สะเดา Neem scaled

สะเดา (Neem)

สะเดา พืชที่ขึ้นชื่อในเรื่องรสขม ทุกส่วนของสะเดา ทั้งใบ ดอก ราก เปลือก รวมถึงเมล็ด สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในไทย อินเดีย และประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชีย สะเดามีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย และใช้เป็นยาได้ด้วย

  • ชื่อวิทยาศาสตร์ Azadirachta indica A. Juss
  • ชื่อวงศ์ Meliacea
  • ชื่ออื่นๆ สะเลียม (ภาคเหนือ) กะเดา (ภาคใต้)

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของสะเดา

เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 20-25 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาลเทา ค่อนข้างหนา แตกเป็นร่อง ใบเป็นใบประกอบขนนก ออกเรียงสลับ ใบรูปหอก โคนใบโค้งมนไม่เท่ากัน ขอบใบเป็นจักคล้ายฟันเลื่อย ปลายใบเรียวแหลม แผ่นใบเรียบ ใบมีสีเขียวเข้มเป็นมัน

ดอกออกเป็นช่อ ออกที่ปลายกิ่งขณะแตกใบอ่อน ดอกสีขาวนวลหรือสีเทา มักจะออกดอกในช่วงเดือนธันวาคม-มีนาคม ในดอกมีน้ำมันหอมระเหย ทำให้มีกลิ่นหอมอ่อนๆ

ผลสะเดามีลักษณะกลมรีคล้ายผลองุ่น ขนาดประมาณ 1-2 เซนติเมตร ผลอ่อนสีเขียว ผลสุกมีสีเหลืองอมเขียว

เมล็ดมีลักษณะกลมรี ผิวค่อนข้างเรียบ มีรอยแตกเป็นร่องเล็กๆ ตามยาว สีเหลืองอ่อนหรือสีน้ำตาล

ในประเทศไทยพบสะเดา 3 ชนิด ได้แก่ สะเดาอินเดีย สะเดาช้าง และสะเดาไทย ทั้งสามชนิดมีความคล้ายคลึงกัน นำมาใช้ทดแทนกันได้

สรรพคุณของสะเดา

แต่ละส่วนของสะเดามีสรรพคุณดังนี้

  • ใบ มีรสขมฝาดเย็น รับประทานเป็นอาหารหรือต้มดื่ม ช่วยบำรุงไฟธาตุ ขับน้ำย่อย รักษาแผลในกระเพาะอาหาร แก้ไข้ แก้พยาธิ แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงโลหิตและน้ำดี ช่วยลดความเครียด คลายกังวล เป็นยาระบายอ่อนๆ น้ำคั้นจากใบสามารถนำมาเป็นยาใช้ภายอก สำหรับรักษาบาดแผล น้ำร้อนลวก ผิวหนังอักเสบ พอกฝี
  • ดอก มีสารกลุ่มไกลโคไซด์และสารที่มีรสขม ช่วยบำรุงธาตุ แก้พิษ ขับลม
  • ก้านและก้านใบ ช่วยรักษาไข้ ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น
  • เปลือกต้น ใช้แก้ไข้ แก้บิดมูกเลือด แก้ท้องเสีย ช่วยให้เจริญอาหาร และสารสกัดจากเปลือกต้นสามารถนำมาใช้เป็นยาภานอก ทารักษาริดสีดวงทวารได้
  • แก่น แก้อาเจียน ขับเสมหะ
  • กระพี้ แก้ถุงน้ำดีอักเสบ
  • ราก ช่วยแก้โรคผิวหนัง แก้เสมหะ แก้ไข้
  • ยาง ใช้ดับพิษร้อนในร่างกาย
  • ผล มีสารให้รสขมชื่อ บากายานิน (Bakayanin) สามารถใช้เป็นยาถ่ายพยาธิ ยาระบาย รักษาริดสีดวงทวาร
  • น้ำมันจากเมล็ด เป็นสารที่ให้รสขม มีชื่อว่ามาร์โกสิกแอซิด (Margosic acid) 45% และสารนิมบิดิน (Nimbidin) ใช้เป็นยาภายนอก รักษาโรคผิวหนัง และสามาราถนำมาใช้เป็นยาฆ่าแมลงได้

นอกจากนี้ทั้งส่วนเปลือก ใบ และผลของสะเดา ยังมีสารโพลีแซกคาไรด์ (Polysaccharides) และลิโมนอยด์ (Limonoids) ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดเนื้องอก และมะเร็ง

กินสะเดาอย่างไร กินส่วนไหนได้บ้าง?

การรับประทานสะเดาในมื้ออาหารหรือรับประทานเป็นยา ทำได้ดังนี้

    • ช่อดอก นำมาลวกด้วยน้ำร้อน รับประทานกับน้ำพริกหรือน้ำปลาหวาน
    • ส่วนอื่นๆ ของสะเดา ใช้ประมาณ 1 กำมือ ต้มน้ำ ประมาณ 10-15 นาที รับประทานก่อนอาหาร

ข้อควรระวังในการรับประทานสะเดา

แม้จะมีประโยชน์มาก แต่การรับประทานสะเดาอย่างไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดอันตรายได้ ดังนี้

  • การรับประทานในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดท้องเสียได้
  • การรับประทานปริมาณต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้ส่งผลเสียต่อตับและไตได้

หากต้องการรับประทานสะเดาเป็นยารักษาโรค ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนทุกครั้ง เพื่อกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ให้ปลอดภัยในการใช้


เขียนบทความโดย พทป. บุญศิริ คณะภักดิ์


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top