ปัญหาการนอนไม่หลับ พบได้มากทั้งในวัยรุ่นและผู้สูงอายุ สาเหตุอาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวลจากเรื่องต่างๆ หรือเจ็บป่วย รวมถึงสิ่งรบกวนจากภายนอก เช่น แสงสว่าง เสียงดัง กลิ่นเหม็น การทำงานที่ทำให้การนอนไม่เป็นปกติ
การเลือกใช้ยานอนหลับอาจเลือกได้ตามอาการที่นอนไม่หลับ การรักษาทำได้ทั้งวิธีไม่ใช้ยาและใช้ยา ซึ่งการใช้ยานอนหลับก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นิยมมาก เพราะเห็นผลเร็ว
สารบัญ
อาการนอนไม่หลับ มีกี่ประเภท?
ความหมายของอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) คือ มีอาการนอนไม่หลับอย่างต่อเนื่องนานมากกว่าหรือเท่ากับ 1 เดือน และรู้สึกทรมานหรือสูญเสียความสามารถในการทำกิจกรรมต่างๆ เช่น การทำงาน
ประเภทของการนอนไม่หลับแบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
- หลับยาก (Sleep onset insomnia) ผู้ป่วยจะมีอาการตาค้างอยู่นานจนกว่าจะหลับ มักพบในผู้ที่มีความเครียด เช่น วัยรุ่น วัยทำงาน
- ตื่นบ่อย (Sleep maintenance insomnia) ผู้ป่วยจะนอนหลับได้ แต่มักจะตื่นกลางดึก และหลับใหม่ได้ยาก มักพบในคนสูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วมต่างๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มะเร็ง โรคทางไขข้อ
ลักษณะการออกฤทธิ์
หากพยายามแก้ไขสาเหตุรวมถึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้เหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์จึงจะพิจารณาให้ใช้ยานอนหลับร่วมด้วยในการรักษา ยานอนหลับแบ่งออกเป็นกลุ่มดังนี้
- กลุ่มที่ออกฤทธิ์เร็ว ช่วยเหนี่ยวนำให้หลับ ทำให้หลับภายหลังรับประทานยาประมาณ 15-30 นาที เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาเริ่มหลับยาก
- กลุ่มที่ออกฤทธิ์ช้า ยาจะออกฤทธิ์ภายหลังรับประทานยาประมาณ 30 นาทีขึ้นไป เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มีปัญหาเริ่มหลับยาก แต่ตื่นกลางดึกบ่อยแล้วนอนต่อไม่หลับ
อย่างไรก็ตาม การรับประทานยานอนหลับมีผลข้างเคียงเช่นกันและอาจทำให้ติดได้ จนต่อไปหากไม่รับประทานยาก็จะนอนไม่หลับ ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานอนหลับทุกครั้ง
ประเภทของยานอนหลับ
ก่อนที่จะเริ่มใช้ยานอนหลับ ต้องพิจารณาอาการและรูปแบบการนอนไม่หลับก่อนที่จะเริ่มการรักษา บ่อยครั้งเมื่อมีอาการนอนไม่หลับ ผู้ป่วยมักจะหาซื้อยาจากร้านขายยาหรืออ่านคำแนะนำจากอินเทอร์เน็ต เพื่อมองหาตัวช่วยให้นอนหลับ แต่ควรปรึกษาเภสัชกรที่ร้านขายยามากกว่า
ยานอนหลับมีหลายกลุ่ม ดังนี้
1. สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
หากมีอาการนอนไม่หลับ โดยเฉพาะเมื่อมีอาการหลับยาก (Sleep onset insomnia) อาจลองมองหาสมุนไพรที่ช่วยในการนอนหลับ และช่วยให้คลายเครียด
- สารสกัดจากดอกคาโมมายล์ มีสรรพคุณช่วยให้ผ่อนคลาย สงบ และหลับได้ดีขึ้น
- สมุนไพรเซนต์จอห์นสเวิร์ท (St. John’s Wort) เป็นสมุนไพรที่ใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบยุโรป เนื่องจากมีฤทธิ์คลายเครียด และช่วยให้นอนหลับ
- ขี้เหล็ก เป็นสมุนไพรไทยที่มีสารบาราคอล (Barakol) ช่วยให้นอนหลับ ในอดีตมีการใช้ใบขี้เหล็กอ่อนบดเป็นผงกินเป็นยานอนหลับ ต่อมาพบว่าทำให้เกิดตับอักเสบ จึงทำให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยายกเลิกการใช้เป็นยาเดี่ยว ให้ใช้เป็นยาตำรับ
คนที่นอนไม่หลับสามารถใช้สมุนไพรเหล่านี้ได้ แต่ควรใช้ในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น หากมีโรคร่วมและมียาที่ใช้อยู่เป็นประจำ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด Warfarin ยารักษาโรคหัวใจ Digoxin ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้
เนื่องผลิตภัณฑ์เสริมอาหารไม่ใช่ยาจึงสามารถหาซื้อได้ง่ายกว่า แต่อาจไม่ได้ผลกับผู้ป่วยโรคนอนไม่หลับบางราย หากไม่ได้ผลควรพิจารณาปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์เพื่อใช้ยารักษาโรคนอนไม่หลับ
2. ยาต้านฮีสตามีนรุ่น 1 (First generation antihistamine)
ยาในกลุ่มนี้จะใช้รักษาอาการแพ้ ผื่นคัน ผื่นลมพิษ น้ำมูกไหล จาม แต่ด้วยผลข้างเคียงจากการที่ยาสามารถผ่านเข้าสู่สมอง ไปกดระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ผู้ใช้ยามีอาการง่วง จึงมีการนำผลข้างเคียงนี้มาใช้ทำให้นอนหลับในผู้ที่นอนหลับยาก (Sleep onset insomnia)
ตัวอย่างยากลุ่มนี้ เช่น
- คลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- บรอมเฟนิรามีน (Brompheniramine)
- ไฮดรอกไซซีน (Hydroxyzine)
3. เมลาโทนิน (Melatonin)
ตามปกติ เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่อยู่ในระบบประสาทที่ร่างกายสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติจากต่อมไพเนียล โดยจะผลิตเมื่อมีความมืดเป็นตัวกระตุ้น และถูกยับยั้งโดยแสงสว่าง มีปริมาณสูงสุดในช่วงเวลา 02.00-04.00 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ง่วงนอนมากที่สุด และจะลดลงเรื่อยๆ จนถึงช่วง 07.00-08.00 น. ก็จะหยุดสร้าง
นอกจากเวลาแล้ว ช่วงวัยก็มีผลต่อระดับเมลาโทนิน ในวัยเด็กจะมีปริมาณเมลาโทนินในเลือดสูงและลดลงเมื่ออายุมากขึ้น ในวัย 70-80 ปี เมลาโทนินอาจน้อยจนวัดค่าในเลือดไม่ได้เลย
สิ่งที่ควรทราบก่อนใช้เมลาโทนิน
- ปัจจุบัน มีการนำเมลาโทนินมาใช้เพื่อช่วยเป็นยานอนหลับในกรณีต่างๆ เช่น การเดินทางข้ามประเทศแล้วนอนไม่หลับ (Jet lag) หรือผู้สูงอายุที่นอนไม่หลับ
- รูปแบบเมลาโทนินที่มีขายในร้านยาจะเป็นรูปแบบออกฤทธิ์นาน ขนาด 2 มิลลิกรัม รูปแบบยานี้จะค่อยๆ ปลดปล่อยตัวยา ทำให้มีฤทธิ์ช่วยให้นอนหลับได้นาน ห้ามหัก บด แบ่ง เม็ดยา
- ควรใช้เมลาโทนินในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากมีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ อาการง่วงระหว่างวัน ปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ
- นอกจากนี้ เมลาโทนินยังเกิดปฏิกิริยาต่อยาอื่นได้มาก จึงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
ตัวยาต้านฮีสตามีนรุ่น 1 และเมลาโทนิน ถูกจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตรายตามกฎหมาย ดังนั้นจึงสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา แต่ต้องจ่ายยาหรือได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
4. ยากลุ่มเบนโซไดอะซีพีน (Benzodiazepine)
ยากลุ่มนี้จัดว่าเป็นยานอนหลับที่นิยมใช้ทางการแพทย์ เนื่องจากผ่านเข้าสู่สมองเร็ว ออกฤทธิ์เร็ว ดูดซึมได้ดี ทำให้หลับเร็วหลังจากรับประทาน ช่วยทั้งอาการนอนหลับยาก และอาการตื่นนอนบ่อย
ยากลุ่มนี้ต้องควบคุมการจ่ายยาโดยแพทย์ หรือมีใบสั่งแพทย์เท่านั้น ระยะเวลาการออกฤทธิ์จะอยู่ในช่วง 15-30 นาที และยากลุ่มนี้ที่ช่วยในการนอนหลับควรมีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 8 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้มีอาการสะลึมสะลือหลังจากตื่นนอน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ คือ Alprazolam (Xanax), Diazepam (Valium), Midazolam (Dormicum)
ยากลุ่มนี้ต้องใช้อย่างระมัดระวัง และอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของแพทย์ หากใช้ยาต่อเนื่องอาจทำให้ดื้อยาหรือเสพติดยาได้
5. ยากลุ่มที่ไม่ใช่เบนโซไดอะซีพีน (Non-Benzodiazepine)
เป็นยานอนหลับที่มีมานาน ทำให้เกิดการดื้อยาน้อย แต่มีค่าครึ่งชีวิตประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ซึ่งทำให้หลับได้ไม่นานมาก เช่น Zolpidem
6. ยาต้านซึมเศร้า (Antidepressant) ที่มีฤทธิ์ง่วง
มักใช้ในผู้ป่วยที่มีโรคซึมเศร้า แต่มีความวิตกกังวล นอนไม่หลับร่วมด้วย เช่น Amitriptyline
ตารางเปรียบเทียบยาที่ช่วยในการนอนหลับ
ขนาดยา (มิลลิกรัม) | ค่าครึ่งชีวิต (ชั่วโมง) | การดูดซึม | รูปแบบยา | ราคา (บาท/เม็ด)* | |
Alprazolam | 0.5-1 | 12-20 | เร็ว | ยาเม็ด/ยาน้ำ | 5-20 |
Midazolam | 7.5-15 | 1-4 | เร็วมาก | ยาเม็ด/ยาน้ำ | 11-45 |
Diazepam | 5-10 | 20-50 | เร็ว | ยาเม็ด/ยาน้ำ | 2-24 |
Zolpidem | 2.5-10 | 1.5-4 | เร็ว | ยาเม็ด/ยาน้ำ/สเปรย์พ่นทางปาก | 10-144 |
Amitriptyline | 25-50 | 1.56-26.6 | ปานกลาง | ยาเม็ด | 3-46 |
Hydroxyzine | 25-50 | 15-30 นาที | ปานกลาง | ยาเม็ด/ยาน้ำ | 3-40 |
Chlorpheniramine | 4-12 | 1-6 | ปานกลาง | ยาเม็ด/ยาน้ำ | 1-5 |
* ราคาอาจเปลี่ยนแปลง, ข้อมูลราคายาเปรียบเทียบราคายาในโรงพยาบาลเอกชนจากกรมการค้าภายใน (https://hospitals.dit.go.th/app/drug_price_list.php)
ยานอนหลับส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบเม็ดหรือน้ำ มีรูปสเปรย์บ้างบางตัว สำหรับในรูปแบบดมหรือป้ายมักจะไม่ใช่ยานอนหลับ แต่เป็นกลุ่มยาสลบ
เนื่องจากยารูปแบบดมจะต้องใช้การระเหยที่ดีและออกฤทธิ์เร็ว ในกลุ่มของยานอนหลับยังไม่มีตัวที่มีค่าการระเหยสูงพอที่จะใช้เพียงการสูดดมแล้วตัวยาออกฤทธิ์ทำให้นอนหลับได้ ต้องใช้การรับประทาน ฉีดเข้าหลอดเลือด หรือพ่นเข้าทางปาก
ข้อควรระวังในการใช้ยานอนหลับ
- อาจมีอาการง่วงซึมหลังจากใช้ยา ควรหลีกเลี่ยงการขับรถหรือการทำงานบนที่สูง
- ยากลุ่ม Benzodiazepines บางตัวอาจทำให้ลืมเหตุการณ์ก่อนและหลังใช้ยาในระยะเวลาสั้นๆ ได้ (Anterograde amnesia) ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
- อาจทำให้เกิดอาการดื้อยา คือต้องใช้ขนาดยาเพิ่มขึ้นถึงจะนอนหลับ หรือติดยาหลังจากใช้ยาขนาดสูงๆ เป็นระยะเวลานานๆ ได้
นอกจากนี้ ไม่ควรดื่มสุราร่วมกับยานอนหลับ เนื่องจากสุรามีฤทธิ์กดระบบประสาท ทำให้ยานอนหลับออกฤทธิ์มากเกินไป อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้
สตรีมีครรภ์ และให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
คำถามที่พบบ่อย
ยานอนหลับ ซื้อที่ไหน มีอะไรบ้าง ?
ในประเทศไทย ยานอนหลับ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์เท่านั้น เช่น Diazepam, Lorazepam หรือ Alprazolam สามารถรับได้ที่โรงพยาบาลหรือร้านขายยาที่มีใบอนุญาตจัดจำหน่ายยาควบคุมพิเศษอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
หากไม่ใช่ยานอนหลับ อาจเลือกยาที่ช่วยง่วงให้นอนหลับ หรือสมุนไพรที่ช่วยส่งเสริมการนอนหลับ สามารถหาซื้อได้ในบางช่องทาง
1. ร้านขายยาทั่วไป
- ปกติไม่มียานอนหลับโดยตรงขาย แต่มียาแก้แพ้บางชนิดที่ช่วยให้ง่วง เช่น Chlorpheniramine หรือ Diphenhydramine และผลิตภัณฑ์ช่วยเสริมการนอนหลับ เช่น เมลาโทนิน (Melatonin)
- ในไทยกำหนดให้เมลาโทนินเป็นยา ดังนั้นจึงต้องซื้อที่ร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำเท่านั้น ไม่ควรหาทางช่องทางออนไลน์ซึ่งเสี่ยงต่อผลิตภัณฑ์ปลอมหรือไม่ได้มาตรฐาน
2. ร้านขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบางชนิดช่วยให้จิตใจสงบขึ้น หลับได้สนิทขึ้น เช่น
- รากวาเลอเรียน (Valerian Root)
- คาโมมายล์ (Chamomile)
- แมกนีเซียม (Magnesium)
- แอล-ธีอะนีน (L-Theanine)
- กาบา (GABA)
- 5-HTP (5-Hydroxytryptophan)
- ลาเวนเดอร์ (Lavender)
- แอชวากันดา (Ashwagandha)
- ดอกเสาวรส (Passion flower)
- นมผึ้ง (Royal Jelly)
- อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาการนอนหลับ ควรปรึกษาแพทย์และเภสัชกรมากกว่าที่จะซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารทานเอง เพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุด
เขียนบทความโดย ทีมเภสัชกร HD