itchy nipple 1 scaled

คันหัวนม ข้อมูลโรค อาการ รักษา

คันหัวนม เป็นหนึ่งในปัญหาที่น่าหนักใจของผู้หญิง เนื่องจากอยู่ในตำแหน่งซ่อนเร้น หากไม่เป็นมาก ก็ไม่กล้าไปพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ผิวหนังบริเวณหัวนม และลานนม (บริเวณรอบๆ หัวนม) เป็นผิวที่บอบบาง อีกทั้งยังอยู่ในตำแหน่งที่อับชื้น จึงอาจก่อให้เกิดอาการคัน และระคายเคืองได้ง่าย สาเหตุของอาการคันบริเวณหัวนมและลานนมก็มีทั้งแบบอันตราย และไม่อันตราย

กลุ่มสาเหตุของอาการคันหัวนมที่ไม่อันตราย

ผิวหนังหัวนมอักเสบ (Nipple eczema)

ส่วนใหญ่มักเป็นทั้งสองข้าง เกิดเป็นผื่นลักษณะแดง คัน อาจมีขุย หรือไม่มีก็ได้ สาเหตุที่ทำให้เป็นผื่นชนิดนี้ เช่น

  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน บางคนเป็นช่วงใกล้มีประจำเดือน ตอนตั้งครรภ์ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ผิวบริเวณหัวนมและลานนมแห้ง จึงก่อให้เกิดอาการคันได้
  • ผื่นแพ้สัมผัสจากสารบางอย่าง เช่น ครีมทาหัวนม ซิลิโคนแปะหัวนม ซิลิโคนบรา รวมถึงการสักให้หัวนมชมพู ก็อาจก่อให้เกิดการแพ้สารที่ใช้สักได้ แม้ว่าผ่านการสักมาแล้วหลายเดือน
  • การเสียดสี เช่น ในกลุ่มนักกีฬา ผู้ที่วิ่งมาราธอน หรือการใส่ชุดชั้นในที่รัดแน่นเกินไป
  • ความระคายเคือง เช่น ในผู้ที่ให้นมบุตร นอกจากมีปัจจัยจากฮอร์โมนได้แล้ว ยังอาจเกิดจากน้ำลายของลูกน้อย
    เนื่องจากช่วงแรกๆ ที่ให้นมบุตร ลูกต้องการดูดนมบ่อยทุก 2-3 ชั่วโมง บางคนดูดช้า ดูดนาน หรือชอบอมหัวนมแม่ไว้ ก็จะทำให้ผิวหนังบริเวณหัวนมและลานนมแห้ง คัน ตามมาได้

เชื้อรา

เนื่องจากตำแหน่งนี้เป็นบริเวณที่สวมใส่เสื้อผ้ามิดชิด มีต่อมไขมันพิเศษ และต่อมเหงื่อเหมือนผิวหนังทั่วๆ ไป เมื่อมีเหงื่อออกจะเกิดการอับชื้นง่าย ทำให้เกิดเชื้อราที่ผิวหนัง โดยเฉพาะเชื้อรากลุ่มแคนดิดา (Candidiasis)

ผื่นมีลักษณะแดง คัน และกระจายรอบๆ หัวนม ลานนม บางรายอาจเป็นบริเวณใต้ฐานนม หรือรักแร้ได้ อาการผื่นจากเชื้อรานี้มักพบได้ง่ายในผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวาน

กลุ่มสาเหตุของอาการคันหัวนมที่เป็นอันตราย

อาการคันหัวนมอาจเกิดจากโรคที่เป็นอันตรายก็ได้ ดังนี้

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านมของบางคนอาจจะมาด้วยอาการผื่นบริเวณหัวนม ลานนม หรือผิวที่เต้านม มักเป็นข้างเดียว ไม่คัน
ลักษณะจะเป็นผื่นแดงหรือตุ่มแดง แข็ง อาการอื่นๆ ที่พบร่วมคือ หัวนมผิดรูป มีน้ำหรือของเหลวสีปนเลือดไหลออกมาจากหัวนม คลำได้ก้อน

โรคพาเจ็ต (Paget’s disease)

เป็นโรคกลุ่มหนึ่งของมะเร็ง สามารถเกิดได้บริเวณหัวนม ลานนม และบริเวณอื่นนอกเหนือจากเต้านม (Extramammary Paget’s disease) เช่น อวัยวะเพศ ถุงอัณฑะ
โรคนี้เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ทำให้มีผื่นแดง ขอบเขตชัดเจน มีขุยบางๆ อาจมีอาการคันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีอาการคันเลย บ่อยครั้งมักจะถูกวินิจฉัยเป็นโรคผื่นผิวหนังอักเสบ
ความแตกต่างคือ ในโรคพาเจ็ตนี้จะไม่ตอบสนองกับยาทาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ แต่ในกลุ่มผื่นผิวหนังอักเสบจะอาการดีขึ้นหลังจากทายาสเตียรอยด์ แม้ว่าจะมีผื่นจะกลับมาขึ้นซ้ำใหม่ได้ แต่จะมีช่วงที่หายแดงเป็นปกติ

การวินิจฉัยอาการคันหัวนม

จะใช้วิธีซักประวัติ ตรวจร่างกาย ดูลักษณะผื่น บางกรณีสามารถทำการวินิจฉัยได้ทันที บางครั้งต้องอาศัยการขูดผิวหนังเพื่อส่องหาเชื้อราทางกล้องจุลทรรศน์ แต่ในบางรายที่สงสัยภาวะเนื้อร้าย อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อเพื่อการส่งตรวจ

การรักษาอาการคันหัวนม

ขึ้นอยู่กับสาเหตุของโรค โดยมากแล้ว ถ้าเป็นผื่นผิวหนังอักเสบจะรักษาหายได้ด้วยยาทากลุ่มสเตียรอยด์ในเวลาไม่กี่วัน หรือยาทากลุ่มรักษาเชื้อราในผู้ที่มีสาเหตุของการคันหัวนมจากเชื้อรา ซึ่งมักจะต้องทาติดต่อกันนานประมาณ 2-4 สัปดาห์

เมื่อไรที่ควรไปพบแพทย์

หากคันหัวนมร่วมกับมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพบแพทย์ทันที

  1. หัวนมผิดรูป เช่น หัวนมดึงรั้ง ลักษณะหัวนมสองข้างไม่เท่ากันหรือแปลกไปจากเดิม
  2. คลำได้ก้อนบริเวณเต้านม
  3. มีน้ำ หนอง หรือของเหลวสีปนเลือดไหลออกมาจากหัวนม
  4. ผื่นแดงที่ไม่ดีขึ้นหลังยาทา
  5. ผื่นแดงที่กลับเป็นซ้ำบ่อยๆ

อาการคันหัวนมเป็นเรื่องปกติที่อาจเกิดขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดอาการจะต้องสังเกตอาการ หากพบว่ามีลักษณะคล้ายอาการคันหัวนมที่เป็นอันตราย เช่น หัวนมผิดรูป มีน้ำ มีหนอง หรือผื่นแดง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม


เขียนโดย พญ. สุเนตรา นิตยวรรธนะ แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top