อาการแพ้ยา (Drug allergy) คือ อาการภูมิแพ้ที่เกิดจากระบบภูมิต้านทานของร่างกายซึ่งมีปฏิกิริยาไวต่อยาที่รับประทานเข้าไป จนเกิดเป็นการตอบสนอง และต่อต้านเคมีของยา และเกิดเป็นอาการแพ้แสดงออกมา
อาการแพ้ที่เกิดขึ้นกับยานั้นไม่มีการจำกัดรูปแบบว่า จะเป็นยาน้ำ ยาเม็ด ยาฉีด ยาพ่น ยาเหน็บ หรือยาหยอด เพราะยาทุกรูปแบบสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของร่างกายด้วย
สารบัญ
ยาที่มักกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
ยาที่ทำให้เกิดอาการแพ้นั้นมีอยู่หลายกลุ่มด้วยกัน แต่กลุ่มยาที่มักจะทำให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ จะมีดังนี้
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) หรือที่ถูกเรียกกันอีกชื่อว่า “ยาฆ่าเชื้อ” เช่น เซฟไตรอะโซล (Ceftriaxone) อะม็อกซีซิลลิน (Amoxycillin) คลินดาไมซิน (Clindamycin) นอกจากนี้ยังมีกลุ่มยาเพนนิซิลิน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะเช่นกัน ที่ทำให้เกิดอาการแพ้บ่อยๆ เช่น แอมพิซิลลิน (Ampicillin)
- ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) นาโพรเซ่น (Naproxen) ผู้ป่วยบางรายอาจแพ้ยาในกลุ่มนี้ทุกตัว แต่บางรายจะแพ้แค่ยาบางตัวเท่านั้น
- ยาซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) หรือยาซัลฟา (Sulfa Drugs) เช่น ซัลฟิซอกซาโซล (Sulfisoxazole) หรือยาที่มีส่วนประกอบของซัลฟาเมทอกซาโซล (Sulfamethoxazole) กับไตรเมโธพริม (Trimethoprim)
- ยากันชัก (Antiseizure drugs) แต่ส่วนมากผู้ป่วยจะแพ้แค่ยาบางตัวเท่านั้น ซึ่งแพทย์ก็จะพิจารณาเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่นให้ เช่น เฟนิโทอิน (Phenytoin) คาร์บามาเซพีน (Carbamazepine) ลาโมไตรจีน (Lamotrigine)
- ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวี ซึ่งผู้ป่วยมักจะแพ้แค่ยาบางตัว ไม่ใช่ทั้งกลุ่ม Abacavir (Ziagen) หรือ Nevirapine (Viramune)
- ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) อาจเป็นยาที่ทุกคนรู้จัก และต้องเคยรับประทานมาก่อน แต่พาราเซตามอลก็สามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้ไม่ต่างจากยาชนิดอื่น
- สารทึบรังสี เป็นสารที่ฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อตรวจโรคทางหลอดเลือด ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่า ทำไมสารทึบรังสีถึงทำให้เกิดอาการแพ้ แต่คาดว่า น่าจะมาจากสารไอโอดีน -131 (Iodine -131) ซึ่งอยู่ในสารทึบรังสีที่เข้าไปจับกับโปรตีนบางอย่างในร่างกาย จนเกิดอาการแพ้ออกมา
อาการแพ้ยา
อาการแพ้ยาสามารถได้ตาม 2 ประเภทคือ
- ประเภทแพ้ยาชนิดเฉียบพลัน (Immediate reaction) เป็นอาการแพ้ที่จะเกิดขึ้นภายใน 1 ชั่วโมงหลังจากรับประทานยาที่แพ้ อาการที่มักแสดงออกมาจะได้แก่ ผื่นลมพิษ (urticaria) อาการบวมตามผิวหนัง และเยื่อเมือก (angioedema) รวมถึงหายใจไม่ออก ท้องเสีย เวียนหัว ความดันโลหิตต่ำลง
- ประเภทแพ้ยาชนิดไม่เฉียบพลัน (Nonimmediate reaction) เป็นอาการแพ้ที่จะแสดงหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 1 ชั่วโมง หรือนานกว่านั้น โดยอาจนานถึง 2 วันจนถึง 2 เดือน อีกทั้งอาการแสดงจะหลากหลาย และรุนแรงกว่าด้วย เช่น ผื่นนูนแบน (Maculopapular rash) ผื่นชนิดสตีเวนส์ จอห์นสัน (Stevens-Johnson Syndrome: SJS)
นอกจากนี้ อาการภูมิแพ้ยังสามารถแบ่งตามความรุนแรงของอาการได้ด้วย โดยจะแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
- ประเภทไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต บางครั้งอาการแพ้ยาก็ไม่ได้ปรากฏชัดเจนให้คุณสังเกตได้ว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้น หรืออาจมีอาการเกิดขึ้น แต่ไม่ได้ร้ายแรงมาก และดูคล้ายกับอาการป่วยของโรคอื่นๆ เช่น
- ประเภทเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือจะเรียกได้อีกชื่อว่า “อาการแพ้เฉียบพลันรุนแรง (Anaphylaxis)” ซึ่งเป็นอาการแพ้ที่ร่างกายจะเกิดความผิดปกติตั้งแต่ 2 ระบบขึ้นไป และร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยกลุ่มยาอื่นๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดอาการแพ้จนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้นั้น ได้แก่ มอร์ฟีน ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาสำหรับทำเคมีบำบัด (Chemotherapy) สารทึบแสงสำหรับการตรวจเอ็กซเรย์ (X-rays)
สำหรับอาการภูมิแพ้ยาที่เป็นอันตรายถึงชีวิตที่คุณควรจำเพื่อสังเกตอาการตนเองเวลารับประทานยา ได้แก่ หายใจลำบาก- หายใจไม่ออก
- แน่นหน้าอก
- เป็นผื่นลมพิษ
- ผิวซีด
- ท้องเสีย หรือท้องร่วง
- เกิดอาการวิตกกังวล หรือสับสนขึ้นมาอย่างไม่ทราบสาเหตุ
- คอบวม ปากบวม หรืออาจบวมทั้งใบหน้าเลย
- เกิดภาวะตับอักเสบ
- การทำงานของไตบกพร่อง
- หนังกำพร้าหลุดลอกออกมา
- เม็ดเลือดขาวในเลือดสูง
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- ความดันโลหิตต่ำ
- หมดสติ
- เกิดภาวะช็อก
การวินิจฉัยอาการแพ้ยา
การวินิจฉัยอาการแพ้ยาจะใช้ 2 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
เป็นวิธีทดสอบที่จะแม่นยำมากในกลุ่มยาเพนนิซิลิน (Penicilin) แต่ก็สามารถทดสอบกับยากลุ่มอื่นได้ด้วยเช่นกัน โดยเบื้องต้นแพทย์จะซักประวัติการแพ้ยาของคุณ และประเมินว่าคุณสามารถเข้ารับการสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังได้หรือไม่
หลังจากนั้น แพทย์จะหยดยาที่เจือจางลงบนผิวหนัง แล้วใช้เข็มสะกิดผิวหนังตรงกลางบริเวณที่หยดยาลงไป จากนั้นจะเริ่มสังเกตอาการที่เกิดขึ้น
การทดสอบวิธีนี้อาจมีข้อจำกัดในกลุ่มยาที่ทำให้เกิดความระคายเคืองสูง รวมถึงยาปฏิชีวานะกลุ่มเบตา-แลคแตม (Beta-lactam) เนื่องจากทำให้ความไวของการทดสอบทางผิวหนังลดลง
2. การทดสอบโดยทดลองให้ยาที่สงสัยว่า มีอาการแพ้ (Oral Drug Challenge)
แพทย์จะให้คุณลองรับประทานยาที่สงสัยว่าแพ้ แต่เป็นวิธีการทดสอบที่ค่อนข้างอันตราย และเสี่ยงทำให้เกิดอาการภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงได้ วิธีทดสอบนี้จึงต้องทำภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น และผู้ป่วยที่เคยมีประวัติอาการแพ้เฉียบพลันรุนแรงมาก่อนมักจะต้องหลีกเลี่ยงการทดสอบด้วยวิธีนี้
วิธีจัดการ และรักษาอาการแพ้ยา
เมื่อคุณเกิดอาการแพ้ยา ให้รีบหยุดรับประทานยาตัวนั้นทันที รวมถึงหยุดรับประทานยาตัวอื่นที่อยู่กลุ่มเดียวกันกับยาตัวนั้นด้วย จากนั้นให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน และให้พกยาที่แพ้ไปที่โรงพยาบาลด้วย
การรักษาอาการแพ้ยามักจะรักษาไปตามอาการ โดยในเบื้องต้น หากอาการแพ้ยารุนแรงมาก แพทย์อาจให้ยาอีพิเนฟริน (Epinephrine) กับคุณ เพื่อปรับระบบการทำงานของร่างกายที่ผิดปกติให้กลับมาคงที่ จากนั้นก็อาจจ่ายยาอื่นๆ ให้เพิ่มเติม เช่น
- ยาต้านฮิสตามีน (Antihistamine) เพื่อลดอาการแพ้
- ยาอะโทรปีน (Atropine) เพื่อลดอัตราการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
- ยากลูคากอน (Glucagon) เพื่อลดการเกร็งของหลอดลม และกระตุ้นการทำงานของหัวใจ
นอกจากนี้ แพทย์ยังอาจให้ออกซิเจนช่วยในกรณีที่ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำหรือหายใจไม่ออก และผู้ป่วยยังอาจต้องนอนพักที่โรงพยาบาล 1 คืน เพื่อให้แพทย์เฝ้าดูอาการแพ้ยาที่อาจเกิดขึ้นอีกภายหลัง
หลังจากอาการแพ้ดีขึ้นแล้ว ผู้ป่วยจะต้องจดจำชื่อยาที่แพ้ และแจ้งกับแพทย์ทุกครั้งที่เข้ารับการรักษา อีกทั้งหลีกเลี่ยงไม่ซื้อยาแก้แพ้มารับประทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อน เพาะอาจทำให้อาการแพ้ลุกลามรุนแรงกว่าเดิม
กระบวนการหลีกเลี่ยง หรือลดปฏิกิริยาการแพ้ยา (Drug desensitization)
ในกรณีที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องรับประทานยาชนิดเดิมที่ทำให้เกิดอาการแพ้ เนื่องจากยาชนิดอื่นไม่สามารถแก้ไขอาการเจ็บป่วยได้ แพทย์จะแนะนำให้คุณเข้ารับการทำกระบวนการหลีกเลี่ยง หรือลดปฏิกิริยาการแพ้
โดยกระบวนการนี้ แพทย์จะให้ยาที่แพ้กับคุณในปริมาณทีละน้อย และค่อยๆ เพิ่มขนาดยามากขึ้น จนถึงขีดจำกัดที่ร่างกายของคุณจะสามารถรับยาไหว และเกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด
กระบวนการนี้จะเหมาะกับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาทุกวัน และเปลี่ยนยาไม่ได้ อีกทั้งต้องทำในโรงพยาบาลที่มีความพร้อมสำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างทันท่วงที ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น
และหากคุณกำลังอยู่ในกระบวนการหลีกเลี่ยงปฏิกิริยาการแพ้แล้วจำเป็นต้องหยุดยาดังกล่าวขึ้นมา เช่น จากการใช้ยาเคมีบำบัดที่ต้องหยุดยาเป็นรอบๆ หากในรอบต่อไปคุณยังต้องรับประทานยาต่ออีกครั้ง กระบวนการหลีกเลี่ยงทั้งหมดจะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
วิธีป้องกันอาการแพ้ยา
วิธีป้องกันอาการแพ้ยานั้นทำได้ไม่ยาก เพียงแค่คุณหลีกเลี่ยงการกลับไปรับประทานยาที่แพ้ซ้ำอีกครั้ง รวมถึงปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะรับประทานยาตัวใดๆ ก็ตาม เพียงเท่านี้คุณก็สามารถป้องกันอาการแพ้ที่เกิดจากยาที่รับประทานได้แล้ว
นอกจากนี้ ให้คุณจดบันทึกรายชื่อยา รวมถึงกลุ่มยาที่แพ้ไว้ติดตัวด้วย หากเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้น หรือคุณไปโรงพยาบาล จะได้แจ้งข้อมูลสำคัญเหล่านี้ให้แพทย์ทราบได้