ก้อนที่ขาหนีบ Groin Lump scaled

ก้อนที่ขาหนีบ (Groin Lump)

ก้อนที่ขาหนีบ (Groin Lump) หมายถึง การพบก้อนใดๆ ที่บริเวณขาหนีบ ก้อนที่เกิดขึ้นจะมีขนาดและรูปร่างที่แตกต่างกันไป อาจมีอาการเจ็บปวดหรือไม่ก็ได้

ลักษณะของก้อนอาจพบเป็นก้อนเดียว หรือพบเป็นกลุ่มก้อนก็ได้ อาจมีสีเดียวกับผิวหนัง หรือมีสีแดง หรือสีม่วง โดยรูปร่างและลักษณะของก้อนที่ขาหนีบ จะขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดเป็นส่วนใหญ่

สาเหตุของการเกิดก้อนที่ขาหนีบ

  • ซีสต์ (Cysts) กรณีที่เกิดจากซีสต์ หรือถุงน้ำ อาจพบก้อนเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดและไม่สบายตัว
  • ต่อมน้ำเหลืองโต (Swollen Glands) หากเกิดการติดเชื้อ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หรือมีภาวะโมโนนิวคลีโอซิส (Mononucleosis) อาจทำให้เกิดภาวะต่อมน้ำเหลืองโตที่ขาหนีบได้ ซึ่งมักเกิดขึ้นพร้อมๆ กับต่อมน้ำเหลืองโตที่คอ หรือรักแร้ นอกจากนี้ยังพบภาวะต่อมน้ำเหลืองโตได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น มะร็งต่อมน้ำเหลือง
  • ไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Hernia) มักพบก้อนขนาดใหญ่ ตุง นูน และนิ่ม ที่เกิดจากลำไส้ หรือเนื้อเยื่อช่องท้องส่วนล่างหย่อนยาน ทำให้มีไส้เลื่อนออกมาบริเวณหัวเหน่า ภาวะไส้เลื่อนเป็นภาวะที่ต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็วหากเกิดภาวะแทรกซ้อน
  • การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted infections (STIs)) โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางโรคเป็นสาเหตุของการเกิดก้อนที่ขาหนีบได้ เพราะทำให้เกิดการบวมของต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ เช่น
    • เริม (Herpes)
    • หนองในเทียม (Chlamydia)
    • หนองในแท้ (Gonorrhea)
    • ซิฟิลิส (Syphilis)
  • ภาวะ Saphena Varix ถ้าก้อนที่ขาหนีบยุบลงได้เมื่อนอนลง อาจเกิดจากภาวะที่เรียกว่า “Saphena varix” เกิดจากลิ้นในเส้นเลือดดำที่ชื่อ Saphenous Vein ไม่สามารถเปิดเพื่อให้เลือดไหลเวียนตามปกติ ทำให้เกิดเลือดคั่งภายในเส้นเลือดดำนั้น กรณีนี้จะทำให้เกิดก้อนที่มีขนาดใหญ่เท่าลูกกอล์ฟและสังเกตเห็นเป็นสีน้ำเงิน มักพบที่บริเวณขา หรือเท้า

การรักษาก้อนที่ขาหนีบ

เนื่องจากก้อนที่ขาหนีบเกิดได้จากหลายสาเหตุ จึงต้องมีการวินิจฉัยอย่างละเอียดก่อนว่า เกิดจากสาเหตุใด เพื่อจะได้รักษาตามสาเหตุอย่างถูกต้อง

เช่น ในกรณีที่เป็นซีสต์ หรือมีภาวะไส้เลื่อน ก็อาจต้องทำการรักษาด้วยการผ่าตัด แต่ถ้าหากเกิดจากต่อมน้ำเหลืองโต แพทย์อาจจ่ายยาปฏิชีวนะให้ไปรับประทานเพื่อรักษาอาการติดเชื้อ

การพบก้อนที่ขาหนีบ ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษา แม้ว่าซีสต์และต่อมน้ำเหลืองโตจะไม่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนในระยะยาว แต่หาเป็นโรคไส้เลื่อนแล้วไม่ได้รักษา อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

หรือถ้าหากเกิดจากการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์บางชนิด เช่น ซิฟิลิส อาจทำให้ตาบอด ร่างกายเป็นอัมพาต และสมองเสื่อมได้

การป้องกันการเกิดอาการก้อนที่ขาหนีบ

ส่วนมากแล้วอาการก้อนที่ขาหนีบจะเกิดขึ้นตามธรรมชาติและไม่สามารถป้องกันได้ แต่ก็อาจหลีกเลี่ยงบางปัจจัยได้ดังนี้

  • สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก
  • ไม่เบ่งอุจจาระรุนแรง
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์สุขภาพดี เพื่อลดความเสี่ยงต่อการมีภาวะไส้เลื่อน

หมั่นสังเกตตนเองเสมอ หากมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับส่วนต่างๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นมีอาการเจ็บปวด หรืออวัยวะ ผิวหนังส่วนใดมีลักษณะแปลกไป จากนั้นลองสาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการเพื่อหลีกเลี่ยง

หากอาการไม่ดีขึ้นให้ไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. ธนู โกมลไสย


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top