5 โรคร้ายที่ผู้ชายต้องระวัง

5 โรคร้ายที่ผู้ชายต้องระวัง

โรคร้ายเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บางโรคกลับเกิดเฉพาะในผู้ชาย หรือผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง นั่นเป็นเพราะลักษณะร่างกาย ฮอร์โมน และพฤติกรรมที่แตกต่างกันระหว่างเพศนั้นเอง การรู้ทันอาการและความเสี่ยงของโรคที่มักเกิดในผู้ชาย จะช่วยให้รับมือกับปัญหาสุขภาพเหล่านั้นได้ดีขึ้น มาดูกันว่าผู้ชายเสี่ยงเป็นโรคอะไรกันบ้าง

5 โรคร้ายในผู้ชาย กับสัญญาณที่ต้องระวัง

โรคและปัญหาสุขภาพต่อไปนี้อาจมาเยือนคุณผู้ชายได้ถ้าดูแลตนเองไม่ดี ละเลยการตรวจสุขภาพ และไม่ได้หมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น 

1.ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (Erectile Dysfunction)

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเป็นปัญหาสุขภาพที่คุณผู้ชายกลัวกัน เพราะถ้าภาวะนี้มาเยือนย่อมส่งผลต่อความมั่นใจ ขาดความสุขในการมีเพศสัมพันธ์ และอาจกระทบต่อความสัมพันธ์ได้ 

อาการเตือนภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

  • นกเขาไม่ขัน หรืออวัยวะเพศชายแข็งตัวช้า แข็งตัวไม่พอที่จะทำกิจกรรม หรือไม่สามารถแข็งตัวได้เลยแม้มีอารมณ์ทางเพศ
  • อวัยวะเพศชายไม่สามารถแข็งตัวได้นานพอ
  • อารมณ์ทางเพศลดน้อยลง

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น อายุที่มากขึ้น ฮอร์โมนเพศชายต่ำ เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเรื้อรังอย่างโรคเบาหวาน โรคอ้วน พฤติกรรมการใช้ชีวิต อย่างการสูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ได้ด้วย ถ้าพบว่าอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิต กวนใจ หรือพบอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น หลั่งเร็วหรือหลั่งช้าผิดปกติ ควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุอย่างเหมาะสม

2. โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH)

ต่อมลูกหมากโตเป็นภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ผิดปกติ มักเกิดกับผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่บางคนอาจเกิดขึ้นก่อนช่วงวัยนี้ได้เหมือนกัน ต่อมนี้เป็นส่วนหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ เมื่อขยายใหญ่ขึ้นจะไปเบียดท่อปัสสาวะให้ตีบแคบลง ทำให้เกิดความผิดปกติในการปัสสาวะ 

อาการเตือนต่อมลูกหมากโต

  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืน 
  • กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที
  • ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งหรือรอให้ปัสสาวะออกมา
  • ปัสสาวะไม่พุ่ง ไหลอ่อนหรือสะดุด 
  • ปัสสาวะเป็นหยดเมื่อใกล้จะสุด 
  • ปัสสาวะไม่สุด 

โรคต่อมลูกหมากโตไม่ได้ส่งผลต่อความเสี่ยงของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อาการของทั้งสองโรคนี้อาจมีลักษณะคล้ายกัน และสามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ ถ้าคุณมีสัญญาณของโรคต่อมลูกหมากโต แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจให้แน่ชัด

3.โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

โรคมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้ชายไทย เกิดจากเซลล์ต่อมลูกหมากเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง ซึ่งสาเหตุของโรคยังไม่รู้แน่ชัด แต่มักพบในผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป และถ้ามีญาติสายตรง อย่างพ่อ พี่ชาย หรือน้องชาย มีประวัติเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ความเสี่ยงจะสูงมากขึ้น 

ช่วงแรกอาจไม่มีอาการผิดปกติ แต่เมื่อเซลล์มะเร็งโตขึ้นจะไปเบียดท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการคล้ายต่อมลูกหมากโต เช่น ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกลางดึก ปัสสาวะไม่พุ่ง มีเลือดปนในปัสสาวะหรือน้ำอสุจิ ในระยะที่รุนแรงขึ้นอาจพบอาการอื่น ๆ ขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งที่มะเร็งแพร่กระจายไป เช่น นกเขาไม่ขัน ปวดตามร่างกาย แขนขาอ่อนแรง น้ำหนักตัวลด และอ่อนเพลียรุนแรง เป็นต้น

การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากมีหลายวิธี หลัก ๆ แล้วจะเป็นการตรวจทวารหนัก และการตรวจเลือดดูค่า PSA (Prostate-Specific Antigen; PSA) ถ้าค่าที่ได้สูงเกินเกณฑ์อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งต่อมลูกหมากได้ คนที่มีปัจจัยเสี่ยงจากโรคนี้ ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเมื่ออายุ 40 ปี แต่ถ้าไม่มีปัจจัยเสี่ยงสามารถตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากได้ในช่วงอายุ 50 ปี

อาการไม่ชัดเจน อาจทำให้เสี่ยงโรคมะเร็งแบบคาดไม่คาดคิด! ตรวจสุขภาพครั้งถัดไปอย่าลืมเพิ่มการตรวจต่อมลูกหมากไปในลิสต์อีกโรค หาแพ็กเกจตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก พร้อมเปรียบเทียบราคาได้ ที่นี่ จองผ่าน HDmall.co.th วันนี้ ได้ส่วนลดทุกครั้งที่จอง พร้อมบริการนัดหมายจองคิวกับโรงพยาบาลใกล้บ้านคุณได้เลย แชทหาแอดมิน คลิกที่นี่ 

4.โรคหัวใจ

หลายคนอาจไม่ทราบว่าผู้ชายนั้นเสี่ยงโรคหัวใจและเกิดขึ้นได้เร็วกว่าผู้หญิง นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนของผู้หญิง อย่างฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีส่วนปกป้องหัวใจมากกว่า และผู้ชายมักมีพฤติกรรมเสี่ยงของโรคหัวใจเยอะกว่า อย่างสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากปัจจัยเหล่านี้แล้ว พันธุกรรม อายุมาก ความเครียด การกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ การไม่ออกกำลังกาย มีโรคประจำตัว ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจให้สูงขึ้น

โรคหัวใจเป็นโรคที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจ แบ่งย่อยได้หลายโรค แต่ละชนิดอาจมีอาการที่แตกต่างกันไป โดยสัญญาณของโรคหัวใจที่มักพบได้ เช่น เจ็บแปลบหรือเจ็บเค้นที่หน้าอก ร้าวไปตามส่วนอื่นของร่างกาย หายใจหอบเหนื่อยง่ายกว่าปกติ ใจสั่น แขนหรือขาบวม หน้ามืด และผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นเขียวคล้ำ 

การดูแลตัวเองและสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ร่วมกับการตรวจสุขภาพหัวใจจะช่วยให้ตรวจพบความผิดปกติได้ก่อน ส่งผลให้การรักษาทำได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ถ้าคุณมีอาการของโรคหัวใจเป็นครั้งคราว อายุ 50 ปีขึ้นไป หรืออายุ 40 ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวหรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองโรคหัวใจ   

5.โรคมะเร็งตับ

โรคมะเร็งตับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยที่สุดของผู้ชายไทย เกิดจากเซลล์ในตับเจริญเติบโตผิดปกติจนกลายเป็นมะเร็ง ปัจจัยเสี่ยงของโรคเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดบี และซี โรคอ้วน ภาวะไขมันพอกตับ โรคตับแข็งที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก และการกินอาหารบางชนิดที่มีสารพิษ อย่างอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) และไนไตรต์ (Nitrites) เป็นเวลานาน

โรคมะเร็งตับในระยะที่ 1 และ 2 มีโอกาสรักษาให้หายได้ แต่ในระยะนี้มักไม่มีสัญญาณของโรคให้ได้ทันรู้ตัว แต่เมื่อโรคเข้าสู่ระยะที่รุนแรงขึ้น อาจพบอาการปวดท้องโดยเฉพาะชายโครงด้านขวา ท้องบวมโต ตัวเหลืองตาเหลือง อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลด ซึ่งโอกาสในการรักษาให้หายนั้นลดลง 

การตรวจคัดกรองโรคมะเร็งตับในคนที่มีความเสี่ยงจะช่วยให้ตรวจพบโรคมะเร็งตับได้เร็ว และช่วยให้การรักษาทำได้ง่ายขึ้น อย่างคนที่มีโรคตับชนิดต่าง ๆ เป็นโรคประจำตัว คนทั่วไปที่ไม่ได้มีความเสี่ยงของโรคมะเร็งตับ ควรตรวจสุขภาพประจำปีเมื่อถึงเวลาเพื่อให้แน่ใจว่าสุขภาพแข็งแรง ปราศจากสัญญาณของโรค

โรคร้ายที่พบในผู้ชายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดกับตนเอง การดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอจึงจำเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกายเป็นประจำ การควบคุมน้ำหนัก การดื่มแอลกอฮอล์แต่พอดี การงดสูบบุหรี่ และการพักผ่อนอย่างเหมาะสม 

นอกจากนี้ การตรวจสุขภาพในผู้ชายนับว่าเป็นปราการป้องกันโรคอีกด่านที่สำคัญ จึงควรให้ความสำคัญกับการตรวจที่เหมาะสมแต่ละช่วงวัย และปัจจัย ถ้าไม่รู้จะเริ่มอย่างไร สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อแนวทางในการตรวจได้ ทั้งนี้เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ และคุณภาพชีวิตที่ดีของคุณผู้ชายทุกคน

ไม่แน่ใจว่าเสี่ยงไหม! ต้องไม่ละเลยการตรวจสุขภาพ เลือกตรวจได้ตามวัย ตามเพศ และความเสี่ยง ทั้งตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ชาย ตรวจสุขภาพหัวใจ หรือมองหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพอื่น ๆ แต่เลือกไม่ถูก ทักหาแอดมินได้เลย ที่นี่ 

Scroll to Top