ตาขี้เกียจ สาเหตุ และวิธีรักษา scaled

ตาขี้เกียจ สาเหตุ และวิธีรักษา

ระบบการมองเห็นของคนเราประกอบด้วย ดวงตา เส้นประสาทตา และสมอง ทั้งระบบจะทำงานร่วมกันได้ จำเป็นต้องมีพัฒนาการที่ดีตั้งแต่แรกเกิดต่อเนื่อง มาจนถึงอายุประมาณ 9-10 ปี

ดวงตาแต่ละข้างรับสัญญานภาพ ส่งสัญญานไปตามเส้นประสาทตา เข้าสู่สมองส่วนการมองเห็นให้รับรู้ เรียนรู้ สามารถแยกแยะรายละเอียดภาพได้

กรณีที่สมองส่วนการมองเห็นยังพัฒนาการอยู่ แต่เกิดปัญหาทำให้ดวงตาข้างใดข้างหนึ่งไม่สามารถรับภาพอันเนื่องมาจากโรคตา บังทางผ่านแสงเข้าสู่ตา หรือแสงผ่านเข้าตาไปแต่สัญญานภาพที่ส่งไปให้สมองรับรู้มีแต่ภาพมัวๆ ไม่เห็นรายละเอียด สมองส่วนนั้นจะสูญเสียโอกาสพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ศักยภาพของการมองเห็นจะถูกลดทอนลง

หากไม่ได้รับการรักษาก่อนอายุ 9-10 ปี หรือมารู้ว่ามีปัญหาตาขี้เกียจเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ แม้จะได้รับการรักษาโรคตาหรือได้รับการแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ แต่ศักยภาพของการมองเห็นที่สูญเสียไปจะไม่สามารถกู้กลับคืนมาได้ เพราะสมองได้ผ่านช่วงอายุที่สามารถพัฒนาการเรียนรู้ด้านการมองเห็นไปแล้ว

การใช้คำว่า ตาขี้เกียจ ไม่ได้สื่อถึงสาเหตุที่แท้จริง เพราะส่วนที่ ขี้เกียจ ไม่ใช่ลูกตา แต่คือสมองส่วนรับภาพที่ไม่ได้รับการพัฒนา

ทำไมเราต้องใส่ใจกับเด็กที่มีภาวะตาขี้เกียจ

การที่เด็กมีภาวะตาขี้เกียจหนึ่งข้าง อีกข้างปกติ หรือมีตาขี้เกียจทั้งสองข้าง แต่ก็สามารถมองเห็นได้แค่เห็นน้อยกว่าปกติเท่านั้น บางคนใช้ชีวิตอย่างปกติจนโตแต่ไม่รู้ว่าตนเองมีภาวะตาขี้เกียจ หากไม่ได้ปิดตาทดสอบการมองเห็นทีละข้าง

หลายคนอาจไม่มีปัญหาเพราะโตมากับการมองเห็นแบบนั้นจนชิน และตาขี้เกียจจะไม่ขี้เกียจไปมากกว่าเดิม แต่หากต้องการประกอบอาชีพที่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติด้านการมองเห็นที่ดี ถึงระดับปกติเท่ากันทั้ง 2 ตา

ภาวะนี้มีความสำคัญมาก เพราะมีผลด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน เช่น นักบินพาณิชย์ แพทย์บางสาขา ทหาร ตำรวจ พนักงานขับรถ การทำงานเกี่ยวกับกราฟิกภาพ 3 มิติ หากมีภาวะตาขี้เกียจก็จะสูญเสียโอกาสการทำงานในสาขานั้นไป

อีกเหตุผลคือ ไม่มีตาทำงานสำรองหากโชคร้ายสูญเสียตาข้างดี อีกข้างที่เป็นตาขี้เกียจย่อมจะไม่สามารถทำงานทดแทนได้ การมองเห็นโดยรวมจะแย่มาก เพราะหากตาดีเท่ากันเสียไปหนึ่งข้าง การมองเห็นโดยรวมจะไม่ลดลงมากนัก

สาเหตุของภาวะตาขี้เกียจ

ตาขี้เกียจพบในประชากรทั่วไปประมาณ 1-5% มีโอกาสพบได้มากในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกคลอดน้อย เด็กที่มีความพิการในระบบประสาท ผู้ที่มีพ่อแม่มีตาขี้เกียจ และลูกที่เกิดจากแม่ติดยาเสพติด ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนี้สาเหตุหลักของตาขี้เกียจยังแบ่งได้ ดังนี้

1. ภาวะตาเข หรือตาเหล่

เป็นสาเหตุของภาวะตาขี้เกียจที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากภาพที่ส่งถึงสมองในตาแต่ละข้างเป็นภาพที่ต่างกัน ไม่สามารถรวมเป็นภาพเดียว บางคนมีสายตา 2 ข้างต่างกันมาก

สมองจะตัดสัญญานจากตาข้างหนึ่งทิ้งไปเพื่อไม่ให้เกิดภาพซ้อน หากสลับตาผลัดกันส่งภาพชัดไปให้สมองได้จะไม่เกิดตาขี้เกียจ แต่หากใช้ตาข้างหนึ่งอยู่ตาเดียวตลอดเวลา ตาอีกข้างจะกลายเป็นตาขี้เกียจ

ตาเขที่จะเกิดตาขี้เกียจ คือ ตาเขข้างเดียว แต่หากตาเขโดยสามารถมองตรงสลับข้างได้ มักไม่เกิดตาขี้เกียจ ในเด็กที่ตาเข พบว่ามีประมาณ 40% มีภาวะตาขี้เกียจร่วมด้วย

2. ภาวะสายตาผิดปกติที่ไม่ได้รับการแก้ไข

มักพบในเด็กที่มีสายตาสองข้างไม่เท่ากันและแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะเด็กที่ตาข้างหนึ่งเป็นตาปกติหรือผิดปกติน้อยมาก แต่ตาอีกข้างสายตาผิดปกติมากๆ เช่น เด็กคนหนึ่งมีสายตาข้างดีเป็นสายตาปกติ ตาอีกข้างสั้น 400

หรือกรณีสายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียงต่างกันเกิน 200 ตาข้างหนึ่งมองเห็นได้งานได้ดี เด็กจึงมีพฤติกรรมเหมือนเด็กตาปกติ ผู้ปกครองหรือครูไม่สามารถสังเกตได้ จะรู้ก็ต่อเมื่อมีการตรวจคัดกรองระดับการมองเห็นในวัยเรียน ซึ่งเด็กมักจะอายุมากกว่า 5 ปีขึ้นไปแล้ว

แต่หากเด็กมีสายตาผิดปกติทั้งสองข้าง เช่นสายตาข้างหนึ่งสั้น 300 แต่อีกข้างสั้น 600 ยังสังเกตได้ง่าย เพราะเด็กจะมีพฤติกรรมส่อว่าสายตาสั้นให้เห็น เช่น เข้าไปดูโทรทัศน์ใกล้มากๆ หรือหยีตามอง

3. ภาวะสายตาผิดปกติมากใกล้เคียงกันทั้ง 2 ตา

เช่น สายตายาวโดยกำเนิดมากกว่า 600 สายตาสั้นมาก 800 ขึ้นไป หรือ สายตาเอียงมากกว่า 300 โดยเริ่มมีสายตาผิดปกติระดับนี้ตั้งแต่วัยเด็กเล็ก

4. ภาวะความผิดปกติของตาหรือโรคอื่นๆ ที่บดบังทางเดินแสงเข้าสู่ตา

เช่น หนังตาตก ต้อกระจก กระจกตาเป็นฝ้าขุ่น หรือมีเนื้องอกขนาดใหญ่บังตา ทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจรุนแรงและรักษายากที่สุด

การตรวจคัดกรอง และวินิจฉัยเพื่อการป้องกันตาขี้เกียจ

ภาวะตาขี้เกียจ ถ้าตรวจพบและรักษาสาเหตุได้เร็วก็สามารถป้องกันและรักษาได้ผลดี เพราะด้วยธรรมชาติของเด็กย่อมไม่สามารถจะบอกปัญหาการมองเห็นของตนเอง ดังนั้น การตรวจคัดกรองสุขภาพตาและสายตาในเด็กจึงจำเป็นเพื่อจะได้ตรวจพบได้เร็ว

ช่วงตั้งแต่เด็กแรกเกิด จนวัยก่อนเข้าเรียน ภายในอายุ 3-4 ปี สามารถวัดระดับการมองเห็นและสายตาได้ วิธีการตรวจคัดกรองสามารถทำได้ คือ การตรวจวัดระดับการมองเห็น ในเด็กวัยเรียนที่อ่านตัวเลขได้ ก็ใช้ป้ายที่เป็นตัวเลข ถ้าเด็กยังอ่านไม่ได้ ก็มีป้ายที่ทำเป็นรูปสัตว์ให้เด็กบอกว่าเป็นตัวอะไร

ทั้งนี้ควรส่งพบจักษุแพทย์เมื่อระดับการมองเห็นได้แค่ 20/40 หรือแย่กว่า หรือ เด็กอ่านด้วยตาทีละข้าง แล้วผลการอ่านออกมาต่างกันตั้งแต่ 2 แถวขึ้นไป

วิธีรักษาภาวะตาขี้เกียจ

หลักการสำคัญของการรักษาภาวะตาขี้เกียจคือ การแก้ปัญหาที่เป็นสาเหตุให้เร็วที่สุด แล้วกระตุ้นให้สมองเรียนรู้การมองเห็น เช่น หากเกิดจากโรคต้อกระจกโดยกำเนิด เด็กก็ต้องได้รับการผ่าตัดรักษาต้อกระจกภายในอายุไม่เกิน 6 สัปดาห์

ที่ต้องรีบรักษาเพราะพัฒนาการด้านการมองเห็นในช่วงทารกจะพัฒนาเร็วที่สุด ดังนั้น หากมีสิ่งใดมาทำให้หยุดยั้งการพัฒนาตั้งแต่ในช่วงวัยทารกถึงอายุ 3 เดือน เช่น การต้อกระจก การเกิดภาวะตาขี้เกียจจะเป็นอย่างรุนแรง

ถ้าผ่าช้าเกินไป หลังกระตุ้นการมองเห็น แม้ตาจะเห็นได้รางๆ ไม่ใช่ตาบอดสนิทก็ตาม แต่ก็มักได้แค่ระดับ 20/200 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เรียกว่าตาบอดตามกฎหมายกำหนด (Legal Blindness) เท่านั้น

แต่หากความผิดปกติเกิดช่วงหลังอายุ 3 เดือน ถึงไม่เกิน 3 ปี ภาวะตาขี้เกียจอาจแก้ไขให้เห็นดีกว่า 20/200 ได้

แต่หากความผิดปกติเกิดหลังอายุ 3 ปี ถึงช่วง 8 ปี เด็กยังได้มีการพัฒนาด้านการมองเห็นมาแล้วบ้างก่อนที่จะสะดุดหยุดลง ประเภทนี้จะตอบสนองต่อการรักษาด้วยการปิดตาเพื่อกระตุ้นการพัฒนาต่อไปดีที่สุด

นอกจากรักษาโรค ถ้ามีสายตาผิดปกติด้วยก็ต้องแก้ไขโดยให้ใช้แว่นสายตาเพื่อช่วยให้เห็นชัดขึ้น และกระตุ้นโดยการบังคับให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจให้ทำงาน โดยวิธีการที่ดีที่สุด ได้แก่ การปิดตา (Occlusion therapy)

การปิดตา (Occlusion Therapy)

การรักษาด้วยการปิดตา เป็นการปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นให้ตาที่ขี้เกียจพยายามทำงานจนการมองเห็นทั้งสองข้างเท่าเทียมกัน ซึ่งไม่มีการรักษาอื่นที่ทดแทนการปิดตาได้

ในเด็กที่มีสายตาผิดปกติต้องสวมแว่นด้วย แต่ต้องมีการวางแผนและประเมินผลเป็นระยะๆ ไม่ใช่ปิดตาข้างดีไปตลอด อาจต้องมีการปิดสลับข้าง

หากผู้ปกครองให้เด็กปิดตาไปเรื่อยๆ ไม่ไปตรวจตามนัด ตาข้างดีอาจกลายเป็นตาขี้เกียจไปเลย จึงต้องนัดติดตามผลการมองเห็นสม่ำเสมอ

ช่วงแรกเมื่อเริ่มการปิดตามักจะเกิดปัญหาจนท้อถอยกันทุกฝ่าย เพราะเราปิดตาข้างดี บังคับให้เด็กต้องใช้ตาข้างมองไม่ชัด เด็กจะรู้สึกว่าถูกขัดใจ อารมณ์ไม่ดี เล่นไม่สนุก และจะพยายามแกะพลาสเตอร์ที่ปิดตาออก จนเมื่อตาขี้เกียจได้รับการพัฒนาจนเห็นได้ดีขึ้น เด็กจะยอมรับได้มากขึ้น

วัสดุที่ใช้ปิดตาโดยทั่วไปใช้พลาสเตอร์ปิดตาโดยเฉพาะ ปัจจุบันมีขายตามร้านขายยา ทำเป็นลายการ์ตูนสีสันสวยงามน่ารักทำให้เด็กยอมรับได้ง่ายขึ้น

การปิดตาควรปิดบนตาไม่ใช่ปิดบนแว่น เพราะเด็กจะมองลอดออกมาได้ และไม่จำเป็นต้องปิดอยู่ตลอดเวลา แต่ควรวางแผนร่วมกับจักษุแพทย์ว่าจะปิดวันละกี่ชั่วโมง ต้องปิดช่วงเวลาตื่นและกำลังใช้สายตา

เหนือสิ่งอื่นใด การปิดตาจะประสบความสำเร็จ พ่อแม่ต้องมีความแน่วแน่ หมั่นสื่อสารกับลูกให้เข้าใจเหตุผลและประโยชน์ของการรักษา คนรอบข้างของเด็ก ทั้งที่บ้านและโรงเรียนต้องเข้าใจและให้กำลังใจเด็ก

หลายครั้งที่การปิดตาล้มเหลวเพราะญาติผู้ใหญ่ไม่ยอมรับไม่ยอมเข้าใจ หรือการที่เด็กถูกเพื่อนล้อเลียนเมื่อต้องปิดตาไปโรงเรียน


เขียนบทความโดย พญ. ศศิวิมล จันทรศรี


ที่มาของข้อมูล

  • Kanski JJ, Clinical Ophthalmology, 2016.
  • ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย, ตำราจักษุวิทยา, 2555.
  • ศักดิ์ชัย วงศ์กิตติรักษ์, ตำราจักษุวิทยาเด็กและตาเข, 2545.
Scroll to Top