มะเขือพวง Pea eggplant scaled

มะเขือพวง (Pea eggplant)

มะเขือพวงนำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง เช่น แกงเขียวหวาน น้ำพริก ส่วนใหญ่คนไม่ชอบรับประทานเพราะมีรสขม แต่รู้หรือไม่ว่ามะเขือพวงนั้นมีประโยชน์มากกว่าที่คิด

มะเขือพวงจะมีสรรพคุณอะไร รักษาโรคอะไรได้บ้าง กินแบบสุกหรือสดดีกว่ากัน มาหาคำตอบในบทความนี้เลย 

มะเขือพวง หน้าตาแบบไหน รสชาติเป็นยังไง 

มะเขือพวง เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นมีหนาม ใบกว้างเป็นรูปไข่ มีขนเล็ก ๆ ปกคลุม ลักษณะขอบใบมีทั้งเรียบและเป็นรอยหยัก 

มะเขือพวงจะมีผลเป็นทรงกลม ขนาดราว ๆ 1 เซนติเมตร สีเขียวคล้ายเมล็ดถั่วลันเตา และที่สำคัญคือมีรสชาติขมเฝื่อน เลยทำให้หลาย ๆ คนไม่ชอบกินมะเขือพวง

หลายคนมักสับสนระหว่างมะเขือพวงกับมะแว้งเครือ เพราะสองอย่างนี้คล้ายกันมาก ทั้งขนาดที่ใกล้เคียง และมีรสขมเหมือนกัน แต่จุดสังเกตคือ ผลมะแว้งเครือจะเป็นสีเขียว และมีริ้วสีขาว ๆ อยู่ด้วย

มะเขือพวง มีแร่ธาตุอะไร รักษาโรคและอาการใดได้บ้าง 

มะเขือพวงอุดมไปด้วยสารอาหารและแร่ธาตุหลายอย่าง ช่วยรักษาและบรรเทาอาการต่าง ๆ ได้ดังนี้ 

สารเพกทิน (Pectin)

มะเขือพวงมีสารเพกทิน (Pectin) สูงกว่ามะเขือเปราะถึง 65 เท่า ดีกับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง

เมื่อละลายในน้ำ สารเพกทินจะมีลักษณะคล้ายวุ้น พอเข้าสู่กระเพราะอาหารและลำไส้ จะช่วยให้ลำไส้ดูดซึมอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตและน้ำตาลที่ย่อยแล้วได้ช้าลง ทำให้ไม่มีน้ำตาลส่วนเกินในกระแสเลือด มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวาน

ไม่ใช่แค่นี้ แต่สารเพกทินยังช่วยดูดซับไขมันส่วนเกินออกจากร่างกายด้วย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้เป็นอย่างดี เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคไขมันในเลือดและโรคคอเลสเตอรอลสูง 

สารทราโวไซด์เอ (Torvoside A) และสารทราโวไซด์เอช (Torvoside H) 

มะเขือพวงมีสารทราโวไซด์เอ (Torvoside A) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด และช่วยกระตุ้นให้ตับนำคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดไปใช้ได้มากขึ้น

ส่วนสารทราโวไซด์เอช (Torvoside H) มีฤทธ์ต่อต้านเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคเริม และผลการศึกษายังพบว่า สารทราโวไซด์เอชมีประสิทธิภาพสูงกว่าการใช้ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) ถึง 3 เท่า 

โดยยาอะไซโคลเวียร์เป็นยายับยั้งการเจริญเติบโตและลดการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ที่เป็นสาเหตุของโรคเริมและงูสวัด

สารโซลาโซดีน (Solasodine)

พบมากในผักตระกูลมะเขือ ช่วยยับยั้งการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ ซึ่งอาจเป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง

สารอื่น ๆ 

  • มีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในร่างกาย ลดความชราก่อนวัย และช่วยป้องกันโรคมะเร็งได้
  • เนื้อของมะเขือพวงมีกากใยอาหารอยู่มาก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยดึงน้ำ จึงมีประโยชน์ต่อผู้ที่ขับถ่ายยาก ท้องผูก ไปจนถึงโรคริดสีดวงทวาร ช่วยทำให้อุจจาระเหลว และขับถ่ายได้ง่ายขึ้น
  • มีสารไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) ช่วยฟื้นฟูร่างกายในผู้ป่วยโรคขาดสารอาหาร ทำให้ร่างกายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ

มะเขือพวง สรรพคุณดี ๆ ที่ควรรู้ 

ตามหลักของแพทย์แผนไทย มะเขือพวงนั้นมีรสขม จึงช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร ส่งผลให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ดี ช่วยบำรุงธาตุต่าง ๆ ในร่างกาย และทำให้นอนหลับได้ง่ายขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ มะเขือพวงยังนำไปใช้เป็นยารักษาโรคและอาการต่าง ๆ อย่างแพร่หลาย ดังที่ปรากฏตามหลักการแพทย์พื้นบ้านและศาสตร์อายุรเวทอินเดีย เช่น

  • น้ำต้มจากผล แก้อาการตับโต ม้ามโต และช่วยขับพยาธิ
  • ใบมะเขือพวงผสมดื่มกับนมวัว หรือผลมะเขือพวงต้มน้ำ หรือคั่วไฟอ่อน รักษาอาการไอ
  • สารสกัดจากรากมะเขือพวง ใช้ทาแก้อาการเท้าแตก
  • ใบของต้นมะเขือพวง นำมาต้มน้ำ พบว่ามีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และลดอาการปวดได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย
  • ผลและใบมะเขือพวง นำมาผ่านกระบวนการสกัด (Methanolic extracts) พบว่าให้สารสำคัญ มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ (Anti-microbial) ทั้งในคนและสัตว์
  • ต้นมะเขือพวง เมื่อนำไปสกัดจะให้สารที่ต้านเชื้อแบคทีเรียต่าง ๆ ได้ เช่น E.Coli, V. cholera, S.aurenus ซึ่งเป็นเชื้อก่อโรคในระบบขับถ่ายที่ทำให้ท้องเสีย รวมถึง Candida albicans ที่เป็นต้นเหตุของโรคเชื้อราในระบบทางเดินอาหารและช่องคลอด

มะเขือพวง กินสดหรือสุก ดีกว่ากัน

มะเขือพวง แนะนำให้กินแบบสุก เพราะมะเขือพวงมียางเยอะมาก ถ้ากินแบบสด ๆ อาจทำให้ระคายเคืองในช่องปากและลำคอได้

ที่สำคัญ ควรล้างมะเขือพวงสุกให้สะอาดก่อนกินหรือก่อนนำไปปรุงอาหาทุกครั้ง และการผ่านความร้อนยังช่วยลดอาการแพ้สารโซลานีน (Solanine) ได้ด้วย

มะเขือพวง กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ

ในมะเขือพวง มีสารชื่อ โซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์ (Alkaloid) ที่พบมากในผักตระกูลมะเขือ เช่น มะเขือเปราะ มะเขือยาว

คนที่ปวดบริเวณข้อต่าง ๆ ในร่างกาย ควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารที่มีสารนี้ เพราะจะรบกวนสภาวะสมดุลของแคลเซียมในร่างกาย ทำให้มีอาการปวดและเป็นตะคริวได้

นอกจากนี้ สารโซลานีนยังก่อให้เกิดความผิดปกติต่าง ๆ ในระบบทางเดินอาหารและระบบประสาทได้ เช่น เวียนหัว มึนงง หายใจลำบาก คลื่นไส้ หรืออาเจียน

ชามะเขือพวง ดีจริงหรือ 

ปัจจุบัน มีมะเขือพวงในรูปแบบชาด้วย ชามะเขือพวงมีฤทธิ์เย็น มีสรรพคุณช่วยลดไขมันและคอเลสเตอรอลในเส้นเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดน้ำตาลในเลือด และยังเหมาะกับคนที่ถ่ายยากหรือท้องผูก 

ชามะเขือพวง ทำเองได้ง่าย ๆ ได้ 2 วิธี 

วิธีที่ 1 นำมะเขือพวงและใบเตยมาล้างให้สะอาด ใช้สัดส่วนของทั้งสองอย่างเท่า ๆ กัน เมื่อล้างแล้ว ทุบผลมะเขือพวงพอแหลก และหั่นใบเตยเป็นชิ้นเล็ก นำไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นคั่วในกระทะ ใช้ไฟอ่อนประมาณ 5 นาทีจนมีกลิ่นหอม แล้วจึงนำไปตำในครกให้เป็นผง พร้อมนำไปชงกับน้ำร้อน

วิธีที่ 2 นำมะเขือพวงสดไปคั่วไฟอ่อน ๆ ในกระทะ จนมีกลิ่นหอม จากนั้นทุบมะเขือพวงให้แตก แล้วนำไปต้มจนเดือด ใช้กระชอนกรองกากออกพร้อมดื่ม จะใส่ใบเตยสดหรือหญ้าหวานเพิ่มก็ได้ ใช้ดื่มเป็นชา วันละ 1–2 แก้ว รับประทานติดต่อกัน 7–10 วัน

อย่างไรก็ตาม การกินผักเป็นยารักษาโรคนั้นมีข้อจำกัดการใช้หลายอย่าง ทั้งสภาพร่างกาย ภูมิต้านทาน และโรคประจำแต่ละบุคคล 

ดังนั้น ถ้าต้องกินเป็นยา ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเสมอ หรือหากมีโรคประจำตัว ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ปลอดภัยที่สุด และลดผลข้างเคียงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้  


เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD

Scroll to Top