ผักชีลาว Dill

ผักชีลาว (Dill)

ผักชีลาว (Dill) เป็นผักทีมีใบเอกลักษณ์และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว สามารถรับประทานได้ทั้งแบบสดหรือผ่านความร้อน ตั้งแต่ส่วนยอดถึงราก นอกจากจะใช้ตกแต่งอาหารและช่วยให้อาหารมีกลิ่นหอมน่ารับประทานมากขึ้นแล้ว ยังสามารถลดกลิ่นคาวในอาหารได้ ทางภาคอีสานนิยมใส่ผักชีลาวในอาหารพื้นเมือง เช่น อาหารประเภทหมกหรือแกง

ประโยชน์ของผักชีลาว

ส่วนต่างๆ ของต้นผักชีลาวให้ประโยชน์ดังนี้

เมล็ดผักชีลาว

ในตำรับยาสมุนไพร เรียกเมล็ดของผักชีลาวว่า “เทียนตาตั๊กแตน” เมล็ดผักชีลาวมีลักษณะรี ยาว รูปไข่ สีน้ำตาลอมเหลือง คล้ายตาตั๊กแตน กลิ่นหอมกว่าส่วนอื่นๆ แต่มีสรรพคุณเช่นเดียวกับกับลำต้นและใบ

จัดอยู่เครื่องยาไทยในพิกัดเทียน (เทียน หมายถึง เครื่องยาสมุนไพร ที่ได้จากผลหรือเมล็ดแห้ง) เป็นส่วนประกอบในตำรับยาหอมเทพจิตรและยาหอมนวโกฐ

มีสรรพคุณแก้อาการวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้อาการจุกแน่นในท้องได้

งานวิจัยหลายฉบับระบุว่า เมื่อนำเมล็ดผักชีลาวไปสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย จะมีคุณสมบัติต้านและยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรคต่างๆ ซึ่งเป็นต้นเหตุของอาการท้องร่วงและอาหารเป็นพิษ สอดคล้องกับงานวิจัยหนึ่งในแอฟริกาที่ใช้น้ำมันจากผักชีลาวเป็นสารกันบูด เนื่องจากสามารถยับยั้งการเกิดเชื้อแบคทีเรียในอาหารได้หลายชนิด

การแพทย์อายุรเวทของอินเดีย มักใช้เมล็ดผักชีลาวช่วยในการขับลมในท้อง ช่วยในการย่อยอาหาร แก้ปวดท้อง ลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยขับปัสสาวะ นิยมใช้ใบผักชีลาวเป็นส่วนประกอบหนึ่งของยาขับลมในเด็ก แก้อาการสะอึกและอาการโคลิก มักเกิดในเด็กเล็ก มีอาการร้องไห้งอแง จนมีอาการหน้าแดงและกำมือแน่นตามมา ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง ส่วนหนึ่งเกิดจากมีลมในท้องมาก มีอาการปวดท้อง

มีการศึกษาพบว่า เมล็ดผักชีลาวช่วยลดไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรล และไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ในเส้นเลือด รวมถึงช่วยเพิ่มไขมันชนิดดี (HDL) ได้ด้วย

ที่น่าสนใจอีกอย่างคือ การบริโภคเมล็ดผักชีลาวช่วยเพิ่มความเข้มข้นของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้กระตุ้นการไหลน้ำนม ในมารดาให้นมบุตรได้เป็นอย่างดี เพิ่มการหลั่งฮอร์โมนออกซิโทซิน ที่มีหน้าที่เพิ่มบีบตัวของมดลูกระหว่างการคลอดบุตร ช่วยรักษาอาการตกเลือดหลังคลอด และยังช่วยกระตุ้นน้ำนมระหว่างให้นมบุตร นอกจากนี้ยังช่วยลดกลิ่นปาก ลมหายใจสดชื่น และลดอาการหวัดคัดจมูกได้ด้วย

นอกจากนี้ เมล็ดผักชีลาวยังใช้เป็นสารประกอบในยาฆ่าแมลง สามารถขับไล่ตัวอ่อนและขัดขวางการเจริญเติบโตของไข่แมลงได้เป็นอย่างดี

ใบและลำต้นผักชีลาว

มีสารให้กลิ่นหอม นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ช่วยทำให้อาหารมีกลิ่นหอม น่ารับประทาน และสามารถลดความคาวจากอาหารทะเล หรืออาหารประเภทปลาได้

งานวิจัยหนึ่งของประเทศอิหร่านระบุว่า เมื่อรับประทานน้ำต้มใบผักชีลาวเป็นระยะเวลา 14 วัน สามารถลดระดับไตรกรีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ประมาณ 20-50%

จากการวิเคราะห์สารพฤกษเคมีในห้องปฏิบัติการ พบว่าใบและลำต้นผักชีลาวมีแทนนิน (Tannins) เทอร์พีนอยด์ (Terpenoid) อัลคาลอยด์ (Alkaliod) และฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) สารเหล่านี้มีคุณสมบัติเด่นในการต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคมะเร็งและโรคแผลในกระเพาะอาหาร ลดการละคายเคืองและต้านการอักเสบ

ยิ่งไปกว่านั้น สารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้ยังช่วยซ่อมแซมเบต้าเซลล์ (β-cells) ในตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ในการผลิตและหลั่งอินซูลิน ช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด สำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2

ผักชีลาว บรรเทาอาการกรดไหลย้อนได้จริงหรือ?

ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่มีข้อมูลชัดเจนในการใช้ผักชีลาวรักษากรดไหลย้อนในคน มีเพียงแค่การใช้ในหนูทดลองเท่านั้น ซึ่งพบว่าสามารถช่วยลดการหลั่งกรดได้จริง

ส่วนข้อมูลวิจัยสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคกรดไหลย้อนในคนได้ พบว่ายาแคปซูลลูกยอและขมิ้นชันช่วยได้ สรรพคุณหลักของลูกยอคือ ช่วยยับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร และทำให้การบีบตัวของทางเดินอาหารและหูรูดหลอดอาหารแข็งแรงขึ้น ป้องกันหลอดอาหารอักเสบ เมื่อรับประทานคู่กับยาขมิ้นชันที่มีสรรพคุณช่วยให้ลดการระเคือง และช่วยเคลือบผิวเยื่อบุทางเดินอาหารแล้ว จะทำให้อาการกรดไหลย้อนดีขึ้นได้

วิธีรับประทานคือ ก่อนอาหาร ให้รับประทานแคปซูลลูกยอครั้งละ 1-2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง และมื้อหลังอาหารให้รับประทานยาแคปซูลขมิ้นชันครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้งเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้วิธีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับโรคกรดไหลย้อน คือการปรับทั้งพฤติกรรมและอาหารจะเห็นผลชัดเจนที่สุด

กินผักชีลาวอย่างไรให้ปลอดภัย?

เพื่อความปลอดภัย ในการบริโภคผักชีลาว ควรคำนึงถึงคำแนะนำต่อไปนี้

  • แนะนำให้รับประทานผักชีลาวควบคู่ในมื้ออาหาร ในปริมาณที่ไม่มากจนเกินไป มีรายงานว่าในบางคนอาจมีอาการแพ้ผักชีลาวจากการรับประทานและการสัมผัส จนเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง อาจจะทำให้ผิวหนังไวต่อแสงและทำให้เกิดผื่นแดง
  • หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรรับประทานผักชีฝรั่ง เนื่องจากจะกระตุ้นให้มีประจำเดือน และเป็นสาเหตุที่ทำให้แท้งบุตรได้
  • ผู้ที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรืออยู่ระหว่างการควบคุมระดับน้ำตาล ไม่ควรรับประทานผักชีลาวมากเกินไป เพราะผักชนิดนี้มีคุณสมบัติในการลดน้ำตาลในเส้นเลือด อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานผักชีลาวทั้งก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัด 2 สัปดาห์ เพราะผักชนิดนี้มีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนของเลือด อาจทำให้เลือดออกมากเกินไป

เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top