วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ทำได้อย่างไรบ้าง

โรคภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นกับหลายๆ คนมีที่มามาจากหลายสาเหตุด้วยกัน สาเหตุแรกจะมาจากเงื่อนไขสุขภาพ และพันธุกรรมที่แตกต่างกันไป ส่วนสาเหตุต่อไปนั้นเป็นสาเหตุโดยตรงและสาเหตุเสริม ซึ่งจะมาจากสภาพแวดล้อมรอบตัวผู้ป่วยเป็นหลัก รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสมจนร่างกายเกิดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้

ทั้งนี้สาเหตุของโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากสภาพแวดล้อมรอบตัวและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เป็นสิ่งที่คุณสามารถหาแนวทางป้องกันได้ ดังต่อไปนี้

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากพฤติกรรมของตนเอง

ด้านร่างกาย

การเริ่มต้นป้องกันโรคภูมิแพ้ที่ดีควรเริ่มจากจัดการร่างกายของตนเองให้สะอาดก่อน คุณควรอาบน้ำและหมั่นสระผมเพื่อให้ร่างกายสะอาดปราศจากเชื้อโรคทุกวัน

อีกทั้งควรเลือกผลิตภัณฑ์แชมพูและสบู่ที่อ่อนโยนต่อผิว หรือช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผิวหนังเกิดอาการแพ้

นอกจากสารเคมีที่อยู่ในผลิตภัณฑ์แชมพูและสบู่แล้ว กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิวพรรณก็เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้

วิธีป้องกันก็คือ ให้คุณสังเกตตนเองว่า ผิวหนังมีปฏิกิริยาแพ้ต่อเครื่องสำอางที่ใช้หรือไม่ เช่น ผิวแห้ง เป็นผื่นแดง รู้สึกคันตามผิวหนัง มีฝ้า หรือด่างขาวขึ้น

ให้คุณสังเกตว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง หรือบำรุงผิวที่ใช้อยู่ มีสารประกอบต้องห้ามที่ห้ามใช้ในเครื่องสำอางตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาหรือไม่ ได้แก่

  • สารปรอท (Mercury)
  • สารไฮโดรควิโนน (Hydroquinone)
  • สารสเตียรอยด์ (Steroids)
  • กรดเรติโนอิก (Retinoic acid)

ด้านการรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คือ อีกแนวทางป้องกันสำคัญไม่ให้เกิดโรคภูมิแพ้ ขณะเดียวกัน คุณก็ต้องระมัดระวังไม่ให้ตนเองเผลอรับประทานอาหารที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้

อีกทั้งควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการรับประทานอาหารที่เหมาะสม

สำหรับประเภทของอาหารที่ผู้คนมักเกิดอาการแพ้ จะได้แก่

  • นมวัว มักเกิดอาการแพ้ในเด็กทารกและเด็กเล็ก นอกจากนมวัวแล้ว ผู้ที่แพ้ยังต้องระวังอาหารอื่นๆ ที่มีส่วนประกอบของนมวัว เช่น ชีส เนย โยเกิร์ต ไอศกรีม
  • ไข่ มักจะเป็นกลุ่มเด็กเล็กที่แพ้โดยเฉพาะไข่ขาว แต่ส่วนมากหากมีการปรุงอาหารสุกแล้ว ผู้ที่แพ้ไข่ก็สามารถรับประทานไข่ได้ตามปกติ
  • ถั่วลิสง รวมถึงถั่วชนิดอื่นๆ ด้วยเช่น วอลนัท อัลมอนด์ เม็ดมะม่วงหิมพานต์
  • ถั่วเหลือง ผู้ที่อาศัยอยู่ประเทศแถบเอเชียและมีอาการแพ้ถั่วเหลือง จะต้องระมัดระวังเรื่องอาหารมากเป็นพิเศษ เพราะอาหารในประเทศแถบเอเชียเกือบทุกอย่างมีส่วนผสมของถั่วเหลืองอยู่
  • อาหารทะเลที่มีเปลือก เช่น ปู กุ้ง หอยนางรม หอยแครง หอยตลับ ผู้ที่แพ้อาหารทะเลที่มีเปลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็มักจะแพ้อาหารทะเลที่มีเปลือกชนิดอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้ผู้ที่มีความไวต่อสารก่อภูมิแพ้ประเภทอาหารทะเลที่มีเปลือกก็มักจะเกิดอาการแพ้ได้ถึงแม้จะสัมผัสแค่ไอน้ำ หรือควันจากอาหารที่ปรุงแล้ว
  • ปลา มักเกิดในผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและหากมีอาการแพ้ปลาชนิดใดชนิดหนึ่งก็มีความเสี่ยงที่คุณจะแพ้ปลาชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน แม้จะปรุงสุกแล้วก็ตาม
  • ธัญพืช เป็นอาการแพ้อาหารที่เกิดจากการกระตุ้นของสารโปรตีนชื่อ “ไกลอะดิน (Gliadin)” ซึ่งอยู่ในโปรตีนในแป้งชื่อ “กลูเตน (Gluten)” ดังนั้นจึงต้องระวังอาหารที่มีส่วนประกอบของธัญพืชทุกชนิด รวมถึงโปรตีนกลูเตนด้วย

นอกเหนือจากประเภทของอาหารที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอาหารที่อีกหลายประเภทที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น เนื้อสัตว์ ผัก ข้าว เครื่องเทศ

วิธีป้องกันที่ดีที่สุดหากทราบว่า ตนเองแพ้อะไรคือ หลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของอาหารที่คุณแพ้ เพียงเท่านี้อาการแพ้อาหารของคุณก็จะไม่เกิดขึ้น

หรือสอบถามร้านอาหารที่ไปใช้บริการ และดูฉลากผลิตภัณฑ์อาหารทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร เพื่อให้แน่ใจว่า ไม่มีอาหารที่คุณแพ้เป็นส่วนผสมอยู่

หากไม่ทราบมาก่อนว่า แพ้อาหารชนิดใด แล้วเกิดอาการแพ้ขณะรับประทาน ให้หยุดรับประทานทันทีจากนั้นสังเกตอาการว่า มีอาการแพ้แบบรุ่นแรงหรือไม่ ได้แก่

  • ใจสั่น วิงเวียน หรือ หมดสติ
  • หายใจติดขัด
  • ผื่นขึ้นหรือบวมตามใบหน้า
  • ปวดท้อง/คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย

หากมีอาการ 2 ใน 4 ระบบขึ้นไป (จากที่ยกมาข้างต้น) ถือว่า มีอาการของการแพ้แบบรุนแรง ให้รีบไปโรงงพยาบาลทันที

ด้านจิตใจ

คุณอาจไม่ทราบว่า ความเครียดเป็นสาเหตุของโรคภูมิแพ้ได้เช่นกัน เพราะความเครียดที่เพิ่มมากขึ้น จะไปกระตุ้นทำให้สารฮิสตามีน (Histamine) ซึ่งเป็นสารสำคัญที่ทำให้เกิดอาการภูมิแพ้หลั่งมากขึ้น

นอกจากนี้ความเครียดที่สะสมมานานหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน ยังทำให้ร่างกายของคุณผลิตฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียดหลักของร่างกายเพิ่มมากขึ้น

เมื่อปริมาณของคอร์ติซอลมากขึ้นจะทำให้เซลล์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานไม่สมบูรณ์

อีกทั้งความเครียดยังเป็นสิ่งเร้าสำคัญที่ทำให้คุณดำเนินชีวิตด้วยพฤติกรรมผิดๆ จนร่างกายอ่อนแอ และเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยได้ง่ายขึ้น เช่น

  • ดื่มสุราบ่อยขึ้น
  • สูบบุหรี่และเสพยาเสพติด
  • ทำงานดึกจนพักผ่อนไม่เพียงพอ
  • หมกมุ่นอยู่กับความเครียด วิตกกังวลมากเกินไป

เพื่อไม่ให้ความเครียดเป็นตัวการทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ คุณจึงควรหาเวลาพักผ่อนหย่อนใจ หาเวลาคลายเครียดให้กับตนเองบ้าง  เช่น ออกไปพบปะเพื่อนฝูง แบ่งเวลาระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัวอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้คุณไม่หมกมุ่นกับความเครียดจนเกินไป

แต่หากไม่สามารถจัดการกับความเครียดของตนเองได้ ควรลองไปพบจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษา เพื่อที่สุขภาพจิตจะได้ดีขึ้น และนำพาให้สุขภาพกายดีขึ้นตามไปด้วย

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้จากฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป

ความชื้น ความแห้งของอากาศ คราบฝุ่น และอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้กำเริบได้ เช่น คัดจมูก ไอเรื้อรัง ปวดหัว จามบ่อย หายใจไม่สะดวก

คุณสามารถป้องกันอาการภูมิแพ้จากอากาศได้โดยเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันภูมิแพ้ และดูแลสภาพแวดล้อมรอบตัวให้อยู่ในอุณหภูมิอบอุ่น ปลอดฝุ่น และสะอาดอยู่เสมอ เช่น

  • ปิดประตูหน้าต่างเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองพัดเข้ามาในบ้าน
  • ใส่เสื้อผ้าที่ทำให้อบอุ่น ไม่อับชื้น
  • รับประทานอาหารที่เหมาะสมกับฤดูกาล อาหารชนิดไหนที่เสี่ยงบูดง่าย หรือเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคของฤดูนั้นๆ ก็ควรหลีกเลี่ยง
  • ใช้เครื่องกรองอากาศหากจำเป็น
  • ทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเกี่ยวกับอากาศภายในบ้าน เช่น ใบพัดลม แผ่นกรองฝุ่นของเครื่องกรองอากาศ เพื่อความสดชื่น และสะอาดของอากาศภายในบ้าน
  • พกหน้ากากอนามัยติดตัวเมื่ออยู่ข้างนอก เพื่อลดอาการภูมิแพ้ที่อาจทำให้ผู้อื่นรับเชื้อโรคจากคุณ และเพื่อป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย
  • เปลี่ยนเครื่องนอนในห้องนอนเพื่อความสะอาดและนำไปตากแดด เพราะห้องนอนคือ แหล่งรวมของฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกที่อาจพัดเข้ามาทางหน้าต่าง

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้จากสิ่งสกปรกภายในบ้าน

หากไม่ดูแลความสะอาดภายในบ้านและปล่อยให้บ้านเป็นแหล่งของสารก่อภูมิแพ้ ความเสี่ยงต่อการเป็นโรคภูมิแพ้ก็ย่อมมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้คนในครอบครัวพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

บริเวณที่มักเป็นแหล่งรวมของสารก่อภูมิแพ้ที่มักพบได้บ่อย ได้แก่

  • สัตว์เลี้ยง เพราะคราบผิวหนังและขนของสัตว์เลี้ยงเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ และคราบมูลสัตว์ก็เป็นแหล่งพันธุ์เชื้อโรคชั้นดีด้วย
  • ผ้าม่าน เพราะเป็นสิ่งที่มักจะไม่ได้ถูกถอดออกมาทำความสะอาด และเป็นตัวรับสารก่อภูมิแพ้จากภายนอกบ้านอย่างแรกเมื่อคุณเปิดประตู หรือหน้าต่าง
  • เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยเบาะผ้า พรมตกแต่งบ้าน พรมเช็ดเท้า สิ่งตกแต่งบ้านเหล่านี้เป็นแหล่งรวมของเชื้อโรคอยู่แล้ว โดยมาจากการสัมผัส นั่ง เหยียบ ทั้งจากคนภายในบ้าน และสัตว์เลี้ยง
  • ห้องนอน เพราะห้องนอนเป็นพื้นที่ที่มีการเข้าออกบ่อย ดังนั้นสิ่งของเครื่องใช้ รวมถึงเครื่องนอนภายในห้องจึงเป็นแหล่งของฝุ่นและไรฝุ่นจำนวนมาก
  • พื้นที่ที่เปียกชื้น เช่น ห้องน้ำ ลานซักผ้า ใต้อ่างล้านจาน ซึ่งบริเวณเหล่านั้นมักจะเป็นแหล่งรวมความเปียกชื้นจากน้ำ สิ่งสกปรกที่คุณชะล้างออกและอากาศข้างนอกจนกลายเป็นศูนย์รวมของเชื้อโรค

สำหรับวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้จากสิ่งสกปรกภายในบ้านนั้นทำได้ไม่ยาก เพียงทำตามข้อปฏิบัติดังนี้

  • ดูดฝุ่นบ่อยๆ
    หรือประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง เพื่อควบคุมปริมาณสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้านไม่ให้เพิ่มขึ้น และควรใส่หน้ากากอนามัยขณะดูดฝุ่นด้วย
  • ควบคุมแหล่งไรฝุ่น โดยใช้เฟอร์นิเจอร์ที่ไม่ได้ทำจากผ้า ใช้พรมตกแต่งภายในบ้านให้น้อยที่สุด รวมถึงควรถอดผ้าม่านมาซักบ่อยๆ ด้วย
  • หมั่นซักเครื่องนอน เช่น ปลอกหมอนหนุน หมอนข้าง ผ้าปูที่นอน โดยซักเครื่องซักผ้าที่ตั้งอุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียสหรือแช่ผ้าในน้ำร้อนอย่างน้อย 30 นาที โดยซักทุก 2 สัปดาห์ ทุกครั้งที่ตื่นนอนให้คลุมเตียงเพื่อป้องกันฝุ่นละอองและไรฝุ่นด้วย นอกจากนี้หลังจากซักผ้าแล้วควรตากผ้าให้โดนแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค หรืออบด้วยความร้อน
  • ทำความสะอาดร่างกายสัตว์เลี้ยง เพื่อไม่ให้ขนสัตว์และสะเก็ดผิวหนังกลายเป็นสารก่อภูมิแพ้ภายในบ้าน หรือหากไม่ทราบวิธีดูแลสัตว์เลี้ยงเพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ ให้ปรึกษากับสัตวแพทย์เสียก่อน
  • ปิดประตูหน้าต่างให้เรียบร้อย หรือหามุ้งลวดกันฝุ่นมาติดตั้ง เพื่อให้อากาศในบ้านได้ถ่ายเท ฝุ่นละอองเข้าบ้านน้อยลง และยังช่วยป้องกันแมลงอันตราย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน ไม่ให้เข้ามาในบ้านเพื่อกัดต่อยคุณได้
  • ตัดต้นไม้และวัชพื้นที่อาจทำให้แพ้ เพราะพืช หรือเกสรดอกไม้บางชนิดอาจเป็นสารก่อภูมิแพ้ได้ คุณจึงควรปลูกต้นไม้ที่ตนเอง หรือคนในครอบครัวไม่แพ้เท่านั้น

นอกจากคำแนะนำที่กล่าวไปข้างต้น การกำจัดแหล่งแมลงอันตรายภายในบ้าน การทำความสะอาดรถยนต์ และการป้องกันไม่ให้ภายในบ้านมีบริเวณที่ความชื้นหมักหมมจนกลายเป็นเชื้อรา ก็เป็นอีกคำแนะนำที่ทำให้บ้านของคุณปราศจากสารก่อภูมิแพ้ได้

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้จากอาชีพที่ทำ หรือจากที่ทำงาน

สภาพแวดล้อมในที่ทำงานก็เป็นอีกแหล่งรวมสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องระมัดระวัง ไหนจะการติดต่อระหว่างกันของเชื้อโรคที่อาจมาจากเพื่อนร่วมงาน หรือจากสิ่งของที่สัมผัสในที่ทำงาน

อาชีพที่มักจะเสี่ยงต่อการเกิดภูมิแพ้จะได้แก่ ช่างทาสีบ้าน ช่างต่อเฟอร์นิเจอร์ ช่างเสริมสวย ช่างก่อสร้าง แพทย์ พยาบาล พนักงานทำความสะอาด เจ้าหน้าที่โรงงานอุตสาหกรรม

เพราะอาชีพที่กล่าวมาข้างต้นนั้น มักจะมีความเสี่ยงต่อการสัมผัสสารเคมี สารระเหย หรือฝุ่นละอองค่อนข้างสูง แต่ความจริง ไม่ว่า จะทำอาชีพอะไรก็ตามก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคภูมิแพ้ได้ทั้งนั้น

ปัจจัยสำคัญที่มักทำให้คุณเป็นโรคภูมิแพ้จากอาชีพที่ทำ ได้แก่ ความสะอาดของสถานที่ อุปกรณ์ที่ใช้ทำงาน ลักษณะงานที่ทำ ความเครียดจากการทำงาน สุขอนามัยของตัวคุณ และเพื่อนร่วมงาน

สำหรับวิธีป้องกันโรคภูมิแพ้จากอาชีพที่ทำ โดยหลักๆ แล้ว สามารถปฏิบัติตนได้ดังนี้

  • สวมชุดป้องกันการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ทุกครั้งที่ทำงาน เช่น ถุงมือ แว่นตา หน้ากากอนามัย
  • หมั่นล้างมือบ่อยๆ
  • ไม่วางสิ่งของเกะกะและหมั่นทำความสะอาดโต๊ะทำงานอยู่เสมอ เพื่อป้องกันแหล่งสะสมของฝุ่นละออง และสิ่งสกปรกอื่นๆ
  • ไม่ใส่เสื้อผ้าซ้ำ หรือเสื้อผ้าที่ชื้นเปียก
  • เตรียมน้ำยาทำความสะอาดแบบพกพาไว้กับตัวเสมอ

วิธีป้องกันโรคภูมิแพ้ก่อนเดินทางไปต่างประเทศ

การเดินทางไปต่างประเทศอาจเป็นเรื่องยากลำบากสำหรับผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ เพราะจะต้องมีการเตรียมแผนหลายอย่างเพื่อรับมือกับอาการแพ้ที่อาจเกิดขึ้นกะทันหัน

แต่ทั้งนี้ก็เพื่อความรัดกุมและไม่ทำให้ประสบการณ์ในต่างแดนของคุณมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ จึงควรวางแผนการเดินทางไปต่างประเทศอย่างรอบคอบ โดยสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • วางแผนทริปล่วงหน้า เช่น จะเดินทางไปที่ไหนบ้าง มีใครเดินทางไปด้วย ระยะเวลาการเดินทางนานแค่ไหน ที่พัก หรือสภาพแวดล้อมเหมาะสมกับสภาพร่างกายของคุณหรือไม่
  • ตรวจสอบอาหารที่ต้องรับประทานบนเครื่องบิน สอบถามสายการบินที่ใช้บริการว่า มีการให้บริการอาหารประเภทใด หากมีอาหารที่อาจแพ้ให้รีบติดต่อขอเปลี่ยนเป็นอาหารสำหรับคุณโดยเฉพาะ นอกจากนี้ควรตรวจสอบอาหารท้องถิ่นของประเทศนั้นๆ ว่า ประกอบไปด้วยอะไรบ้างเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้
  • พกยาและใบรับรองแพทย์ให้พร้อม หากมีการตรวจสอบปริมาณยาที่คุณต้องนำขึ้นเครื่อง หรือผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง จะได้มีหลักฐานว่า ยาที่คุณพกติดตัวมามีไว้สำหรับแก้โรคภูมิแพ้
  • จดบันทึกอาการของโรคเป็นภาษาของประเทศนั้นๆ ติดตัวไปด้วย หากมีอาการแพ้ฉุกเฉินและต้องเข้าโรงพยาบาล แพทย์ประจำประเทศนั้นๆ จะได้รู้รายละเอียด สาเหตุ อาการ และยาที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการแพ้
  • เตรียมช่องทางการติดต่อฉุกเฉินไว้ ทิ้งช่องทางการติดต่อขณะอยู่ต่างประเทศไว้ให้คนใกล้ชิด เพื่อนสนิท หรือผู้ที่ช่วยเหลือได้หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

การป้องกันโรคภูมิแพ้มีหัวใจหลักอยู่ที่ความรอบคอบและความระมัดระวังในการใช้ชีวิต

คุณจำเป็นต้องไตร่ตรอง และตรวจสอบให้แน่ใจเมื่อตนเองกำลังเสี่ยงที่จะรับสารก่อภูมิแพ้เข้าร่างกาย เพราะเมื่ออาการแพ้กำเริบขึ้นย่อมสร้างความรำคาญและความยากลำบากต่อการดำเนินชีวิตมากกว่าเดิม


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

  • NHS, Food Allergy (https://www.nhs.uk/conditions/food-allergy/), 10 March 2020.
  • Yue, D, et al, Food allergy and anaphylaxis. J Asthma Allergy. 2018; 11:111-120. doi: 10.2147/JAA.S162456.
  • Ninabahen, D.D, et al, Stress and Allergic Diseases. Immunol Allergy Clin North Am. 2011 Feb; 31(1) :55-68. doi: 10.1016/j.iac.2010.09.009.
Scroll to Top