การดูแลผู้ใหญ่ในครอบครัว นอกจากออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงอย่างการสูบบุหรี่ หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอล์แล้ว การพาไปตรวจสุขภาพก็เป็นอีกสิ่งที่ลูกหลานไม่ควรละเลย
คุณควรคอยย้ำเตือนให้ผู้สูงอายุเห็นถึงความสำคัญของการไปพบแพทย์เป็นประจำ มาดูกันว่า ผู้ชายในวัย 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจอะไรกันบ้าง
สารบัญ
เป้าหมายของการตรวจสุขภาพ
คุณควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ แม้ว่าจะมีสุขภาพดีก็ตาม เป้าหมายของการตรวจในแต่ละครั้งเพื่อ
- คัดกรองโรคในระยะเริ่มต้น
- ประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพในอนาคต
- ส่งเสริมสุขภาพและสุขลักษณะที่ดี
- รับวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค
ผู้ชายอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจอะไรบ้าง?
แบ่งเป็นการตรวจพื้นฐานและการตรวจจำเพาะ มีรายละเอียดดังนี้
การตรวจพื้นฐาน
- การซักประวัติและ การตรวจร่างกายโดยแพทย์
- การตรวจประเมินสุขภาพจิตทั่วไป การใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่
- การตรวจดัชนีมวลกาย
- การตรวจวัดสัญญาณชีพทั่วไป
- ตรวจการได้ยินทั่วไป (Finger Rub Test)
- ตรวจตาทั่วไป
- การตรวจคัดกรองโรคความดันโลหิตสูง
- การตรวจเม็ดเลือด (CBC)
- การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน (FBS)
- การตรวจคัดกรองโรคไขมันในเลือดสูง
- ตรวจดูการทำงานของไต
- ตรวจปัสสาวะ
- การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก
- ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
- ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
- ตรวจหาเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
การตรวจจำเพาะ
- การตรวจสมรรถภาพและความแข็งแรงของร่างกาย (Fitness Test)
- การตรวจฟัน
- การตรวจสายตา
- การตรวจหาโรคจากสิ่งแวดล้อม เช่น โลหะหนัก เอกซเรย์ทรวงอกเพื่อหาโรคปอดจากสิ่งแวดล้อม การตรวจสมรรถภาพปอด
- การตรวจหาโรคการทำงาน เช่น การตรวจสมรรถภาพการได้ยิน สมรรถภาพการมองเห็น การตรวจหาโรคจากความร้อน/ความเย็น/แรงสั่นสะเทือน สารเคมีที่ตกค้างในร่างกาย โรคปอดจากการทำงาน เป็นต้น
- โรคติดเชื้อในวัยเจริญพันธุ์
- มะเร็งทวารหนัก (สำหรับกลุ่มเฉพาะ)
- ตรวจหาภาวะกระดูกบางและกระดูกพรุน
- ประเมินการใช้ชีวิตประจำวันด้วย Barthel ADL index
- ประเมินภาวะทางโภชนาการ
- ประเมินประสิทธิภาพของสมองด้วยปบบสอบถาม Modified IQCODE
- ประเมินภาวะซึมเศร้าทั่วไป
การตรวจความดันโลหิต
- คุณควรตรวจความดันโลหิตทุกปี และหากมีเลขความดันโลหิตตัวบน (Systolic number) อยู่ระหว่าง 120-139 หรือเลขความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic number) อยู่ระหว่าง 80-89 mmHg หรือมากกว่านั้น ก็ยิ่งควรตรวจอย่างสม่ำเสมอทุกปี
- หากเลขความดันโลหิตตัวบนสูงกว่า 140 หรือเลขความดันโลหิตตัวล่างสูงกว่า 90 ให้รีบปรึกษาแพทย์ หรือไปพบแพทย์ทันที
- หากคุณเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีปัญหาโรคไต หรือเป็นโรคอื่นๆ คุณควรตรวจความดันโลหิตบ่อยครั้งกว่าปกติ หรืออย่างน้อย 1 ครั้งต่อปี
การตรวจระดับคอเลสเตอรอลและการป้องกันโรคหัวใจ
- คุณควรตรวจระดับคอเลสเตอรอลทุก 5 ปี หากคอเลสเตอรอลในเลือดของคุณอยู่ในระดับปกติ
- หากคุณมีคอเลสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง เป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ มีปัญหาโรคไต หรือมีปัญหาสุขภาพที่มีความเสี่ยง แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจคอเลสเตอรอลบ่อยครั้งกว่าปกติ
การตรวจเบาหวาน
- ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาภาวะเบาหวานทุกๆ 3 ปี
- หากคุณมีน้ำหนักเกิน หรือมีความดันโลหิตของสูงกว่า 135/80 mmHg และมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน แพทย์อาจแนะนำให้คุณเข้ารับการตรวจเบาหวานบ่อยครั้งขึ้น
การตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่
ควรเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่จนถึงอายุ 75 ปี การทดสอบทำได้หลายวิธี โดยอาจใช้เพียงวิธีเดียว หรือใช้ร่วมกันก็ได้ ดังนี้
- การตรวจหาเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุกๆ 10 ปี พร้อมกับการตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุกปี
- การตรวจส่องกล้องมะเร็งลำไส้ใหญ่ทุกๆ 10 ปี
คุณอาจต้องเข้ารับการตรวจส่องกล้องบ่อยขึ้น หากมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เช่น
- เป็นโรคลำไส้ใหญ่อักเสบชนิดเป็นแผล
- มีประวัติเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ หรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้
- มีประวัติตรวจพบเนื้องอกในลำไส้ใหญ่
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด
คณะป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ผู้มีอายุระหว่าง 55-80 ปี ที่มีประวัติสูบบุหรี่ 30 แพ็คต่อปี และยังคงสูบบุหรี่อยู่ หรือเลิกบุหรี่ไปแล้วภายในช่วง 15 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดเป็นประจำทุกปีด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเข้มรังสีต่ำ (LDCT)
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ผู้ชายที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการตรวจมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยเฉพาะผู้มี่มีบุคคลในครอบครัวเคยป่วยด้วยโรคนี้
- คุณสามารถเข้ารับการตรวจเลือด PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากได้ทุกปี
- ผู้ชายที่ไม่มีอาการของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แพทย์จะไม่แนะนำให้ตรวจเป็นประจำ
การตรวจโรคกระดูกพรุน
- ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน เช่น ใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน น้ำหนักตัวน้อย สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์จัด เคยกระดูกหักหลังจากอายุ 50 ปี หรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคกระดูกพรุนคุณควรปรึกษากับแพทย์เกี่ยวกับการตรวจโรคกระดูกพรุน
- ผู้ชายที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปควรเข้ารับการทดสอบความหนาแน่นของกระดูก
การตรวจฟัน
ควรเข้าพบทันตแพทย์ 1-2 ครั้งต่อปี เพื่อตรวจสุขภาพฟันและทำความสะอาดช่องปาก เช่น ขูดหินปูน แต่ทันตแพทย์อาจประเมินและแจ้งให้คุณมาพบบ่อยกว่านั้นตามกรณี
การตรวจตา
- คุณควรตรวจสายตาทุก 1-2 ปี
- ผู้ที่เป็นโณคเบาหวาน ควรตรวจสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพราะเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นจอตา
การทดสอบการได้ยิน
หากเริ่มมีอาการที่บ่งบอกถึงปัญหาในการได้ยิน ควรเข้ารับการทดสอบการได้ยิน
การฉีดวัคซีนภูมิคุ้มกัน
- เมื่อมีอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีนป้องกันปอดบวม หากยังไม่เคยฉีดวัคซีนนี้ หรือฉีดครั้งล่าสุดเมื่อ 5 ปีที่แล้ว
- ควรได้รับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ทุกปี
- คุณอาจได้รับวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด 1 ครั้ง เมื่อมีอายุ 60 ปี
- คุณควรได้รับวัคซีนกระตุ้นการป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก ทุกๆ 10 ปี
- วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ควรฉีดปีละ 1 ครั้ง เนื่องจากสายพันธุ์ที่ระบาดจะเปลี่ยนไปทุกปี
- วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบควรฉีด 1 ครั้ง และอาจพิจารณาให้ฉีดซ้ำอีกครั้งใน 5 ปี
- วัคซีนป้องกันบาดทะยัก ฉีดทั้งหมด 3 เข็มภายใน 6 เดือน สามารถฉีดกระตุ้นได้ทุก 5 ปี
- วัคซีนป้องกันงูสวัด ฉีดเพียง 1 ครั้ง (ไม่ควรฉีดในผู้ป่วยมะเร็งที่ได้รับการรักษาด้วยรังสี)
กรณีที่มีความซับซ้อนของภาวะโรคอื่นๆ ที่เป็นอยู่ด้วย แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อประเมินก่อน ส่วนวัคซีนทางเลือกอื่นๆ ก็สามารถฉีดได้ โดยปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับการฉีดทุกครั้ง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. รุจิรา เทียบเทียม