน้ำตาลสูง

งดสูบบุหรี่ ทำจิตใจให้แจ่มใส และพยายามหลีกเลี่ยงความเครียด

5. โรคเบาหวาน

โรคเบาหวาน (Diabetes) เกิดจากร่างกายไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินได้เพียงพอ หรือการตอบสนองต่ออินซูลินบกพร่องไป ทั้งนี้อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้ร่างกายสามารถนำไขมัน และน้ำตาลที่เรารับประทานเข้าไปเปลี่ยนเป็นพลังงานได้

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีปัจจัยหลักๆ มาจากพฤติกรรมติดการรับประทานอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง รวมถึงบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยๆ สูบบุหรี่เป็นประจำ และไม่ออกกำลังกาย

นอกจากนี้โรคเบาหวานยังเป็นโรคทางพันธุกรรมที่หากคุณมีคนในครอบครัวเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน ก็มีความเสี่ยงที่คุณจะเป็นโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน ซึ่งควรจะต้องเข้ารับการตรวจโรคเบาหวาน เพื่อดูความเสี่ยงที่ตนเองจะเป็นโรคเบาหวานด้วย

โรคเบาหวานแบ่งออกได้ 3 ชนิด ได้แก่

  1. โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เกิดจากร่างกายผู้ป่วยไม่สามารถสร้างฮอร์โมนอินซูลินให้เพียงพอต่อร่างกายได้ มักพบในเด็กซึ่งอาจเป็นแต่กำเนิด และพบในผู้ใหญ่อายุไม่เกิน 30 ปี
  2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นประเภทโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยที่สุด โดยมักเกิดจากกรรมพันธุ์ ทำให้ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป และยังเกิดจากพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสมด้วย
  3. โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นโรคเบาหวานที่จะพบได้ในหญิงตั้งครรภ์ มีสาเหตุมาจากการทำงานของฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป จึงทำให้เกิดการต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินและทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ

อาการของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่ อ่อนเพลียง่าย รู้สึกชาตามมือ เท้า กระหายน้ำ หิวบ่อย น้ำหนักลดผิดปกติ ปัสสาวะบ่อย มีปื้นหนาสีคล้ำขึ้นที่ลำคอ รักแร้ และขาหนีบ

วิธีป้องกันโรคไม่ติดต่อ

จะเห็นได้ว่า โรคติดต่อมีปัจจัยทำให้เกิดหลักๆ มาจากการมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคไม่ติดต่อได้ ได้แก่

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เสมอ จำกัดปริมาณรับประทานอาหารรสจัด เค็มจัด หวานจัด และอาหารที่มีไขมันสูงให้พอดี
  • งดการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละประมาณ 3-5 วัน วันละประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง
  • รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม อย่าปล่อยตนเองให้เสี่ยงเกิดภาวะอ้วน
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่ควรนอนดึก
  • หลีกเลี่ยงภาวะเครียด
  • หมั่นไปตรวจสุขภาพทุกปี หรือหากมีความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อที่ส่งต่อกันได้ทางพันธุกรรม ก็ควรเข้ารับการตรวจโรคนั้นโดยเฉพาะด้วย เช่น ตรวจโรคเบาหวาน ตรวจหัวใจและหลอดเลือด ตรวจปอด ตรวจสารบ่งชี้การก่อโรคมะเร็ง

โรคไม่ติดต่อมักเป็นโรคเรื้อรัง ต้องใช้เวลาในการรักษา หรือยากที่จะหายขาดเป็นปกติที่หายได้โดยง่าย เพื่อให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรง ห่างไกลจากอาการเจ็บป่วยที่ยากจะหายขาดได้ คุณจึงควรรักษาสุขภาพให้สมบูรณ์ หากเกิดอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์โดยทันที

เพื่อที่หากมีการตรวจวินิจฉัยพบความผิดปกติ คุณจะได้เข้ารับการรักษาโรคดังกล่าวทันเวลา และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ในการดูแลสุขภาพต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top